เข็มขัดสีกากี, เต็มยศ, หลักสูตรระยะสั้น : วิชาชีพระยะสั้น, ครู ตำบลละกี่คน, ศึกษาต่อวันหยุด, ส่ง SAR 3 ปี, ลาออก 5 ปี มาเรียนต่อ, ครูได้ ป.โท, เทียบระดับ 4/55, จบหลักสูตร 44 ช้า, ป.โท ขอใบครู, เรียนซ้ำวิชา, ภาคสุดท้ายเกิน 3 นก., ใบครูสอบบรรจุครู


วิชาที่รหัสเดียวกัน ไม่ให้นักศึกษาเรียนซ้ำวิชาเดิม

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 14 เรื่อง ดังนี้

 

         1. วันที่ 18 ต.ค.55 ผมไปประชุมเรื่อง การจัดทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ปลายภาคเรียนที่ 2/54 ราวิชาเลือก ของ กศน.จ.อย.  ที่ ห้องประชุมกรุงเก่า สนง.กศน.จ.อย.

 

         2. วันที่ 19 ต.ค.55 ผมร่วมคณะบุคลากรทุกคน ( ลา 1 คน ) ของ กศน.อ.ผักไห่ ไปศึกษาดูงานการรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ที่ กศน.อ.สรรพยา และ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท   ได้รับการแนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้บริหารและบุคลากรของทั้งสองแห่ง อย่างดียิ่ง

 

         3. วันที่ 23 ต.ค.55 ผมร่วมพิธีวันปิยมหาราช ในหอประชุมอำเภอผักไห่  ( วันนี้พนักงานราชการยังตัดชุดขาวกันไม่เสร็จ จึงแต่งชุดกากีคอพับแขนยาว  ผอ.บอกว่า วันที่ 5 ธ.ค.55 พนักงานราชการทุกคนต้องแต่งเครื่องแบบพิธีการ )

 

         4. คืนวันเดียวกัน ( 23 ต.ค. ) คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  เครื่องแบบพิธีการแบบเต็มยศและครึ่งยศ ใช้ในกรณีไหนบ้าง
             ผมตอบว่า   จะ แต่งเครื่องแบบใดกรณีไหน ให้ "ดูที่หมายกำหนดการหรือกำหนดการนัดหมายของราชการ ประสงค์ให้แต่งกายเครื่องแบบใด" ครับ   โดยทั่วไปการแต่งเครื่องแบบเต็มยศจะแต่งในงานพระราชทานผ้าพระกฐินและพระราชพิธีสาคัญที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดาเนิน
             งานประจำปีที่แต่งเครื่องแบบครึ่งยศเต็มยศ มีเพียงงานเดียว คืองานวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 ธ.ค.
             เครื่องแบบครึ่งยศ กับ เต็มยศ เหมือนกันตรงที่ เสื้อขาว กางเกง/กระโปรงดำ ประดับเหรียญจริงแทนแพรแถบย่อ   ต่างกันแค่ เครื่องแบบเต็มยศสวมสายสะพาย เครื่องแบบครึ่งยศไม่สวมสายสะพาย
             พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ข้าราชการ ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ก็แต่งเครื่องแบบเต็มยศไม่ได้ครับ ให้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ
             การแต่งเครื่องแบบครึ่งยศไม่ใช่ง่าย เพราะต้องประดับเหรียญจริงซึ่งมีราคาแพง ( เหรียญละเกือบ 2,000 บาท )  หลายคนยังหาเหรียญจริงไม่ได้ก็ต้องแต่งเครื่องแบบครึ่งยศโดยไม่ต้องประดับเหรียญ   ( เหรียญที่ระลึกต้องหาเองอยู่แล้ว ส่วนเหรียญเครื่องราชฯระยะหลังถึงจะได้รับพระราชทานก็จะได้เฉพาะประกาศนียบัตรหลักฐานว่าพระราชทานจริง แต่เหรียญจริงได้เฉพาะหัวหน้า/ผู้บริหาร ส่วนผู้ที่ไม่ใช่หัวหน้า/ผู้บริหาร ต้องจัดหา/จัดซื้อเอง )

 

         5. คืนวันเดียวกัน ( 23 ต.ค. ) คุณ “เด็กดอย เด็กดี” ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ประกาศ ของ สมศ. ข้อ 2 ให้ส่ง SAR โดยใช้ผลการดำเนินงาน ปี 52 , 53 , 54 ถูกต้องตามนี้ใช่ไหม  แล้วปี 55 ล่ะ ต้องส่งด้วยรึปล่าว    ( สมศ. ประกาศรายชื่อ กศน.อำเภอ ที่จะเข้าประเมินภายนอกรอบสามในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 149 แห่ง โดยกำหนดให้ทั้ง 149 แห่งนี้ ส่ง SAR 3 ปี ให้ สมศ. ภายใน 30 พ.ย.55 )
             ผมตอบว่า   สมศ. เขาพิมพ์ประกาศตามโรงเรียนในระบบ จึงเป็น "ปีการศึกษา" 52, 53, 54  แต่ กศน.เราทำ SAR ตามปีงบประมาณ  ช่วงนี้จึงส่ง SAR "ปีงบประมาณ" 53, 54, 55 ครับ

 

         6. วันที่ 24 ต.ค.55 คุณนิราตรี กศน.อำเภอบ้านผือ ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  1 ตำบลสามารถมีครู กศน.ตำบลได้กี่คน  ถ้ามี 2 คน จะต้องทำอย่างไร จะถูกเลิกจ้างไหม

             ผมตอบว่า   “นโยบาย” ขออัตราพนักงานราชการตำแหน่งครู กศน.ตำบล ตำบลละ 1 คน  แต่ตอนสอบเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครู กศน.ตำบลครั้งแรก ในภาคเหนือภาคอิสานและ กทม.มีผู้สอบได้เกินจำนวนตำบลละ 1 คน  ส่วนภาคกลางภาคตะวันออกภาคใต้ มีผู้สอบไม่ครบทุกตำบล   จะเกลี่ยคนไปไกล ๆ ให้เป็นตำบลละ 1 คน ก็ไม่ได้ จะเกิดความเดือดร้อน   จึงมีนโยบายคอยให้ตำบลที่มีครู กศน.ตำบลเกิน 1 คน ลาออก ชรา ตาย เลิกจ้าง  จึงจะไม่ให้บรรจุคนใหม่ แต่นำอัตราว่างที่เกินนั้น ไปให้จังหวัดที่มีไม่ครบทุกตำบล  ( เป็นการเกลี่ยอัตราว่างแทนการเกลี่ยคน เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อน  และจะไม่มีการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลครับ  จะเลิกจ้างต่อเมื่อคะแนนประเมิน 2 ครั้งต่ำกว่าดี หรือผิดวินัย หรือชรา หรือคอยจนกว่าจะตาย ลาออก   ซึ่งไม่รู้ว่าอีกกี่สิบปีจึงจะมีครู กศน.ตำบลครบทุกตำบลทั่วประเทศ  บางจังหวัดก็ไม่ค่อยยอมเกลี่ยอัตราว่างให้จังหวัดอื่น )

 

         7. วันเดียวกัน ( 24 ต.ค. ) คุณ “ครูผู้ช่วย” ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  หลักสูตรระยะสั้น กับ วิชาชีพระยะสั้น เหมือนหรือแตกต่างกัน
             ผมตอบว่า   การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่สถานศึกษาสังกัด กศน. จัด  แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ รวม 3 ประเภท คือ
             1)  การศึกษานอกระบบ
                  1.1  การศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สายสามัญ )
                  1.2  การศึกษาต่อเนื่อง หรือ
หลักสูตรระยะสั้น  ( เดิม กลุ่มแผนงาน และสำนักงบประมาณ ใช้คำว่า "การศึกษาต่อเนื่อง" ส่วนกลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการใช้คำว่า “หลักสูตรระยะสั้น”  แต่ปัจจุบันกลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการก็เปลี่ยนไปใช้คำว่าการศึกษาต่อเนื่อง ให้เหมือนกันหมดแล้วนะ )   ประกอบด้วย
                        1.2.1  อาชีพ เช่น
วิชาชีพระยะสั้น
                        1.2.2  ทักษะชีวิต
                        1.2.3  การพัฒนาสังคมและชุมชน
                        1.2.4  การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

             2)  การศึกษาตามอัธยาศัย

             สรุปว่า วิชาชีพระยะสั้น ( 1.2.1 )  เป็นเพียงประเภทหนึ่งของหลักสูตรระยะสั้น (1.2 )   แต่ปัจจุบัน ให้ใช้คำว่าการศึกษาต่อเนื่อง แทนคำว่า หลักสูตรระยะสั้น แล้ว

 

         8. วันเดียวกัน ( 24 ต.ค. )  คุณ “เด็กดอย เด็กดี” ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  เรียนปริญญาโท (เสาร์ - อาทิตย์) จะต้องทำหนังสือแจ้งไปทางหน่วยงานต้นสังกัด ตามลำดับอย่างไรบ้าง

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นข้าราชการครู ให้ดูในระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปศึกษาฝึกอบรมดูงานหรือปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนา พ.ศ.2552  ที่ https://dl.dropbox.com/u/109014048/lasstudy.pdf  ข้อ 21 (2)  ซึ่งระบุว่า
             "ผู้ที่ไม่ต้องใช้เวลาราชการไปศึกษาต่อ ให้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นทราบก่อน จึงจะไปศึกษาต่อได้"  ( ถ้าอยู่ กศน.อ. ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นก็คือ ผอ.กศน.อ. )   ไม่ต้องแจ้ง กจ.

 

         9. วันเดียวกัน ( 24 ต.ค. )  อ.รานี ครู คศ.2 กศน.อ.บางปะหัน  โทร.มาถามผม ว่า  นักศึกษาลาออกจาก กศน.อ.นครหลวง เกิน 5 ปีแล้ว ในใบ รบ.ระบุว่า “ศึกษาต่อที่อื่น” แต่เพิ่งจะไปขอศึกษาต่อที่ กศน.อ.บางปะหัน  จะต่อได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ถ้ายังอยู่ที่เดิม เรียนไม่จบใน 5 ปี วิชาที่ได้ผลการเรียนเกิน 5 ปีแล้วต้องเรียนใหม่   แต่กรณีนี้จะเป็นการมาเทียบโอนเข้าเรียนหลักสูตรใหม่ โดยเขาขอใบ รบ. ออกมาแล้ว จะหยุดนับอายุวิชาตั้งแต่ออกใบ รบ. ( อาจจะฟังดูขัด ๆ นะ )   เมื่อมาเทียบโอนเข้าเรียนหลักสูตรใหม่ ก็สามารถเทียบโอนได้ตามหลักการเทียบโอน   ซึ่งตามหนังสือ “แนวทางการเทียบโอนผลการเรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” หน้า 5 ข้อ 5  กำหนดว่า  การเทียบโอนจาก กศ.ขั้นพื้นฐาน ไม่กำหนดอายุของผลการเรียนที่นำมาเทียบโอน  ถ้าเป็นการเทียบโอนจากการศึกษาต่อเนื่อง จึงให้สถานศึกษาพิจารณาว่าจะกำหนดอายุของผลการเรียนรู้ที่นำมาเทียบโอนไม่ให้เกินกี่ปีหรือไม่

 

        10. วันเดียวกัน ( 24 ต.ค. ) คุณ “โตโต้ คนติดดิน” ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  เรียนจบ ป.โทแล้ว ถ้าได้เป็นครู ศรช. หรือ ครู กศน.ตำบล สามารถปรับฐานเงินเดือนได้ไหม

             ผมตอบว่า   ไม่ได้   ครู ศรช. และพนักงานราชการ ไม่มีระเบียบให้ปรับเงินเดือนตามวุฒิ ต้องใช้วิธีสอบใหม่ลงตำแหน่งที่รับวุฒิ ป.โท และให้เงินเดือนตามวุฒิ ป.โท

 

        11. วันที่ 25 ต.ค.55 ผมจัดทำประกาศรับสมัครและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเทียบระดับการศึกษาครั้งที่ 4/2555 โดยจะรับสมัครระหว่าง 1-28 พ.ย.55  เพราะคิดว่าน่าจะรับสมัครไม่ให้ตรงกับ กศ.ขั้นพื้นฐานที่รับสมัครในเดือน ต.ค. เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

 

        12. วันที่ 26 ต.ค.55  ผมถามกลุ่มแผนงาน กศน. ว่า  จะดูตรงไหนว่า ปี งปม.56 นี้ ให้จ่ายเงินเดือน ( ค่าตอบแทน ) ครูสอนคนพิการ ครูสอนเด็กเร่ร่อน เท่าไร   กลุ่มแผนงานฯบอกว่า เงินอุดหนุนเพิ่งมาถึงสำนักงาน กศน.วันที่ 25 ต.ค.55 และ ศกพ.เพิ่งนำข้อมูลครูสอนคนพิการมาให้กลุ่มแผนงานในวันที่ 26 ต.ค.55   ขณะนี้กลุ่มแผนงานกำลังจัดสรรอยู่ จะเสร็จประมาณสิ้นเดือน ต.ค.55 นี้

 

        13. วันเดียวกัน ( 26 ต.ค. ) “เว็บครู กศน.ดอทคอม เพื่อพี่น้องชาว กศน.” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค  2 คำถาม  คือ

             13.1  มีนักศึกษาโพสผ่านเว็บไซต์ครู กศน.ดอทคอม ว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2544 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนครบหลักสูตรในภาคเรียนสุดท้ายที่หลักสูตรจะถูกโมฆะพอดี สอบเสร็จ ปรากฏว่าสอบผ่าน กิจกรรม กพช. ครบ 100 ชั่วโมงพอดี แต่ส่งหลักฐานล่าช้า เจ้าหน้าที่ทะเบียนไม่ได้ส่งรายชื่อขึ้นสำนักเรื่องการจบ   มาติดต่อขอวุฒิ เจ้าหน้าที่บอกว่าออกให้ไม่ได้  จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร
                    ผมตอบว่า   งง ครับ นักศึกษาที่จบในภาคเรียนสุดท้ายก่อนเลิกให้เรียนหลักสูตรเก่านี้ มีคนนี้คนเดียวหรือ  ถ้ามีหลายคนแล้วคนอื่น ๆ มีปัญหาไหม   ที่ว่า "ส่งหลักฐานล่าช้า" ใครส่งหลักฐานอะไรล่าช้า  นักศึกษาส่งล่าช้า หรือว่าอำเภอส่งล่าช้า
                    หรือว่า ทำ กพช.ครบหลังสอบปลายภาค
                    1)  ถ้านักศึกษาส่งหลักฐานขอจบช้า แล้วบาง กศน.อำเภอ บอกว่ายังไม่ส่งหลักฐานขอจบก็ยังไม่ให้จบ  อย่างนี้ไม่ถูกต้อง  เป็นความไม่เข้าใจของ กศน.อำเภอ  เพราะการ "ขอจบ" ไม่ใช่เงื่อนไขการจบหลักสูตร เงื่อนไขการจบหลักสูตร 44 มีเพียง 4 ข้อ ( 1.เรียนผ่านหมวดวิชาครบหน่วยกิตตามโครงสร้างหลักสูตร  2.ผ่าน กพช.ตามเกณฑ์  3.ผ่านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามเกณฑ์  4.ผ่านการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียนตามเกณฑ์ )  ถ้าครบเงื่อนไข 4 ข้อนี้ นักศึกษาจะมาส่งหลักฐานขอจบหรือไม่ ก็ถือว่าจบแล้ว
                    2)  ถ้าทำ กพช.ครบหลังสอบปลายภาคแต่ยังอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน ยังไม่เปิดภาคเรียนถัดไป ก็ยังถือว่าจบในภาคเรียนสุดท้ายนั้น  แต่ถ้าเปิดภาคเรียนใหม่ 1/55 แล้วยังทำ กพช.ไม่ครบ จึงจะถือว่าไม่จบ   ต้องเทียบโอนเข้าสู่หลักสูตร 2551

                    3)  ถ้าเป็นเรื่องที่ จนท.ทะเบียนไม่ได้ส่งรายชื่อรายงานผู้จบหลักสูตร จะให้นักศึกษารับผิดชอบได้อย่างไร  ถ้านักศึกษาครบเงื่อนไข 4 ข้อ ก็ต้องให้เขาจบ  มิฉะนั้น นศ.ฟ้องร้องได้

                    4)  เรื่องการรายงาน GPAX ของผู้จบไปตามลำดับถึงกลุ่มแผนงานฯนั้น เป็นเรื่องของ ม.ปลาย ไม่เกี่ยวกับ ม.ต้น  แต่ถึงจะเป็น ม.ปลาย ถ้าจบหลังรายงานไปแล้ว ก็นำไปรายงานในภาคเรียนต่อไปได้

                    5)  ถึงจะจบไม่พร้อมรุ่น ก็รายงานผู้จบหลักสูตรไปจังหวัดได้  รายงานช้าเป็นปีก็ยังดีกว่าไม่รายงาน  ( ทำรายงานผู้จบหลักสูตรโดยไม่ต้องรอให้ นศ.มาขอจบ )
                         ถึงจะเป็นหลักสูตรเก่า ถ้าเขาครบเงื่อนไข 4 ข้อ จบหลักสูตรแล้ว  แม้อีกสิบปีข้างหน้าเขามาขอใบวุฒิ ก็ต้องออกให้เขา

                    ( อยากให้บอกข้อมูลทั้งหมด ถ้าบอกไม่หมดจะตอบผิดพลาด )


             13.2  ป.โทบริหารการศึกษา สามารถขอใบประกอบวิชาชีพครูได้หรือเปล่า หรือว่าเอามาเทียบมาตราฐานได้หรือเปล่า
                    ผมตอบว่า   จบ ป.โทเอกบริหารการศึกษา ขอใบประกอบวิชาชีพครูไม่ได้  แต่เทียบโอนได้เป็นบางมาตรฐาน ( ถ้าผ่านครบ 9 มาตรฐานจึงจะขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ )  จะเทียบโอนได้กี่มาตรฐานนั้น แต่ละหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย ถึงจะเป็นเอกเดียวกัน ก็อาจเทียบโอนได้ไม่เท่ากัน  ต้องให้คุรุสภาพิจารณา  แต่ยังไงๆก็ไม่ครบ 9 มาตรฐาน  มาตรฐานที่เทียบโอนไม่ได้ก็ต้องสอบเพิ่ม
                    ปัจจุบันมีโครงการที่จะให้มีหลักสูตร ป.โท ที่มีเนื้อหาคลุม 9 มาตรฐานด้วย เรียนจบแล้วได้ ป.โทด้วย ขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ด้วย  แต่โครงการนี้ยังผ่านบอร์ดคุรุสภากับ รมว.ศธ.ไม่เรียบร้อย ( บอร์ดคุรุสภาชุดเก่า กับ รมว.สุชาติ ไม่ถูกกัน หลักสูตรนี้จึงยังไม่เรียบร้อย ต้องคอยก่อน )

 

        14. คืนวันเสาร์ที่ 27 ต.ค.55 ผมตอบคำถามต่าง ๆ ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ  ดังนี้
            
14.1  คุณ “Mesayanan PT” ถามว่า วิชาที่เรียนได้ทั้ง 3 ระดับ ( รหัส 0 ) ถ้าเรียนในระดับ ม.ต้นแล้ว จะเรียนในระดับ ม.ปลาย อีกได้หรือไม่  ( บางคนตอบว่า ได้ )
                    ผมตอบว่า   ไม่ได้  วิชาที่รหัสเดียวกัน เนื้อหาก็เหมือนกันเป๊ะ เป็นวิชาเดียวกัน  ( ต่างจากวิชาที่ ชื่อวิชาเหมือนหรือคล้ายกัน แต่คนละรหัส จึงจะมีเนื้อหาต่างกันบ้างตามระดับชั้น )  ไม่ให้นักศึกษาคนเดียวกันเรียนซ้ำวิชาเดิม   แต่ประเด็นนี้ก็มีปัญหา ผมเคยเขียนไว้ในข้อ 1 ที่  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485792 


             14.2  คุณ Gig Dsr ถามว่า  การลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาภาคเรียนที่ 2/2555 ระดับ ม.ต้น ตามหนังสือลับเฉพาะ ที่ ศธ 0210.03/1391 เรื่องปรับแก้ไขคู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 สามารถลงเรียนได้ 17 หน่วยกิตต่อภาคเรียน แต่ในภาคเรียนนี้มีนักศึกษาบางท่านที่เหลือหน่วยกิตเพียง 20 หน่วยกิตจะสำเร็จการศึกษา..โดยแต่เดิมหากเป็นภาคเรียนสุดท้ายของนักศึกษาสามารถลงทะเบียนได้เกินกว่ากำหนด 3หน่วยกิต  ยังสามารถดำเนินการได้หรือไม่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของนักศึกษา   ( ฝ่ายทะเบียนบอกว่าลงเกิน 17 หน่วยกิตไม่ได้ )

                    ผมตอบว่า  หนังสือราชการประเทศไทย ไม่มีหนังสือ “ลับเฉพาะ” นะ  หนังสือที่ ศธ 0210.03/1391 มีเนื้อหาดังนี้

                    ถ้าเป็นนักศึกษาที่เทียบโอนผลการเรียนหรือเคยสอบไม่ผ่าน ได้เกรด 0   ภาคเรียนสุดท้ายก็ยังสามารถเรียนมากกว่าที่กำหนดได้อีก 3 หน่วยกิต เป็น 20 หน่วยกิต ( ม.ต้น )  เพื่อให้จบพร้อมเพื่อนรุ่นเดียวกันได้  ตามข้อ 2. ในหนังสือสำนักงาน กศน. ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.03/3805 ลงวันที่ 26 ต.ค.53  ( ดูหนังสือนี้ได้ในข้อ 2.2 ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/407914 )   หนังสือฉบับนี้ยังมีผลใช้อยู่ เพราะ
                    1)  ในข้อ 2. ของหนังสือฉบับนี้ ไม่ได้ระบุว่าใช้เฉพาะภาคใดภาคเดียว  ฉะนั้น ถ้ายังไม่มีหนังสือระเบียบหลักเกณฑ์ฉบับใหม่กว่า ที่กำหนดเป็นอย่างอื่น ก็ยังใช้ได้ต่อไป
                    2)  นโยบาย รมว. ต้องการให้เรียบจบเร็ว ใน 8 เดือน 12 เดือน ด้วยซ้ำ
                    3)  เพื่อความแน่ใจ วันที่ 26 ต.ค.55 ผมถามเรื่องนี้กับกลุ่มพัฒนา กศน.อีกครั้ง  กลุ่มพัฒนาฯโดยคุณกิตติพงษ์ ตอบว่า  เรื่องนี้ยังมีผลใช้อยู่


             14.3  คุณ “จัยหนึ่งก็รัก อีกจัยหนึ่งก็เจ็บ” ถามผมว่า  สอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษที่จะมีเร็วๆนี้ ต้องใช้ประประกอบวิชาชีพครูหรือมีวุฒิครูหรือเปล่า
                    ผมตอบว่า  ปกติต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  แต่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ว่า มีแค่ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนก็สมัครสอบได้ หลังจากนั้นจึงให้ดำเนินการให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูภายใน 2 ปี นั้น  ผมไม่แน่ใจว่ามีผลบังคับใช้หรือยัง


             14.4  คุณ “Enrico Piaggio” โค้ดข้อความคำพูดของท่านประเสริฐ บุญเรือง ( ลงในภาพ แล้วนำมาโพสท์ ) ว่า
                   
“...อย่าให้สีของเข็มขัดมาเป็นเครื่องมือแบ่งชนชั้น เราพนักงานราชการก็ทำงานรับใช้แผ่นดินเหมือนข้าราชการ ฉะนั้น เราก็มีสิทธิ์จะใช้เข็มขัดสีเดียวกับข้าราชการ...”
                   มีคนโพสท์ชื่นชมเห็นด้วยกับท่านเลาขาฯ กันตรึมเลย

                    ส่วนผมโพสท์ความเห็นส่วนตัว ว่า
                   ความแตกต่างเป็นเพียงเอกลักษณ์ ไม่ได้แปลว่าชนชั้นต่างกัน  เช่น อินทรธนูของกำหนันผู้ใหญ่บ้านต่างจากอินทรธนูของข้าราชการ ไม่ได้แปลว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านไม่ทำงานรับใช้แผ่นดิน  เครื่องแบบข้าราชการกรมราชทัณฑ์ก็เข็มขัดสีดำ ไม่ได้แปลว่าข้าราชการกรมราชทัณฑ์ไม่ทำงานรับใช้แผ่นดิน  เครื่องแบบลูกจ้างประจำก็เข็มขัดสีดำ ไม่ได้แปลว่าลูกจ้างประจำไม่ทำงานรับใช้แผ่นดิน ( ลูกจ้างประจำหลายคนก็ใช้สีกากีเพราะไม่ชอบสีดำบ้าง ไม่รู้บ้าง   ผมว่า สีดำเข้มข้นดูแมนเท่กว่าซะอีก )  เครื่องแบบข้าราชการตำรวจบางแบบก็เข็มขัดสีดำ ไม่ได้แปลว่าตำรวจกลุ่มนั้นไม่ทำงานรับใช้แผ่นดิน  เครื่องแบบพนักงานราชการกรมการปกครองเสื้อสีขาวไม่มีขีด ไม่ได้แปลว่าพนักงานราชการกรมการปกครองไม่ทำงานรับใช้แผ่นดิน
                   ผมจะยินดี ถ้าท่านปลัดกระทรวง ศธ. ผู้มีอำนาจ ลงนามเปลี่ยนระเบียบเครื่องแบบพนักงานราชการตามที่เราต้องการ ( ผมไม่มีความคิดต่อต้านใด ๆ เลย เพียงแต่ผมเป็นคนชอบทำตามระเบียบกฎหมาย )  ถ้าเราไม่ให้เกียรติผู้มีอำนาจ ไม่สนใจระเบียบฉบับที่เราไม่ชอบ  แล้วถ้ามีคนไม่สนใจเชื่อถือทำตามที่เรากำหนดบ้างล่ะ...   ( วันที่ 8 ต.ค.55 ท่าน ผอ.กจ.กศน. บอกผมว่า  ระเบียบเครื่องแบบพนักงานราชการที่เราเสนอให้เปลี่ยนขีดเปลี่ยนสีเข็มขัดไปนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงส่งคืนมาให้แก้ไขหลายประเด็น )

 

หมายเลขบันทึก: 506950เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2012 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

การเปลี่ยนแปลง....นำไปสู่การพัฒนา นะคะ

ขอบคุณท่านมากๆๆ นะคะ

ชอบ ติดตาม อ.เอกชัยมานาน ได้รับความรู้ดี ๆ และกระชับฉับไวมาก ๆ ถือเป็นการแบ่งปันความรู้ที่ไม่ต้องไปถึงอยุธยาเลย ขอบคุณค่ะ

มาเยี่ยมชมผลงานเสมือนเป็นศึกษานิเทศก์ด้วยอีกหน้าที่หนึ่งของ อ.เอกชัย และให้กำลังใจครับ

  • ขอบคุณข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์่ค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์เอกชัย ที่ให้ข้อมูลข่าวสาร กฎ ระเบียบ ของทางราชการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสามารถนำความรู้ไปประพฤติปฏิบัติได้เป็นอย่างดี คะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Blank Blank Ico48 Ico48

 

ทางกระทรวงศึกษาตอนนี้ ได้ออกแบบ อินทรธนู(เครื่องแบบสีกากี) ของพนักงานราชการ หรือยังครับ

กำลังจะเสนอท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ใช้อินทรธนูของข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ แต่นำตราเสมามาติดทับบนอินทรธนูเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่าง แต่ไม่รู้ว่าท่านปลัดกระทรวง ศธ. จะอนุมัติหรือไม่นะ ( ระเบียบปัจจุบันยังให้ใช้อินทรธนูเหมือนลูกจ้างประจำอยู่ )

จริงๆ คพร น่าจะนำรูปแบบ แนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ นำของข้าราชการ หรือ ลูกจ้างประจำ ตามระดับเงินเดือนมาใช้โดยอนุโลม นะครับ

ก็พนักงานราชการแต่ละตำแหน่งไม่มี ระดับ/อันดับ น่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท