ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

เทศบาลเมืองตากเปลี่ยนกะลามะพร้าวเปล่าๆ เป็นกระทง มาสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน


กระทงกะลาแต่ละชิ้นจะถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างสวยงามด้วยการออกแบบ และสีสันที่แตกต่างกันออกไป เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งนอกจากจะสามารถทำขายในช่วงเทศกาลลอยกระทงแล้ว เรายังสามารถประยุกต์ด้วยการใช้เทียนหอมแทนเทียนธรรมดา ซึ่งพบว่ากำลังเป็นที่ต้องการของธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และสปา ที่ต้องการนำใช้ตกแต่งให้ลูกค้า และส่วนหนึ่งก็จำหน่ายให้กับลูกค้าชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบงานฝีมือ

เปลี่ยนกะลามะพร้าวเปล่าๆ

สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน

 

ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป1,000ดวง ของจังหวัดตาก เป็นประเพณีที่นำเอาพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้านผนวกเข้ากับงานศิลปวัฒนธรรม มาหล่อหลอมรวมกันจนเป็นรูปธรรมที่โดดเด่นและปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน

กระทงสาย ประดิษฐ์ขึ้นจากกะลามะพร้าว แต่ละใบถูกแต่งแต้มสีสัน หรือประกอบลวดลายฉลุอย่างสวยงามตามแต่จินตนาการของผู้ประดิษฐ์ ซึ่งเมื่อนำไปไหลในลำน้ำทำให้ดูเป็นสายยาวต่อเนื่อง มีแสงไฟในกะลาส่องแสงระยิบระยับกลางแม่น้ำปิง


กระทงสาย หรือกระทงกะลามะพร้าว นอกจากจะมีความสำคัญด้านวัฒนธรรมประเพณีแล้ว ณ วันนี้ยังสามารถสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ชาวชุมชน

เทศบาลเมือง(ทม.)ตาก โดยกองสวัสดิการและสังคม ได้ส่งเสริมชุมชนสร้างอาชีพและสืบทอดภูมิปัญญาสู่เยาวชนในการทำกระทงกะลา ซึ่งอยู่ใน “โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ชุมชนเพื่อสัมมาชีพ”100ตำบล28จังหวัด ภายใต้สนับสนุนของมูลนิธิสัมมาชีพ และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน(สสค.)เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์  สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว 


นางจรรย์จรี  บุญเรือง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองตากผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านนำเอามะพร้าวมาแปรรูปเป็นอาหารว่าง ที่เรียกว่า“เมี่ยง”นอกจากจะทำไว้กินเองหรือต้อนรับแขกเรือนแล้ว บ้างก็จะทำขาย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะใช้แต่เนื้อมะพร้าว ส่วนอื่นๆ เช่น เปลือก หรือกะลามะพร้าวก็ถูกทิ้งไป กระทั่งมีผู้ที่คิดเอากะลามะพร้าวไปใช้ลอยแทนกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคา จนกลายมาเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป1,000ดวง มาจนถึงทุกวันนี้

ต่อได้มาได้มีการประดิษฐ์กระทงกะลาให้สวยงามขึ้น ซึ่งในช่วงเทศกาลลอยกระทงของทุกปีจะมีชาวบ้านผลิตกระทงกะลาออกมาขายกันนับหมื่นๆ ใบ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้นำไปลอยในแม่น้ำ ซึ่งท่องเที่ยวบางรายก็ซื้อหาไปเป็นของที่ระลึกอีกด้วย

ดังนั้นเทศบาลฯ จึงเล็งเห็นว่าน่าจะส่งเสริมอาชีพทำกระทงกะลามะพร้าวนี้ได้ จึงได้ให้กองสวัสดิการสังคม เป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการหาช่องทางการจำหน่ายเพื่อให้ขายได้ทั้งปี


นางจรรย์จรี กล่าวอีกว่า เราได้รวบรวมกลุ่มสมาชิกทั้ง16ชุมชน เพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพการประดิษฐ์กระทงกะลา โดยงานตัวแบบงานกะลา งานด้ายฟั่นเป็นรูปตีนกาสำหรับจุดไฟ  งานฉลุ งานลงรักปิดทอง เป็นต้น จะถูกจัดสรรหน้าที่ให้ชุมชนแยกกันไปทำ หลังจากนั้นก็จะมีกลุ่มที่รับผิดชอบในการประกอบตัวกระทงกะลาเข้าด้วยกัน ซึ่งการแยกหน้าที่ให้ชุมชนนี้เป็นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทุกชุมชน นอกจากนี้เราได้ให้ผู้พ้นโทษ หรือ ผู้ที่ถูกคุมประพฤติที่มีฝีมือในงานไม้ งานแกะ งานฉลุ ให้เข้ามามีส่วนร่วม อันเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มนี้ด้วย


กระทงกะลาแต่ละชิ้นจะถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างสวยงามด้วยการออกแบบ และสีสันที่แตกต่างกันออกไป เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่า ซึ่งนอกจากจะสามารถทำขายในช่วงเทศกาลลอยกระทงแล้ว เรายังสามารถประยุกต์ด้วยการใช้เทียนหอมแทนเทียนธรรมดา ซึ่งพบว่ากำลังเป็นที่ต้องการของธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และสปา ที่ต้องการนำใช้ตกแต่งให้ลูกค้า และส่วนหนึ่งก็จำหน่ายให้กับลูกค้าชาวต่างประเทศที่ชื่นชอบงานฝีมือ

          สำหรับการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายนั้น ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จะขายกันในราคาใบละไม่ต่ำกว่า30บาท ขณะเดียวกันเราได้มีโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย คือ จัดเป็นเซ็ต99อัน ราคา500บาท  จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวนำไปลอยตามเลขมงคล ทำให้สามารถจำหน่ายได้ประมาณเยอะขึ้น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวบางรายก็จะซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก ขณะเดียวกันทางเทศบาลฯ ก็จะรับซื้อจากชาวบ้านเพื่อนำมาตกแต่งในวันงานอีกนับหมื่นใบ เช่นเดียวกับช่วงที่ไม่มีเทศกาลนั้น ทางเทศบาลฯ จะให้ชาวบ้านทำมาขายให้กับคณะศึกษาดูงานที่เทศบาลเมืองตาก ตลอดจนส่งเสริมให้มีพื้นที่จำหน่ายในเทศกาลประจำปี เช่น งานตากสิน งานโอท็อป หรือนำไปโร้ดโชว์ตามจังหวัดต่างๆ  

          อย่างไรก็ตามการที่จะส่งเสริมให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้งามตลอดทั้งปีนั้น เราจะต้องส่งเสริมหรือหาช่องทางการจำหน่ายที่แน่นอน ซึ่งตอนนี้หากเป็นช่วงนอกเทศกาลลอยกระทง เราจะรับทำตามออเดอร์ที่ลูกค้า รีสอร์ท โรงแรม สปา หรือผู้ที่สนใจจำนวนมากเท่านั้น ไม่สามารถทำมาวางจำหน่ายเป็นอาชีพทุกๆ วันได้  ในส่วนนี้หากจะยึดเป็นอาชีพและทำขายอย่างจริงจังแล้ว จะต้องมีการรวมกลุ่มชาวบ้านที่ทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง


ลุงสรอรรถ สุยะ ปราชญ์ชาวบ้านบอกว่า เทศกาลลอยกระทงสาย ของ จ.ตาก ถือว่ามีแห่งเดียวในโลก และคำว่ามีแห่งเดียวในโลกนี้เองที่ทำให้คนในชุมชนร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีนี้ตลอดมาและสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

การทำกระทงกะลาขายนั้น เราบอกกับชาวบ้านว่า กะลามะพร้าวที่เหลือใช้ใต้ถุนบ้านไม่มีค่า เอามาแตกแต่งสร้างมูลค่า เพิ่มรายได้ดีกว่า ทำให้เป็นที่น่าสนใจของชาวบ้าน

เด็กๆ เองก็รู้สึกดีใจที่มีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของชาว จ.ตาก ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็มีรายได้จากการฟั่นด้ายตีนกา ซึ่งเด็กๆ สามารถไปรับด้ายที่เทศบาล แล้วเอาไปทำเองที่บ้านได้ หรือให้พ่อแม่ช่วยกัน เมื่อเสร็จก็นำไปส่งคืนก็จะได้เส้นละ2บาท สร้างรายได้กับตนเองและครอบครัว  ขณะเดียวกันทางโรงเรียนเองก็ได้สนับสนุนในการบรรจุการเข้าในหลักสูตรการศึกษา รายวิชาการงานอาชีพ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงประวัติและการประดิษฐ์กระทงสายด้วยตัวเอง  

          อีกทั้งขณะนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยังได้สนับสนุนงบประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารหมู่บ้านวัฒนธรรมกระทงสาย ภายในจะจัดแสดงวิถีชีวิต วัฒนธรรมของ ชาว จ.ตาก รวมไปถึงเป็นศูนย์เรียนรู้ และโดยเฉพาะกระทงสายเป็นหลัก  


ด้านอ.ณรงค์ คงมาก หัวหน้าโครงการติดตามสนับสนุนและประเมินผล โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ชุมชนเพื่อสัมมาชีพกล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชน โดยส่งเสริมการเรียนรู้หรือเป็นการต่อยอด ได้แก่ การพัฒนาทักษะอาชีพหลัก การช่วยลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมและสร้างอาชีพเสริมที่มีแต่เดิมหรือเกิดขึ้นใหม่  การส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยงชุมชน ตลอดจนการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ชาวชุมชนสามารถคำนวณต้นทุนการผลิต เพื่อให้ทุกตำบลมีทักษะเชิงการจัดการธุรกิจได้ด้วยตัวเอง

ในส่วนของกระทงกะลาหรือกระทงสาย ของ จ.ตาก นั้น นับว่าเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน ซึ่งกระทงสายก็มีความสวยงามและสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ผลิตจำหน่ายในช่วงเทศกาลลอยกระทง และยังทราบว่ายังสามารถจำหน่ายในช่วงนอกเทศกาลได้อีกด้วย นับเป็นความกลมกลืนทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประเพณีที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้

โดยส่วนผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นนั้น เรามีแผนที่ส่งเสริมการจำหน่ายผ่านทาง E-Marketing หรือการขายในอินเตอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ของโครงการจำนวน4ชนิดที่สามารถนำไปจำหน่ายในเว็บไซต์ ได้แก่ กระทงสาย จ.ตาก ข้าวฮ่าง จ.หนองบัวลำภู ผ้าย้อมคราม จ.อำนาจเจริญ และ น้ำฟักข้าว จ.กาญจนบุรี ขณะเดียวกันเรายังได้มีแผนจัดทำเอาท์เลท หรือศูนย์จำหน่ายสินค้าในโครงการ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง


หมายเลขบันทึก: 510559เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2012 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีต้องการจะสั่งออเดอร์ ต้องทำอะไรยังไงบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท