ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 41. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ (6) สมุดประจำชั้น


เมื่อใกล้เรียนจบรายวิชา นศ. แต่ละคน เขียนรายงาน “ผลงานที่มีคุณภาพสูงสุด” ของตนในรายวิชา ส่งให้ครู เพื่อคัดเลือก นำไปเย็บรวมเป็นเล่ม เรียกว่า “สมุดประจำชั้น” ของรายวิชานั้นของ นศ. เทอมนั้นหรือปีนั้น เก็บไว้เป็นเกียรติประวัติของผลงานคุณภาพสูง และสำหรับเป็นตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานคุณภาพสูง แก่ นศ. รุ่นหลัง

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 41. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์  (6) สมุดประจำชั้น

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๔๑ นี้ ได้จาก Chapter 14  ชื่อ Synthesis and Creative Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 21 : Class Book   

บทที่ ๑๔ ว่าด้วยเรื่องการสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์   ประกอบด้วย ๗ เทคนิค  คือ SET 16 – 22   จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค    เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกความสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่หรือที่พบโดยไม่คาดฝัน   เกิดสิ่งใหม่ที่กระตุ้นความสนใจ หรือเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน     และ นศ. ได้ฝึกทักษะสังเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการนำเอาสิ่งที่รู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ มาผสมกันเป็นสิ่งใหม่ที่เป็นภาพรวมใหม่

 

SET 21  : สมุดประจำชั้น  

จุดเน้น  :  ตัวบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน

ระยะเวลา  :  แตกต่างหลากหลาย

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

เมื่อใกล้เรียนจบรายวิชา นศ. แต่ละคน เขียนรายงาน “ผลงานที่มีคุณภาพสูงสุด” ของตนในรายวิชา    ส่งให้ครู เพื่อคัดเลือก นำไปเย็บรวมเป็นเล่ม  เรียกว่า “สมุดประจำชั้น” ของรายวิชานั้นของ นศ. เทอมนั้นหรือปีนั้น   เก็บไว้เป็นเกียรติประวัติของผลงานคุณภาพสูง    และสำหรับเป็นตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานคุณภาพสูง แก่ นศ. รุ่นหลัง   

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูกำหนด ว่างานชนิดใดที่ นศ. ทำ ที่จะได้รับการคัดเลือกบบรจุลง “สมุดประจำชั้น”  รวมทั้งกำหนดวิธีส่งผลงานเข้ารับการคัดเลือก   และเกณฑ์การคัดเลือก ได้แก่ เนื้อหา  รูปแบบ และระดับของคุณภาพ   
  2. กำหนดรูปลักษณ์ของ “สมุดประจำชั้น” ว่าจะเป็นสมุดที่เย็บรายงานและเข้าปกอย่างง่ายๆ   หรือจะจัดทำเป็นรูปเล่มสวยงาม   ครูจะทำเอง หรือมอบหมายให้ นศ. ตั้งทีมทำ 
  3. กำหนดช่วงเวลาจัดทำ  “สมุดประจำชั้น” ให้พอเหมาะ   คือให้เวลาของเทอมผ่านไปนานพอที่จะมีผลงานจากหลากหลายชิ้นงานที่ครูมอบหมาย ให้ นศ. เลือกส่งเข้ารับการคัดเลือก   และในขณะเดียวกันก็มีเวลาจัดทำ  “สมุดประจำชั้น” ให้เสร็จเมื่อจบเทอม  

 

ตัวอย่าง

วิชาเรียงความ การอ่าน และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

วิชานี้มีเป้าหมายให้ นศ. มีทักษะในการเขียนโต้แย้ง    จากการอ่านและคิดอย่างมีวิจารณญาณ ต่อข้อเขียนที่ไม่ใช่นวนิยาย   ครูใช้วิธีเรียนแบบร่วมมือกัน เพื่อสร้างชุมชนเรียนรู้   และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึก   เพื่อกระตุ้น ให้ นศ. ตั้งใจเรียนและผลิตผลงานที่ดีที่สุด    ในวันแรกของวิชา ครูจึงบอกว่า ๒ สัปดาห์ก่อนจบเทอม   ครูจะให้ นศ. คัดเลือกชิ้นงานที่ตนคิดว่ามีคุณภาพสูงสุดของตน   ส่งเข้ารับการคัดเลือก สำหรับนำมาเข้าเล่มในชื่อ “Showcase” เก็บไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความภูมิใจ   และเป็นตัวอย่างแก่ นศ. รุ่นหลัง      

ครูรับสมัคร นศ. ทำหน้าที่เป็น “ทีมผู้ผลิต” (ได้คะแนน)   ดำเนินการรวบรวม บรรณาธิการ และจัดพิมพ์    

นศ. รุ่นแรกๆ จัดทำหนังสือแบบง่ายๆ เย็บเล่มด้วยสันพลาสติก   แต่ นศ. รุ่นต่อๆ มา จัดทำแบบ desktop publishing เป็นเล่มสวยงาม   สาระดี   ตั้งโชว์ไว้ที่สำนักงานภาควิชา

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคนี้ปรับใช้ online ได้ง่าย   โดยให้ นศ. ส่งรายงานเป็น pdf file เป็น e-mail attachment   แล้วจัดทำเป็น online magazine ซึ่งเรียกชื่อได้หลายชื่อ เช่น zine, ezine, webzine, cyberzine   โดยมี ซอฟท์แวร์ ให้ใช้   ค้นหาได้ด้วยคำว่า “ezine publishing”   

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      ให้ นศ. อาสา หรือโหวตเลือกกัน ทำหน้าที่กองบรรณาธิการ (ได้คะแนน)   

·      ให้ นศ. จัดทำบันทึกความทรงจำของชั้น สำหรับเป็นคำนำ   สะท้อนภาพของกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน  การเป็นชุมชนการเรียนรู้ของชั้น   และข้อแนะนำวิธีเรียนที่ดี ต่อ นศ. รุ่นถัดๆ ไป

·      แทนที่จะให้จัดทำ  “สมุดประจำชั้น” เป็นรูปเล่มหนังสือ   ให้ทำเป็น web-based magazine   เป็น series ของแต่ละชั้นต่อเนื่อง

·      ในกรณีของวิชาจิตรกรรม หรือการแสดง   ทำได้โดยให้แนบรูป  คลิป  หรือเสียงที่บันทึกใน ดีวีดี

·      นอกจากให้ นศ. ส่งชิ้นงานเข้ารับการคัดเลือก   ให้เขียนคำอธิบายยาวไม่เกิน ๑ หน้ากระดาษ ว่าทำไมตนจึงคิดว่าผลงานชิ้นนั้นมีคุณภาพสูง   รวมทั้งข้อเรียนรู้ของตนในการผลิตผลงานชิ้นนั้น 

·      ให้ นศ. แต่ละคนจัดทำแฟ้มรวบรวมผลงานของตน   จากผลงานชิ้นเยี่ยมที่สุดในแต่ละรายวิชา 

 

คำแนะนำ

ครูพึงย้ำว่า จุดเน้นคือคุณภาพของข้อเขียนหรือผลงาน    และการเรียนรู้จากการคัดเลือกผลงานเหล่านั้น   ไม่ใช่ความสวยงามของหนังสือ 

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Watkins R. (2005). 75 e-Learning activities : Making online learning interactive. San Francisco : Pfeiffer, pp. 198-200.

 

ข้อคิดเห็นของผม

 ในภาคไทย อาจเรียก “สมุดประจำชั้น”  ว่า “สมุดแห่งเกียรติยศ” ประจำชั้น ในรายวิชานั้นๆ   ในทำนองเดียวกันกับ หอเกียรติยศ (Hall of Fame)  ของสถาบันต่างๆ    โดยเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างแรงบันดาลใจให้ นศ. มุ่งมั่นเรียนและทำงานเพื่อความเป็นเลิศ   ไม่ใช่เรียนแค่พอสอบผ่าน

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ต.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506984เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2012 05:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบบันทึกของท่านครับ

ชอบแนวความคิดนี้มากค่ะขออนุญาตนำไปปรับใช้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท