ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 45. เรียนแก้ปัญหา (3) คิดดังๆ จับคู่แก้ปัญหา


TAPPS เน้นที่กระบวนการ เน้นเรียนรู้กระบวนการและฝึกทักษะ มากกว่าที่ผลลัพธ์ของวิธีการ นศ. จะได้ฝึกพูด และฝึกฟัง โดยที่ในการทำดังกล่าวได้ฝึกวิธีการแก้ปัญหาไปในตัว รวมทั้งฝึกทักษะวิเคราะห์ และได้เรียนรู้หรือทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ในเชิงลึก

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 45. เรียนแก้ปัญหา  (3) คิดดังๆ จับคู่แก้ปัญหาครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 45. เรียนแก้ปัญหา  (3) คิดดังๆ จับคู่แก้ปัญหา

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๔๕นี้ ได้จาก Chapter 15  ชื่อ Problem Solving  และเป็นเรื่องของ SET 25 : Think-Aloud-Pair- Problem Solving (TAPPS)

บทที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหา  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 23 – 28  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา

ทักษะในการแก้ปัญหาเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องฝึก  วงการศึกษากล่าวถึงเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่ค่อยมีวิธีการดำเนินการให้ นศ. ได้ฝึกอย่างเป็นระบบ  บันทึกต่อไปนี้จะช่วยให้การเรียนแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น  โดยที่ครูต้องตระหนักว่า คำว่า “ปัญหา” มีความหมายกว้างและหลากหลาย  แตกต่างกันตามรายวิชา และตามบริบทในชีวิตจริง   เช่น ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ก็มีธรรมชาติแบบหนึ่ง  ปัญหาด้านสังคม ก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือเรานึกถึงปัญหาความยากจน ความรุนแรง ความอยุติธรรม หรือการแบ่งแยก  ในบางกรณีปัญหามีความชัดเจน และมีคำตอบถูก-ผิดชัดเจน  แต่ในบางกรณีก็ไม่ชัดเจน และไม่มีถูก-ผิด ขาว-ดำ  

SET 25  : Think-Aloud-Pair-Problem Solving (TIPPS)

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การแก้ปัญหา

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

เทคนิคคิดดังๆ จับคู่แก้ปัญหา ใช้เรียนรู้และฝึกฝนการแก้ปัญหา  เน้นที่การเรียนรู้ว่ามีหลักการและวิธีการที่หลากหลาย 

ให้ นศ. จับคู่ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ ๒ หน้าที่  คือ “ผู้แก้ปัญหา” กับ “ผู้ฟัง”  แต่ละคู่จะได้รับปัญหาจำนวนหนึ่ง  ให้เริ่มจากปัญหาง่ายๆ ก่อน  โดย “ผู้แก้ปัญหา” คิดออกมาดังๆ ว่าขั้นตอนในการแก้ปัญหานั้นของตนเป็นอย่างไร  “ผู้ฟัง” ฟังเพื่อติดตามขั้นตอน และสังเกตวิธีคิด หรือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังแต่ละขั้นตอน  ผู้ฟังจะไม่ร่วมอภิปรายโต้แย้ง  แต่อาจซักถาม หรืออาจมีข้อเสนอแนะหากเห็นว่ามีการข้ามขั้นตอน หรือผิดขั้นตอน

TAPPS เน้นที่กระบวนการ  เน้นเรียนรู้กระบวนการและฝึกทักษะ มากกว่าที่ผลลัพธ์ของวิธีการ  นศ. จะได้ฝึกพูด และฝึกฟัง  โดยที่ในการทำดังกล่าวได้ฝึกวิธีการแก้ปัญหาไปในตัว  รวมทั้งฝึกทักษะวิเคราะห์  และได้เรียนรู้หรือทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ในเชิงลึก 

ที่สำคัญคือ ได้ฝึกความตระหนักต่อวิธีการรับรู้และเรียนรู้ของตน และของคนอื่น 

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูใช้เวลารวบรวมปัญหาที่เหมาะสม (ตามสาระในวิชา) ที่ นศ. จะสามารถแก้ปัญหาได้ในเวลาที่กำหนด  โดยรวบรวมเป็นกลุ่มเรื่อง  แต่ละปัญหาควรช่วยให้ นศ. ได้ฝึกฝนขั้นตอนต่างๆ ในทักษะพื้นฐานในการแก้ปัญหา (ของวิชานั้น)  ได้แก่ ทำความรู้จักธรรมชาติของปัญหา,  วิเคราะห์ความรู้และทักษะที่ต้องการในการแก้ปัญหาหนึ่งๆ,  ตรวจหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาได้,  การเลือกแนวทางหรือวิธีการที่ดีที่สุด,  และการประเมินผลที่อาจเกิดขึ้น  ปัญหาเหล่านี้ควรท้าทาย นศ. ให้มีสมาธิอยู่กับการฝึกทักษะการแก้ปัญหา  

2.  เขียนใบงาน ที่มีปัญหาชุดหนึ่ง สำหรับให้ นศ. ฝึกแก้ปัญหาจากง่ายไปสู่ยาก

3.  ให้ นศ. จับคู่  ครูอธิบายวิธีทำหน้าที่ผู้คิดแก้ปัญหาดังๆ และผู้ฟัง   บทบาทของผู้คิดแก้ปัญหา คือ อ่านปัญหาดังๆ  และพูดออกมาดังๆ ว่าตนคิดแก้ปัญหาอย่างไร  มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง  บทบาทของผู้ฟังคือ คอยเชียร์หรือให้กำลังใจให้ผู้คิดแก้ปัญหาพูดออกมาดังๆ  บอกขั้นตอนการแก้ปัญหานั้น  ผู้ฟังอาจตั้งคำถามเพื่อให้วิธีแก้ปัญหาชัดเจนขึ้น  หรืออาจมีข้อเสนอแนะ  แต่ไม่ควรเข้าไปร่วมแก้ปัญหา

4.  นศ. แต่ละคู่แก้ปัญหาต่อไปจนหมดปัญหาในใบงาน  โดยสลับหน้าที่กัน

5.  จบงาน เมื่อ นศ. แก้ปัญหาหมดทั้งชุด

ตัวอย่าง

วิชาภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สอง

ครูต้องการให้ นศ. เข้าใจไวยากรณ์ ผ่านการวิเคราะห์ทำความเข้าใจโครงสร้างและความเชื่อมโยงของประโยค  จึงแสดงตัวอย่างการวิเคราะห์แยกแยะโครงสร้างของประโยคบนกระดาน ๒ - ๓ ประโยค  จน นศ. บอกว่าเข้าใจแล้ว  จึงจัด นศ. เป็นคู่และให้ใบงานเป็นประโยคชุดหนึ่ง  ให้ นศ. คนหนึ่งในคู่วิเคราะห์แยกส่วนของประโยค โดยพูดออกมาดังๆ  นศ. อีกคนหนึ่งในคู่ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังและซักถามเพื่อความกระจ่าง  แล้วสลับหน้าที่กันทำโจทย์ประโยคอื่นต่อไป  เมื่อจบ ครูให้ นศ. เลือกว่าประโยคไหนเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด  และให้ไปวิเคราะห์แยกส่วนให้เพื่อนๆ ฟังที่หน้าชั้น

วิชาสถิติเบื้องต้น

ครูให้ นศ. ฝึกทำ regression analysis โดยใช้เทคนิค TAPPS  โดยแจกใบงานบอกสถานการณ์หนึ่ง พร้อมข้อมูลหนึ่งชุด  ให้ นศ. จับคู่และฝึกแก้ปัญหา ๑๐ ปัญหา โดยใช้เทคนิค TAPPS  เมื่อจบครูให้มีการอภิปรายทั้งชั้น  เพื่อทำความเข้าใจคำตอบ และทำความเข้าใจวิธีแก้ปัญหา

วิชาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

วิชาเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้ มีเป้าหมายให้ นศ. เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้ภาษาทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์  นศ. ต้องแก้ปัญหาที่ซับซ้อนโดยดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลหลายฐาน  นำมาคัดเลือก  และวิเคราะห์ลำดับข้อมูล  โดยครูสังเกตว่า นศ. จำนวนหนึ่งทำได้คล่องแคล่ว  แต่ นศ. อีกจำนวนหนึ่งงง และมักทำผิด  ทำให้เสียเวลามากในการแก้ไขภายหลัง  ทำให้มี นศ. จำนวนมากเบื่อเรียน และถอนวิชา 

เพื่อช่วย นศ. กลุ่มหลังนี้ ครูจึงใช้เทคนิค TAPPS ช่วย  โดยจับคู่ นศ. ที่คล่อง กับ นศ. ที่งง  ทำให้ผลการเรียนของทั้งชั้นดีขึ้นมาก  และจำนวน นศ. ที่ถอนการเรียนวิชานี้ก็ลดลงอย่างมาก

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ทำได้ง่ายโดยให้ นศ. จับคู่ และแสดงบท “ผู้แก้ปัญหา” และ “ผู้ฟัง” โดย teleconference  (และผมคิดว่าใช้โทรศัพท์ก็น่าจะได้)  หรืออาจให้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง และนำไปแสดงบน discussion board

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·  ตามปกติใช้เทคนิคนี้เพื่อแก้ปัญหาปลายปิดเป็นหลัก  แต่ก็ปรับใช้กับปัญหาปลายเปิดได้   โดยหากใช้กับปัญหาปลายเปิดต้องให้เวลาทำงานมากขึ้น

·  ถ้า นศ. ทุกคู่ทำชุดปัญหาเดียวกัน  ให้สุ่มเลือกคู่ นศ. ให้ออกไปแสดงวิธีแก้ปัญหาแก่เพื่อนทั้งชั้น  หรืออาจให้ นศ. โหวตกันว่าปัญหาข้อใดท้าทายที่สุด แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาในชั้น  รวมทั้งอาจอภิปรายวิธีจัดการฝึกเทคนิคนี้ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น  

คำแนะนำ

อาจมี นศ. จำนวนหนึ่งยังไม่คล่องที่จะฝึกแบบเป็นคู่  อาจให้ฝึกทั้งชั้นก่อนจับคู่ฝึก 

เทคนิคนี้จะได้ผลดี นศ. ต้องรู้สึกสบายใจที่จะเปิดเผยความคิดของตนต่อเพื่อน  และสบายใจที่จะเป็นผู้รับฟัง  นั่นคือ นศ. ต้องสนิทสนมกันพอสมควร  จึงควรมีกระบวนการสร้างความสนิทสนมไว้วางใจซึ่งกันและกัน กันก่อนใช้เทคนิคนี้  หรือให้เลือกคู่ที่ตนพอใจ 

นศ. มักจะทำงานด้วยความเร็วต่างกัน  หรือต่างกันมาก  ครูจึงควรมีชุดปัญหา (ที่ยากขึ้น) ให้ นศ. ที่ทำเสร็จเร็วได้ซ้อมทำเพิ่ม 

ครูต้องคอยสังเกต และคอยช่วยเหลือให้ นศ. ฝึกแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง  

ควรประเมินทักษะการแก้ปัญหา ก่อนและหลังการฝึก  วิธีง่ายๆ คือมีตัวอย่างปัญหาชุดหนึ่ง ให้ นศ. บอกชนิดของแต่ละปัญหา  วิธีที่ละเอียดทำโดยให้โจทย์ ๒ โจทย์  อันหนึ่งง่าย อีกอันหนึ่งยากปานกลาง  ให้ นศ. เขียนรายงานบอกขั้นตอนการทำ TAPPS ต่อโจทย์ทั้งสองส่งครู  อาจเลือก นศ. ที่ตอบโจทย์ได้ดีอธิบายวิธีการของตนต่อเพื่อข้างๆ  หรือต่อกลุ่ม หรือต่อทั้งชั้น 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Barkley EF, Cross KP, Major CH. (2005). Collaborative learning techniques : A handbook for college faculty. San Francisco : Jossey-Bass, p. 172-176.

วิจารณ์ พานิช

๖ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 507881เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012 05:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท