รู้จักไข้เลือดออก มหันตภัยใกล้ตัว


แม้จะได้รับการดูแลอย่างดีด้วยเทคโนโลยีทันสมัยอย่างไรก็ตาม โอกาสเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกก็ยังมีอยู่โดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือพยายามป้องกันอย่าให้ป่วยด้วยการไม่ให้ยุงลายกัด

โรคไข้เลือดออก สังเกตง่ายๆว่าจะต้องมีไข้ กับมีเลือดออก  ถ้าไม่มีไข้ หรือมีไข้แต่ไม่มีเลือดออก ก็ไม่ใช่โรคไข้เลือดออก หรือมีเลือดออกแต่ไม่มีไข้ ก็ไม่ใช่เช่นกัน

สำหรับไข้ จะเป็นลักษณะของไข้สูงลอย คำว่าสูงลอยคือสูงโดยที่ไข้ไม่ลด  ถ้าไข้ขึ้นๆลงๆก็ไม่ใช่ไข้เลือดออก  แม้จะกินยาลดไข้ก็ลดบ้างแต่ไม่ลงจนปกติ  และไข้นั้นจะต้องสูงลอย 5-7 วัน เป็น 1-2 วันก็ไม่ใช่  ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ถ้าเป็นไข้ 3 วันไปแล้วยังไม่หายให้รีบไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยได้เลย อย่ารอช้า จะไข้จากอะไรก็ช่างไปตรวจไว้ก่อน แต่ถ้าตรวจก่อน 3 วันมักไม่ค่อยเจอ

สำหรับเลือดออก นั้นอย่างน้อยๆการรัดแขนที่เรียกว่าทำทูนิเกต์เทสน์นั้นต้องให้ผลบวกคือจุดเลือดออกตั้งแต่ 20 จุดขึ้นไปในพื้นที่ 1 เหรียญบาทกลาง(ไม่ใช่รุ่นใหม่ที่ขนาดเล็กนะ)  ถ้ามีไม่ถึง 20 จุดมักไม่ใช่ และอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตัวอื่นก็ได้แม้แต่ไข้หวัดบางทีก็รัดแขนแล้วมีจุดได้เหมือนกันแต่มักไม่ถึง 20 จุด  อาการเลือดออกอื่นๆอาจแสดงออกมาได้อีกเป็นเลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด มีจ้ำเลือดตามตัว เลือดออกในกระเพาะอาหาร เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ถ้ามีเลือดออกพวกนี้มักจะเข้าสู่ระยะอันตรายแล้ว

การวินิจฉัยโรค ก็อาศัยจากอาการคือไข้สูงลอยและมีเลือดออก  รวมทั้งการตรวจนับเม็ดเลือดพบว่ามีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 1 แสนและตรวจความเข้มของเลือดพบว่าเลือดข้นมากขึ้นกว่าเดิม 20 % ทั้งนี้ 4 ประเด็นนี้เป็นปัจจัยหลักในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก  และอาจมีอาการสนับสนุนอื่นๆอีกเช่นตับโต กดเจ็บใต้ชายโครงขวา  ส่วนในการตรวจเลือดนั้นจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยลง เป็นต้น  ดังนั้นการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกจึงไม่ได้เป็นการตรวจหาตัวเชื้อไข้เลือกออกโดยตรง  แต่ดูที่ฤทธิ์เดชของมันต่อร่างกายผู้ป่วย  หากจะตรวจหาสารต่อต้านการติดเชื้อ(ที่เรียกแอนติเจนนั้นกว่าจะทราบผลประมาณ 2-3 สัปดาห์และต้องเจาะเลือด 2 ครั้ง ถ้ารอผลตัวนี้กว่าจะได้รักษาคงจะแย่ก่อน จึงมักไม่ได้ใช้ในการวินิจฉัยเพื่อการรักษา เพราะกว่าผลจะมาคนไข้ก็หายหรือตายไปแล้ว)

อันตรายของโรคนี้จะเริ่มขึ้นทันทีที่ไข้ลง  ถ้าไข้ยังสูงอยู่(ก่อนช่วง 5-7 วัน)มักจะไม่มีอันตราย แต่ญาติมักกระวนกระวายใจเพราะไข้ของผู้ป่วยจะสูงมาก แต่หมอไม่ค่อยกังวลนัก แต่ทันทีที่ไข้ลง(ซึ่งมักจะหลัง 5-7 วันหลังเป็นไข้) ญาติจะเริ่มคลายกังวล แต่หมอจะเริ่มวิตกและต้องเพิ่มการดูแลใกล้ชิดมากขึ้นเพราะอาจจะมีอาการช็อครุนแรงตามมาหรืออาจมีอาการเลือดออกในอวัยวะสำคัญๆภายในได้  2 สิ่งนี้เองเป็นอันตรายที่จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ช็อคหรือรุนแรงแต่ก็ไม่มีใครคาดการร์ได้ว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกคนไหนจะช็อครุนแรงหรือไม่รุนแรง ต้องเฝ้าดูกันอย่างใกล้ชิด  หากไม่ช็อคไข้ลงแล้วผู้ป่วยจะหายและเริ่มอยากอาหาร ถ้ามีอาการช็อคก็ต้องดูแลภาวะช็อคหรือภาวะเลือดออก ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการและรักษาประคับประคอง โดยไม่มีการรักษาเฉพาะต่อตัวเชื้อไวรัสไข้เลือดออก  และอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปฏิกริยาตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อโรคไม่ได้เกิดจากตัวเชื้อโรคโดยตรง

ดังนั้น แม้จะได้รับการดูแลอย่างดีด้วยเทคโนโลยีทันสมัยอย่างไรก็ตาม โอกาสเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกก็ยังมีอยู่โดยไม่สามารถคาดการณ์ได้  สิ่งที่ดีที่สุดคือพยายามป้องกันอย่าให้ป่วยด้วยการไม่ให้ยุงลายกัด  การป้องกันไม่ให้ยุงลายกัดที่ดีที่สุดคือการทำให้ไม่มียุงลาย โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายซึ่งมักวางไข่ในน้ำขังนิ่ง สะอาดๆ โดยเฉพาะตามภาชนะต่างๆหรืออะไรก็ได้ที่เป็นแอ่งให้น้ำขังได้ทั้งในบ้านและรอบๆบ้าน ถ้าไม่มีแหล่งน้ำขังก็ไม่มียุงลาย เราจึงต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์เหล่านี้ให้หมดไปด้วยคนในบ้านและคนในชุมชนเอง  การพ่นหมอกควันฆ่าตัวแก่หรือใส่ทรายฆ่าลูกน้ำมีข้อจำกัดมากทำให้ได้ผลน้อยเพราะมักจะไม่ทั่วถึง จึงต้องพึ่งสองมือของทุกๆคนในชุมชนต้องช่วยกันอย่างแท้จริงเพื่อป้องกันไม่ให้คนในชุมชนเป็นโรคไข้เลือดออก

หมายเลขบันทึก: 5126เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2005 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชัดเจนดีมากๆ ครับ แบบนี้ช่วยผู้คนได้มากมาย ขอบคุณนะครับ

หาตั้งหลายเว็บทั้งเว็บหมอและไม่หมอว่าไว้สูงลอยคืออะไร ขอบคุณมากครับ

หาตั้งหลายเว็บทั้งเว็บหมอและไม่หมอว่าไว้สูงลอยคืออะไร ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท