ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 43. เรียนแก้ปัญหา (1) กำหนดปัญหา


ในชีวิตจริง ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน ดังนั้น หากครูต้องการให้ นศ. ได้ฝึกทักษะในการกำหนดปัญหา ครูต้องทำให้ปัญหาตัวอย่างลดความซับซ้อนลง เพื่อให้ความแตกต่างระหว่างกลุ่มปัญหาแต่ละชนิดมีความชัดเจนขึ้น โดยต้องย้ำกับ นศ. ว่า นี่เป็นแบบฝึกหัดที่ทำให้ง่ายขึ้น ในชีวิตจริงจะไม่ง่ายอย่างนี้

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 43. เรียนแก้ปัญหา  (1) กำหนดปัญหา

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๔๓นี้ ได้จาก Chapter 15  ชื่อ Problem Solving  และเป็นเรื่องของ SET 23 :  What’s the Problem?  

บทที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหา  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 23 – 28  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา

ทักษะในการแก้ปัญหาเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องฝึก  วงการศึกษากล่าวถึงเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่ค่อยมีวิธีการดำเนินการให้ นศ. ได้ฝึกอย่างเป็นระบบ  บันทึกต่อไปนี้จะช่วยให้การเรียนแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น  โดยที่ครูต้องตระหนักว่า คำว่า “ปัญหา” มีความหมายกว้างและหลากหลาย  แตกต่างกันตามรายวิชา และตามบริบทในชีวิตจริง   เช่น ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ก็มีธรรมชาติแบบหนึ่ง  ปัญหาด้านสังคม ก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือเรานึกถึงปัญหาความยากจน ความรุนแรง ความอยุติธรรม หรือการแบ่งแยก  ในบางกรณีปัญหามีความชัดเจน และมีคำตอบถูก-ผิดชัดเจน  แต่ในบางกรณีก็ไม่ชัดเจน และไม่มีถูก-ผิด ขาว-ดำ  

SET 23  :  กำหนดปัญหา

จุดเน้น  :  บุคคล

กิจกรรมหลัก :  การอ่าน การเขียน

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

เป็นกิจกรรมฝึกกำหนดชนิดของปัญหา เพื่อนำไปสู่การฝึกทักษะการแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อปัญหาชนิดนั้นๆ  เพื่อเรียนรู้หลักการ และเทคนิคของการแก้ปัญหา   โดย นศ. ต้องฝึกมองทะลุผิวไปสู่เบื้องลึกของปัญหา  ให้เห็นความแตกต่างของปัญหาที่มองผิวเผินแล้วเหมือนๆ กัน  โดย นศ. ฝึกเป็นคู่ เพื่อแยกแยะชนิดของปัญหาจากตัวอย่างหนึ่งๆ  และเรียนรู้วิธีจับกลุ่มหรือชนิดของปัญหา 

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดปัญหา ๒ กลุ่ม (หรือมากกว่า) ที่ นศ. แยกความแตกต่างระหว่างกันได้ยาก 

2.  เลือก หรือสร้างตัวอย่างปัญหาในแต่ละกลุ่ม

3.  กำหนดระดับความยากหรือซับซ้อนให้เหมาะสมแก่ นศ. (นร.)  เช่น จะบอกชื่อกลุ่มปัญหา แล้วให้ นศ. จัดปัญหาเข้ากลุ่ม  หรือจะให้ นศ. ระบุชื่อกลุ่มปัญหาเอง

4.  ทดสอบให้ นศ. ในชั้นเรียนที่สูงกว่า ลองจัดกลุ่ม  หรืออาจลองกับเพื่อนครู  เพื่อประเมินระดับความยากง่ายของโจทย์  และเวลาที่ต้องการสำหรับตอบโจทย์  และปรับให้เหมาะสม  ตามปกติเวลาที่ นศ. ต้องการ คือ ประมาณ​ ๓ เท่าของผู้มีความชำนาญ

5.  จัดทำใบงานแก่ นศ.  หรือ presentation เพื่อแนะนำตัวอย่างกลุ่มชนิดปัญหา แก่ นศ.  

6.  จัดคู่ นศ.  อธิบายงาน  และให้เวลาทำงาน

7.  นศ. ทำงาน จัดกลุ่มชนิดของปัญหา

 

ตัวอย่าง

วิชาการอ่านและคิดอย่างมีวิจารณญาณ

เพื่อให้ นศ. รู้จักอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (ไม่ด่วนเชื่อ)  ครูต้องการให้ นศ. ได้เรียนรู้ทักษะในการตรวจหาจุดบกพร่องหรือผิดพลาด หรือความเชื่อผิดๆ (มายา) ในข้อถกเถียง  โดยตั้งเป้าว่า เมื่อจบรายวิชา นศ. จะสามารถระบุชนิดของข้อผิดพลาดได้ ๒๐ กลุ่ม 

โดยเริ่มจากกลุ่มชนิดที่เข้าใจง่าย ๕ กลุ่มก่อน  ได้แก่ (๑) สับสนระหว่างเหตุและผล  (๒) red herring  (๓) straw man  (๔) ad hominem  (๕) post hoc  แล้วครูจัดทำ สไลด์ ตัวอย่างถ้อยคำที่แสดงมายา  ฉายให้ นศ. อ่านและร่วมกันทำความเข้าใจว่าเป็นมายาในกลุ่มใด  หลังจากนั้นฉายข้อความแล้วให้ นศ. จับคู่ปรึกษากัน  หลังจากนั้นหาก นศ. คนใดนำข้อความจาก นสพ. หรือแหล่งอื่น ที่แสดงมายากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเสนอ และบอกกลุ่มถูก ก็จะได้คะแนนเพิ่ม 

๒ - ๓ สัปดาห์ต่อมา ครูนำเสนอมายาอีก ๕ กลุ่ม ต่อ นศ.  ทำเช่นนี้ต่อไปจนได้ครบ ๒๐ กลุ่มมายา  โดยส่งเสริมให้ นศ. ทำความรู้จักมายาจากชีวิตประจำวัน  นศ. จะสนุกมากกับบทเรียนนี้   

วิชาทฤษฎีดนตรีและการแต่งเพลง

ผมอ่านตัวอย่างนี้ไม่รู้เรื่อง  เดาได้เลาๆ ว่า  นศ. มักจะแต่งผิดหลักการทั้งๆ ที่รู้ทฤษฎี  ครูจึงหาวิธีให้ นศ. ฝึกหาจุดที่ผิดจากตัวอย่าง  โดยให้ นศ. จับคู่กันทำงาน

จากตัวอย่างนี้ ผมจึงคิดว่า ในทุกวิชา มีประเด็นที่ นศ. หรือคนทั่วไปมักเข้าใจผิด  การหาวิธีให้ นศ. ฝึกหาที่ผิดจากตัวอย่างทั่วๆ ไป จะได้ผลในลักษณะ “ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว”  คือได้ทั้งความรู้เชิงสาระ และได้ทักษะการค้นหามายา

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคโนโลยีสื่อสารสองทาง (หรือหลายทาง) ในเวลาเดียวกัน เช่น teleconference, chat ที่มีที่เขียนโต้ตอบหรืออธิบายด้วย มีประโยชน์มากต่อการเรียนบทเรียนนี้

หรืออาจกำหนดให้ นศ. จับคู่เป็นทีมทำงาน  ให้คุยเรื่องนี้ทางโทรศัพท์ หรือ SMS  หรือครูมอบหมายตัวอย่างปัญหาให้ นศ. แต่ละคนคิดจัดกลุ่มชนิดปัญหาคนเดียวก่อน  แล้วจึงปรึกษากัน  และส่งผลงานต่อครู เป็นผลงานร่วมกัน

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·  ให้ นศ. หาตัวอย่างมายาแต่ละกลุ่มชนิดเอง

·  ให้ นศ. อธิบายลักษณะของมายาแต่ละกลุ่มชนิด  และบอกลักษณะจำเพาะของแต่ละกลุ่ม 

·  เมื่อ นศ. บอกมายาแต่ละกลุ่มชนิดได้คล่องแคล่วแล้ว  ให้ นศ. ฝึกใช้เทคนิคนี้ร่วมกับเทคนิคที่ ๒๕ Think-Aloud-Pair-Problem Solving

คำแนะนำ

เทคนิคนี้ เน้นที่รายวิชาที่ปัญหามีคำตอบถูกผิดชัดเจน  แต่ยังมีวิชา หรือปัญหาภายในวิชา ที่มีความซับซ้อน  หรือมีทั้งปัจจัยที่รู้แล้ว และที่ยังไม่รู้  จึงไม่มีคำตอบถูกผิดที่ชัดเจน  หากครูใช้ปัญหาชนิดนี้ ครูต้องบอก นศ. ให้ชัดเจนว่า เรื่องนั้นไม่มีคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว  ให้ นศ. เลือกคำตอบที่ตนคิดว่าถูกต้องที่สุด พร้อมทั้งบอกเหตุผล 

ในชีวิตจริง ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน  ดังนั้น หากครูต้องการให้ นศ. ได้ฝึกทักษะในการกำหนดปัญหา ครูต้องทำให้ปัญหาตัวอย่างลดความซับซ้อนลง  เพื่อให้ความแตกต่างระหว่างกลุ่มปัญหาแต่ละชนิดมีความชัดเจนขึ้น  โดยต้องย้ำกับ นศ. ว่า นี่เป็นแบบฝึกหัดที่ทำให้ง่ายขึ้น  ในชีวิตจริงจะไม่ง่ายอย่างนี้

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Angelo TA, Cross KP. (1993). Classroom assessment techniques. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 214-217.

วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ย. ๕๕

บนเครื่องบินการบินไทย  กลับจากปักกิ่ง 

หมายเลขบันทึก: 507629เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2012 05:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท