ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 46. เรียนแก้ปัญหา (4) คำประกาศ


นศ. เลือกปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน แล้วเขียนคำปราศรัยของข้าราชการ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญและเร่งด่วนของปัญหา รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหา

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 46. เรียนแก้ปัญหา  (4) คำประกาศ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๔๖นี้ ได้จาก Chapter 15  ชื่อ Problem Solving  และเป็นเรื่องของ SET 26 : Proclaimations

บทที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหา  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 23 – 28  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา

ทักษะในการแก้ปัญหาเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องฝึก  วงการศึกษากล่าวถึงเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่ค่อยมีวิธีการดำเนินการให้ นศ. ได้ฝึกอย่างเป็นระบบ  บันทึกต่อไปนี้จะช่วยให้การเรียนแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น  โดยที่ครูต้องตระหนักว่า คำว่า “ปัญหา” มีความหมายกว้างและหลากหลาย  แตกต่างกันตามรายวิชา และตามบริบทในชีวิตจริง   เช่น ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ก็มีธรรมชาติแบบหนึ่ง  ปัญหาด้านสังคม ก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือเรานึกถึงปัญหาความยากจน ความรุนแรง ความอยุติธรรม หรือการแบ่งแยก  ในบางกรณีปัญหามีความชัดเจน และมีคำตอบถูก-ผิดชัดเจน  แต่ในบางกรณีก็ไม่ชัดเจน และไม่มีถูก-ผิด ขาว-ดำ  

SET 26  : Proclaimations

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอ่าน, การเขียน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

ในเทคนิค “คำประกาศ” นี้ นศ. เลือกปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน  แล้วเขียนคำปราศรัยของข้าราชการ  เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเห็นความสำคัญและเร่งด่วนของปัญหา  รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหา 

โดย นศ. ต้องค้นคว้าทำความเข้าใจปัญหาจริงของสังคม  จากพื้นความรู้เชิงทฤษฎีของตน  ช่วยให้เข้าใจทฤษฎีลึกซึ้งขึ้น  เข้าใจความสำคัญของความรู้และทฤษฎีเหล่านั้นในชีวิตจริง   รวมทั้งช่วยบ่มเพาะจิตสาธารณะหรือความเอาใจใส่ต่อประโยชน์ของส่วนรวม  การนำเสนอวิธีแก้ปัญหาช่วยฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และอย่างสร้างสรรค์  รวมทั้งได้ฝึกทักษะการสื่อสารด้วย  

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูใช้เวลาไตร่ตรอง ว่าจะมอบงานในลักษณะใด  จะมอบปัญหาทั่วๆ ไป (มอเตอร์ไซคล์ซิ่ง, ยาเสพติด, ความรุนแรง, การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, ฯลฯ)  หรือจะมอบปัญหาที่เชื่อมโยงกับวิชาที่เรียน  เช่นวิชาสิ่งแวดล้อม  อาจมอบปัญหาเรื่องมลพิษในลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน,  อาจเป็นเรื่องการตรวจพบสารพิษในเลือดของคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน,  เป็นต้น   ในวันนำเสนอผลงาน จะมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือที่ นศ. จะเขียนสุนทรพจน์ให้ มาฟังด้วยหรือไม่  หากเชิญ ครูหรือ นศ. จะเป็นผู้เชิญ

2.  กำหนดวิธีรายงานผลงาน  จะให้ส่งร่างสุนทรพจน์  หรือจะให้ตัวแทนทีมของ นศ. เป็นผู้อ่านสุนทรพจน์นั้นต่อชั้น 

3.  หาก นศ. ยังมีประสบการณ์น้อย ต้องการแนวทาง  ครูอาจต้องให้ตัวอย่างปัญหา และตัวอย่างข้อเขียน  เพื่อให้ นศ. เข้าใจชัดเจนว่าตนถูกคาดหวังให้ส่งผลงานระดับใด

4.  ให้ นศ. แต่ละคนหาปัญหามาจากหนังสือพิมพ์, อินเทอร์เน็ต, ข่าว, หรือประสบการณ์ตรง  เพื่อร่วมกันกำหนดปัญหาของชุมชน คนละ ๒ - ๓ ปัญหา นำมาเสนอครู

5.  ครูเลือกปัญหา  หรือทำกระบวนการให้ นศ. เลือกโดยการโหวต  แต่ผมมีความเห็นต่างจากในหนังสือ  ว่าวิธีการเลือกโดย นศ. น่าจะให้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์ในการเลือก  แล้วให้ นศ. แต่ละคนให้คะแนนตามเกณฑ์  แล้วจึงรวมคะแนน และเลือกหัวข้อที่ได้คะแนนสูงที่สุด ๓ หัวข้อ

6.  จัดทีม นศ. ตามความสนใจหัวข้อปัญหา

7.  ให้เวลาทีม นศ. ทำงาน  เริ่มจากการเขียนตัวปัญหาให้ชัดเจน  ยกตัวอย่างปัญหา  ทำรายการสาเหตุของปัญหา  และเหตุผลที่ปัญหานั้นดำรงอยู่หรือเพิ่มมากขึ้น

8.  ให้เวลาทีม นศ. วิเคราะห์ปัญหา  กำหนดแนวทางแก้ปัญหา ว่าได้กี่แนวทาง  และเลือกแนวทางที่น่าจะเหมาะสมที่สุด  กำหนดสาระสำคัญที่จะสื่อสาร  โดยครูคอยช่วยแนะนำวิธีเขียนสุนทรพจน์  เช่น ทำโครงสร้าง  กำหนดว่าจะให้มีประเด็นสำคัญกี่ประเด็นที่จะทำให้ผู้ฟังติดตามสาระได้  

ตัวอย่าง

วิชาความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ (race) และเชื้อชาติ (ethnic)

เป็นวิชาที่ต้องการให้ นศ. เข้าใจพลวัตของความหมายของคำว่าชาติพันธุ์ และเชื้อชาติ  เมื่อมองจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา  เพื่อให้ นศ. ได้เรียนรู้และเข้าใจในมิติที่ลึก ครูเลือกใช้เทคนิค คำประกาศ  ให้ นศ. เรียนโดยลงมือทำ  โดยเชื่อมทฤษฎีกับการปฏิบัติ   รวมทั้งให้ นศ. ได้ฝึกบทบาทการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) ด้านพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ ในชุมชนของตน 

ครูให้ นศ. แต่ละคนเขียนปัญหาที่สังเกตเห็นในชุมชนของตน ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางชาติพันธุ์ของคนมา ๕ ปัญหา  นำมาส่งครู  แล้วครูสังเคราะห์  จัดหมวดหมู่รายการปัญหา  แล้วประกาศต่อชั้น  ให้ นศ. แต่ละคนลงคะแนนเลือกรายการที่สำคัญที่สุด ๕ ปัญหา  เมื่อได้ ๕ ปัญหาตามผลการโหวตของ นศ. แล้ว แบ่ง นศ. เป็น ๕ กลุ่ม  จัดทำคำประกาศกลุ่มละเรื่อง  โดยมีโจทย์ว่า ให้แต่ละกลุ่มอภิปรายทำความเข้าใจปัญหา  ทำความตกลงกันเรื่องยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา  แล้วช่วยกันเขียนสุนทรพจน์ หรือเขียนจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกเทศมนตรี  หรือถึงผู้นำชุมชน  

คำแนะนำ

เนื่องจากไม่มีนิยามที่เป็นทางการของคำว่า “ปัญหาของชุมชน”  ครูจึงควรชักชวนให้ นศ. ช่วยกันกำหนดเกณฑ์เลือกปัญหา  เช่น ควรมีลักษณะต่อไปนี้อย่างน้อย ๒ - ๓ ประการ  เกิดขึ้นบ่อย  ดำรงอยู่นานช่วงเวลาหนึ่ง, มีผลต่อคนจำนวนมาก,  ก่อความเดือดร้อนรุนแรง,  ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชน,  เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

ส่งเสริมให้ นศ. ฝึกจากปัญหาจริง  จะทำให้สนุกและรู้สึกจริงจัง  ดีกว่าปัญหาสมมติมากมาย 

แต่ปัญหาจริงของชุมชนมักซับซ้อนมาก  วิเคราะห์ให้ครบถ้วนชัดเจนยาก  และแก้ยาก  ครูควรแนะนำและให้กำลังใจ ให้  ทีม นศ. ค่อยๆ วิเคราะห์แยกแยะปัจจัยสาเหตุที่ซับซ้อน  ทำความเข้าใจ ว่าในชุมชนมีหลากหลายกลุ่มผลประโยชน์  ที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกันบ้าง ขัดกันบ้าง  หากนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาแนวทางหนึ่ง คนบางกลุ่มจะเห็นด้วย  อีกบางกลุ่มคัดค้าน  รวมทั้งปัญหาบางเรื่อง ตัวปัจจัยหลักอยู่เหนือการควบคุมของกลไกในชุมชน (เช่น ปัญหาโลกร้อน  เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ)  การที่ นศ. ได้ทำความเข้าใจข้อจำกัดเหล่านี้ คือการเรียนรู้ในชีวิตจริง 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Berkowitz B. (2007). The community tool box : Bringing solutions to light. Work Group for Community Health and Development. University of Kansas. http://ctb.ku.edu/en/tablecontents/index.aspx

ความเห็นของผม

ในบริบทไทย  ครูต้องคอยย้ำว่า นศ. ต้องทำงานอย่างมีข้อมูลหลักฐานยืนยัน  ต้องค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหลักฐานเสียก่อน  อย่าเขียนนโยบายหรือสุนทรพจน์จากความรู้สึกล้วนๆ  อย่าเขียนโดยเน้นกระตุ้นอารมณ์  ให้เน้นเหตุผลหลักฐาน

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 508028เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2012 05:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท