dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

ตัวเลขแสดงพัฒนาการทางภาษาของเด็ก


ตัวเลขที่แสดงถึงการพัฒนาการทางภาษาช่วงปี  2547-2550

                              ตอนนี้เรามีข้อมูลหลายแห่งที่แสดงถึงการพัฒนาการทางภาษาที่เกี่ยวข้องกับสมองว่าเด็กไทย

มีการพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้าและมีหลายฝ่ายที่พยายามหาทางแก้ไข โดยให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา ด้วยการปลูกฝังนิสัยการอ่านให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยซึ่งเราจะนำมากล่าวอย่างต่อเนื่องว่าสมองของมนุษย์นั้นจะเติบโตมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงอายุ 3-4 ปี และพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆจนถึงอายุ 25  ปี สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆในช่วงที่เด็กอายุ 3-4 ปีแรกนั้นจะสรุปได้ว่าการอ่านเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง เด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังตั้งแต่เล็กจะมีการพัฒนาการเรียนรู้และพัฒนาการด้านภาษามากกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ฟัง เพราะการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเด็กจะได้รับความอบอุ่นจากการสัมผัสจากพ่อแม่ ขณะเดียวกันสมองของเด็กจะมีการสร้างเซลล์สมองเพิ่มขึ้นในช่วงปฐมวัย  ข้อมูลที่แสดงถึงตัวเลขอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาการทางสมองมาจากการสำรวจจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขที่แสดงว่าเด็กๆ ในช่วงปฐมวัยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547-2550 พบว่าเด็กๆ มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ามากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ตัวเลขพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าของเด็กในต่างประเทศจะอยู่ที่ 5-15 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นซึ่งปัญหาดังกล่าจะต้องได้รับการแก้ไขและป้องกัน โดยนักวิชาการด้านเด็กได้เสนอแนวทางให้พ่อแม่ไม่ว่าระดับไหนสามารถที่จะทำได้คือการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาด้วยการอ่าน ในระหว่างที่แม่ให้นมลูกสามารถสร้างการเรียนรู้ทางด้านคำศัพท์ด้วยการอ่านหนังสือนิทานหรือการเล่านิทานให้ฟัง การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังในแต่ละเรื่องจะเสมือนเป็นการสะสมคำศัพท์ให้เด็กได้เพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา ถ้าพ่อแม่ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันตั้งแต่เด็กอายุ 2 ขวบเด็กก็จะมีคำศัพท์ที่สะสมไว้อย่างมากมาย เด็กก็จะนำคำศัพท์เหล่านี้ไปใช้ในการพูด การเขียน หรือการสื่อสารได้อย่างหลากหลาย ผิดกับเด็กที่มีคำศัพท์ในวงจำกัด ก็จะมีปัญหาในการที่จะสื่อสารกับบุคคลต่างๆ พัฒนาการทางภาษาก็จะล่าช้า สำหรับเทคนิคหรือวิธีการที่จะให้พ่อแม่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาทางภาษาพอจะทำได้อย่างง่ายๆ เช่น

   -  ก่อนนอนอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง และพูดคุยกับเด็กเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อภาษา เกิดความอยากรู้อยากเห็นในเนื้อหาที่อยู่ข้างในหนังสือ

  -  สร้างบรรยากาศให้เด็กมีความอยากอ่านหนังสือ เช่น ความสงบ ความสบาย ความเงียบ ฯลฯ

  -  เป็นตัวอย่างที่ดีในการอ่านหนังสือให้กับเด็ก

  -  พาเด็กไปร้านหนังสือและส่งเสริมให้เด็กเลือกหนังสือที่เด็กชอบและคอยให้คำแนะนำ

  -  ทำกิจกรรมประกอบการเล่านิทาน เช่น การวาดรูประบายสี การพับกระดาษ ประกอบการเล่านิทาน  ในการทำกิจกรรม/การดำเนินการของครูเพื่อให้เด็กพัฒนาการทางภาษานั้นก็สามารถใช้กิจกรรมได้อย่างหลากหลาย อยู่ที่ครูสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือตามบริบทที่เหมาะสมอย่างเช่น

  -   กิจกรรมจัดห้องสมุด/มุมหนังสือภายในห้องเรียน เด็กสามารถยืมหนังสือที่ตนเองชอบกลับบ้าน อาจให้ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังพร้อมกับบันทึกการอ่านของเด็ก ผู้ปกครองอาสาสมัครเล่านิทานให้เด็กฟัง เด็กเล่านิทาน เด็กร่วมกันแต่งนิทาน เขียนคำศัพท์ตามหนังสืออย่างอิสระ

  -  กิจกรรมนักข่าวน้อย เด็กๆเล่าข่าวที่นำมาอย่างต่อเนื่องกัน เด็กและผู้ปกครองร่วมกันเลือกข่าวติดลงในแบบบันทึกการอ่านที่ครูเตรียมไว้ นำข่าวที่เด็กเตรียมมาแสดงให้เด็กทุกคนในห้องได้ดู

 -  กิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ ผู้ปกครองเสริมสร้างพัฒนาการทางภาษา โดยการจัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเป็นฐานการเรียนรู้ด้านภาษาไทย เช่น ฐานพยัญชนะ ฐานการสร้างสรรค์คำ ฐานร้องเต้นเล่นคำ ฐานตกปลาภาษาอนุบาล เป็นต้น

                      การพัฒนาทางภาษาให้กับเด็กปฐมวัยซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางสมองนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะเป็นภาระที่หนักก็ตาม

  

หมายเลขบันทึก: 510196เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท