โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย_01 : ก้าวแรกของการเรียนรู้กับครูอนุบาล


ผมพูดหลายครั้งว่า ผมโชคดีและมีบุญ ที่ได้มาทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา งานที่มีคุณค่าและเป็นคุณาประโยชน์สำหรับลูกหลานในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม อย่างโครงการ LLEN โครงการ PLC ครูสอนดี  และโครงการขับเคลื่อน "หลักพอเพียง" สู่สถานการศึกษา  ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งโรงเรียนระดับ ประถม มัธยม และหากนับรวมงานประจำที่ผมทำอยู่แล้ว คือระดับ มหาวิทยาลัย ก็เหลือเพียงแต่ กลุ่ม "ก่อนวัยไปโรงเรียน" เท่านั้น   ที่ยังไม่ได้บูรณาการกันอย่างเป็นระบบ

โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย จังหวัดมหาสาารคาม ที่ศาสตราจารย์ ดร.ละออศรี เสนาะเมือง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้มอบหมายให้ผมลุยลงมือทำนี้ ได้เข้ามาเติม เสริม ให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสเรียนรู้กับ "ครู" ทุกระดับ

  โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย  เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งที่ท่านเสด็จเยี่ยมสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาก่อนวัยเรียน โดยเฉพาะการปลูกฝังกระบวนการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัย ซึ่งเยอรมันประสบผลสำเร็จอย่างมากจากโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย จึงได้มอบหมายให้คุณหญิงสุมณฑา มาขับเคลื่อน.... ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มมส. ท่านเป็นผู้กว้างขวาง ปัจจุบันทำหน้าที่ประธานคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ของประเทศ การพูดคุยระหว่างท่านทั้งสอง เป็นที่มาของโครงการ บ้านวิทยาศาสตร์น้อย จังหวัดมหาสารคามครับ  

โครงการคร่าวๆ มีดังนี้ครับ 

 

หลักการและเหตุผล

จากการประเมินผลนานาของโครงการ PISA พบว่า ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ของเด็กไทย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่จะร่วมมือขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ งานวิจัยยืนยันว่าเราควรสร้างทัศนคติที่ดีด้านการเรียนรู้ทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) เพราะเป็นช่วงอายุที่มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำมากที่สุด

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาลในประเทศเยอรมันจากโครงการ “Haus der Kleinen Forscher” (หรือบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย)  ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สามารถปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขยายผลไปสู่โรงเรียนอนุบาลจำนวนมากในเวลาอันสั้น  โดยสามารถควบคุมมาตรฐานได้อย่างดี นอกจากนี้โครงการยังมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับพ่อแม่ ผู้ปกครองอีกด้วยนับว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนวิทยาศาสตร์ระดับรากฐานที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

โครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย โดยได้ทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการนี้ คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี เมื่อปีพ.ศ. 2552 คณะกรรมการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย จึงได้ติดต่อกับมูลนิธิ Haus der kleinen Forscher โดยการประสานงานของ Mr. Thomas Tillmann เพื่อขออนุญาตนำกิจกรรมนี้มาทดลองทำในประเทศไทย บัดนี้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความตกลงร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล็งเห็นความสำคัญตามแนวคิดของโครงการดังกล่าว จึงได้สมัครเข้าเป็นผู้เครือข่ายท้องถิ่น เพื่อดำเนินโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และได้ดำเนินการส่งอาจารย์ในสังกัดที่สนใจจำนวน 2 ท่าน เข้าร่วมฝึกอบรมเป็นนักวิจัยพี่เลี้ยง และได้ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นวิทยากรเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม “โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นโครงการจิตอาสา ที่ผู้สมัครเป็นผู้นำเครือข่ายจากทุกมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ช่วยให้โรงเรียนในเขตพื้นที่ซึ่งสมัครเป็นสมาชิกเครือข่าย เตรียมพร้อมรับการประเมินจากคณะกรรมการจากโครงการดังกล่าว โดยโรงเรียนที่ผ่านการประเมินจะได้เข้ารับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เพื่อพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ในระดับอนุบาลจังหวัดมหาสารคาม
  • เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในสถานอนุบาลเป้าหมายให้เป็นแหล่งบ่มเพาะและพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย
  • เพื่อปลูกฝังกระบวนการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

วิธีการดำเนินงานคร่าวๆ คือ ทางส่วนกลาง (โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย) จะฝึกอบรมวิทยากร ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 2 ท่าน จากนั้น ให้แต่ละมหาวิทยาลัยมาจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยแต่ละโรงเรียนเป้าหมายจะต้อง ซื้อ "กล่อง" บ้านวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งจะประกอบด้วยเครื่องมือทดลองต่างๆ  และคู่มือในการเก็บรวบรวมหลักฐานการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อที่จะนำส่งเพื่อขอป้าย "โรงเรียนบ้านวิทยาศาสตร์น้อย" ต่อไป 

จุดเด่นของโครงการนี้คือ เป็นโครงการส่งเสริมจิตอาสา พัฒนาจิตใจของผู้ลงมือปฏิบัติอย่างยิ่ง 

 

หมายเลขบันทึก: 506810เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 02:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ครูอนุบาล....ได้ฟังเพลงดอกผักบุ้ง นึกครูอนุบาล ชอลมาเพลงนี้ "ดอกผักบุ้งสาวชาวทุ่งครูอนุบาล เสียดาก็อปเนื้อเพลงแล้วมันไม่มา(นักร้องใต้ ร้องเพลงนี้ได้แรงอก)

โครงการนี้น่าสนใจ มาก ครับ และอยากมีส่วนร่วมในโครงการนี้หากมีโอกาสที่เหมาะสม ขอขอบคุณครับ

ดีมาก พันเทพ มีโอกาสเมื่อใด จะขอความช่วยเหลือไปทันที .... อาจารย์ถือว่า มีจิตอาสาแล้ว.... You 're in now.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท