เป้าหมายคือไปกราบเพื่อรำลึกถึงพระคุณที่ผ่านมา


เย็นวันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ผมขับรถ Eco Car จากชายต่อแดนระหว่างปทุมธานี-อยุธยา มุ่งหน้าสู่หอพักสมาคมการพยาบาล ตรงข้าม King Power ถนนรางน้ำ แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อไปรับ "สาวน้อยหน้ามนคนหน้าเด็กตัวเล็กๆเสปกเอก" เลยนวนครไป มีรถติดยาวทีเดียว 


  แต่แล้ว ผมก็ขับมาถึงหอพัก จอดรถไว้ภายในนั้นเอง แล้วรีบเดินออกไปรับพระน้องนางที่ราชวิถี (เธอขึ้นมาจากใต้เพื่อมาเรียนเฉพาะทางเพิ่มเติม) แต่ยังไม่ทันข้ามสะพานลอย เธอก็มาถึงก่อนพร้อมกับหอบหิ้วของพะรุงพะรัง ของดังกล่าวคือของฝาก เป็นแหนมเนือง แหนมหมู หมูยอ ที่ทราบว่ามีรสชาติเรียกน้ำลายได้ดี ผมรีบไปรับของนั้น และเดินกลับหอพร้อมกัน เมื่อถึงหอพัก ผมนำของไปจัดไว้ท้ายรถเล็กๆที่บรรจุของได้พอสมควร ส่วนเธอขึ้นไปอาบน้ำบนหอพัก ไม่นานจึงลงมา และถึงเวลาที่เราจะเดินทางกัน

  ประมาณหกโมงเย็นกว่าๆ ด้วยความที่ผมและเธอไม่รู้หรอกว่าทางด่วนที่จะไปดาวคนองนั้นไปทางไหน จึงใช้ google  ซึ่งได้ข้อมูลพอสมควร คือ ออกจากหอพัก เลี้ยวขวา (บนนถนนรางน้ำ) จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายขับไปตามถนนเส้นพยาไท เลี้ยวขวา ขับบนถนนเส้นศรีอยุธยา จากนั้นให้เลี้ยวซ้าย ขึ้นทางด่วนขั้นที่ ๒ ทางพิเศษศรีรัช มุ่งสู่ถนนพระราม ๒ ขับไปเรื่อยๆ เห็นตึกสูงๆปลายสะพานฝั่งโน้น จึงชื่นใจขึ้นมา 

   ถนนเส้นพระราม ๒ นั้น รถติดพอสมควรเช่นกัน ผมตั้งใจจะขับแบบประหยัดพลังงาน เมื่อเห็นว่าหน้าปัทม์เตือนว่าน้ำมันใกล้จะหมดแล้ว จึงแวะเข้าเติมน้ำมันปั๊ม บ. จำนวน ๑๐๕๐ บาท เต็มถังพอดี เหตุผลทืี่เลือกเติมปั๊ม บ.เพราะเท่าที่ใช้รถมา และสังเกตเป็นการส่วนตัวพบว่า ปั๊ม บ.นั้น อัตราการเร่งจะดีกว่าปั๊ม ป. นอกจากนั้น ปั๊ม บ.ยังมีน้ำให้จำนวน ๒ ขวดลิตรไว้ดื่มระหว่างทางด้วย เราใช้รถ Eco Car ดังนั้น เราจะต้องทำให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรถ นั้นคือ พยายามให้ประหยัดอย่างที่สุด ด้วยการเหยียบคันเร่งแบบนิ่งให้มากที่สุด บนถนนของการเดินทาง มีรถมาก ทั้งช้าและเร็ว รถที่ช้ากว่าเรา เราจำเป็นต้องแซง ส่วนรถที่เร็วกว่าเรา เราไม่ขวาง ในการที่เราต้องเหยียบแซงและเหยียบหลบให้รถคันที่เร็วกว่า อัตราการกินน้ำมันจะมากกว่าปกติ 

  ในการใช้ถนนร่วมกันนั้น รถคันเล็กจะต้องมีความอดทนเรื่องนี้คือ ถ้าไม่ถูกตัดหน้า ก็จะถูกบีบไฟไล่ หรือไม่เบียดแซง เป็นต้น ดังนั้น ในบางครั้ง ความเป็น Eco Car จะมีข้อจำกัดบนเส้นทางเดียวกันด้วย ผมใช้ความเร็วที่พยายามควบคุมคือ ๙๐-๑๐๐-๑๑๐ และจะพยายามให้เท่านิ่งที่สุด เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยที่ดี แต่จะมี ๑๒๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ต่อเมื่อบางกรณีที่ต้องแซง และหนีรถคันที่บีบไฟไล่(ระหว่างที่เรากำลังค่อยๆแซง) โดยมากจะเป็นค่ายกระบะโต ผมพบข้อสังเกตเท่าที่ใช้ถนนมาสองปี กระบะเมืองไทยที่คนไทยมักซื้อใช้กันเยอะคือค่ายอีกับค่ายโต นิสัยการขับรถของสองค่ายนี้ต่างกัน ค่ายอีจะนิสัยดีกว่า อาจเกิดจากคนที่ซื้อจะเป็นผู้ผ่านโลกมาพอควรระยะหนึ่งแล้ว

  ช่วงนี้กำลังเข้าหน้าหนาว ช่วงกลางวันจะสั้นกว่ากลางคืน มาถึงเพชรบุรีก็มืด รู้สึกเหนื่อยอ่อนอยู่พอควร เนื่องจากคืนที่ผ่านมานั้นหลับๆตื่นๆ(นอนไม่หลับ)อาจจะด้วยสาเหตุบางประการ กลางวันมีประชุม ตอนเย็นออกเดินทาง แต่เราก็ปรึกษากันว่า หากไม่ไหวก็ต้องพัก เกือบสองทุ่มมาถึงชะอำ เห็นว่า อย่าขับต่อดีกว่า จึงแวะเข้าพักชายหาดชะอำ เป็นห้องพักชั้นสอง ซึ่งเป็นห้องเดียวกับที่เคยมาแวะพักเมื่อหนีน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ห้องพักเป็นห้องชั้นสอง ราคา ๑,๐๐๐ บาท ข้างใต้มีที่จอดรถส่วนตัว หน้าระเบียงชั้นล่างเป็นถนนภายใน เดินถัดไป เป็นสระว่ายน้ำ หากเราเดินออกจากห้องพักเลี้ยวไปทางขวา จะออกทะเลชะอำ


  รู้สึกเสียดายเหมือนกัน เราน่าจะเลือกบนตึกในภาพมากกว่า น่าจะเห็นวิวได้ดีกว่าห้องที่เราเช่าค้ิางคืน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของเราคือ ต้องการพักผ่อนก่อนเดินทางวันรุ่งขึ้น 

  เรานำของจำเป็นออกจากรถ(แม้จะเป็นรถขนาดเล็กแต่ก็ใส่ของได้มากทีเดียว) ส่วนนอกนั้นไว้ในรถไปก่อน จากนั้นจึงเดินขึั้นไปห้องพัก ทำภาระกิจบางอย่าง ขณะที่ท้องร้องจ๊อกแจ๊กตั้งแต่ถึงเพชรบุรีแล้ว จึงเดินกันออกไปหาอาหารกิน เห็นร้านหนึ่งจึงเดินเข้าไป มีลุงแก่ๆเป็นเด็กเสริฟ ลุงอ้วนๆเป็นพ่อครัว เมื่อนั่งเสร็จ ผมสั่งข้าวต้มทะเล สาวน้อยร้อยชั่งสั่งข้าวผัดปู ไม่นานอาหารที่สั่งก็มาถึงโต๊ะ เรามองหน้ากัน ทำไมข้าวผัดปูที่เราเคยกิน จึงกลายเป็นข้าวแฉะผัดปู ซึ่งสาวน้อยของผมไม่ชอบกินข้าวแฉะ ส่วนข้าวต้มของผม ทำไมน้ำข้าวต้มจึงข้นขนาดนั้น มองดูชามที่ใส่ มีราขึ้นเต็มเลย หันไปดูช้อน เราต้องล้างใหม่ อันที่จริงตัวเราเองนั้นก็ใช่ว่าจะสะอาดอะไร แต่การศึกษาบอกเราว่า ภาชนะที่ไม่สะอาดจะมีเชื้อโรคมาก หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง ทำให้เราคิดว่า ต่อไปหากมาเที่ยวที่ชะอำอีก เราต้องสังเกตแหล่งที่เราจะซื้ออาหารให้ดี อย่างไรก็ตาม ผมก็กินข้าวต้มหมด ต้องขอบคุณขวดพริกไทยบนโต๊ะอาหารที่ทำให้ผมกินได้ ส่วนสาวน้อยนั้น เธอกินได้นิดเดียว เมื่อจ่ายเงินเสร็จ เราจึงเดินออกจากร้าน แวะไปซื้อหมึกย่าง และเดินเข้าที่พัก อาบน้ำ(อาจารย์สอนมาว่า ควรอาบน้ำก่อนกินอาหาร) นั่งดูละครทางทีวีและแทะหมึกกินกัน จากนั้นจึงแปรงฟันและนอนหลับไป 

  ๖ โมงเช้า ผมตื่นขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟัน เพื่อหวังว่า ไหนๆก็พักแถวหาดชะอำแล้ว ต้องออกไปเดินเล่นสักหน่อย จึงบอกสาวน้อยร้อยชั่งที่ยังนอนอยู่ว่า จะออกไปเดินเล่นริมหาดสักหน่อย เสียงเธอค่อนมาว่า "จะทิ้งน้องอีกใช่ไหม" ทำให้ผมต้องแก้ตัวตามความเป็นจริงว่า ไม่ได้คิดจะทิ้ง แต่เห็นว่ายังนอนอยู่ และไม่รู้ว่าอยากจะไปเดินเล่นหรือไม่ จึงพูดคำนั้นออกไปเพื่อดูท่าทีว่าจะไปหรือไม่ อยากชวนอยู่ แต่ถ้าไปด้วยความไม่ได้สมัครใจไปเอง อาจจะไม่มีความสุข   ดังนั้น เมื่อต้องการจะไปด้วยก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะผมก็อยากไปด้วยกันอยู่แล้ว เธอลุกขึ้นเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างหน้าแปรงฟัน เดินออกไปพร้อมกัน เราเดินบนถนนริมหาดชะอำ เห็นพระบิณฑบาต จึงอยากใส่บาตร แวะเข้าไปซื้อโจ๊กและใส่บาตรในยามเช้า กับบรรยากาศที่เงียบสงบแบบนี้  เราประทับใจภาพหนึ่ง ซึ่งผมไม่ได้เก็บภาพมาด้วย เพราะรอโจ๊กจากแม่ค้า เป็นภาพลูกเณรตัวเล็ก เดินตามหลังพระ ผมสังเกตว่า เณรรูปนี้น่าจะบวชไม่ต่ำจากสามเดือนแล้ว เพราะดูจากการเดินสงบตามประสาเด็ก แต่ไม่เกะกะอย่างเด็กทั่วไป ตัวเล็กนิดเดียวน่ารักเชียว ดูเหมือนสาวน้อยอยากใส่บาตรให้เณรตัวเล็กมากๆ แต่น่าเสียดายที่โจ๊กซึ่งสั่งแม่ค้านั้นเสร็จไม่ทัน เราจึงใส่บาตรรูปอื่นที่เดินผ่านมา 

    หลังจากใส่บาตรเสร็จแล้ว เราจึงเดินไปชายหาดอีกทีหนึ่ง ดูร้านนี้สะอาดดี มีการกวาดพื้น ทำโต๊ะอะไรสะอาด จึงแวะเข้าไป ผมสั่งโจ๊กทะเล สาวน้อยสั่งโจ๊กหมู เรานั่งกินกันไปคุยกันไป กับบรรยากาศเงียบสงบ ยามเช้าที่ไม่พลุกพล่าน แต่แล้วเราก็ตกใจ ทุกคนหันไปมองเป็นตาเดียวกันตามเสียงทีมานั้น 

  รถบัสท่องเที่ยวคันหนึ่งเปิดเสียงดังสนั่น เวลาแบบนี้หลายคนยังไม่ตื่น หลายคนกำลังออกกำลังกาย หลายคนกำลังซึมซับบรรยากาศ รถคันนี้เปิดเพลงสนั่นเมือง ผมหันไปดูและเก็บภาพไว้ เราจะเห็นว่า มีลำโพงหลายดอกเป็นแถบยาวอยู่ด้านบนกระจกหน้ารถภายนอก เสียงนี้เองที่สนั่นลั่นทุกของเพลงดุดันแบบวัยรุ่นสมัยใหม่

 ผมเชื่อว่า คนเปิดเพลงคงคิดว่า เพลงนั้นน่าฟัง จึงเปิดให้เสียงดัง แต่น่าเสียดาย หลายคนอาจไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมเป็นคนชอบฟังเพลง แต่ไม่ได้หมายความว่าตลอดเวลาและทุกสถานที่ บางครั้งเราต้องการฟังเพลงของ "ความเงียบ" สิ่งที่เราพูดคุยเรื่องหนึ่ง คือ ทำไมริมหาดชะอำจึงไม่มีคลับบาร์ เข้าใจว่า เขาคงจัดโซนแบบนี้ไว้สำหรับพักผ่อน หากเราต้องการความครึกครื้น เราสามารถเข้าไปที่ตลาดชะอำได้ 

   เราจ่ายเงินค่าโจ๊กเสร็จ จึงรีบออกไปให้ไกลจากที่นั้น เราเปลี่ยนไปเดินริมหาด แต่แล้วผมก็อดใจไม่ไหว จึงลงไปเล่นน้ำเช้าๆ มีนักท่องเที่ยวเล่นน้ำเช้าๆจำนวนหนึ่ง ทะเลเรียบ 

คลื่นน้อย มีการเล่นเรือเร็วกับเรือกล้วยด้วย

  สาวน้อยของผมทนไม่ไหว จึงลงไปเล่นด้วย แต่เราก็เป็นห่วงว่า ของที่เราวางไว้บนหาดจะหาย จึงเล่นน้ำทะเลกันได้ไม่นาน ต้องรีบไปเก็บของจากห้องพัก ลงมาใส่ในรถคันน้อย นมัสการศาลเจ้าที่ ก่อนออกเดินทางมุ่งสู่จังหวัดชุมพรต่อไป 


  ถนนเส้นเพชรบุรี-ประจวบ-ชุมพร จำนวนหนึ่ง เส้นทางเหมือนกับถนนลูกรัง ดีแล้วที่ไม่ขับรถตอนกลางคืน ถนนเส้นนี้เป็นอย่างนี้ก่อนน้ำท่วมใหญ่ นึกสงสัยอยู่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นถนนเส้นหลักลงสู่ภาคใต้ แต่เขตพื้นที่นี้ำทำไมจึงไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น 

  มาถึงแยกท่าแซะ เราจึงหาทางลัดเข้าตัวเมืองชุมพร จากถนนสี่เลนมุ่งเข้าถนนสองเลน ก่อนจะเลยไปถึงพื้นที่รวมสำนักงานราชการ เราแวะที่วัดศาลาลอย (วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย) เพื่อไปนมัสการหลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร(กราบนมัสการขออนุญาติลงภาพ)


  วัดแห่งนี้ ก่อนนั้นเคยมีสำนักเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์จังหวัดชุมพร เป็นแห่งที่สอง รองจากวัดขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ภายใน ๕-๗ ปี สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนปริยัติธรรมประจำจังหวัด แต่แล้ว เมื่อนายหัวเรือไม่อยู่ ทุกอย่างก็ค่อยๆคลายตัวเหลือเพียงอนุสรณ์สถาน


  อย่างไรก็ตาม เรายังคงรู้จักวัดศาลาลอยซึ่งเคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร อันเป็นที่เคารพของชาวพื้นเมืองจังหวัดชุมพร วัดแห่งนี้เป็นวัดปฏิบัติ ปัจจุบันมีพระครูพิัพัฒน์ขันตยาภรณ์ (เพ็ง ขนฺติโก) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งหลวงพ่อเจ้าอาวาสรูปนี้ ยังคงเป็นผู้สืบทอดวัตรปฏิบัติได้เป็นอย่างดียิ่ง ทราบว่า ท่านเคยเรียนปริยัติธรรมถึงประโยคเก้า แต่เป็นการเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบให้ได้ขั้น ท่านเป็นพระนิ่งๆ พูดน้อย สำหรับผม หากได้ทำบุญกับพระแบบนี้จะไม่เกิดข้อกังขาใดๆ

  จากนั้นจึงเดินทางต่อไป แวะเข้าหลังวัดท่ายางกลาง (วัดพิชัยยาราม) เพื่อเยี่ยมป้าและคนรู้จัก แวะไปบ้านเอาของไปฝากแม่ที่ตำบลบางหมาก ชวนแม่ไปบ้านพี่สาวที่ในไร่ ตำบลท่ายาง 

   เราเห็นพี่สาวกำลังนั่งคัดเนื้อปูออกจากตัวปูที่ต้มสุกแล้ว ด้วยฝีมือและความชำนาญ เราต้องยอมรับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ สาวน้อยร้อยชั่งของผม นั่งมองด้วยความทึ่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งผมถามพี่ว่า เนื้อปูกิโลละเท่าไร พี่บอกว่า ไม่ต่ำจากเจ็ดร้อย เราร้องโอ้โห และบอกพี่ไปว่า ปกติเราจะชอบกินข้าวผัดปู และถามพี่ว่า เนื้อปูที่คัดออกมาแล้วนั้นกินได้ไหม พอทำท่าจะหยิบ(แต่ไม่ได้คิดจะหยิบมากิน พี่สาวคงคิดว่าจะหยิบมากิน ปกติพี่สาวจะใจดีมาก ขออะไรไม่เคยปฏิเสธหากมีสิ่งที่ขอนั้น) พี่สาวบอกว่า "อย่ากิน" ผมโต้ไปว่า "ทำไมล่ะ" "จะกินได้ยังไง ปูที่ต้มแล้วนี้ถูกล้างด้วยน้ำฟอมะลีนที่เขาฉีดศพ" ผมได้แต่ร้อง "อะหยา อะไรเนี่ย" แล้วพี่ก็ให้ดูนิ้วว่า ซีดอย่างไร หนังตายอย่างไร เพราะฤทธิ์ของยา พี่บอกว่า ถ้าจะกิน เดี๋ยวพรุ่งนี้หาให้ ถ้ามาตั้งแต่เช้าได้กินแล้ว เพราะพี่เขยเพิ่งได้มา แต่ขายไปแล้ว


   เราคุยกันพอสมควร ไม่นานจึงขอตัวเพราะต้องการจะเดินทางไปวัดปากน้ำชุมพร จากนั้น ผมไปส่งแม่ที่ตลาดนัดซีเฟรซ ส่วนเราสองคนเลยไปวัดปากน้ำชุมพร ซึ่งเป็นที่เป้าหมายของเรา ผมเข้าไปจุดธูปนมัสการศพของท่านอาจารย์พระครูสุนทรวิริยานุยุต อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำชุมพร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอท่าแซะ และตั้งใจว่า มาช่วงนี้ดีแล้ว เพราะคนน้อย ส่วนช่วงค่ำจะมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อร่วมพิธี ฟังเทศน์ฟังสวด 


"กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ กรรมอันหนึ่งอันใดที่กระผมได้เคยล่วงเกินในท่านอาจารย์ จะด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ความประมาทพลาดพลั้งนี้ ขอได้โปรดอโหสิแก่กระผมด้วย" ผมระลึกถึงท่านอาจารย์(หลวงพ่อพระครูฯ) ผมจำท่านได้ ผมเคยไปขออาศัยค้างคืนที่กุฏิท่าน ๒ ครั้ง เมื่อมีงานอะไรสักอย่าง นอกจากนั้น จะเห็นท่านไปประชุมที่โน้นที่นี้ งานศพของพระในจังหวัดชุมพร เห็นท่านเดินขึ้นหอสวดมนต์ ฯลฯ กราบขอบพระคุณสำหรับความดีของท่านที่ทำให้ผมได้เห็นความดีและพลอยรู้สึกดีไปด้วย



   กลางคืน พี่สาวอีกคนหนึ่งอุตส่าห์ขับรถผ่าฝนมาจาก...เลยอำเภอทุ่งตะโกไป เพื่อเอาปูดำและกุ้งมาให้เราสองคนได้กิน แม่ทำแกงส้มปลา(จำไม่ได้แล้วว่าปลาอะไร) สาวน้อยร้อยชั่งติดใจปลามาก "รสหวานอร่อย" สาวน้อยหยิบของฝากให้พี่สาว และร่วมกันแหนมเนืองถาดใหญ่ด้วยกัน แต่ผมและสาวน้อยร้อยชั่งคงต้องขอตัวไปอาบน้ำเพื่ือไปงานศพก่อน เพราะนี่ก็เกือบทุ่มครึ่งแล้ว เราไม่อาจจะส่งพี่สาวกลับได้ จึงขอตัวไปงานศพ

  ฝนตกคะนอง จึงขอยืมร่มแม่ไป ไปถึงแล้วในเวลาเริ่มพิธีกรรมพอดี คนเต็มศาลาตั้งศพ สวมใส่เสื้อผ้าชุดขาว-ดำตามประเพณี โชคดียังมีเก้าอี้ว่าง เราจึงจับจองเก้าอี้นั้นนั่งชิดกันสองคน พิธีกรรมเริ่มโดยการเชิญเจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าโต๊ะหมู่บูชา หน้าตู้พระธรรม หน้าหีบศพ ไหว้พระสวดมนต์ จากนั้นเป็นการปาฐกถาของ รองเจ้าคณะจังหวัดชุมพร คือ พระพิจิตรธรรมนิเทศ (ดำเนิน อตฺถจารี) เข้าใจว่า เดิมคือศิษย์ก้นกุฏิของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระราชญาณกวี หนึ่งใน ๓ นักปราชญ์พี่น้องร่วมสัญญาทางภาคใต้ (พุทธทาส ปัญญานันทะ และพระราชญาณกวี) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร  เนื้อหาที่ท่านพูดถึง คือประวัติและความดีงามของท่านอาจารย์ถ้วม จากนั้น เป็นการสวด...อะไรสักอย่างที่ไม่ใช่พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สาวน้อยร้อยชั่งกระซิบถามผมว่า ทำไมพระสวดทำนองแปลกจัง เหมือนกับ สรภัญญะเลย ผมก็บอกว่า ก็น่าจะทำนองสรภัญญะนั่นแหละ แต่จำไม่ได้ว่าชื่อบทสวดคือบทสวดอะไร นอกจากนั้น มีคำถามอีกจำนวนหนึ่งที่ผมต้องตอบเธอเกีี่ยวกับ ทำนองในการสวด ว่าทำไมไม่เหมือนกัน บางวัดที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมาสวดพร้อมกันจะไม่ขัดสำเนียงสวดกันหรือ 

  หลังจากพระสวดจบ ไม่มีการพักว่างเมื่อกินอาหารว่างของชาวบ้าน ไม่มีการสวด ๓ จบ สี่จบ เหมือนแถวกรุงเทพฯและปริมณฑล จบแล้วก็จบเลยในคืนนั้น จากนั้น เป็นการกรวดน้ำ รับพร และสุดท้าย ทางพิธีกรได้เชิญให้รักษาการเจ้าอาวาสมากล่าว รักษาการท่านนั้นคือ พระครูบัณฑิตธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำชุมพร และจบด้วย กล่าวคำลาพระรัตนตรัย แต่ละคนจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน

  เมื่อเห็นว่า คนเบาลงแล้ว ผมจึงเข้าไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดหาดทรายรี ซึ่งน่าจะคือผู้รับผิดชอบหลักในงานบำเพ็ญกุศลฯนี้ ผมเห็น อ.ประมวล ยั่งยืน เดินมา จึงรีบเข้าไปไหว้เชิงกราบ ท่านทักว่า "ใครเนี่ย เหมือนกับเคยรู้จักมาก่อน" ผมได้แต่ยิ้มตามประสา จะไม่ให้รู้จักได้อย่างไร ในเมื่อรอยไม้หวายที่น่องจากมือของท่านยังประทับใจผมมาจนทุกวันนี้ เพราะไม้หวายนี่แหละที่ทำให้ผมต้องเรียนหนังสือ ที่ทำให้ผมพิมพ์สัมผัสได้คล่องดี และอื่นๆอีกมากมาย ผมคุยกับท่านเล็กน้อย จากนั้นจึงไปกราบรองเจ้าคณะจังหวัดที่กล่าวถึง นมัสการพระครูบัณฑิตฯและเจ้าอาวาสวัดท่ายางกลาง รูปปัจจุบัน คุยกับท่านพอควรแล้วขอออกมาข้างนอก แต่ผมก็เห็น พระครูนวการโกวิท ปัจจุบันคือ เจ้าอาวาสวัดบางคอย จังหวัดชุมพร เดิมท่านอยู่ที่วัดสุบรรณนิมิต และสอนอยู่ที่โรงเรียนพุทธยาคมศรียาภัย ร่างของท่านยังผมอยู่เหมือนเดิม ท่านจำผมได้ ท่านเป็นคนคุยเก่ง ท่านบอกว่า เพิ่งพลัดตกจากหลังคาเพราะไปซ่อมหลังคาที่วัดบางคอย ยังเคล็ดอยู่เลย ผมทราบว่า ปีนี้ท่านได้รับรางวัลจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดด้วย เกี่ยวกับออกรายการวิทยุเิชิงวัฒนธรรม  ท่านเป็นพระนักเผยแผ่ เป็นที่รู้จักดีหากใครเอ่ยถึง "อาจารย์สมบูรณ์ ตโมนุโท" ผมเพิ่งได้ทราบมาเหมือนกันว่า ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดบางคอย ผมคุยกับท่านพักใหญ่ จึงขอตัวกลับก่อน ท่านกำชับนักหนาว่า "คนเราถ้ามีศีล ๕ สมบูรณ์ ไปที่ไหนก็เจริญ" ผมได้แต่คิดในใจว่า นั่นนะสิ ผมถึงไม่เจริญสักที




  ผมไม่ลืมจะกลับไปลาอาจารย์ประมวล ยั่งยืน พร้อมกับแนะนำให้ท่านทราบว่า คนที่ยืนข้างๆผมนี้คือภรรยาของผมที่ถูกต้องตามกฎหมายและประเพณี ท่านบอกว่า พอจะรู้มาแล้วว่าแต่งงานแล้ว โดยรู้มาจากเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่จังหวัดสุราษฎร์ เพื่อนท่านนี้มางานศพในคืนที่ผ่านมา

  ผมออกจากงานศพพร้อมด้วยสาวน้อยร้อยชั่ง มาถึงบ้าน ถึงคนนอนกันหมดแล้ว ผมไม่อยากปลุกใครๆ จึงตัดสินใจเดินไปหยิบเต้นท์ที่ท้ายรถ เสื่อ หมอน ผ้าห่ม ที่เตรียมพร้อมไว้เสมอ จากนั้นนำมากางนอกชานและนอนหลับไป ตื่นอีกทีเช้าแล้ว หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จ เป็นปูดำต้ม กุ้งต้ม ฯลฯ เราจึงลาพ่อและแม่กลับ

  ผมไปส่งสาวน้อยที่หอพักฯ จากนั้นจึงขึ้นทางด่วน หากไม่ขึ้นทางด่วนคงต้องหลับในแน่ๆ เหนื่อยมาก ฝนตกตลอดทาง หนักบ้างเบาบ้าง แต่พอถึงนวนคร ไม่มีฝนแม้แต่เม็ดเีดียว จากนั้นจึงหิ้วของจากท้ายรถขึ้นหอพัก ออกไปหาข้าวต้มร้อนๆ อาบน้ำ พักผ่อน เป็นการเดินทางไปและกลับโดยสวัสดิภาพ 

  ปิดท้าย

  • ผมนึกถึงผ้าระบายประดับห้อยย้อยตามงานเหล่านี้ เมื่อก่อนผมได้มีส่วนร่วมในการจัดแต่ง แต่บัดนี้ทิ้งลายเหล่านี้ไปหมดแล้ว จำได้ว่า คืนดื่มยาชูกำลังมากถึง ๔ ขวด/คืนบวกกับกาแฟอีกจำนวนหนึ่ง เพราะเราต้องทำงานกลางคืน ครั้งล่าสุดหัวใจเต้นแรงผิดปกติ ตั้งแต่นั้นมา จึงหยุดพวกเอ็มทั้งหลาย ตลอดถึงกาแฟที่หอมหวนยั่วยวนหัวใจ  นึกแล้ว ยังอยากโชว์ฝีไม้ลายมือ แต่น่าเสียดาย ไปงานนี้ ทางผู้ดำเนินการเขาจัดกันเรียบร้อยแล้ว
  • การทดสอบรถ Eco Car รอบนี้ ปทุมธานี-ชุมพร เติมน้ำมันไปทั้งหมด ๒,๖๐๐ บาท ครั้งแรกขาไป จำนวน  ๑,๐๕๐ บาท ขากลับ ๒ ครั้ง โดยครั้งแรก ๕๐๐ บาท เนื่องจากหน้าจอเตือนว่าเหลืออีก ๕๐ กิโลเมตรน้ำมันจะหมด แต่ถนนเส้นชุมพร-ประจวบ หาปั๊ม บ.ไม่ได้เลย จึงจำยอมเข้าปั๊ม ป. จากนั้นจึงมาเติมที่เพชรบุรีอีก ๑,๐๕๐ รวมเป็น ๒,๖๐๐ บาท ระยะทางที่วิ่งไป-กลับทั้งหมด ๑,๐๖๗ กิโลเมตร เหลือน้ำมันอีกเกือบเต็มถัง(หายไป๐.๕ขีด) 


ขาไปเฉลี่ยวิ่งได้ ๒๐ กิโลเมตร/ลิตร ส่วนขากลับเฉลี่ยที่ ๑๙.๕ กิโลเมตร/ลิตร เหตุที่ขากลับได้ประมาณนี้เพราะ ขับสนุกเท้าไปหน่อยช่วงเข้าเพชรบุรี ๑๑๐-๑๓๐ อย่างไรก็ตาม ผมเคยทำได้ ๒๗ กิโลเมตร/ลิตร ถนนเส้นบางบัวทอง จากพระอินทร์ราชา-วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ แต่ความประหยัดนี้คงสู้แก๊สไม่ได้ ผลการเรียนรู้การขับแบบประหยัดอันหนึ่งคือ เท้าต้องนิ่งที่สุด เครื่องรถพันสอง ลุงคนหนึ่งถามว่า เหยียบได้สูงสุดเท่าไร ผมบอกว่า ที่ผมเหยียบได้จริงๆ คือ ๑๖๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังเหยียบได้อีกแต่ไม่กล้า เพราะรถเบา เพื่อนหลายคนเหยียบกันถึง ๑๘๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม มาตรฐานของผมคือ ๙๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ช้าไปโดนไล่ เร็วไปตำรวจจับ แค่นี้น่าจะพอควบคุมได้ เกี่ยวกับการเดินทางไป-กลับชุมพรรอบนี้ เ้ข้าใจว่า ค่าน้ำมันจริงน่าจะไม่เกิน ๑,๕๐๐ บาท 

  • ข้อคิด ผมเห็นเหล่าพระเถรานุเถระจังหวัดชุมพร นานๆ ได้พบท่านเหล่านั้น ผมเห็นความชราที่เข้ามาแทนที่ ทำให้ผมได้สติว่า เราทุกคนคงต้องเดินไปสู่ความชราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยศพของท่านอาจารย์ก็เป็นสักขีของความจริงแห่งชีวิตนี้ / อาหารที่เรากินไปนั้น ให้ระมัดระวังให้ดี เราบอกว่า ผักก็ใช้สารเคมี ผลไม้โตได้สวยงามด้วยสารเคมี ประสาอะไรกับอาหารทะเลที่จะไม่สดได้ด้วยสารเคมี ข้อคิดคือ กินให้น้อย โรคทั้งหลายที่ประหลาดน่าจะมาจากการไม่ระมัดระวังนี่กระมัง / ความดีนั้นยั่งยืน เช่น ความดีของหลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร ของหลวงพ่อถ้วม และของพระสงฆ์องคเจ้าที่ทำให้ผมได้ระลึกแ้ล้วรู้สึกดี และทำให้จิตใจแช่มชื่นไปด้วยเมื่อนึกความดีของท่านเหล่านั้น ดังนั้น คำว่า ผู้ใหญ่ในความคิดของผมคือ ผุ้ที่เปี่ยมล้นด้วยความดี โดยเป็นความดีที่ไม่ได้เจาะจงว่าต่อผู้ใด / บางสิ่งบางอย่างเกิดเร็วก็ดับเร็ว ค่อยให้เกิดทีละน้อยดีกว่าผุดเกิด / งานคือชีวิต ชีวิตคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ควบคู่การทำงาน ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 510307เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2012 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท