ส่งเสริมการใช้ ICT ในการเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่สากล


ประเทศไทยควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว ต้องเป็นไปอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้ง ไม่เป็นการบิดเบือนพระธรรม คำสอนของพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฏก


 การประชุมทางวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกันประจำปี พ.ศ. 2555 เรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับพระพุทธศาสนา” หรือ ICT for All Symposium 2012 on “ICT and Buddhism” เมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 12.30 –1๘.๐0 น.ณ ห้องประชุม ชั้น 5 วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เลขที่ 20/29 ซอยงามวงศ์วาน 23 (ซอวัดบัวขวัญ) ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จัดโดย ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club -- www.ictforall.org) และภาคีองค์กรร่วมจัด ได้แก่ สภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย สภาพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองและสมาคมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย

การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในโอกาสมหาธัมมาภิสมัย 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเป็นสังฆบูชาแด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษา ๙๙ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

การประชุมวิชาการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งพระภิกษุ และฆารวาส ผู้แทนส่วนราชการ สมาคม สถาบันการศึกษา มูลนิธิ ชมรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชนผู้สนใจโดยทั่วไป จำนวนประมาณ ๒๐๐ รูป/คน มีเป้าประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งระดมความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนา การนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกท่าน รวมถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ให้กว้างขวางออกไป การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้รับความเมตตากรุณาจะพระคุณเจ้า และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ พระมหารุ่งอรุณ (ปธ.๙) วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง พระดุษฎี เมธงฺกุโร สวนปฏิบัติธรรมวัดทุ่งไผ่   ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน  อธิการบดีกิตติคุณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม บุรุษคอมพิวเตอร์แห่งเอเชีย  อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช  อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม อาจารย์วรเดช  อมรวรพิพัฒน์ เลขาธิการสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย  อาจารย์สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. รองศาสตราจารย์ จันทนา ทองประยูร  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  นายชาตวิทย์  มงคลแสน  นายกสมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย นายทศพนธ์ นรทัศน์  ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน

การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้รับสัมโมทนียกถา และสารจากบุคคลและองค์กรทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ สารจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สัมโมทนียกถาจากพระไพศาล วิสาโลพระฐิตะวงษ์ อนุตฺตโร เลขานุการสำนักงานคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สารจาก ศาสตราจารย์ แมนเฟรด คราเมส (บาเดน-บาเดน, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ) สารจาก สหพันธ์นานาชาติและศาสนาเพื่อสันติภาพโลก (ประเทศไทย) มูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย) Message From Frank Carter B.Ec. Director, Buddhist Discussion Centre (Upwey) Ltd., Australia  สารจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล และรองศาสตราจารย์ ดร. มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา

ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางไปทั่วโลกภายใต้บริบทและแนวโน้มของประชากรโลกที่จะใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านเครื่องมือต่างๆ ทั้งเครืองคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนั้น ประเทศไทยควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าว ต้องเป็นไปอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้ง ไม่เป็นการบิดเบือนพระธรรม คำสอนของพระพุทธศาสนาตามพระไตรปิฏก

  โดยมีข้อเสนอแนะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีดังนี้

๑. ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเว็บไซต์ห้องสมุดพระพุทธศาสนาโลก (www.buddhist-elibrary.org) ให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

๒. การฝึกอบรมแก่พระสงฆ์ สามเณร และผู้ที่สนใจโดยทั่วไป เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพื่อการเข้าถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนารวมถึงกำหนดแนวปฏิบัติในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม ถูกต้องตามพระธรรมวินัย สำหรับพระสงฆ์ สามเณร

๓. ส่งเสริมและสนับสนุนให้วัด สำนักสงฆ์ที่มีความพร้อมเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน และเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาผ่านระบบ e-Learning รวมถึงจัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย

๔. พัฒนา Course Ware หรือแอพพลิเคชันที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ สำหรับแท็บเล็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ เผยแพร่ในทุกระดับชั้นการศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ

๕. สนับสนุนให้วัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีเว็บไซต์ของวัด เพื่อเป็นการสื่อสารสองทางกับประชาชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้คนมีความใกล้ชิดธรรมะมากขึ้น ทั้งนี้ โดยภาครัฐควรเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์และการเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของเว็บไซต์

๖. ควรมีองค์กรและผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและตรวจสอบเนื้อหาของธรรมะที่เผยแพร่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะทางเว็บไซต์ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเนื้อหานั้น มีความถูกต้องตามพระไตรปิฎก

๗. สนับสนุนให้มีการแปลหนังสือธรรมะเป็นภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ แล้วนำขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ หรือในรูปแบบ e-Book เพื่อให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะชาวต่างประเทศสามารถเข้ามาศึกษาได้

เมื่อดำเนินการได้ดังนี้แล้ว ก็เชื่อได้ว่าเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่กับมนุษยชาติสืบต่อไป ดังพระสัมโมทนียถาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกซึ่งอัญเชิญมาจากพระสัมโมทนียกถาที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกประทานแก่ พลเอก ธงชัย  เกื้อสกุล  นายกสมาคมผู้ทำคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และรองประธานกรรมการบริหารศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เพื่อนำพิมพ์ลงในหนังสือ “คำสอนในพระพุทธศาสนา (The Buddha’s Teachings)”เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ความสำคัญตอนหนึ่งว่า

  “...ปัจจุบัน แม้ว่าจะได้มีการแปลหลักธรรมคำสอนออกเป็นภาษาต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ และมีการเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก จนอาจกล่าวได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่ธรรมะไปไกล ไปถึงทุกประเทศทุกมุมโลก

  แต่ทว่าความต้องการศึกษาค้นคว้าธรรมะ ยังไม่มีที่สิ้นสุด เห็นได้จากผลสำรวจของสมาคมบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตที่พบว่าตามโรงแรมและสถานพักผ่อนหย่อนใจแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ติดต่อธุรกิจและการงานต่างๆ รวมถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก และในประเทศไทยเองยังขาดแคลนสื่อธรรมะในการหลักธรรม เมื่อเทียบกับศาสนาอื่นๆ

  ประเทศไทย ในฐานะเป็นประเทศชั้นนำที่เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดการรวมตัวระหว่างเครือข่ายคณะสงฆ์และคฤหัสถ์เพื่อร่วมกันบริจาค ผลิตสื่อคำสอนและหลักธรรมคำสอนที่เข้าใจง่าย ไม่สลับซับซ้อนให้ปรากฏทุกหนทุกแห่งทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วนที่สมควรผลักดันและสนับสนุนให้เป็นนโยบายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ทุกภาคส่วนของประชาคมโลก...”

ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเทียมกัน (ICT for All Club) และภาคีองค์กรร่วมจัด ขอขอบพระคุณ อาจารย์ชนะ รุ่งแสงนายกสภาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ที่ท่านได้ให้เกียรติมาเป็นประธานปิดการประชุมวิชาการ ICT for All 2012 และให้การสนับสนุนการจัดประชุมในครั้งนี้ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท คุณสุวิมล เชื้อชาญวงศ์ ที่ได้บริจาคเงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาท; คุณพรรณราย  ขันธกิจ  อดีตเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ; คุณวัชรา  ไชยสาร  กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้บริจาคเงิน สนับสนุนการจัดประชุมทางวิชาการฯ...@...ขอบขอบพระคุณวัดญาณเวศกวัน ที่ได้กรุณาอนุเคราะห์หนังสือพุทธธรรม และธรรมนิพนธ์ CD ธรรมบรรยาย ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สำนักงานคณะกรรมการพิเศษประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ได้นำหนังสือมาเผยแพร่แก่วิทยากรและผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการในครั้งนี้...@...ขอบขอบพระคุณ คุณสุวิทย์  กิ่งแก้ว  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการ และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่และอำนวยความสะดวกในการจัดประชุมฯ...@... ขอกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่เข้าร่วมการประชุม และขอบพระคุณท่านวิทยากร และผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งคณะผู้ช่วยงานทุกท่าน หากมีสิ่งหนึ่งประการใดที่ขาดตกบกพร่อง ทางชมรมฯ ก็ขออภัยเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี่ด้วย

สำหรับท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ictforall.org

อาจารย์ชนะ รุ่งแสง นายกสภาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก 

ทศพนธ์ นรทัศน์ประธานชมรม ICT for All มอบของที่ระลึกเพื่อเป็นเกียรติ
และขอบพระคุณแก่ อาจารย์ชนะ  รุ่งแสง 

ทศพนธ์ นรทัศน์

[email protected]

ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน

หมายเลขบันทึก: 510761เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2012 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าสนใจมาก ชมรมมีกิจกรรมดีๆแบบนี้แจ้งบ้างนะครับ

ขอพระคุณมากครับ ในโอกาสต่อไปหากมีกิจกรรมที่น่าสนใจจะได้แจ้งให้ท่านทราบต่อไปครับ

สวัสดีครับคุณทศพนธ์ นรทัศน์ ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะที่ สนับสนุนให้วัดต่างๆ ทั่วประเทศ มีเว็บไซต์ของวัดเป็นของตนเอง ผมอยากเห็นเว็บพระพุทธศาสนาที่่พอเข้าปุ๊บก็เจอปั๊บแบบกูเกิ้ล และเป็นที่จดจำของผู้ต้องการศึกษาค้นคว้าเพียงแห่งเดียวหรือสองแห่งก็พอครับ

ขอบคุณครับ สำหรับข้อสังเกต กรณีที่เสนอให้ทุกวัดมีเว็บไซต์นั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการสร้างความใกล้ชิดระหว่างวัดกับประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทำให้ประชาชนทราบประวัติความเป็นมาของวัด ทราบกิจกรรมทางพระศาสนาต่างๆ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยพระคุณเจ้าที่อยู่ในวัดนั้นๆ เองด้วย ซึ่งที่มาขอข้อเสนอแนะดังกล่าวส่วนหนึ่งก็มาจากงานวิจัยของพระนิสิต มมร. ซึ่งกระผมได้อ้างอิงไว้ในบทความ ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.ictforall.org

นอกจากนี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวของกระผมก็ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลในเว็บของวัด เช่น การเข้าถึงธรรมนิพนธ์ต่างๆ ของเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน, หรือพระธรรมเทศนาของเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยูรฯ เป็นต้น

ส่วนเว็บพระพุทธศาสนาเองนั้น ปัจจุบันนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตามผลลัพธ์ที่ท่านสืบค้นได้จาก Google ทั้งนี้ เท่าที่กระผมทราบเว็บไซต์ที่พยายามจะพัฒนาอย่างเป็นทางการ คือ เว็บไซต์ห้องสมุดพระพุทธศาสนาโลก (www.buddhist-elibrary.org) ซึ่งรับผิดชอบโดยทาง มจร. แต่ปัญหาก็คือคนอาจจะยังเข้าใช้งานน้อย

ถ้าจะเปรียบไปแล้วในโลกของอินเทอร์เน็ต ก็เหมือนในโลกแห่งความเป็นจริง คือ เว็บไซต์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่มากมาย ก็เหมือนวัด หรือสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีในโลกแห่งความเป็นจริง ส่วนเว็บไซต์ไหนคนจะเข้ามากเข้าน้อยก็แล้วแต่จริตของผู้ใช้ท่านนั้นๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่เรากังวลก็คือเนื้อหาที่เผยแผ่นั้น จะต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมคำสอนตามหลักพุทธศาสนาแบบเถรวาท เว้นแต่จะระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าคำสอนนั้นเป็นแบบพระพุทธศาสนานิกายอื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท