ชีวิตที่พอเพียง : 116. เรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องให้รางวัล


         เผลอไปไม่กี่ปี ผมพบว่าผมมีศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่น้อยคนที่จะมี     คือศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องและให้รางวัล    โดยผมได้จากการเรียนรู้ซึมซับผ่านการปฏิบัติ     โดยมีอาวุธสำคัญคืออิทธิบาท ๔    

        ผมโชคดีได้เข้าร่วมเป็นกรรมการและในที่สุดเป็นประธานการคัดเลือกรางวัลใหญ่ ๒ รางวัล     คือรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น (ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์)      และรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล      รางวัลแรกเป็นรางวัลระดับชาติ     รางวัลหลังระดับนานาชาติ     งานทั้งสองเป็นงานอาสาสมัคร คือไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น     การตอบแทนได้ทางใจ     คือมีความสุขที่ได้ทำประโยชน์ต่อสังคม

         แต่ผมได้มากกว่านั้น     ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ ศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องและให้รางวัล     ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ไม่มีการสอน   แต่เรียนรู้ได้จากการปฏิบัติ     ผลที่ได้ไม่ได้อยู่แค่ระดับทักษะ     แต่ลึกลงไปในก้นบึ้งของหัวใจ หรือจิตวิญญาณ     ผมบอกตัวเองว่า นี่คือการเรียนรู้ในระดับศีลธรรม     มองว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ก็ยังได้

        ที่จริงศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องและให้รางวัล เป็นการเรียนรู้ระดับก้าวหน้า (advanced)     ก่อนหน้านั้นผมได้เรียนความรู้ระดับพื้นฐาน (elementary) มาก่อนแล้ว     คือเรียนศาสตร์และศิลป์ของการจัดสรรทุนวิจัย      ผมถามตัวเองว่าความสุข ความปิติของการทำงานให้ทุนวิจัยคืออะไร     และตอบว่า คือการได้มีโอกาสสนับสนุนคนเก่ง คนดี ให้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม    และการได้เข้าไปสังสรรค์เสวนาสมาคมอยู่กับคนดีคนเก่งเหล่านั้น     เพราะมันจะให้โอกาสในการเรียนรู้ของตัวเราเองอย่างล้นเหลือ   ในการทำงานนี้ ผมได้ออกกำลังหรือฝึกฝนธรรมะข้อ มุทิตา เป็นอย่างมาก  เป็นการฝึกวิทยายุทธ หรือบำเพ็ญเพียรไว้ทำงานที่ยากยิ่งขึ้น คืองานศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องและให้รางวัล      ที่จริงผมก็ได้อาศัยการทำงานที่ สกว. ฝึกพรหมวิหารสี่ ทั้ง ๔ ข้อ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) นั่นแหละ     แต่ข้อมุทิตาดูจะเด่นหน่อย

         เมื่อประมาณ ๑๓ - ๑๔ ปีมาแล้ว ผมได้รับการชักชวนให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น     ตอนนั้น ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์เป็นประธาน    เข้าไปเป็นอยู่ไม่กี่ปีก็พบว่าผมรู้ข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์มาก จากการทำงานของ สกว.   พอ ดร. ยงยุทธ ทำมาได้ ๕ ปี ก็ขอลาออก     เขาจึงมาจับผมเป็นประธาน     ผมจึงได้เรียนรู้มากขึ้น     และได้จัดระบบการจัดการที่มีผู้ช่วยที่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำคอยค้นข้อมูลและติดต่อประสานงาน     ผมได้เรียนรู้วิธีใช้คนที่ไม่มีเวลา ให้มาทำงานอาสาสมัคร  โดยทำบนฐานของคุณค่าต่อสังคม      เกิดความสุขความภูมิใจจากการได้ทำงานรับใช้สังคม     ซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านดีของมนุษย์    ถ้าเรารู้จักปลุกเอาความภูมิใจนี้ให้ลุกโพลงอยู่ตลอดเวลา     ก็จะมีคนมาทำงานอาสาสมัครนี้ไม่ขาดสาย

          พร้อมๆ กันนั้น  เกิดรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล    และต่อมามีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ (SAC - Scientific Advisory Committee) ขึ้นมาทำงานหนุนคณะกรรมการรางวัลนานชาติ (IAC - International Award Committee)     และเพื่อสร้างขีดความสามารถทางวิชาการสาธารณสุข และสร้างศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องและให้รางวัลด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ขึ้นในประเทศไทย     ผมถูกผู้ใหญ่จับเป็นกรรมการ     โดยประธานคือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี      อ. หมอประเวศเป็นประธานอยู่ไม่กี่ปีก็ไม่ขอเป็นต่อและเสนอให้ผมเป็นประธาน     ผมก็เลยได้เข้าไปเรียนวิชาศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องและให้รางวัล จากการเป็นประธานกรรมการชุดนี้

         พอเป็นประธาน SAC ผมก็ถูกจับยัดเข้าไปเป็นกรรมการ IAC ด้วยอีกคนหนึ่ง     และพอประธาน IAC คือ ศ. นพ. ณัฐ ภมรประวัติ เสียชีวิต    ผมก็โดนจับเป็นประธาน IAC อีกตำแหน่งหนึ่ง     เป็นการได้รับความไว้วางใจสุดๆ สำหรับผม     แต่ก็ทำให้เครียด เพราะเกรงจะทำไม่ได้ดี

        อุบัติเหตุเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผมได้เรียนรู้ทักษะทั้งด้านการหาข้อมูลและสั่งสมข้อมูล  วิธีคิด  วิธีปรึกษาหารือ  วิธีตรวจสอบความลึกซึ้งและคุณค่าของผลงาน  ฯลฯ      และที่สำคัญ วิธีใช้คนที่มีความสามารถแต่มีธุระยุ่งมาก ให้มาช่วยทำงานอาสาสมัครที่มีคุณค่าต่อสังคม     เรื่องวิธีคิดนั้นมีหลายมิติ ทั้งมิติเชิง objectivity   มิติเชิง subjectivity   เชิงประเมินคุณค่าทั้งที่เป็นรูปธรรม และเป็นนามธรรม    ความระแวดระวังอคติของมนุษย์ปุถุชน     วิธีนำการถกเถียงจนได้ฉันทามติ (consensus) เป็นต้น   

        แต่การเรียนรู้เชิงเทคนิคยังไม่ลึกเท่าการเรียนรู้เชิงจิตวิญญาณ     ที่สอนไห้เราได้รู้จักเบิกบานใจเมื่อได้รับรู้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ ที่เป็นการค้นพบหรือประยุกต์ความรู้เพื่อประโยชน์ของคนจำนวนมาก     มีปิติสุขที่ได้ตัดสินยกย่องผู้มีผลงานเยี่ยมตามเกณฑ์ของรางวัล     การฝึกอิทธิบาท ๔ ในการทำงานอาสาสมัคร เพื่อยกย่องผู้อื่น     มีฉันทะและวิริยะ จนถึงขนาดลงมือทำงานเชิงรุก    คิดค้นหาวิธีทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้นเรื่อยๆ     ดูคล้ายๆ เป็นการทำงานที่ผู้ทำเสียสละ      แต่ในสายตาของผมผมไม่ได้เสียสละเลย   ผมได้เรียนรู้มาก    และผมได้เสวยสุขอันเกิดจากมุทิตา    ได้มีความภูมิใจที่ได้ทำงานให้แก่สังคม  ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ    และสมเด็จพระบรมราชชนก

วิจารณ์ พานิช
๒๑ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 51083เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • กราบขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมาแบ่งปัน
  • และต่อยอดมาเป็นรางวัลสุดคะนึง, จตุรพลัง และ ...
  • เป็นศาสตร์และศิลป์ของการยกย่องให้รางวัล
  • แต่ลึกๆ ก็คือ ได้สร้างกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งหมุนเวียนกันไป เป็นการยกระดับ HR..(ในสคส.เรียกว่า PO) ไปด้วยครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • ที่ท่านอาจารย์นำมาเขียนเป็นวิทยาทาน

ขอบคุณ อ. บีแมน ที่ช่วยเติม     ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า    สงสัยวิญญาณการยกย่องและให้รางวัลของผมมันจะอยู่ในเนื้อในตัวผมจนไม่รู้ตัว     ผมจึงเอามาให้รางวัลสุดคะนึง    จตุรพลัง  และอื่นๆ    แบบที่ลืมไปว่าจริงๆ แล้วผมเอาทักษะที่ได้เรียนรู้ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเนียนจนตัวเองก็ไม่รู้

วิจารณ์

  • ผมก็ได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์หมอวิจารณ์เป็นอย่างมากครับ
  • และผมว่าการให้รางวัลเป็นสิ่งที่ดี (เป็นดาบสองคมด้วย) ต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์จนเนียนอยู่ในเนื้องานครับ
ขอบคุณรางวัลที่ได้รับค่ะ

ผมเริ่มจะศึกษางานจัดการความรู้และหวังว่าจะนำไปใช้ แต่ดูเหมือนว่ามีสิ่งหนึ่งที่อยากทำแต่คงทำได้ยาก คือไม่มีตำแหน่งใหญ่แต่ทำงานใหญ่  เพราะยังไม่มีบารมีพอ  แต่คิดว่าถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่หวังสิ่งตอบแทน ก็อาจจะเกิดปัญญาญาณได้  ขอขอบพระคุณที่ช่วยจุดประกายการทำงานไม่ท้อถอยต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท