แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี2550


เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2550 คงจะขยายตัวในอัตราชะลอลง

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2550ประเด็นแรก เรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยของเราในปัจจุบัน พึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก (ดูได้จากสัดส่วนการส่งออกสินค้า และบริการของไทยต่อผลผลิตรวมในประเทศที่สูงถึง 67%) ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยเรา ขยายตัวได้ดี เศรษฐกิจไทยก็ย่อมได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวลง เศรษฐกิจไทยก็พลอยได้รับผลกระทบทางลบไปด้วยในประเด็นนี้ เศรษฐกิจคู่ค้าหลักๆ ของไทยในอนาคตน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นลูกค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ประมาณ 15%) น่าจะเติบโตได้ลดลง ตามการชะลอการบริโภคของคนอเมริกัน ที่เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น หลังจากที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มปรับตัวลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อมาประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นลูกค้าส่งออกอันดับ 2 ของไทย (ประมาณ 14%) ก็น่าจะเติบโตได้น้อยลงเช่นกัน เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นเริ่มกลัวว่าเศรษฐกิจจะโตเร็วเกินไป เลยเริ่มขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อก่อนล่วงหน้า ส่วนประเทศในกลุ่มยูโร ซึ่งเป็นลูกค้าอันดับ 3 ของไทย (ประมาณ 13%) ก็ประสบกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ที่เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานยูโรที่กำหนดไว้ ทำให้หลายๆ ประเทศในกลุ่มนี้ จะต้องขึ้นภาษีหรือลดรายจ่ายรัฐบาล เพื่อให้ขาดดุลงบประมาณลดลง ในขณะที่ธนาคารกลางของกลุ่มยูโร ก็ยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกดังนั้น การที่เศรษฐกิจยูโรจะขยายตัวต่อเนื่องก็คงเป็นไปได้ยาก ทำให้ ประเทศไทยก็คงจะต้องหันมาพึ่งเศรษฐกิจในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ซึ่งตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็นลูกค้าสินค้าส่งออกอันดับ 4 ของไทย แต่ช่องทางนี้ก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะเราก็ทราบดีกันอยู่ว่าตอนนี้รัฐบาลจีนพยายามทำทุกวิถีทาง เช่น การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้หลายๆ ครั้งในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เห็นว่าในช่วงอนาคต การจะไปคาดหวังให้การส่งออก ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยเหมือนที่ผ่านมาคงทำได้ลำบากประเด็นที่สอง ในเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยเรานำเข้าน้ำมันในแต่ละปีค่อนข้างมาก และที่สำคัญ น้ำมันก็เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของประเทศ ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และในการขนส่งทั่วๆ ไปดังนั้น หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตของไทยก็ย่อมปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่สุด ผู้ผลิตก็ต้องผลักภาระบางส่วนไปให้ผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้า ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งหากรายได้ของประชาชนปรับขึ้นตามไม่ทัน ก็จะทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง และส่งผลให้ประชาชนลดการบริโภคลง ในทางตรงกันข้าม หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ต้นทุนการผลิตของไทยก็จะสามารถปรับลงได้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และในที่สุด ก็อาจจะส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า

ประเด็นที่สาม ในเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยใน 2 ทาง คือ ในทางแรก หากอัตราดอกเบี้ยของไทยปรับตัวสูงขึ้น ก็จะส่งผลให้กิจกรรมการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนของภาคเอกชนลดลง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น ในทางที่สอง หากอัตราดอกเบี้ยของไทยปรับตัวสูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศคู่ค้า อาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลทางลบต่อผู้ส่งออก แต่ส่งผลทางบวกต่อผู้นำเข้าอย่างไรก็ตาม การที่จะคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของไทยในอนาคต จะต้องคำนึงถึงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ควบคู่ไปกับสภาพคล่องในตลาดเงินประกอบกันด้วย โดย ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ผมคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีกพักหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อก็ปรับลดลงแล้วในขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มมีการชะลอตัวอย่างชัดเจน นอกจากนั้น ในปัจจุบันตลาดเงินยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกิน เหลืออีกประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ทำให้ธนาคารพาณิชย์คงยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น คาดว่าเราคงจะยังไม่เห็นอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นไปอีกระยะหนึ่งอย่างไรก็ตาม การที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังไม่ปรับสูงขึ้น คงยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนมากขึ้น เพราะภาคเอกชนส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่ใช่ว่าไม่อยากลงทุน แต่คงอยากจะรอความมั่นใจทางการเมืองมากกว่า แต่จากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีรัฐสภามาอนุมัติงบประมาณใหม่ ภาครัฐก็มีข้อจำกัดมากเหลือเกิน ในการทำหน้าที่พยุงเศรษฐกิจดังกล่าว เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงจะขยายตัวในอัตราชะลอลงแน่ๆ แต่จะชะลอมากหรือน้อยคงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมา   
หมายเลขบันทึก: 51215เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 04:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท