ปากของพระก็เหมือนปากของเตา


เตานั้นจะรับอะไรก็ได้ ทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เตานั้นจะเผาทั้งไม้ที่เรียบและนิ่มที่สุดหรือจนกระทั่งกิ่งไม้ที่มีหนามเยอะที่สุดเพื่อที่จะให้มีไฟสำหรับหุงข้าว ทำอาหาร และต้มน้ำเพื่อใช้อาบ

ปากของพระก็เหมือนปากของเตา

    ในหนังสือเทนโซะ เคียวคุน (หรือ บทเรียนจากพระชราผู้ดูแลโรงครัว) ของอาจารย์โดเก็น เราพบคำพูดของพระมหากัจจายนะ  พระสาวกของพระศากยมุนีว่า “ปากของพระนั้นก็เหมือนกับปากของเตา” เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนที่ข้าพเจ้าเริ่มบวชเป็นภิกษุณีใหม่ๆ และไปเข้ารับการฝึกฝนอยู่ในวัดฝึกหัด ข้าพเจ้ามักจะนั่งอยู่ปลายแถวของภิกษุณีอาวุโสทั้งหลายอยู่เสมอ  วันหนึ่ง ในการโชซัน (shosan) หรือการพูดคุยถกเถียงข้อธรรมะที่จะมีขึ้นหลังจากทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าได้ยินคำพูดนี้เป็นครั้งแรก  เมื่อตอนอายุสิบห้าปี ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายของคำนี้ว่าหมายถึงผู้ที่อยู่ในสมณเพศนั้นควรฉันอะไรก็ได้ที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น แม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม  ข้าพเจ้าคิดแต่ว่าคำพูดนี้หมายถึงเรื่องกินเท่านั้น และคิดอยู่ในใจว่าท่านถามแปลกๆ  แต่ฟังแล้วก็ผ่านเลยไป และข้าพเจ้าก็ลืมคำๆ นี้ไปเป็นระยะเวลายาวนาน โดยไม่ได้สนใจอีกเลย

    จนกระทั่งไม่นานมานี้เองที่คำๆ นี้ได้กลับมาหาข้าพเจ้าอีกครั้งหนึ่ง และโดยไม่ได้คิดอะไรข้าพเจ้าก็พูดคำๆ นี้ออกมาเสียงดัง  นั่นเองจึงทำให้ข้าพเจ้าเริ่มมาตระหนักว่า “ปากของพระ” ไม่น่าจะมีความหมายแค่ตามตัวอักษรเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึง ‘ปาก’ ของชีวิตหนึ่งๆ หรือ ‘ปาก’ ของฟ้าดิน  หรือแม้แต่ของจักรวาลทั้งหมดก็ได้ด้วยเช่นกัน  ตัวอย่างเช่น ประสบการณ์ทุกๆ อย่างที่เข้าไปสู่ ‘ปาก’ ของใครคนใดคนหนึ่งนั้น ย่อมหมายความรวมถึงสิ่งซึ่งเลวร้ายด้วย เช่นความตายของคนที่เรารัก หรือความตายของใครคนใดคนหนึ่งก็ตาม  ข้าพเจ้ามานึกได้ว่า แล้วทำอย่างไรเจ้าสิ่งที่ไม่ได้รับเชิญนี้จึงจะถูก “เผา” ไปได้

    เตานั้นจะรับอะไรก็ได้ ทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เตานั้นจะเผาทั้งไม้ที่เรียบและนิ่มที่สุดหรือจนกระทั่งกิ่งไม้ที่มีหนามเยอะที่สุดเพื่อที่จะให้มีไฟสำหรับหุงข้าว ทำอาหาร และต้มน้ำเพื่อใช้อาบ

ประสบการณ์ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาจะช่วยให้เรามีชีวิตที่แข็งแกร่งและพัฒนาให้บริสุทธิ์ขึ้นได้เรื่อยๆ ทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ   ความสุข ความเศร้า  ความรัก ความเกลียด ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถโยนลงสู่เตาแห่งชีวิตได้ทั้งสิ้น เราควรยอมรับประสบการณ์ทุกๆ อย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราและควรจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่นให้มากที่สุด  เตาที่ปฏิเสธบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ชอบนั้นย่อมไม่สามารถทำให้เกิดไฟได้เต็มที่และอาหารก็คงจะไม่สุกด้วยเตานั้น ยิ่งไปกว่านั้น เตานั้นก็คงไม่มีประโยชน์ใช้งานได้อีกต่อไป และแถมซ้ำควันที่เกิดขึ้นก็จะเป็นปัญหาและสร้างความรำคาญขึ้นมาอีก  

ขณะที่ข้าพเจ้าค่อยๆ คิดพิจารณาเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ อยู่นั้น อยู่มาวันหนึ่งข้าพเจ้าก็พบกลอนบทหนึ่งในหนังสือพิมพ์ ที่เขียนขึ้นโดยเออิจิ เอโนโมโตะ ฆราวาสผู้ฝึกปฏิบัติในแนวทางของเนมบุทสุ (nembutsu) ผู้ซึ่งเชื่อในการหลุดพ้นผ่านการท่องพระนามของพระอมิตาภะพุทธ !1033



“ถังขยะของฉันรับทุกสิ่งทุกอย่าง

 ทั้งเศษกระดาษที่ไม่ใช้แล้วหรือความผิดพลาดที่ฉันได้ก่อขึ้น

 ไม่เอ่ยแม้แต่เพียงถ้อยคำหนึ่งใด    

 มันเพียงแค่กลืนกินลงไปเท่านั้นเอง”



    ถังขยะไม่เพียงแต่จะรับอะไรลงไปอย่างเงียบๆ เท่านั้น แต่ยังให้ชีวิตใหม่กับขยะที่อยู่ในนั้นด้วย และก็โยนมันออกมาสู่โลกอีกครั้งหนึ่ง  ถังขยะนั้นก็เปรียบเสมือนปากของฟ้าดินหรือจักรวาล  ดังนั้นมันจึงเปรียบเหมือนเตาในความหมายนี้เอง ความหมายที่ว่าทั้งโชคดีโชคร้าย ผลได้หรือผลเสีย กำไรหรือขาดทุน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกดูดกลืนเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวและฟื้นชีวิตกลับมาอีกในต้นกำเนิดเดิมแท้ กล่าวคือนั่นเป็นชีวิตแห่งพุทธภาวะนั่นเอง  

    ชีวิตของบรรพชิตหญิงชายที่ต่างอุทิศตนให้แก่หนทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริงแล้วก็คือชีวิตขององค์พระพุทธเจ้านั้นเองด้วย  ทุกคน ทุกสิ่ง และทุกๆ ความหมายในโลกนี้อยู่ในอุ้งหัตถ์ของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น ไม่ว่าคนผู้นั้นหรือสิ่งต่างๆ นั้นจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ เราจะสามารถนำความล้มเหลวและความไม่สมหวังในชีวิตนี้ของเราทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ในชีวิตของเราได้ และทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์มากขึ้น  มาบัดนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายใหม่อีกความหมายหนึ่งของคำว่า “ปากของพระก็เหมือนกับปากของเตา”  ขึ้นมาแล้ว





ทัศนคติที่ร่าเริง  

    ประธานบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า “ เมื่อครั้งที่เราเจอปัญหาเรื่องมีคนชอบไปขีดเขียนข้อความต่างๆ ไว้ตามห้องน้ำของบริษัทนั้น ไม่ว่าเราจะออกคำสั่งเตือนกี่ครั้ง หรือทาสีใหม่ทับลงไปกี่ครั้ง แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็จะมีข้อความใหม่ ปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งเราพบกระดาษที่เขียนข้อความหนึ่งแปะอยู่บนผนังห้องน้ำเอาไว้ว่า “กรุณาอย่าทำให้สถานที่ทำงานอันสวยงามของฉันสกปรกด้วยการเขียนถ้อยคำต่างๆ ของคุณเลย !!”  แน่นอน มันคือลายมืออันบูดๆ เบี้ยวๆ  ไม่ค่อยสวยงามนักของแม่บ้านพนักงานทำความสะอาดหญิงคนเก่าแก่ของเรานั่นเอง  ผมแน่ใจว่าไม่ใช่ผมเพียงคนเดียวเท่านั้นแต่ต้องเป็นพนักงานคนอื่นๆ ทุกๆ คนด้วยที่ต้องรู้สึกรู้สาอะไรบ้างบางอย่างกับการเรียกร้องของแม่บ้านทำความสะอาดครั้งนี้  เพราะหลังจากนั้น ที่ผนังห้องน้ำก็ไม่เคยมีข้อความใด ๆ ถูกเขียนขึ้นมาอีกเลย  พวกเราประทับใจกับเหตุการณ์นี้กันมาก ว่าสิ่งที่พวกเราพยายามจะทำกันไม่ว่าจะโดยคำสั่งของผมในฐานะประธานบริษัท หรือใบประกาศของผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ อีกมากมายที่ออกมาแล้วออกมาเล่า เราพยายามกันทุกวิถีทางเท่าไรก็ไม่สำเร็จ แต่กลับมาสำเร็จด้วยข้อความสั้นๆ บนกระดาษแผ่นเล็กๆ เพียงแผ่นเดียวของคนที่ไม่มีอำนาจอะไรเลย”

“ที่ทำงานอันสวยงามของฉัน”  เป็นวลีที่น่ามหัศจรรย์มาก  โดยปกติแล้วการทำความสะอาดห้องน้ำนั้นเป็นเรื่องที่คนส่วนมากดูถูกเอาด้วยซ้ำ แม้กระทั่งจากตัวคนที่มีหน้าที่ทำความสะอาดนั้นเองด้วย แต่แม่บ้านทำความสะอาดคนนี้กลับภูมิใจที่จะประกาศว่ามันเป็นงานที่สำคัญและเรียกมันว่าที่ทำงานอันสวยงามของเธอ   ข้อความของเธอชี้ให้เห็นความภาคภูมิใจ ความสุข และความมุ่งมั่นกระตือรือร้นในสิ่งที่เธอทำอยู่  ทุกๆ คนควรหันกลับมามองทัศนคติเช่นนี้ของเธอ รวมทั้งเจ้าคนที่มักคอยเขียนข้อความบนฝาผนังอยู่บ่อยๆ ด้วยแม้จะมีการเตือนออกมากี่ครั้งแล้วก็ตาม สิ่งที่แม่บ้านทำความสะอาดคนนี้มีก็คือสิ่งที่ในเทนโซะ เคียวคุน เรียกว่า ทัศนคติที่ร่าเริง

งานทุกอย่างนั้นดีหมด งานทุกอย่างนั้นมีคุณค่า ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าประเภทของงานนั้นคืออะไร แต่ขึ้นอยู่กับทัศนคติของบุคคลต่องานนั้นๆ ต่างหาก  เราควรคิดต่องานของเราโดยใช้ทัศนคติเช่นเดียวกับที่แม่บ้านทำความสะอาดคนนี้ใช้ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เธอทำ เธอทำมันด้วยความร่าเริง และถ้าเราสามารถเข้าถึงงานทุกอย่างของเราด้วยทัศนคติเช่นนี้ได้ นั่นคือความสำเร็จ  นั่นคือเราจะได้รับคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ได้รับความสุข ได้พบคุณค่าของงานนั้น แล้วท้ายที่สุดยังได้ผลงานที่งดงาม

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 51325เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท