ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ธรรมะสำหรับผู้นำองค์กร


พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย



       วันนี้ (๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) รับนิมนต์จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปบรรยายธรรม เรื่อง “ธรรมะสำหรับผู้นำองค์กร” ในโอกาสที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดโครงการปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  โดยมีนายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทศพิธราชธรรม” และมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทศพิธราชธรรม: ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งผู้มีเกียรติในวันนี้ประกอบด้วยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรม ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการลูกจ้างศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐกว่า ๕๐๐ คน เข้าร่วมรับฟังการบรรยายในครั้งนี้  เพื่อที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์การทำงานทางวิชาการ ผู้เขียนจึงขอนำรายละเอียดบางส่วนของการบรรยายในนำเสนอเป็น “บทความสั้น” ดังต่อไปนี้



คำนำ

       จากการค้นคว้าเบื้องต้น คำว่า “ผู้นำ” ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้อธิบาย และให้ความหมายทางรูปศัพท์ว่าคือคำใด แต่เมื่อวิเคราะห์แง่มุมที่สัมพันธ์กับบริบทของการจัดงานในวันนี้ที่มุ่งเน้นหลัก “ทศพิธราชธรรม”  จึงมุ่งเน้นที่จะนำเสนอประเด็น “ธรรมะสำหรับราชา” เพราะผู้นำในพระพุทธศาสนาตามที่มุ่งหมายจะนำเสนอในบริบทนี้หมายถึง “ราชา”  คำถามมีว่า คนที่ไม่ได้เป็นราชาจะสามารถเรียกขานได้ว่า “เป็นผู้นำ” ในพระพุทธศาสนาใช่หรือไม่?  คำตอบคือ “ได้” และพระเถระผู้ใหญ่ที่สามารถยืนยันในประเด็นนี้คือ “พุทธทาสภิกขุ”  หลวงพ่อชี้ว่า “ราชาไม่ได้แปลว่า King แต่ราชา แปลว่า พอใจ กล่าวคือ ผู้ใดก็ตามที่คิด พูด หรือกระทำการสิ่งใดแล้ว มหาชนพากันแซ่ซ้องสรรเจริญว่า พอใจ ผู้นั้นควรเรียกว่า ราชา  หากถือเอาตามคติของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ จะมีคำถามต่อไปว่า “ผู้นำคนใด คิด พูด หรือกระทำการไปแล้ว เหล่าโจรพากันสรรเสริญว่า พอใจ  เราควรเรียกผู้นั้นว่าเป็นพระราชาด้วยใช้หรือไม่?  คำตอบคือ อาจจะเรียกผู้นั้นได้ว่า “ราชาในหมู่โจร” แต่หากถือถามมติของพระพุทธศาสนาแล้ว ราชาที่ยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนานั้น “จะต้องทำให้ผู้อื่นพึงพอใจโดยธรรม”  หากเป็นเช่นนี้ จำเป็นจะต้องตั้งคำถมต่อไปเช่นกัน คำว่า “โดยธรรม” หรือ “โดยชอบธรรม” นั้น มีแง่มุมที่สัมพันธ์และเกี่ยวข้องในประเด็นใดบ้าง  บทความนี้ จะหาคำตอบโดยการอธิบายถึงพัฒนาการ และที่มาของคำว่า “ผู้นำ” ในความหมายของคำว่า “ราชา”  และตอบประเด็นคำว่า “โดยธรรม” นั้น ครอบคลุมในประเด็นใดบ้าง


พัฒนาการของ “ราชา” ในคัมภีร์อัคคัญญสูตร

       สังคมตามที่ปรากฏในอัคคัญสูตรนั้นเกิดภาวะวิกฤติ เพราะกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันเกิด “ความโลภ”  จึงแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่นๆ รวมไปถึงสมบัติกลางของสังคมไปใช้สอยเพื่อประโยชน์ส่วนตน  จึงเกิดการตำหนิติเตียนต่อพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว ในบางครั้ง สามารถจับผู้กระทำผิดได้ แต่บางคนไม่ยอมรับความเป็นจริงว่าได้กระทำการดังกล่าว จึงทำให้ผู้สูญเสียทำร้ายร่างกายกลุ่มคนที่แย่งชิงทรัพยากรของตัวเองไป ในที่สุดแล้ว จึงนำไปสู่การปรึกษาหารือร่วมกันว่า “จำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะต้องแต่งตั้งโดยการสมมติใครสักคน (มหาชนสมมต) เพื่อทำหน้าที่ในการ “ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ” โดยที่กลุ่มคนต่างๆ จะตอบแทนผู้ที่ทำหน้าที่นี้ด้วยการแบ่งปันทรัพย์ (ภาษี) ส่วนตัวเป็นการตอบแทนการทำหน้าที่ดังกล่าว

       หลังจากนั้น จึงนำไปสู่การกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำ ทั้งบุคลิกภายอก และคุณสมบัติภายใน และเชื้อเชิญว่า “มาเถิด ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียน ผู้ที่ควรติเตียน จบขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด และพวกเราจะแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ท่าน”  ผู้นำขึ้นปกครองโดยมอบอำนาจให้บริหารจัดการบ้านเมืองตามมหาชนพากันสมมติ (มหาชนสมมต) แล้ว โดยมอบอำนาจให้ผู้นำเป็นใหญ่ในหน้าเพื่อให้มีหน้าที่ในการแบ่งพืชผลทางการเกษตร ผู้นำคนนั้น จึงได้รับการเรียกขานว่า “กษัตริย์”  และเมื่อกษัตริย์ได้ตั้งใจทำหน้าที่แบ่งพืชผลทางเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล มหาชนจึงได้พากันขนาดนามกษัตริย์อีกชื่อหนึ่งว่า “ราชา” ซึ่งหมายถึง “บุคคลผู้ที่ทำหน้าที่โดยการสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนโดยธรรม” 

       ฉะนั้น ผู้นำที่มหาชนพากันสมมติ (มหาชนสมมต) ให้มีอำนาจในการแบ่งพืชผลทางการเกษตร (กษัตริย์) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า “ทำอย่างไรจึงจะทำให้มหาชนเกิดความยินดี และพึงพอใจในการทำหน้าที่” (ราชา) ตัวแปรสำคัญที่จะเป็นกรอบในการทำให้มหาชนพากันเรียกขานผู้นำว่า “ราชา” นั้น คือ “โดยชอบธรรม” หรือ “โดยธรรม” ตามนัยนี้ จึงมีความเป็นที่จะต้องกำหนดตัวชี้วัดให้มี “ธรรมสำหรับราชา”  ซึ่งธรรมสำหรับราชานั้นแบ่งออกเป็น ๒ ชุด คือ (๑) ชุดสำหรับการพัฒนาอารมณ์ของราชา ได้แก่ “ทศพิธราชธรรม” และธรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพความสามารถของราชา ได้แก่ “ราชสังคหวัตถุธรรม”

       กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับประเด็นพัฒนาการของผู้นำที่ได้รับการเรียกขานว่า “ราชา” ในพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร ราชา จึงแปลว่า “ผู้ที่ยังบุคคลเหล่าอื่นให้ยินดีโดยชอบธรรม”  (ธมฺเมน ปเร รญฺเชติ) หมายถึง “ผู้ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนโดยธรรม”  ตัว KPI สำหรับการชี้วัด คือ “ผู้นำที่ได้รับการสมมติจากมหาชนสามารถแบ่งบันแบ่งปันพืชผลทางการเกษตรจนทำให้ประชาชน หรือผู้ตามเกิดความยินดี/พึงพอใจโดยธรรม”  คำว่า “โดยธรรม” ในที่นี้มีนัยถึงที่สะท้อนว่า ผู้นำจะต้องมีหลักการในการบริหารจัดการทั้ง ๒ มิติ คือ (๑) มิติด้านอารมณ์ (Emotion) ในบริบทนี้ หมายถึง  “ทศพิธราชธรรม”  และมิติด้านความรู้ความสามารถ (Wisdom) ในบริบทนี้ หมายถึง “ราชสังคหวัตถุธรรม”


ทศพิธราชธรรม: ธรรมะสำหรับการพัฒนาอารมณ์ของผู้นำ

       ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ นั้น แม้โดยทั่วไปจะแปลว่า “ธรรมะสำหรับพระราชา ๑๐ ประการ”  แต่หากจะถือเอาการแปลโดยมุ่งเน้นไปที่เจตนารมณ์ที่แท้จริงแล้ว ทศพิธราชธรรม แปลว่า “หลักการ หรือหลักปฏิบัติที่ผู้นำ/บุคคลที่จะทำให้มหาชน/คนอื่น/ผู้ตามเกิดความยินดีโดยชอบธรรม ซึ่งมี ๑๐ ประการ”  กล่าวตามนัยนี้ ผู้นำ หรือบุคคลที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความพึงพอใจนั้น จะต้องมีตัวชี้วัด ๑๐ ประการ กล่าวคือ

         (๑) การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ (ทาน)

         (๒) ความประพฤติดีงาม คือสำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริตรักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน (ศีล)

         (๓) การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ ตลอดจนชีวิตของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ปริจจาคะ)

         (๔) ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน (อาชชวะ)

         (๕) ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่ง หยาบคายกระด้าง ถือตัวถือตน มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดคนยำเกรง (มัททวะ)

         (๖) ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบครองย่ำยีจิตระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอหรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจให้บริบูรณ์ (ตปะ)

         (๗) ความไม่โกรธ คือ ไม่เกรี้ยวกราด ลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่นวินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง (อักโกธะ)

         (๘) ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง (อวิหิงสา)

         (๙) ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อลอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม (ขันติ)

         (๑๐) ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความ เอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป (อวิโรธนะ)

       หลักการทั้ง ๑๐ ข้อข้างต้น เป็นหลักปฏิบัติสำหรับการกำกับ ควบคุม และพัฒนาอารมณ์ของผู้นำให้มีความฉลาดทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น  เหตุผลสำคัญเพราะผู้นำ หรือผู้ที่จะทำให้ผู้อื่นเกิดความพอใจตามที่เรียกขานว่า “ราชา” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมี “จิตใจที่สงบนิ่ง”  ในขณะที่เผชิญหน้ากับอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาประทบจิตใจของตัวเอง  ความนิ่งจึงมีผลต่อการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นราชา เมื่อเป้าหมายสำคัญของการทำหน้าที่ของราชาคือ “ความพอใจขอมหาชน” ฉะนั้น การที่ราชาเข้าใจ และเข้าถึงความต้องการของมหาชน จึงมีผลในเชิงบวกต่อการปฏิบัติหน้าที่


ราชสังคหวัตถุธรรม: ธรรมสำหรับการพัฒนาศักยภาพของผู้นำคือราชา

       “ราชสังคหวัตถุธรรม” แปลว่า “หน้าที่ที่ผู้นำจะต้องกระทำเพื่อยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ในความสามัคคี”  แนวทางนี้ถือว่าเป็น “หน้าที่” เบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าได้รับออกแบบไว้เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของผู้นำที่ได้ชื่อว่า “ราชา”  โดยราชานั้นจะต้องมีศักยภาพในการใช้ปัญญาบริหารกิจการบ้านเมืองตามแนวทางต่อไปนี้

         (๑) ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร (สัสสเมธะ)

         (๒) ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ (ปุริสเมธะ)

         (๓) ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมทุนไปสร้างตัวในพาณิชยกรรม เป็นต้น (สัมมาปาสะ)

         (๔) ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ น้ำคำควรดื่ม คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าในอันดี และความนิยมเชื่อถือ (วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ)

       หลักการข้างต้นนี้ ถือว่าเป็น “ธรรมะ” หรือ “หน้าที่” ที่บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาจะต้องใช้ปัญญาตัดสินใจบริหารจัดการบ้านเมืองเพื่อให้มหาชนเกิดความพอใจต่อการทำหน้าที่ ฉะนั้น ผู้นำในบริบทนี้จึงมีความจำเป็นจะต้องเฉลียวฉลาด และมีวิสัยทัศน์ในการทำหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้


ราชา: หลักการกับหน้าที่ที่พึงประสงค์

       กล่าวตามบริบทนี้ ไม่ได้หมายความว่า “บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเป็นราชาได้ดังที่ตัวเองมุ่งหวัง”  เพราะราชาเกิดจากการที่มหาชนสมมติขึ้นมาให้มาทำหน้าที่ และรับผิดชอบต่อปัญหาและชาตากรรมของชุมชน สังคม และประเทศ  ฉะนั้น การเป็นราชา จึงไม่ได้หมายความว่า ได้รับการแต่งตั้งแล้วเป็นราชา หากแต่การเป็นราชาต้องเป็นโดยธรรม หรือโดยชอบธรรม  การปกครอง หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองจึงต้องอาศัยธรรมเป็นตัวนำ หรือเป็นกรอบในการกำหนดแนวทางในการประพฤติ และปฏิบัติ เพื่อให้สอดรับกับความคาดหวังของมหาชน เพื่อให้มหาชนเกิดความยินดี และพึงพอใจต่อการบริหารจัดการของราชา สอดรับกับแนวทางที่พระพุทธสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ตรัสในพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  จะเห็นว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชาโดยธรรมซึ่งมีนัยสอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนาที่เน้นว่า การเป็นราชาโดยธรรม หรือโดยชอบธรรมนั้นจะต้องมีธรรม ๒ ชุด คือ ทศพิธราชธรรม กับราชสังคหวัตถุธรรม  ซึ่งจะเป็นทั้งหลักการที่ควรยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นทั้งหน้าที่ที่ควรจะกระทำในการบริหารกิจการบ้านเมืองให้มีความสุข ร่มเย็น และเป็นสันติสุขสืบต่อไป

หมายเลขบันทึก: 508090เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้จัก ..... ให้ รู้จัก ......พอใจในสิ่งที่มี รู้จัก ...... ชีวีที่พอเพียง รู้จักเลี้ยง ..... ผิดที่ .... ศิลห้า วาจาไพเราะ ...... เสนาะดีดี

กราบนมัสการ พระอาจารย์ นะคะ

พุทธธรรม ที่หมดจด งดงามในเบื้องต้น - ท่ามกลาง- เบื้องปลาย

  1. พระปฐมบรมราชโองการ... งดงามในเบื้องต้น
  2. ทรงงาน พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ...งดงามในท่ามกลาง
  3. ผลงานแห่งพระราชวิริยะ เป็นกำลังแก่แผ่นดิน ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข...งดงามในเบื้องปลาย

 

 

ทรงเป็น ต้นแบบ role model ให้คนไทย ลูกหลานไทย เห็นว่า

หลักพุทธธรรรม เทศนาแสดงไว้ สามารถทำให้เกิด ผลเป็นรูปธรรม อันประจักษ์ได้ ...เป็นจริง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท