"ความในใจ"กับการทำงาน และพลังของนักศึกษาเพื่อการเรียนรู้


จะทำอย่างไรที่จะให้เงินภาษีเหล่านั้นใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด, ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากินของท่านมานั่งให้ข้อมูลกับนักศึกษา แต่นักศึกษาจะเอาเวลาทั้งหมดของนักศึกษาไปให้ท่าน

ในการทำงานของผมทุก ๆ ครั้งและทุก ๆ เวที ความตั้งใจของผมนั้น ไม่เคยหวังที่จะต้องการอะไรนอกเหนือจากที่จะต้องการให้ทุก ๆ ที่ทำงานร่วมกันนั้น "ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด" ถึงแม้ว่าจะต้องเหนื่อยยากหรือลำบากแค่ไหนก็ตาม 

คิดเสมอว่าเงินทุกบาทที่องค์กรใช้นั้นนั่นคือ "เงินภาษี" หยาดเหงื่อแรงงานของพี่น้องประชาชนชาวไทยทุก ๆ คน ทำอย่างไรก็ได้ ออกแบบงานอย่างไรก็ได้ที่จะให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้รับผลประโยชน์มากที่สุด แต่อยู่บนพื้นฐานของการประหยัดเงินและทรัพยากรต่าง ๆ มากที่สุด

คิดเสมอว่าจัดเวทีทุกครั้งขอให้ได้ความรู้ที่ใช้ได้เลยแบบฉับพลันทุกครั้ง

คิดเสมอว่าทุก ๆ คนมีความรู้มากมาย ทุก ๆ คนเคยเรียนหนังสือมามากมาย อบรมมามากมาย มากกว่าเราเสียอีก การเรียนและการอบรมทุกครั้ง นั่นคือเงินภาษีของพี่น้องประชาชน

คิดเสมอว่า จะทำอย่างไรที่จะให้เงินภาษีเหล่านั้นใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทำทุก ๆ เวทีให้คุ้มค่ากันเถอะครับ

จัดในหน่วยงานเถอะ จะได้ไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่

จัดในจังหวัดเถอะ เงินจะได้หมุนเวียนในจังหวัด อย่างน้อยเงินงบประมาณที่ใช้นั้นจะได้กลับไปซื้อข้าว ซื้อปลา ซื้อหมูของพี่น้องของเราเอง

ไม่ต้องอบรมก็ได้ แค่หาเวลาว่างมาคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะปัญหาทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่การรู้หรือไม่รู้ แต่อยู่ที่การใช้หรือไม่ใช้

คิดเสมอว่า หัวข้อหรือโจทย์ในกระบวนการต้องเกี่ยวข้องกับงานโดยตรง โจทย์ง่าย ๆ โจทย์ที่ทุกคนสามารถย่อยได้ พูดภาษาบ้าน ๆ ภาษาไทย ๆ ไม่มีคำทางวิชาการ ทุกคนจะได้เข้าถึงและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างเต็มที่

ลงไปทำงานทุกครั้ง "ไม่เคยเน้นการเก็บข้อมูล" เข้าไปจัดเวทีเก็บเพียงแค่รอยเท้าและย่างก้าวที่สัมผัส ได้พบ ได้เจอ แล้วนำมากรั่นกรองและถ่ายทอด ความรู้สึกต่าง ๆ ที่ได้พบ สุข เศร้า หรืออาจจะเคล้าน้ำตา เพราะข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลดิบ ตัวเลขต่าง ๆ คิดเสมอว่าเป็นสิทธิขององค์กรและชุมชน

การถ่ายทอด ก็คิดแล้วคิดอีก ทำอย่างไรให้ดูน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ พยายามที่จะหาวิธีการนำเสนอใหม่ ๆ ประยุกต์สิ่งโน้นสิ่งนี้ แต่ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพื่อให้แข็งหรือดูเป็นวิชาการมากจนเกินไป จนหลาย ๆ ครั้งมีคนบอกว่า "เขียนบทความดั่งเช่นนิยาย" หลาย ๆ คนบอกว่า ทำตัวไม่เหมือนนักวิชาการที่ต้องเขียนอะไรที่อ่านแล้วต้องแปลไทยเป็นไทย  

ตอนนี้คิดเสมอว่า การลงไปทำงานกับชุมชน เก็บข้อมูลโน่น ทดลองนี่ มิใช่การแก้ปัญหาแต่กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาแบบปัจจุบันทันด่วน อย่างน้อยเวลาที่เขาจะไปทำมาหากิน ไปทำไร่ทำนา เขาก็จะต้องเสียเวลามาทำเวทีกับเรา มาคุยกับเรา "เพื่อเรา หรือเพื่อเขา"

พยายามคิดทบทวนถึงประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยพบ หยุดเพื่อทบทวน หยุดเพื่อคิดถึงความผิดพลาด หยุดเพื่อไม่เป็นคนที่เข้าไปสร้างปัญหา เรียนรู้กับประสบการณ์ของตนเอง

การไม่ทำ หยุดนิ่ง ก็เป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การไม่สร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้น

ไม่เข้าไปศึกษา หาข้อมูล วิจัย ทดลอง เพื่อผลงานทางวิชาการของตนเอง ละอองความรู้ : 7 (คนหรือหนูทดลอง) 

ชุมชนหลายชุมชนบอบช้ำกับการทำไร่เลื่อนลอย บอบช้ำมาก ๆ เพียงแต่เขาไม่กล้าพูด หรือพูดแต่ไม่มีใครได้ยิน

สมุดบันทึกต่าง ๆ ของชุมชน ถูกหน่วยงานต่าง ๆ หยิบยืม (ลืมและหาย) มาถ่ายเอกสาร มาเขียนรายงาน

บอบช้ำ แต่ถูกให้ความหวังว่าฉันจะเข้าไปช่วยคุณ แต่ที่จริง "คุณ (ชุมชน) ต่างหากที่ต้องช่วยฉัน (หน่วยงาน)"

หลังจากที่หยุดคิด ทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ Review ประสบการณ์ Review ชีวิต มากว่า 3 เดือนแล้วนั้น

พลังที่สามารถปรับเปลี่ยนจากการ "ศึกษาและวิจัย" ของนักศึกษาทั่วประเทศ เปลี่ยนเป็น พลังของการ "ร่วมทำงาน" ได้หรือไม่

ร่วมงานของชุมชน ช่วยงานของ พ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา ทุก ๆ คนในชุมชน

"ร่วมทำ" ทุกอย่างที่ชุมชนอยากให้ช่วย

"ร่วมทำ" ทุกอย่างที่ชุมชนต้องการ

"ร่วมทำงาน" งานของเขามิใช่ให้เขาช่วยงานของเรา

ข้อมูลที่ลงไปเก็บนั้น เปลี่ยนจากเก็บข้อมูลตัวเลข เก็บแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ เป็นการเก็บย่างก้าวที่เราได้ลงไปทำงานร่วมกัน เราได้ร่วมทำอะไรกับเขา เก็บไว้ จดไว้ บันทึกไว้ วิเคราะห์ไว้ สังเคราะห์ไว้ ว่าเราได้ร่วมทำงานกับเขาเพราะอะไร ร่วมงานแล้วเป็นอย่างไร

เปลี่ยนจากการเก็บ เก็บ เก็บ แล้วก็เก็บ

นักศึกษาลงไปเก็บข้อมูลได้เงิน ได้ความรู้ ได้ปริญญา และชุมชนล่ะ ได้อะไร?

เปลี่ยนเป็นการ ร่วม ร่วม ร่วม แล้วก็ร่วม

นักศึกษาทั่วประเทศไทย ปัญญาชนทั่วประเทศไทย จะไม่ลงไปเก็บข้อมูล แต่จะไปร่วมทำงาน ช่วยทุกท่านทำงาน ไม่รบกวน อยากให้นักศึกษาทำอะไรบอกได้ ร่วมงานได้ทุกอย่าง

ไม่ต้องเอาข้อมูลต่าง ๆ ของชุมชนมาให้นักศึกษา

ไม่ต้องเอาข้อมูลของครัวเรือนมาให้นักศึกษา

ไม่ต้องเอาข้อมูลของวิสาหกิจ กลุ่มต่าง ๆ มาให้นักศึกษา

ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากินของท่านมานั่งให้ข้อมูลกับนักศึกษา

แต่นักศึกษาจะเอาเวลาทั้งหมดของนักศึกษาไปให้ท่าน

นักศึกษาจะเข้าไปร่วมงาน ช่วยท่านทำงานทุก ๆ อย่างที่ท่านต้องการ "โดยไม่มีค่าตอบแทน"

จากเดิมที่เคยได้รับค่าตอบแทนจากการเก็บค่าแบบสอบถาม แบบสำรวจ

เปลี่ยนเป็น

ได้รับค่าความรู้ คุณค่าแห่งปัญหาในการร่วมงาน ในการก้าวเดินร่วมกัน

ค่าตอบแทนที่มาจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมาทางงบประมาณโครงการวิจัยฯ ต่าง ๆ ก็ลดน้อยลง

แต่กลับได้คนเข้าไปช่วยทำงานกับชุมชนมากขึ้น ได้ปัญญาชนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านทฤษฎีเข้าไปร่วมทำงานกับประชาชนทำงานกับพี่น้องที่มีความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) จากประสบการณ์มากขึ้น

เงินก็ไม่ต้องเสีย แถมได้คนมาช่วยงานและร่วมทำงานมากขึ้น

ทฤษฎีผสานกับประสบการณ์ อย่างไม่มีอะไรแอบแฝง เคลือบแคลง มีแต่ใจกับใจว่ากันเท่านั้น

ชุมชนได้งาน นักศึกษาได้ความรู้

การที่นักศึกษาได้ความรู้นั้น ถือว่า เป็นจุดมุ่งหมายหลักของการเรียนมิใช่หรือ

มาเรียนก็เพื่อรู้

มาเรียนเพื่อปัญญา ส่วนปริญญาคือผลพลอยได้

ปัญญาเป็นสิ่งยั่งยืน

ได้ทั้งปัญญาและได้ทั้งบุญ (ช่วยงาน) รวมถึงไม่ต้องทำบาป (เก็บข้อมูล)

โชค 3 ชั้น สำหรับตัวนักศึกษา

สำหรับชุมชน ไม่เสียเวลา ไม่เสียข้อมูล ได้งานและได้คน 

 

ถ้านักศึกษาทำงานวิจัยเพื่อชุมชนอย่างแท้จริงฉันใด

ชุมชนก็จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงฉันนั้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 51211เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 02:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบบันทึกนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ

 ชอบทำตัวเป็นศาสดา ทำเป็นรู้ สอนผู้อื่น เกิดมาทั้งชาติเคยทำประโยชน์อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันบ้าง

  การที่จะพัฒนาคน พัฒนาชนบทได้ มันจะต้องลงลุยพื้นที่จริง เห็นปัญหาจริง ไม่ใช่แค่ คิด เขียนได้ แต่ไมทำมันก็เท่านั้น อันนั้นมันเรียกว่า ขวบนการพัฒนาแบบฉาบฉวย ไก่อให้เกิดอะไนกับใครเลยนอกจากตัวเอง

คุณเมตตา

  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ ถ้ามีสิ่งใดแลกเปลี่ยนเชิญได้เลยนะครับ

คุณพิไลและคุณขอที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท