เดือนยี่ : บุญคูณลาน (ฮีตสิบสอง ประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน)


การทำบุญคูณลานจะทำเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวอีสานจะเห็นความสำคัญของข้าวมาก ในพิธีนี้จะมีการนิมนต์พระสงฆ์ไปเทศน์ที่ลานข้าว มีการทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ชาวบ้าน ลานข้าว ที่นาและต้นข้าว บริเวณใกล้ลานข้าวถือว่าเป็นสิริมงคลแก่การเกษตรกรรมทำให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าของจะอยู่เย็นเป็นสุข ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีทำบุญลานข้าวแล้วชาวบ้านจึงจะขนข้าวใส่ยุ้งและเชิญขวัญข้าวคือ พระแม่โพสพไปยังยุ้งข้าวและทำพิธีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญเล้าข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป


หมายเหตุ  ฮีตสิบสอง มาจากคำ 2 คำ คือ ฮีต กับ  สิบสอง
ฮีต  มาจากคำว่าจารีต ซึ่งหมายถึง สิ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน เรียกว่า จารีต หรือ ฮิต

สิบสอง หมายถึง เดือนทั้ง 12 เดือน ในหนึ่งปี

ฮีตสิบสอง ประเพณีอีสานสิบสองเดือน
เดือนเจียง - บุญเข้ากรรม
เดือนยี่  - บุญคูณลาน
เดือนสาม - บุญข้าวจี่
เดือนสี่ - บุญผะเหวด
เดือนห้า - บุญสงกรานต์
เดือนหก - บุญบั้งไฟ
เดือนเจ็ด - บุญซำฮะ
เดือนแปด - บุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า - บุญข้าวประดับดิน
เดือนสิบ - บุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด - บุญออกพรรษา
เดือนสิบสอง - บุญกฐิน


ฮิต สิบสอง จึงหมายถึง ประเพณีที่ประชาชนชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปี

ประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมานั้นล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสมานสามัคคีมีความรักใคร่กันของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน

"บันทึกนี้ เป็นการรวมประเพณีขอภาคอีสานสิบสองเดือน ต้องการที่จะให้ผู้สนใจแลเห็นคุณค่าของประเพณีงานบุญ ของภูมิปัญญาอีสาน นอกจากฮิตสิบสองหรือประเพณี 12 เดือนของชาวอีสานแล้ว ยังมีงานบุญอีกมากมายที่น่าศึกษา  ทำไมชาวอีสานจึงมีนิสัยอ่อนโยน รักสงบ เกื้อหนุน ซึ่งกันและกัน ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ มีความเป็นเครือญาติกันสูงมาก พิธีบุญ ความเชื่อ และประเพณีต่างๆ คือ เป้าหลอมกรอบคิดให้ชาวอีสาน มีอัตลักษณ์ดังกล่าว"


ประสาน กำจรเมนุกูล
รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์
ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกาฬสินธุ์
(ผู้เรียบเรียงข้อมูล)


หมายเลขบันทึก: 50932เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2006 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก

มีกิจกรรมหนึ่งที่สามารถสังเกตุได้ในการทำบุญคูนลานนอกจากการสูดขวัญแล้ว นั้นคือ การหมายข้าว หมายถึงการนำเถ้าที่เกิดจากการเผามัดข้าวที่ตีแล้วมาหมายตามจุดต่าง ๆ บนกองเมล็ดข้าวที่ตี(นวด)เสร็จแล้ว งานนี้นอกจากเพื่อเป็นสิริมงคลแล้วยังเป็นการสร้างเครื่องหมายเพื่อป้องกันการขโมยข้าวที่ลานข้าวด้วย

ในสมัยก่อนการขนข้าวขึ้นเล้าต้องใช้แรงงานมาก จำเป็นต้องเอาแรงกันคือต้องไปช่วยกันดังนั้นลานข้าวไหน ๆ ก็ต้องไปช่วยคนอื่น ดังนั้นอาจจะมีการปะ(ทิ้ง)ลานข้าวไปชั่วคราว การทำหมายสีดำบนกองข้าวจึงช่วยบอกสถานะของกองข้าวได้

 

ขอบคุณครับ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องของหมายสีดำบนกองข้าว เคยสังเกตเห็นเหมือนกัน แต่ก่อนคิดว่า คงไม่มีความหมายอะไรเสียอีก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท