เล่าเรื่องมุสลิม


เกียรติคุณอันสูงส่งของบรรพชนมุสลิมเชื้อสายไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา

อนุสรณ์สถานท่านเฉกอะหมัด

หลายท่านที่มีโอกาสผ่านไปในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏ
พระนครศรีอยุธยา คงสังเกตเห็นอนุสรณ์สถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อันเป็นที่เคารพนับถือของมุสลิมทั่วไปเป็นเวลาช้านาน

หากย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะพบว่าการเปิดสัมพันธไมตรี
กับต่างประเทศในสมัยอยุธยาเป็นผลให้เศรษฐกิจการค้า
เจริญรุ่งเรืองมาก  การดำเนินงานเกี่ยวกับการค้าของกรมท่าขวา
หรือพระยาจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นมุสลิมนั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัย
ของพระมหากษัตริย์ไทยอย่างยิ่ง

มุสลิมที่เข้ามาอยู่อยุธยามีชื่อเสียงปรากฏเด่นชัดมาก
เป็นแขกเดินทางมาจากเมืองกุมประเทศอิหร่านชื่อเฉกอะหมัด
กับมหะหมัดสุอิด (เป็นพี่น้องกัน) เข้ามาค้าขายเมื่อปีพ.ศ.2145
ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้พาพวกมุสลิมเข้ามาด้วย
เป็นจำนวนมาก และตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณท่ากายี

ท่านเฉกอะหมัดได้ทำการค้าขายและใกล้ชิดกับเจ้านายและ
ขุนนางข้าราชการสมัยนั้นมาก ทั้งยังเป็นพระสหายกับพระเจ้า
ปราสาททองขณะที่ทรงเป็นพระยามหาอำมาตย์ด้วย
จึงได้เข้ารับราชการในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมได้เป็น
พระจุฬาราชมนตรี และต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น
"เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี" มีตำแหน่งเป็นสมุหนายก

ท่านเฉกอะหมัดได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือน
อยู่บริเวณท้ายคู หรือที่เรียกว่าท่ากายี (อยู่ใกล้วัดสวนหลวง)
ลงมาทางริมน้ำ ท่านได้หญิงไทยเป็นภรรยา มีบุตร 3 คน
ท่านถึงแก่อสัญกรรมเมื่ออายุ 88 ปี 

เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) ที่สมุหนายกได้จัดการศพของบิดา
และนำไปฝังที่ป่าช้าแขกท้ายคู ท่ากายี  มีหลักฐานหลายอย่าง
บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่เกี่ยวข้องกับ
ชุมชนมุสลิมกลุ่มสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์อยุธยา เช่น
มีโคกแขก  ทุ่งแขก  ป่าช้าแขก  กุฏีทอง แสดงให้เห็นว่า
ชุมชนมุสลิมดังกล่าวได้เคยมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีความสุข
ประสบความสำเร็จบนผืนแผ่นดินไทย

จวบจนถึงปัจจุบันนี้พี่น้องมุสลิมในอยุธยา ซึ่งอาศัยอยู่รวมกัน
ในชุมชนย่านตำบลประตูชัยใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ
ตำบลคลองตะเคียน หรือตำบลลุมพลี ต่างก็มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่
อย่างสมานฉันท์ร่วมกันกับพี่น้องคนไทย โดยไม่มีการแบ่งแยก
เชื้อชาติ ศาสนา

ฉะนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า คนไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด
ล้วนแล้วแต่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
และมุ่งมั่นที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนผืนแผ่นดินไทย.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5105เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2005 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท