ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 39. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ (4) เล่นบทจำลอง


การร่วมกัน AAR หรือ reflection หลังกิจกรรมเล่นบทจำลอง สำคัญมาก อย่าหวังว่าการเล่นบทจำลองเพียง ๒ - ๓ ครั้งจะให้ผล จะได้ผลต่อเมื่อ นศ. ได้เรียนรู้แบบซาบซึ้งเข้าไปในใจและอารมณ์ของตน เกี่ยวกับหลักการสำคัญของรายวิชา จากการที่ตนได้ทดลองแสดงบทที่ต่างจากความเคยชิน ดังนั้น ในการทำ AAR ครูต้องชักชวนให้ นศ. เชื่อมโยงประเด็นเข้าสู่ชีวิตจริงของตน

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 39. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์  (4) เล่นบทจำลอง

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๘ นี้ ได้จาก Chapter 14  ชื่อ Synthesis and Creative Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 19 : Role Plays   

บทที่ ๑๔ ว่าด้วยเรื่องการสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์   ประกอบด้วย ๗ เทคนิค  คือ SET 16 – 22   จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค    เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกความสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่หรือที่พบโดยไม่คาดฝัน   เกิดสิ่งใหม่ที่กระตุ้นความสนใจ หรือเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน     และ นศ. ได้ฝึกทักษะสังเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการนำเอาสิ่งที่รู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ มาผสมกันเป็นสิ่งใหม่ที่เป็นภาพรวมใหม่

 

SET 19  : เล่นบทจำลอง  

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การแสดง

ระยะเวลา  :  หนึ่งคาบ

โอกาสเรียน online  :  ปานกลาง

 

นศ. ประยุกต์หลักการสำคัญในรายวิชา โดยอาจสมมติตัวละคร  หรือสมมติให้ตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แปลกประหลาด   แล้วแสดงบทเพื่อประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และความเข้าใจ โดยแสดงบทจากมุมมองที่กำหนด   ในสถานการณ์สมมติในจินตนาการ

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูต้องใช้เวลาไตร่ตรองอย่างระมัดระวัง เพื่อสมมติเรื่องราวในการแสดงบทจำลอง    ให้มีปฏิสัมพันธ์จากหลากหลายมุมมองระหว่างตัวแสดง    ครูจึงต้องกำหนดภาพทัศน์ให้ชัด   กำหนดตัวละครและบุคลิกของตัวละครแต่ละตัว   และกำหนดกรอบบทบาทของตัวละครแต่ละตัว
  2. อาจกำหนดให้มี นศ. ทำหน้าที่ช่วยเสริมกระบวนการกลุ่ม เช่น พิธีกร ทำหน้าที่ขัดจังหวะหากตัวละครออกนอกบท, ผู้ชม ทำหน้าที่วิพากษ์การแสดง  เป็นต้น
  3. น่าจะเริ่มการแสดงด้วยเหตุการณ์สำคัญ ที่ตัวแสดงต้องตอบสนอง   เช่น มีตัวแสดงคนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์   หรือเริ่มจากเหตุการณ์จริงที่เพิ่งเกิดขึ้น
  4. กำหนดทรัพยากรที่จะใช้ในการแสดง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลา   ว่าจะใช้เวลานานเท่าไร   จะจบลงอย่างไร หรือจะปล่อยให้เรื่องคลี่คลายหรือจบลงเองอย่างเป็นธรรมชาติ
  5. ให้ นศ. จัดทีม ที่มีจำนวนเพียงพอในการทำหน้าที่ตัวแสดง
  6. ครูนำเสนอเรื่องสมมติ   ให้เวลา นศ. ระดมความคิด และตั้งคำถามต่อครู   จนเข้าใจชัดเจน 
  7. กำหนดตัวแสดงแต่ละบทบาท   หรือให้ นศ. กำหนดกันเอง    หากมี นศ. ทำหน้าที่ช่วยเสริมกระบวนการ ต้องซักซ้อมบทบาทให้เข้าใจชัดเจน
  8. แจ้งกำหนดเวลาเลิกกิจกรรม  หรือแจ้งว่าเมื่อเหตุการณ์ดำเนินถึงจุดใด ก็เลิกกิจกรรมได้   ตามปกติกิจกรรมจะดำเนินไปจนเกิดความเข้าใจบทบาท หรือพฤติกรรม หรือได้ฝึกทักษะที่ต้องการอย่างเพียงพอ 
  9. หลังจบการแสดง ให้มีการระดมความคิดในกลุ่มย่อย หรือในชั้นใหญ่   เพื่อตีความแต่ละบทบาท แรงจูงใจให้แสดงบทบาท และผลจากการทำบทบาทนั้น     

 

ตัวอย่าง

วิชาจิตวิทยาแห่งอคติ

วิชานี้มีเป้าหมายให้ นศ. เข้าใจกระบวนการทางจิตใจที่ซับซ้อนในกลุ่มชนที่เป็นชนส่วนใหญ่  และที่เป็นชนส่วนน้อย   ที่เป็นผลจากการแบ่งแยกชนชั้น ทั้งที่จงใจและที่ไม่จงใจ

เพื่อให้ นศ. เข้าใจความซับซ้อนนี้   ครูเลือกเทคนิค “เล่นบทจำลอง” บ่อยๆ ในชั้นเรียนวิชานี้   โดยจัด นศ. เป็นกลุ่ม ๓ คน   ให้แต่ละคนเล่นบทบาทใดบทบาทหนึ่งใน ๓ บทบาท คือ ผู้พูดที่มีอคติ, ผู้โต้แย้ง, และผู้สังเกตการณ์ทางสังคม  

ตลอดระยะเวลาของรายวิชา ครูสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อสะท้อนอคติต่อ เชื้อชาติ, เพศ, กลุ่มชาติพันธุ์, พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม, และความพิการทางร่างกาย   เช่นเหตุการณ์สมมติหนึ่งเป็นการประชุมทางธุรกิจ   ที่ผู้พูดที่มีอคติเป็นผู้จัดการ พูดถ้อยคำไม่เหมาะสมด้านอคติต่อเชื้อชาติ    ผู้โต้แย้งเป็นลูกน้องที่มีเชื้อชาติที่ถูกเหยียดหยาม ต้องหาวิธีพูดตอบที่เหมาะสม   และผู้สังเกตการณ์ทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกของตนเมื่อประสบเหตุการณ์นั้น

เมื่อจบกิจกรรมเล่นบทจำลอง นศ. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเข้าใจต่อความรู้สึกที่ซับซ้อนนี้   รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น    

 

วิชาทักษะการสื่อสารด้วยวาจาเบื้องต้น

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชา “ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สอง”  เข้าใจดีว่า นศ. ต้องการฝึกพูด   ทั้งเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน   เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ของตน   เพื่อเรียนรู้ไวยากรณ์  และเพื่อฝึกสำเนียงให้ถูกต้อง  

ครูจึงให้ นศ. ฝึกพูดในสถานการณ์จำลอง เลียนสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน    ได้แก่ การสั่งอาหารในภัตตาคาร  การถามเส้นทางไปยังอาคารหอสมุด  ฯลฯ   โดยจัดกลุ่มย่อย ให้ นศ. ได้ฝึก   ซึ่งจะช่วยให้ นศ. ไม่รู้สึกลำบากใจที่จะฝึกพูด   

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคนี้ปรับใช้ online ได้โดยการ chat หรือใช้ VRE (Virtual Reality Environment - ซอฟท์แวร์ช่วยการแสดงบทจำลอง online)   หรือใช้ ซอฟท์แวร์ตัวอื่น ที่ค้นได้โดยคำว่า “role play” + “teaching”

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      ให้ นศ. ร่วมกันกำหนดเหตุการณ์, ระบุตัวละคร, และกำหนดบทบาทของตัวละครแต่ละตัว

·      ให้ นศ. แต่ละกลุ่มซ้อม   แล้วมาแสดงต่อเพื่อนทั้งชั้น   อาจมีการแสดงของหลายกลุ่ม หรือกำหนดให้แสดงกลุ่มเดียวต่อหนึ่งเรื่อง    กำหนดให้ “ผู้ชม” มีหน้าที่เสวนาแลกเปลี่ยนตีความเพื่อการเรียนรู้

·      หลังจากการแสดงแรกจบ   ให้แสดงใหม่ โดยหมุนเวียนผู้แสดง หรือเปลี่ยนเหตุการณ์สมมติ

·      ใช้เทคนิคนี้ร่วมกับเทคนิค “fish bowl”  ดังระบุใน บันทึกนี้

·      อาจกำหนดให้ นศ. บางคนทำหน้าที่ “ตัวป่วน”  หรือทำหน้าที่ “ผู้เล่าเรื่อง”  เพื่อสร้างเหตุการณ์ให้ตัวละครแสดงในทันใด   อ่านรายละเอียดของเทคนิคจากเว็บไซต์ได้ ที่นี่

 

คำแนะนำ

ก่อนการแสดง ต้องใช้เวลาให้ นศ. ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของกิจกรรมให้ถ่องแท้เสียก่อน   เพื่อไม่ให้หลงทาง หรือไม่ได้ประโยชน์

นศ. ต้องทำความเข้าใจบุคลิก ความเชื่อ ของตัวละครที่ตนแสดงอย่างถ่องแท้   อาจต้องให้ นศ. ค้นคว้ามาล่วงหน้า

นศ. บางคนอาจไม่สบายใจที่จะเล่นบทจำลอง    การจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมตอนต้นเทอมอาจช่วยลดปัญหานี้ (ดูตอนที่ ๑๕ ที่นี่)

บอก นศ. ให้ชัดเจนว่าเป้าหมายไม่ใช่การหัดเล่นละคร   แต่เป็นการใช้การเล่นละครเพื่อเรียนรู้ความรู้สึกและอารมณ์ที่ซับซ้อน   คนที่ไม่ชอบกิจกรรมนี้ อาจมอบบท “ผู้สังเกตการณ์” ให้

การร่วมกัน AAR หรือ reflection หลังกิจกรรมเล่นบทจำลอง สำคัญมาก   อย่าหวังว่าการเล่นบทจำลองเพียง ๒ - ๓ ครั้งจะให้ผล   จะได้ผลต่อเมื่อ นศ. ได้เรียนรู้แบบซาบซึ้งเข้าไปในใจและอารมณ์ของตน เกี่ยวกับหลักการสำคัญของรายวิชา จากการที่ตนได้ทดลองแสดงบทที่ต่างจากความเคยชิน   ดังนั้น ในการทำ AAR ครูต้องชักชวนให้ นศ. เชื่อมโยงประเด็นเข้าสู่ชีวิตจริงของตน

การให้คะแนนอาจทำโดยบันทึกวิดีทัศน์ เอามาอภิปรายตีความกัน   หรืออาจให้เขียนเรียงความสังเคราะห์ข้อสังเกตจากการดูวิดีทัศน์ส่งครู

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Barkley EF, Cross KP, Major CH. Collaborative learning techniques : A handbook for college faculty. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 150-155.

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506812เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 05:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 05:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

18  June 2013.  ฟังบรรยายที่เชียงใหม่ .. ประทับใจครับ.. จะลองใช้ในห้องเรียนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท