ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 32. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (12) โต้วาที


เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้มีโลกทัศน์กว้างขวาง มีความเข้าใจความรู้ที่ซับซ้อน ไม่ชัดเจน และไม่แน่นอน

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 32. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (12) โต้วาที

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 12 : Split-room Debate   

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 12  โต้วาที

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :    การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้มีโลกทัศน์กว้างขวาง    มีความเข้าใจความรู้ที่ซับซ้อน ไม่ชัดเจน และไม่แน่นอน 

หลังฟังการบรรยาย หรืออ่านกรณีศึกษา    จัด ๒ ฝั่งของห้องเรียน เป็นฝั่งฝ่าย ก   กับฝั่งฝ่าย ข   ให้ นศ. เลือกเองว่าตนจะอยู่ฝ่ายใด   เพื่อโต้วาทีกัน   โดยมีกติกาว่าผลัดกันพูดฝ่ายละคน   เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดจบเวลา ก็ชี้ตัวบุคคลของฝ่ายตรงกันข้ามให้เป็นผู้พูด   และมีกติกาให้ย้ายข้างได้โดยสมัครใจ เมื่อได้รับข้อมูลความรู้มากขึ้น จนเปลี่ยนใจ   รวมทั้งอนุญาตให้เดินไปพูดคุยกับเพื่อนได้ทั้งห้อง  

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้    และมีประเด็นโต้แย้งได้เป็น ๒ ค่าย   เหมาะต่อการนำมาเป็นประเด็นโต้วาที   ตั้งชื่อสั้นๆ ให้ดึงดูดความสนใจ   และมีประเด็นโต้แย้งชัดเจน  แต่ก็มีความกว้างยืดหยุ่นเพียงพอที่จะโต้วาทีกันได้สนุก  
  2. เตรียมให้ นศ. มีพื้นความรู้เรื่องนั้นเพียงพอ    โดยการบรรยาย หรือมีเอกสารให้อ่าน  หรือมอบหมายให้ นศ. ค้นคว้ามาก่อน
  3. กำหนดกติกา  เช่น นศ. สามารถนำเสนอประเด็นได้เพียงคราวละประเด็นเดียว    หรือกำหนดเวลาให้นำเสนอได้เพียงคนละ ๓ นาที   เป็นต้น   และเลือก นศ. เป็น “ผู้ช่วยกรรมการ” เช่น ทำหน้าที่จับเวลา
  4. อธิบายกติกา พร้อมตอบข้อซักถาม   กำหนดพื้นที่ของฝ่ายเสนอ   พื้นที่ของฝ่ายค้าน  
  5. ให้เวลา นศ. คิดสักครู่ แล้วให้แต่ละคนเลือกเดินเข้าสู่พื้นที่ฝ่ายที่ตนเห็นว่ามีน้ำหนักมากกว่า  
  6. ให้ฝ่ายเสนอพูดก่อน    จบลงด้วยการชี้ฝ่ายตรงข้าม ๑ คนเป็นผู้พูด  
  7. ทำสลับฝ่ายเช่นนี้จนหมดประเด็นที่จะเสนอหรือโต้แย้ง    ครูประกาศยุติการโต้วาที    ให้ นศ. กลับไปนั่งตามปกติ   และอภิปรายเพื่อสรุปประเด็นสำคัญ   รวมทั้งทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยนความคิด

 

ตัวอย่าง

วิชาภาวะผู้นำทางการศึกษา

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ ได้ทำความเข้าใจเชิงลึกในหลายหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา    เพื่อให้ได้ลับ/ฝึก ความคิดเห็นของตนให้ชัดเจน หรือคมชัด   เพื่อเตรียมเข้าสู่หน้าที่ผู้บริหารโรงเรียน   โดยใช้การเรียนรู้ผ่านการโต้วาที    โดยเตรียมโจทย์จำนวนหนึ่ง เช่น  “โรงเรียนของรัฐควรสอนลัทธิพระเจ้าสร้างโลก คู่ขนานไปกับการสอนวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาศาสตร์”  “ควรใช้ระบบใบสำคัญจ่าย (voucher) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือก และให้เกิดการแข่งขันระหว่างโรงเรียน”    และหลังการโต้วาที ครูให้ นศ. เขียนเรียงความเพื่อสรุปประเด็นจากมุมมองทั้งสองด้าน และสรุปมุมมองของตนเอง

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ทำคล้ายโต้วาทีแบบพบหน้า   ครูเขียนคำอธิบายเหตุผลเป้าหมายของการโต้วาที   กำหนดหัวข้อโต้วาที   และบอกข้อกำหนดต่างๆ   สร้างเวทีโต้วาที online พร้อมกับบอกประเด็นการโต้วาที    แล้วให้ นศ. แต่ละคนบอกเหตุผลด้านเห็นด้วย   เสร็จแล้วให้ บอกเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย   แล้วให้ นศ. แต่ละคนเปลี่ยนข้าง    จบแล้วให้ นศ. แต่ละคนเขียนข้อสรุปและสังเคราะห์ พร้อมเพิ่มข้อคิดเห็นส่วนตัว     

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      แทนที่จะเป็นการโต้วาทีทั้งชั้น   อาจปรับเป็นจัดทีม   หรือจัดเป็นคู่ ให้โต้กัน

·      อาจหาหัวเรื่องที่มีประเด็นโต้แย้งกัน ๓ ทางเลือก   จัดโต้วาที ๓ ฝ่าย

·      อาจกำหนดให้ นศ. ค้นคว้ามาล่วงหน้า    เพื่อให้ได้ข้อมูลหลักฐานแน่นแฟ้นขึ้น

·      หลังการโต้วาทีให้ นศ. เขียนเรียงความ ว่าตนชัดเจนขึ้นในประเด็นใดบ้าง   แปลกใจเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร   เปลี่ยนใจเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร   ได้รับความรู้ใหม่อะไรบ้าง

 

คำแนะนำ

เทคนิคนี้จะได้ประโยชน์จริงจัง เมื่อนศ. มีพื้นความรู้หรือข้อมูลเรื่องนั้นมากเพียงพอ    จึงควรจัดให้ นศ. เตรียมหาความรู้มาก่อน   พึงป้องกันสภาพที่ นศ. โต้กันด้วยวาทะที่ไร้ความเข้าใจแท้จริง หรืออย่างขาดข้อมูล   คือต้องไม่ใช่โต้วาทีเอามันด้วยวาทะเชือดเฉือนหรือสนุกโปกฮา  

ครูพึงเลือกเรื่องสำหรับใช้เครื่องมือนี้ ที่มีมุมมองได้ ๒ ขั้นจริงๆ    และไม่ใช่ขั้วถูก-ผิด  

ในกรณีที่ นศ. ย้ายมาอยู่ฟากหนึ่งจนอีกฝ่ายหนึ่งเหลือเพียง ๒ - ๓ คน ครูควรยุติการโต้   และชมเชยฝ่ายข้างน้อยในความกล้าหาญยืนหยัดแม้จะมีแรงกดดัน 

การจัดการโต้วาทีที่ได้ผลดี  จะช่วยให้ นศ. ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบวิเคราะห์ที่พุ่งเป้า  ลึก  และมีมุมมองที่หลากหลาย    นศ. ควรได้ฝึกให้ความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของตนเอง    เพื่อฝึกวิธีคิดที่หลุดพ้นจากทัศนคติแบบขั้วตรงกันข้าม หรือขาว-ดำ    ซึ่งจะช่วยเพิ่มความอกทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง

ตามปกติ นศ. จะสบายใจที่จะโต้วาทีอยู่ข้างที่ “เป็นพระเอก” ไม่สบายใจที่จะอยู่ฝ่าย “ผู้ร้าย”   ครูต้องสร้างบรรยากาศที่หนุนให้ นศ. สบายใจที่จะอยู่ฝ่ายไหนก็ได้   โดยเข้าใจว่า นี่คือกระบวนการเรียนรู้วิธีคิดเชิงวิเคราะห์

หากประเด็นโต้วาทีเป็นเรื่องใกล้ตัว นศ.  หรือตรงกับยุคสมัย   นศ. ก็จะสนใจมาก

หลังจบการโต้วาทีไปแล้ว    ครูอาจมอบหมายกิจกรรมต่อเนื่อง    เช่นให้เขียนบทวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว ยาว ๑ - ๒ หน้า    โดยอาจให้สมมติตัวเองเป็นนักวิเคราะห์นโยบาย ให้แก่ผู้ยกร่างกฎหมาย   หรือเป็นที่ปรึกษาของ ซีอีโอ บริษัท   

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Frederick PJ. (2002). Engaging students actively in large lecture settings. In Stanley CA (Ed.), Engaging large classes  : Strategies and twchniques for college faculty. Bolton, MA : Anker, pp 62-63.  

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ต.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506146เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 05:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 05:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท