กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๑๓) : ภูมิรู้สู้วิกฤต


“เมื่อเราช่างคิดแก้ปัญหา จึงเกิดเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น”


ภาคเรียนนี้ ดิฉันรับอาสามาสอนหน่วยวิชาภาษาไทยพื้นฐาน ให้กับนักเรียนชั้น ๘ (มัธยมศึกษาปีที่ ๒ ) เมื่อทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัดเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ ๓ ขึ้นระว่างวันที่ ๒๓ – ๒๗  พฤศจิกายน ๕๕  ดิฉันจึงชวนนักเรียนหาเวลาไปเรียนรู้ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตามความสะดวกของแต่ละคน โจทย์ที่ฝากไว้คือ “เกิดความเข้าใจอะไรจากการได้ไปเรียนรู้ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร” เพื่อชวนพวกเขาให้คิดไกล มองไกล ไปจากเรื่องของตนและโลกใบเล็กๆ ที่ตนคุ้นชิน


ปลาทู – ด.ญ. อภิษฐา  ธานินทร์  เขียนถึงความเข้าใจที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า

“ภูมิรู้สู้วิกฤต”ประโยคนี้บอกถึงอะไรหลายอย่างที่มนุษย์เราได้ทำมัน เป็นประโยคที่แฝงกับชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน เมื่อพูดถึงปัญหาก็ย่อมถามถึงทางออก ในนิทรรศการนี้ทำให้เรารู้ถึงทางออกของหลายคน หลายที่ หลายปัญหา ที่เรา “ไม่เคย”นึกถึงมาก่อน


ในงานนิทรรศการนี้ แสดงให้เราเห็นถึงปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และการแก้ไขปัญหา สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการไปงานนี้คือ ศักยภาพในการแก้ปัญหาและการต่อยอดของแต่ละชุมชนที่เจอกับปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ในเรื่องของการ “สู้กับภัยธรรมชาติ” ที่เราไม่สามารถบังคับมันได้ ทำให้มนุษย์คิดหาหนทางเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ และเตรียมพร้อมประดิษฐกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัย และรวมถึงการเตรียมใจกับการพึ่งวัฒนธรรม ประเพณี ยึดเหนี่ยวจิตใจอีกด้วย


เมื่อมีภัยธรรมชาติย่อมมี “โรคภัย” ตามมา ความเจ็บป่วยและโรคภัยทั้งหลายติดตามเรามาตลอดชีวิต ทำให้ต้องมีการคิดวิธีรักษา แต่ที่น่าสนใจคือการรักษาโดยใช้วิธีรักษาควบคู่กับวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับบริบทสังคมในท้องถิ่นที่นั่น  ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ “สู้กับภัยสงคราม”


ในงานนี้ทำให้รู้ว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มาทำสงคราม  เราจนมุมแต่ในประเทศหารู้ไม่ว่ากำลังมีสิ่งใหม่ๆ ก่อตัวอยู่ สิ่งที่ไม่เคยจะถูกคิดถึง กลับมาดัดแปลงได้อย่างเหลือเชื่อและสุดยอด และผสมผสานกับประเพณีเพื่อให้ใจเราไม่จนมุมไปด้วย  ด้วยภัยเหล่านี้ทั้งหมดส่งผลให้เราต้อง “สู้ภัยเศรษฐกิจ” ถึงแม้ในเรื่องต่างๆ กำลังย่ำแย่ ไร้อำนาจ  แต่ผู้คนเหล่านี้กลับดิ้นรนหาทางเพื่อดำรงชีพต่อไปได้  แม้จะถูกกระทบจากการพัฒนา  ทำให้สะท้อนถึงการหันกลับมาใช้สำนึกความเป็นชุมชน และวัฒนธรรมมาเป็นภูมิคุ้มกัน และเครื่องมือสู้ เพื่อให้มีที่ยืน และดำเนินชีวิตไปอย่างมีความหวังและกำลังใจ


งานนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้เป็นคนธรรมดาสามัญ คนเล็กคนน้อยในท้องถิ่น ต่างก็มีศักยภาพในการแก้ไขและจัดการกับปัญหา สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา  ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม ใช้ระบบประเพณีและพิธีกรรมมาแก้ไขปัญหา สร้างทางออกที่ดีและน่าสนใจ และบางปัญหาทำให้เกิดทางออกที่เราคิดไม่ถึงและนำไปพัฒนาต่อยอดต่อเป็นวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ เลย  ปัญหาทำให้เราเรียนรู้ที่จะสร้างทางออก พัฒนาตัวเราและชุมชน ถ้าได้อ่านหน้างาน เขากล่าวว่า

“เมื่อเราช่างคิดแก้ปัญหา จึงเกิดเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น”


หงษ์  -  ด.ญ. ชณิตา  ผลอุดม   สะท้อนผ่านข้อเขียนว่า

หลังจากที่ลองไปที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมานั้น ทำให้ฉันได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรบางอย่างมากขึ้น คนทุกคนนั้นเวลาที่เจอความทุกข์ยากต่างๆ ทั้งที่รุนแรงสร้างความสูญเสีย และเพราะเหตุนี้เลยทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน...แต่พวกเขาก็มีวิธีแก้ปัญหาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป


เรานั้นอาจจะคุ้นเคยกับวิธีการแก้ปัญหาด้วยความรู้ จากหนังสือ หรือผู้รู้ แต่คนในท้องถิ่นกลับมีวิธีการที่แตกต่างออกไป ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ไม่ยอมแพ้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่จะพยายามคิดหาวิธีในการเอาตัวรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่คนในกรุงเทพฯ หรือคนที่จบการศึกษาแบบ “สูงๆ” เท่านั้น ที่จะคิดได้ แต่เราทุกคนมีสิทธิที่จะคิด...คิดในสิ่งที่สร้างสรรค์...เพื่อประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น


การไปงานครั้งนี้ได้พบเห็นปัญหาที่น่าสนใจหลายๆ อย่างภายในท้องถิ่น เมื่อเกิดความทุกข์ยากลำบากต่างๆ  ฉันได้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นมีวิธีการรับมือกับปัญหาอย่างไรเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ และทำไมวัฒนธรรมที่เก่าแก่และสวยงามต่างๆ จึงยังคงอยู่ได้ในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงนี้


รู้สึกแปลกใจที่คนในท้องถิ่นมีความคิดที่แปลกใหม่ โดยที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่นการใช้ระหัดวิดน้ำแทนเครื่องสูบน้ำ เพราะไม่เปลืองน้ำมัน ถึงระหัดวิดน้ำจะช้ากว่าเครื่องสูบน้ำก็ไม่เป็นไร ทางด้านการแพทย์ก็ไม่แพ้กัน มีวิธีการที่จะทำให้หายจากโรคในรูปแบบต่างๆ โดยจะวางอยู่บนรากฐานความรู้ ความเชื่อทางศาสนา สิ่งเหนือธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับบริบทสังคม ซึ่งมีความแตกต่างจากการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นถึงความดีงามของเพื่อนมนุษย์ที่คอยเชื่อเหลือกันและกันในยามที่ลำบาก...


ฉันคิดว่าธรรมชาติสอนให้มนุษย์รู้จักและเรียนรู้ความเป็นไปเพื่อที่จะได้ดำรงชีวิตได้อย่างฉลาด และมนุษย์ก็ทำได้จริงๆ  พวกเขารู้จักการสังเกต เตรียมความพร้อม และเตรียมใจที่จะพึ่งพาสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ  ในปัจจุบันเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็วแต่ไร้ความมั่นคง เลยทำให้คนเล็กคนน้อยไร้อำนาจในการต่อรอง  เลยทำให้ผู้คนต่างก็ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตต่อไปได้ ฉันคิดว่าในตอนนี้เราควรหยุดเดินแล้วหันกลับมามองผู้คนรอบข้างบ้าง สำนึกในความเป็นชุมชน ลองมองสิ่งใกล้ตัวบ้าง เผื่อว่ามันจะลดความเร่งรีบของเราลง ท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย


มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาย่อมมีทางออก” ในความมืดย่อมมีแสงสว่างเสมอ ลองหยุดที่จะวิ่งตามความทันสมัย เทคโนโลยี และหันกลับมามองวัฒนธรรม ประเพณี หรือวิธีแก้ปัญหาของบุคคลในท้องถิ่น เพื่อเป็นการเรียนรู้  บางที...เราอาจนำไปใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยอีกก็เป็นได้


“การที่เราวิ่งไปคนเดียวโดยที่ไม่รอผู้อื่น แน่นอนว่ามันเร็วกว่า แต่ถ้าเราล้ม เราเจอปัญหา เราก็จะไม่มีคนช่วยคิด เพราะฉะนั้นรอคนรอบข้างบ้าง เผื่อบางทีเราอาจจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากมันก็ได้ อย่าทิ้งคนสำคัญเอาไว้ด้านหลัง แต่ให้ดูแลและก้าวไปด้วยกัน”


“แล้วคุณในตอนนี้วิ่งไปตัวคนเดียว หรือไปพร้อมกับคนสำคัญ  ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร 

ห้ามยอมแพ้นะ  เพราะเราเป็นมนุษย์ !”

.......................................................


จากการที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในห้องเรียนฉันก็สัมผัสได้ถึงบางสิ่งบางอย่างจากคนหลายๆ คน...


ได้พบว่าสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เรารู้ มันอาจเป็นแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น แต่เมื่อหลายๆ คนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ เราอาจจะได้เรียนรู้อะไรมากกว่าสิ่งที่เราไปพบเห็น หลายคน...ต่างมุมมอง  เมื่อนำมารวมกันมันอาจเป็นกลุ่มก้อนความรู้ที่ใหญ่มากๆ ถึงบางทีมันอาจจะไม่ได้ครบทุกอย่างแต่มันก็ดีกว่าความรู้ของเราคนเดียว


เพื่อนๆ หลายคนก็ได้มองในสิ่งที่ฉันมองไม่เห็น เช่นเทคโนโลยีไม่สามารถตอบได้ทุกปัญหา บางครั้งปัญหาใหญ่ๆ อาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แค่ใช้ความคิด (จากภูมิปัญญาในท้องถิ่น) เท่านี้ก็สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว อีกทั้งคนส่วนใหญ่พึ่งเทคโนโลยีเปินไปจนทำให้มองข้ามสิ่งเล็กๆ ไป ฉันเลยคิดว่า ถ้าเรานำเทคโนโลยีมาร่วมกับเทคโนโลยีมันอาจจะดีก็ได้


สรุปแล้วนี้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง สิ่งที่เรามองข้ามไป หรือขาดไปนั้น เพื่อนๆ ทุกคนก็มาช่วยกันเติมเต็มให้มันสมบูรณ์ นับว่าเป็นอะไรที่ “คุ้มค่า” ทีเดียว


........................................................


ข้อเขียนทั้ง ๒ ชิ้นนี้ เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนชั้นมัธยมต้น ที่มีโอกาสได้ไปสัมผัส รับรู้ และเรียนรู้ ความงดงามในความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต


หมายเลขบันทึก: 511224เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2012 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2013 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ครับคุณวิมลศรี ครับ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ คุณแสงแห่งความดี ขอสิ่งดีงามในชีวิตอยู่เคียงคู่กับคุณและครอบครัวเช่นกัน :)


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท