การเลี้ยงโคแบบพอเพียง


การเลี้ยงเพื่อให้เกิดความพอเพียง ไม่ควรเน้นการเพิ่มผลผลิตเพื่อเข้าสู่ระบบตลาด

หนึ่งไร่พอเพียงกับการเลี้ยงโค

            ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนเป็นจำนวนมากที่มีพื้นที่ทำกินน้อย  ไม่เหมาะที่จะทำฟาร์มขนาดใหญ่ การทำการเกษตรแบบหนึ่งไร่พอเพียงมาปฏิบัติจึงกำลังเป็นที่นิยม เพราะการลงทุนต่ำเหมาะสมกับขนาดแรงงานในครอบครัวและสามารถสร้างรายได้ตลอดปี คนส่วนใหญ่มักจะมองภาพการทำการเกษตรแบบหนึ่งไร่พอเพียงแค่ในเรื่องของการปลูกพืชหมุนเวียนในพื้นที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด  แต่ลืมนึกถึงภาพการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการปลูกพืช  ถ้าหากเกษตรกรต้องการทำการเกษตรแบบหนึ่งไร่พอเพียงและเลี้ยงโค 2 - 3 ตัว จะเป็นอะไรที่ลงตัวพอสมควร เพราะผลผลิตจากพืชสามารถนำมาเป็นอาหารโคและพืชอาหารสัตว์จะทำหน้าที่ในการถ่ายโอนธาตุอาหารในพื้นที่ทำกิน ถ้าโคได้รับพืชอาหารดี  มูลโคก็จะเป็นปุ๋ยคอกที่มีคุณภาพ และถ้ามีพืชอาหารสัตว์หรือหญ้าจำนวนมากสามารถนำมาทำปุ๋ยพืชสด และจำหน่ายสร้างรายได้เสริมได้อีกด้วย

           ในการณีการทำเกษตรหนึ่งไร่พอเพียงและเลี้ยงโคควบคู่กันไปนั้น ควรผสมผสานการปลูกพืชอาหารสัตว์เข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบพืชหมุนเวียน จะเป็นการเพิ่มความยั่งยืนให้เรือกสวนไร่นาและมีความมั่นคงในรายได้  ซึ่งกรรมวิธีการปลูกพืชผสมผสานกับระบบการปลูกพืชหมุนเวียนในหนึ่งไร่พอเพียงนั้นทำได้หลายวิธี เช่น

            -   การปลูกพืชอาหารสัตว์หรือหญ้าที่มีอายุข้ามปี หรือพืชตระกูลถั่วที่ทนแล้ง เป็นการลดต้นทุนการผลิตในรอบปี แต่ต้องเน้นที่วิธีการปลูกด้วย เช่น  การปลูกด้วยการหยอดหลุม  หรือปักดำต้นกล้า ซึ่งจะทำให้รากหยั่งลึกได้มากกว่าการหว่านและช่วยปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน เป็นพืชคลุมดินป้องกันการชะล้างหน้าดินได้

            -  การปลูกพืชผักและดอกไม้หลายชนิดรวมกันตามฤดูกาล เพื่อกระตุ้นธาตุอาหารในดินและลดปริมาณของแมลงโดยธรรมชาติ  รวมทั้งสามารถนำผลผลิตที่ด้อยคุณภาพไปเป็นอาหารเลี้ยงโค

            -  การปลูกไม้พุ่มและไม้ยืนต้น เนื่องจากไม้เหล่านี้มีระบบรากลึก จะใช้น้ำและแร่ธาตุจากดินชั้นล่าง จึงไม่แย่งแร่ธาตุอาหารกับพืชอืนๆ ที่ปลูกในระยะเวลาสั้น

           -   การปลูกไผ่ไว้ริมรั้ว  กินหน่อ ใช้ไม้ทำรั้วทำคอกสัตว์  ใช้ใบเป็นอาหารโค

          การเลี้ยงโคผสมผสานกับเกษตรหนึ่งไร่พอเพียง ไม่ควรเน้นการเพิ่มผลผลิตเพื่อเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น หรือไม่คิดถึงผลผลิตในแง่ของการขายหรือสร้างรายได้ แต่ควรเน้นที่มีพออยู่พอกิน  เหลือกินค่อยแจก เหลือแจกค่อยขาย หรือแม้แต่โคก็เหมือนกัน มีโคมากก็แบ่งลูกหลานไปเลี้ยง  ถึงเวลาเหมาะสมหรือขัดสนจึงขาย เหมือนเบิกเงินออมมาใช้จ่ายยามจำเป็น  เพราะถ้าหากเกษตรกรมุ่งเพิ่มผลผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดแล้ว ก็เท่ากับว่าเกษตรกรยังตกอยู่ในภาวะการพึ่งพิงตลาดและบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ  จะกลับเข้าสู่วังวนของความยกจนดังเดิม จนหาทางออกสู่ความพอเพียงและยั่งยืนไม่ได้ในที่สุด

           ขอบคุณค่ะ

            พันดา  เลิศปัญญา

หมายเลขบันทึก: 51100เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

  ที่บ้านก็เลี้ยงวัว 3 ตัวไม่เน้นการทำเป็นธุรกิจแต่จะเน้นเอามูลวัวมากกว่า และยังเลี้ยงหมูเอามูลด้วยค่ะ ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจแต่ได้กำไร 2 ต่อค่ะ

  การเลี้ยงทั้งวัวและหมูทำให้ครอบครัวไลไม่ว่างงานกันค่ะ และนอกจากนี้วัวยังเป็นตัวช่วยลดหญ้าหรือวัชพืชในไร่อ้อยและรอบๆบ้านได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์พันดาครับ ในการทำการเกษตรแบบผสมผสานนั้นควรมีการเลี้ยงวัวควบคู่ไปด้วย เนื่องจากวัวจะช่วยเปลี่ยนสภาพของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ใบไผ่ หรือวัชพืช มาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีราคาถูก และเร็วกว่าการปล่อยให้ย่อยสลายเอง

นอกจากนั้นยังเป็นธนาคารที่เราสามารถเปลี่ยนสภาพมาเป็นเงินได้ทุกเมื่อหากมีความจำเป็น จึงเสมือนว่าเป็น  ATM ของพี่น้องเกษตรกร

และจากประสบการณ์ที่ผมเคยเลี้ยงโคนมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งผมมีพื้นที่ 2 งาน เลี้ยงหมู 3 ตัว ผมปลูกหญ้าเนเปียร์ สามารถเลี้ยงโคนม 3 ตัวได้อย่างสบาย วัวนมผมให้นมเฉลี่ย 15 กกต่อวันต่อ Lactation (ตัดให้กิน) และเสริมฟางบ้างในหน้าแล้ง ดีมากเลยครับ

 

ขอบคุณน้องไลกัยท่านอาจารย์อุทัยมากค่ะ  ที่ช่วยเสริมแนวคิดนี้ให้มีพลังความน่าเชื่อถือมากขึ้น  เพราะตอนนี้กำลังเป็นห่วงเกษตรกรหลายๆคน ที่กำลังวิ่งตามกระแสเลี้ยงวัวงามราคาแพงและเลี้ยงมากเกินไปอีกทั้งยังเลี้ยงโคแบบเชิงเดี่ยวไม่ผสมผสานกับการเกษตรอื่นๆ เช่น ปลูกพืช  ทำให้ขาดแคลนอาหารเลี้ยงโคกำลังจะขาดทุนและกลับเข้าสู่เส้นทางของความยากจนอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท