อบรม เพื่อนผู้ให้คำปรึกษา Youth Counselor ตอนที่ 2 : ทักษะชีวิต อาวุธที่มองไม่เห็น 1


ค่ะ หลังจากที่น้อง ๆ ได้เห็นถึงความสำคัญของ " เพื่อน " ต่อ เพื่อนวัยรุ่นแล้ว การที่เขาจะสามารถให้คำปรึกษาคนอื่นได้ ตัวเขาเองก็ต้องมีและเข้าใจถึง วิธีการใช้ชีวิตที่ถูกต้องเสียก่อน 

คงไม่มีใครมาปรึกษาเรื่องการบ้าน หรือเรื่องเนื้อหาในหนังสือ ที่ทำให้เราต้องกลุ้มใจว่า ไม่รู้จะช่วยเพื่อนอย่างไรดี แต่ปัญหาของเพื่อน ๆ นั้นสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ทะเลาะกับเพื่อนด้วยกัน ทะเลาะกับพ่อแม่ น้อยใจ  เครียดเรื่องแฟน เครียดเรื่องสิวขึ้น เครียดสารพัด เลือกไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้ อะไรทำนองนี้

เราก็ได้บอกกับเขาว่า YC ทุกคนต้องมีทักษะชีวิตเหล่่านี้ และต้องใช้ให้มันเป็นเหมือนตัวเรา ให้เป็นนิสัย และพัฒนาอยู่เสมอคือ

ทักษะการตระหนักรู้ตนเอง ซึ่งรวมถึงการเข้าใจผู้อื่นด้วย

ทักษะการสื่อสาร ซึ่งมีทั้งการพูด ( แบบ I message ) และการฟังอย่างตั้งใจ 

ทักษะการจัดการกับอารมณ์ และความเครียด

ทักษะการตัดสินใจแก้ปัญหา

และทักษะการปฏิเสธ

เริ่มที่ทักษะแรก

เราออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้น้อง ๆ เข้าใจในทักษะนี้ง่าย ๆ โดย

ใหเขาวาดรูปตนเอง อยู่ตรงกลางหน้ากระดาษ หลังจากนั้นให้ด้านซ้าย เขียนถึงข้อดี สิ่งที่เขาทำได้ดี สิ่งที่เขาภาคภูมิใจ และด้านขวา เขียนถึงสิ่งที่เขาต้องการจะปรับปรุง และให้เวลาเขาสักครู่ ( ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งใจทำ บางคนก็พูดขึ้นมาว่า ไม่รู้มีข้อดีอะไร ตอนนี้เราก็พูดให้เขาเห็นภาพว่า ข้อดีของคนเรา ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเรียนเก่งอย่างเดียว มีได้มากมาย เช่นเป็นคนมีน้ำใจ พูดจาไพเราะ ทำอาหารเก่ง ดูแลน้องได้ เล่นกีฬาเก่ง ร้องเพลง แต่งกลอน มีเมตตา และอีกมากมาย เป็นการปูพื้นให้เขาได้เห็นภาพที่กว้างขึ้นไป พอแบบนี้เขาก็เริ่มเขียนได้มากขึ้น )

และเมื่อเสร็จแล้ว เราก็ชี้ให้เขาเห็นว่า เราทุกคนจะเห็นว่าตนเองมีข้อดี ข้อด้อยอะไร แต่เมื่อเราอยู่ในภาวะเครียดมีเรื่องไม่สบายใจ เราจะมองไม่เห็นศักยภาพเหล่านี้ของเรา ทุกคนเมื่อให้คำปรึกษาเพื่อนที่มีปัญหาเรื่องไม่เห็นคุณค่าของตนเอง ให้เราพยายามพูดให้เขาย้อนกลับไปมองถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าเหล่านี้ให้ได้

ทักษะชีวิตตัวนี้มีความสำคัญสำหรับวัยรุ่นมาก ๆ นะเพราะการเห็นข้อดีข้อเสียจะนำไปสู่การเห็นคุณค่าของตนเอง ศรัทธาในตัวเอง  เกิดความนับถือตัวเอง ซึ่งเมื่อมีแล้ว คนเราจะไม่ทำอะไรที่ไม่มี ไม่เป็นการไม่นับถือตัวเอง เช่นการแต่งตัวโป๊ การขายบริการเพื่อซื้อมือถือ เป็นต้น 

น้อง ๆ เขาก็ get กันนะ ( เห็นพยักหน้ากันหยึก ๆ )


ทักษะตัวต่อมา 

เมื่อเขาได้เข้าใจเรื่องการรู้จักตนเอง เห็นคุณค่าในตนเองแล้ว เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการรู้จักและเข้าใจผู้อื่น ตรงนี้เราจะมีภาพที่แสดงให้เห็นว่าคนเรามีมุมมองประสบการณ์ในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน และการนำเสนอตรงนี้ ทำให้น้อง ๆ เขา get นะ 

เพราะพอเปิดบางภาพ บางคนก็มองไม่ออกว่าเป็นสิ่งที่เพื่อน ๆ บอกได้อย่างไร 

เช่น


ภาพนี้ถามว่า เขามองเห็นอะไร 

เด็ก ๆ ก็บอกว่า กบ

OK แล้วนอกจากกบล่ะ เห็นอะไรอีก บางทีเขานึกไม่ออก เราต้องให้เขาตะแคงมองดูก็จะเห็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งคือ "ม้า" บางคนบอกแล้วก็ยังมองไม่เห็นอีกนะ...


ช่วงนี้ก็เรียกเสียงหัวเราะได้เยอะ เพราะบางภาพก็หวาดเสียว ( ล่อแหลม เรียกเสียงหาได้ )


ทักษะอีกตัวที่เรานำเสนอให้เขาคือทักษะการสื่อสาร

เริ่มจากการพูดก่อน

เพราะเมื่อเป็น YC ก็ต้องใช้หลักการสื่อสารที่ถูกต้องด้วย และปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้คนเราเครียดกันสมัยนี้ ก็คือการคุยกันได้ไม่นานก็ทะเลาะกันแล้ว

เราให้หลักเขาไปว่า ให้สื่อสารด้วย I message 

หมายความว่า ให้เริ่มใช้คำพูดว่า ฉัน หรือเราก่อน แล้วตามมาด้วยความรู้สึก / ความต้องการของเราไปเลย และปิดท้ายด้วยการถามความเห็นของคุ่สนทนาว่า อย่างไร

เราก็ยกตัวอย่างให้น้อง ๆ เห็นเลยนะ ว่า ถ้าเย็นนี้น้อง ๆ อยากให้พ่อพาไปเซ็นทรัล

ถ้าเราพูดว่า " ป๊า เมื่อไหร่ป๊าจะพาไปเซ็นทรัลซะทีอ่ะ มันเปิดมาเป็นเดือนแล้วนะ เพื่อน ๆ เขาไปกันหมดแล้ว ต้องรอให้..... เหรอถึงจะได้ไป " พอเราพูดแบบนี้ สิ่งทีตามมาก็อาจเป็นคำพูดของป๊าที่ไม่พอใจเรา เช่น " อะไรกันนักกันหนา ต้องไปให้เหมือนคนอื่นเขาหรืองัย เราทำตัวให้มันดีก่อนเหอะ ตื่นก็สาย เรียนก็แย่... " และก็อีกสารพัดที่ป๊าจะขุดมาว่าเรา แล้วหลังจากนั้นก็เป็นการต่อว่ากันไปว่ากันมา อดไปเซ็นทรัล แถมอาจอดกินข้าวเย็นด้วยซ้ำ

แต่ถ้าใช้ I message ก็จะออกมาแบบนี้ " ป้าหนูอยากไปกินข้าวที่เซ็นทรัลเย็นนี้ ไปได้เปล่า " จบแค่นี้ แล้วก็รอคำตอบ ซึ่งป๊าก็จะบอกคำตอบว่า ไปได้ หรือไปไม่ได้เพราะอะไร 

เห็นว่า ว่าเราสามารถใช้ การสื่อสารแบบนี้ได้กับทุกภาวะ ทั้งสุข เศร้า แล้วเราก็ยกตัวอย่างคำพูดในสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เขาเห็น

ทำให้เขาเห็นคุณประโยชน์ของการสื่อสารที่ตรง และมีประสิทธิภาพ ซึ่งมันก็จะเป็นอาวุูธอีกอันหนึ่งที่จะเอาไปบอกกับเพื่อน ๆ ได้ต่อไป กรณีที่เพื่อนที่ปัญหาความข้ดแย้ง หรือต้องการที่จะบอกความรู้สึกต่าง ๆ กับผู้อื่นที่ได้ผลอย่างดี

ลองติดตามตอนต่อไปนี้


หมายเลขบันทึก: 510572เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2012 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท