การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมพัฒนาคุณภาพที่โรงพยาบาลพิชัย


ที่น่าสนใจมากคือการทำถุงนิ้วเพื่อให้แม่ใช้ดูแลเหงือกและฟันลูกตั้งแต่แรกเกิดโดยใช้ผ้าฝ้ายดิบเย็บหุ้มนิ้วมือได้แล้วใช้นวดเหงือกให้เด็ก ซึ่งอันนี้ผมก็ขอมาเป็นตัวอย่างด้วย

วันที่ 7 ตุลาคม 2548 ผมได้รับเชิญจากทางโรงพยาบาลพิชัยให้ไปร่วมวิพากษ์กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลของโรงพยาบาลพิชัยและโรงพยาบาลเครือข่ายใกล้เคียง โดยมีช่วงที่ผมได้เล่าเรื่องการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลบ้านตากให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟังซึ่งผมก็เล่าถึงการจัดการความรู้แบบบูรณาการตามLKASA Model ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้นตอนที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นใช้เวลา 1 ชั่วโมงก็รีบเร่งมากแต่ก็จบได้ในเวลา หลังจากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานเด่นของงานต่างๆในรพ.พิชัย มีอาจารย์ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำและผมร่วมกันวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ ที่จริงผมไม่ค่อยถนัดเรื่องการวิพากษ์ CQI เท่าไหร่แต่พอมีอาจารย์ไพฑูรย์ อยู่ด้วยก็เลยอุ่นใจ การนำเสนอนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างหนึงที่จัดแบบเป็นทางการ มีการนำเสนอผลงานของฝ่ายต่างๆเริ่มด้วยงานชันสูตรพูดถึง3 in 1 Document เป็นการปรับบันทึกในทุกมาตรฐานเข้าสู่สมุดเล่มเดียวทำให้ลดความสับสนวุ่นวายไปได้เยอะโดยทำเป็นตารางใส่ข้อมูลทั้งปัญหา วิธีแก้ไข เอกสารที่ใช้และหมวดของมาตรฐาน ต่อมาเป็นของห้องฉุกเฉินเรื่องเจ็บตัวครั้งเดียว เป็นการลดการถูกเจาะเลือดหลายครั้งของผู้ป่วยที่จะรับนอนโรงพยาบาลโดยห้องฉุกเฉินจะเจาะเลือดพร้อมกับการให้สารน้ำไปเลย งานเภสัชกรรมเรื่องการลดเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยนอกโดยพยายามหาสาเหตุที่เกี่ยวข้องและทำการแก้ไขก็สามารถลดระยะเวลารอคอยลงได้ งานแพทย์แผนไทยนำเสนอนวัตกรรมกระโจมอบสมุนไพรโดยใช้ไม้ไผ่และผ้าฝ้ายดิบมาทำเป็นกระโจมอบได้ทั้งตัว  งานโภชนาการเรื่องใส่ใจ ใส่สายยาง เป็นการนำเสนอถึงวิธีการทำอาหารปั่นเพื่อให้ทางสายNG พร้อมทั้งคำแนะนำให้ญาติไปทำเองที่บ้านได้ งานบริหารงานทั่วไปพูดถึงเรื่องการปรับระบบสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยเช่นระบบรองรับอัคคีภัย ระบบแก๊สทางการแพทย์ ระบบดูดอากาศ ระบบระบายควัน ระบบไฟฟ้าที่มุ่งไปสู่ความปลอดภัยของผู้ป่วย งานทันตกรรมพูดเรื่องการทำให้เกิดCarries Free หรือทำให้เด็กปราศจากฟันผุ ซึ่งที่น่าสนใจมากคือการทำถุงนิ้วเพื่อให้แม่ใช้ดูแลเหงือกและฟันลูกตั้งแต่แรกเกิดโดยใช้ผ้าฝ้ายดิบเย็บหุ้มนิ้วมือได้แล้วใช้นวดเหงือกให้เด็ก ซึ่งอันนี้ผมก็ขอมาเป็นตัวอย่างด้วย  งานผู้ป่วยในพูดถึงการลดเพื่อเพิ่มคุณภาพเป็นการจัดระบบเพื่อลดความผิดพลาดทางยา ซึ่งที่นี่เขามีเภสัชกรประจำหอผู้ป่วยในด้วย ของงานผู้ป่วยนอกก็น่าสนใจเป็นเรื่องเพื่อนDMเพื่อDM โดยเขานำผู้ป่วยเบาหวานที่สมัครใจ 20 คนมาร่วมกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันและมีการวัดความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังโครงการพร้อมทั้งดูระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งอาจารย์ไพฑูรย์ได้เสนอนว่าถ้าคัดคนที่ควบคุมได้ดีมาเป็นRole Modelให้คนอื่นแล้วสกัดความรู้ออกมาก็จะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น  งานห้องคลอดก็น่าสนใจเป็นการนำผลวิจัยเรื่องการรีดสายรกเพื่อทำให้การคลอดของรกเร็วขึ้นของโรงพยาบาลหนองบัวลำภูมาต่อยอดเพื่อลดโอกาสของการเสียเลือดหลังคลอดเพราะการรอคอยให้รกคลอดเองจะใช้เวลานานและถ้ารีดรกเพื่อให้เลือดดันกลับไปในรกจะทำให้ความดันในรกเพิ่มขึ้นแล้วรอกตัวเร็วขึ้น แต่เนื่องจากยังมีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่ศึกษาคงต้องเก็บข้อมูลต่อไปอีก งานส่งเสริมสุขภาพทำเรื่องการเฝ้าระวังความดันโลหิตสูงในชุมชนก็พยายามมีการนำอสม.เข้ามาร่วมมีบทบาทด้วย ของงานจ่ายกลางและซักฟอกก็เป็นที่น่าชื่นชมแม้ว่าหัวหน้างานจะเหลือเวลาราชการอีก 1 ปี เท่านั้นแต่ก็สามารถสร้างนวัตกรรมต่างๆที่ใช้ในงานจ่ายกลางจำนวนมากเช่นเครื่องอบเครื่องมือ,เครื่องเป่าสายยางหรือตู้คลุกถุงมือ เป็นต้น อาจารย์ไพฑูรย์ ได้เสนอว่าถ้าทีมงานของโรงพยาบาลพิชัยสามารถดึงเอาความรู้ฝังลึกจากหัวหน้างานท่านนี้ไว้ได้ ความรู้ที่ดีๆก็จะยังคงอยู่ที่หน่วยงานแม้ว่าพี่เขาจะเกษียณไป และอีกงานหนึ่งของสุขาภิบาลคือเยาวชนไทยร่วมใจห่างไกลเอดส์ซึ่งมีกิจกรรมหลายโครงการที่น่าสนใจเพื่อทำให้คนปกติกับคนไข้เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ผมลืมไปอย่างหนึ่งงานเภสัชกรรมเขายังผลิตเครื่องมือที่ช่วยให้พยาบาลสามารถปรับความเข้มข้นของน้ำเกลือใช้เองได้ตามขนาดที่ต้องการโดยไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก อันนี้ผมก็ขอมาเช่นกัน ในช่วงก่อนจบมีรายการไขข้อข้องใจ ช่วง ทำไปบ่นไป โดยคุณหมอขจรและผมขึ้นเวทีสนทนากันเหมือนรายการในทีวีก็มีการซักถามตอบคุยกันอย่างได้อรรถรสพร้อมกับมีคำถามจากฟลอร์เป็นระยะๆ มีคำถามหนึ่งที่บอกว่าเขาทำการตรวจสอบระบบถึง 4 ขั้น(ไม่ใช่แค่Double Check แต่เป็นTetra check) ถือว่ามากเกินไปไหม ผมกับหมอขจรเห็นร่วมกันว่าการตรวจสอบมากเกินไปอาจเป็นภาระแล้วคนจะรู้สึกเบื่อหน่ายแล้วอาจทำให้ไม่จริงจังที่จะตรวจสอบได้ เราจึงต้องสมดุลระหว่างCostกับQualityด้วย  แม้จะไม่ได้เตรียมกันไว้ก่อนแต่ก็ไปกันได้ ทำให้กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมคุณภาพของโรงพยาบาลพิชัยและผู้เข้าร่วมจากโรงพยาบาลต่างๆต่างพึงพอใจก่อนแยกย้ายกันกลับ วันนี้ผมพูดประมาณชั่วโมงครึ่ง แต่ฟังอย่างตั้งใจ 5 ชั่วโมงทำให้ได้กำไรมาเยอะเลย เท่าที่เดินสำรวจดูอย่างเร็วๆโรงพยาบาลพิชัยพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะอาดสะอ้านร่มรื่นดีมาก ต้องขอชมเชยคุณหมอขจร วินัยพานิช ผู้อำนวยการและทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพิชัยมา ณ ที่นี้ (โรงพยาบาลพิชัย เป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลที่ช่วยให้โรงพยาบาลบ้านตากผ่านการประเมินHAเพราะให้ไปดูงานอย่างเปิดเผยและให้ทุกอย่างที่เราอยากได้ อีก 2 โรงพยาบาลคือกงไกรลาศ กับบ้านโฮ่ง) เชื่อว่าหากใครไปดูงานก็จะไม่ผิดหวังเช่นกันครับ

คำสำคัญ (Tags): #kmกับคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 5097เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2005 22:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พี่จิ๋ม โรงพยาบาลพิชัย

  ขอขอบพระคุณอาจารย์นายแพทย์พิเชฐ และคณะเป็นอย่างสูงที่มาให้ความรู้และข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลพิชัย หากมีโอกาสอันดีข้างหน้า ใคร่ขอความกรุณาท่านมาให้ความรู้อีกครั้ง เพื่อต่อยอดการพํฒนาโรงพยาบาลต่อไป 

                          ขอขอบพระคุณล่วงหน้า เป็นอย่างสูง

                                            พี่จิ๋ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท