ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 51. ประยุกต์ใช้ความรู้ (3) เขียนใหม่


เทคนิค “เขียนใหม่” นี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกทำความเข้าใจเรื่องราวที่มีความซับซ้อนสูง ที่ได้รับสื่อสาร แล้วเขียนหรือนำเสนอใหม่ ด้วยถ้อยคำของตนเอง เป็นการฝึกทักษะทำความเข้าใจที่ลึก และทักษะการสื่อสารความหมาย ด้วยถ้อยคำที่ง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไป ที่ไม่มีความรู้เชิงเทคนิคของเรื่องนั้นๆ

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 51. ประยุกต์ใช้ความรู้  (3) เขียนใหม่

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๑นี้ ได้จาก Chapter 16  ชื่อ Application and Performance  และเป็นเรื่องของ SET 31 : Directed Paraphrase  

บทที่ ๑๖ ว่าด้วยเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 29 – 34  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ 

ความรู้และทักษะจะมีความหมายต่อ นศ. เมื่อ นศ. สามารถใช้ประโยชน์ได้ 

SET 31  : Directed Paraphrase  

จุดเน้น  :  บุคคล

กิจกรรมหลัก :  เขียน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

เทคนิค “เขียนใหม่” นี้  ช่วยให้ นศ. ฝึกทำความเข้าใจเรื่องราวที่มีความซับซ้อนสูง ที่ได้รับสื่อสาร  แล้วเขียนหรือนำเสนอใหม่ ด้วยถ้อยคำของตนเอง  เป็นการฝึกทักษะทำความเข้าใจที่ลึก  และทักษะการสื่อสารความหมาย ด้วยถ้อยคำที่ง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไป ที่ไม่มีความรู้เชิงเทคนิคของเรื่องนั้นๆ   

หากดูตามหลักการเรียนรู้ใน ปิระมิดแห่งการเรียนรู้ จะเห็นว่า เทคนิคนี้คือการเรียนโดยการ “สอนคนอื่น”  ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีผลต่อการเรียนรู้สูงที่สุด 

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูเลือก เรื่องที่มีความสำคัญที่ นศ. ได้เรียนรู้แล้ว  อาจเป็นหลักการ ทฤษฎี แนวความคิด หรือข้อโต้แย้ง  ที่มีความหมายหรือมีที่ใช้นอกห้องเรียน

2.  กำหนดว่า “ผู้ฟัง” เรื่องนี้ (ที่ นศ. จะเขียนเสียใหม่ให้เข้าใจง่าย) เป็นใคร หรือเป็นคนกลุ่มไหนในสังคม

3.  ครูลองเขียนข้อความใหม่ด้วยตนเอง  เพื่อทดสอบความยากง่าย  ความเหมาะสมต่อการเรียนรู้วิชาที่ นศ. กำลังเรียน 

4.  ให้งานแก่ นศ.  บอกเรื่อง และบอกว่าผู้ฟังเป็นใคร 

ตัวอย่าง

วิชาไฟฟ้าสถิตย์

ครูระบุหัวข้อที่เป็นประเด็นหลักในแต่ละหน่วยย่อยของรายวิชา  กำหนดให้ นศ. อ่านข้อความในตำราจนมั่นใจว่าตนเข้าใจ  จึงให้ปิดหนังสือ และเขียนสาระสำคัญของตอนนั้นๆ ด้วยถ้อยคำของตนเอง  หลังจากตกแต่งตรวจทานอย่างดีแล้ว ก็ส่งผลงานให้ครูตรวจ 

วิชารังสีวิทยาว่าด้วยมะเร็ง

เป็นวิชาปูฐานความรู้แก่ นศ. สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำหรับทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยรังสี   ซึ่งทักษะสำคัญอย่างหนึ่งคือ สามารถอธิบายเทคนิควิธีบำบัดที่มีศัพท์เทคนิคยากๆ ให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจได้ง่าย

ครูจึงจับคู่ นศ. ผลัดกันตอบงานที่ครูบอกเดี๋ยวนั้น  เช่น จงอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจความแตกต่างระหว่าง stereotactic radiation therapy, remote brachytherapy, และ unsealed internal radiation therapy 

   

การประยุกต์ใช้ online

ทุกอย่างเหมือนในห้องเรียนแบบ face-to-face  ต่างกันเฉพาะที่ นศ. ส่งผลงานทางเครื่องมือของการเรียน online 

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  เทคนิคนี้อาจช่วยลดปัญหา พฤติกรรมลอกข้อความ (cut and paste) โดยไม่อ้างอิง ของ นศ.   ซึ่งเป็นโจรกรรมวิชาการ (plagiarism) ชนิดหนึ่ง

คำแนะนำ

ครูควรชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเขียนใหม่ (paraphrasing) กับการสรุป (summarizing)  การเขียนใหม่ต้องใช้ถ้อยคำของตนเองทั้งหมด

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Angelo TA, Cross KP. (1993). Classroom assessment techniques. San Francisco : Jossey Bass, pp. 281-284. 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 508551เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2012 05:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2013 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท