ชื่นชมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ : กรมส่งเสริมการเกษตร


         ขอเอารายงานที่คุณอ้อเขียนส่งคณะผู้ประเมิน สคส. มาลงต่อเป็นองค์กรที่ ๒ นะครับ 

1. ผลงานด้าน KM โดยสรุปขององค์กรนี้
          - ปี  2548  คณะทำงานกรมฯ ได้ผลักดัน KM เข้าสู่จังหวัดนำร่อง จำนวน 9 จังหวัด  โดยตั้งเป้าหมายใหญ่ในการทำ  KM เพื่อพัฒนาบุคลากร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของกรม   เพื่อทำงานส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน

           - ปี  2549   คณะทำงาน KM กรมส่งเสริมการเกษตร   สามารถผลักดันการใช้ KM เข้าไปสู่นโยบายสำคัญ คือ “การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน”  ของกรมได้สำเร็จ

 - ปี 2549  จากความสำเร็จในการทำ KM ในปี 2548     กรมจึงขยายการทำ KM  เพิ่มขึ้นอีก 9 จังหวัดในปีที่สอง  โดยใช้วิธีให้จังหวัดนำร่องเดิมเป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดใหม่ที่ขยายไป  รวมเป็น 18  จังหวัด   เน้นการใช้ KM เพื่อ “การผลิตพืชปลอดภัยและได้มาตรฐาน”

          - ตัวอย่างเรื่อง/ ผลงาน ที่นำ KM ไปทำ   เช่น การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (เกษตร จ. นครนายก),  การปรับปรุงคุณภาพส้มโอ (เกษตรปราจีนบุรี), การผลิตข้าวหอมมะลิ (อุบลราชธานี), การผลิตมะม่วงปลอดสารส่งออก (อ่างทอง, พิษณุโลก), การป้องกันและกำจัดหนอนชอนเปลือกลองกองโดยวิธีผสมผสาน (ตรัง), ขี้แดดนาเกลือ (สมุทรสงคราม),ข้าวปลอดภัย (แพร่), ส้มปลอดสาร (น่าน, มุกดาหาร), การผลิตลองกอง (สตูล), การปลูกแตงโม (นครพนม), เทคโนโลยีผลิตหอมแดงปลอดสารพิษ (ศรีษะเกษ), สูตรน้ำหมักชีวภาพและ น้ำส้มควันไม้ (อยุธยา), การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง (นครปฐม), กระบวนการวิจัยแบบ PAR (กำแพงเพชร), ข้าวสังข์หยด (พัทลุง)   ฯลฯ 

          - การทำ KM ของกรมส่งเสริมการเกษตร  เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และพัฒนาอย่างเข้มข้นใน 2 มิติ   คือ 1. มิติของบุคลากรกรม   เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จ และเทคนิคการทำงานระหว่างกัน    สร้างความนับถือคุณค่าความรู้ในตัวตนที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์การทำงาน  ร่วมกันต่อยอดสร้างความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทไทย และเป็นการพัฒนาตัวเองทั้งทางด้านความรู้และจิตใจ   2. มิติของเกษตรกร   ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของงานกรมส่งเสริมการเกษตร    การเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อที่ว่าเกษตรกร คือผู้ไม่มีความรู้  และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้สอน ผู้ที่ต้องให้ความรู้อย่างเดียว  เปลี่ยนเป็น เชื่อว่าเกษตรกรเป็นผู้มีทุนความรู้ (จากการปฏิบัติ)       เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร  จึงเล่นบทบาทเป็น “คุณอำนวย” การจัดการความรู้    ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้กลุ่มเกษตรกร   ทำให้เกษตรกรได้ร่วมกันพัฒนาความรู้ที่เหมาะกับบริบทไว้ใช้งาน  พัฒนาตัวเองให้สามารถพึ่งตนเองและประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน  
 
           - จากประสบการณ์และความสำเร็จในการทำ KM ของทีม KM  กรมส่งเสริมการเกษตร  และจังหวัดนำร่อง   ทำให้บุคลากรของกรมหลายคนที่ทำ KM  ได้พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นวิทยากร และพื้นที่ดูงานเกษตร KM   เผยแพร่เครื่องมือ  KM ต่อไปยังจังหวัด และหน่วยงานอื่นๆ นอกกรม นอกกระทรวงเกษตร   สร้างตัวคูณ และขยายผลออกไปอีกในสังคม   
2. งาน KM ส่วนที่ สคส. เข้าไปสนับสนุน
            - สคส. ไม่ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการทำ KM ของกรมเลย     กรมใช้งบประมาณของกรมทั้งหมด
            -  สคส. เป็นที่ปรึกษาแนวทาง และ เป็นวิทยากรจัด Workshop การจัดการความรู้  ให้เพียง 2 ครั้ง ในช่วงเริ่มต้น ปี 2548  เท่านั้น      สคส. ถือว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเพื่อนภาคีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ สคส. และช่วยขยาย “การจัดการความรู้” สู่สังคมไทย    โดย กรมฯ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมงานกับ สคส. อย่างต่อเนื่อง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น ทางโทรศัพท์, การเยี่ยมเยียนปรึกษา, การเขียน Blog, เวทีประชุมภาคีการจัดการความรู้ ภาคราชการ, มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ และงานประชุม เสวนา ตลาดนัดความรู้ต่างๆ ของกรม และสคส.    

3. งาน KM ขององค์กรนี้ ขณะนี้ดำเนินงานอยู่ในระดับใด 
             -  การจัดการความรู้ ของกรมส่งเสริมการเกษตร  ค่อยๆ ขยายตัวต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ    ทั้ง 18 จังหวัดนำร่อง  และบุคลากรภายในกรม (กองและสำนักต่างๆ)   ซึ่งในปีหน้า พ.ศ. 2550   กรมมีแผนการผลักดันทำ KM ทั้ง 76 จังหวัด  รวมทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดี (Best Practice) เผยแพร่ไปยังหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

4. ทำให้เกิด  Health Impact  และ well-being Impact  อย่างไร
             - การนำ KM ไปใช้ในกรมส่งเสริมการเกษตร  จะเห็นได้ว่าประเด็น หรือ เรื่องต่างๆ ที่เกษตรนำไปทำซึ่งอยู่ในเป้าหลักคือ การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน  นั้น  เกี่ยวกับทั้งสุขภาพของผู้บริโภคสินค้า  (สุขภาพดี กินผลิตผลปลอดภัย คุณภาพดี) และ เกษตรกร (ลดการใช้สารเคมี, สารพิษ)
            - นอกจากนี้แล้วกระบวนการ KM ที่นำไปใช้ในระดับเกษตรกร ก็ทำให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ได้ทำกิจกรรม  มีเพื่อน และภูมิใจในตัวเอง  (well- being Impact)  และในระดับเจ้าหน้าที่บุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตรเองที่ทำ KM  ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน  นับถือซึ่งกันและกัน  คุณเอื้อไว้วางใจ  Empowerment ให้ทีมมากขึ้น  เกิดความสุขในการทำงาน (well-being Impact)

5. แนบเอกสารเกี่ยวกับ KM ขององค์กรนี้เท่าที่มีมาพร้อมด้วย
           -  ข้อเขียน ความสัมพันธ์และความประทับใจของ สคส. ต่อ กรมส่งเสริมการเกษตร,   ย้อนรอยเส้นทางความสำเร็จ  KM กรมส่งเสริมการเกษตร
           -  รายละเอียดเพิ่มเติมจาก : เว็บไซต์   http://km.doae.go.th/  ,  เว็บบล็อก  http://gotoknow.org/planet/doaekm , รายงานประจำปี  สคส. 2548  และ จดหมายข่าว ถักทอสายใย

6.  ชื่อบุคคล สถานที่ และที่ติดต่อ
          - คุณธุวนันท์    พานิชโยทัย   เลขาคณะ  KM  กรมส่งเสริมการเกษตร   (ผอ.กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร)       ติดต่อ   กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร    กรมส่งเสริมการเกษตร   เขตจตุจักร   กรุงเทพฯ   10900   โทร 0-2940-6038  โทรสาร 0-2579-9524   e-mail : [email protected]

7. จุดเด่นของระบบการจัดการความรู้ ของกรมส่งเสริมการเกษตร
              - ผู้บริหารระดับสูงสุด   เลือกทีมแกนนำ KM ถูกต้อง  เป็นทีมที่มาจากหลายหน่วยงาน
              - ผู้บริหารระดับสูงสุด จัดสรรทรัพยากรและให้การสนับสนุน ให้กิจกรรม KM เข้าไปเป็นเครื่องมือของการพัฒนางานอย่างแท้จริง
              - ทีมแกนนำ KM มีการคิดยุทธศาสตร์ KM ร่วมกับระดับปฏิบัติ     ทำให้ KM เนียนอยู่ในเนื้องานจริงๆ  
              - ทีมแกนนำ KM ของกรมส่วนใหญ่เขียน บล็อก เล่าเรื่องราวการเคลื่อนระบบ KM ในมิติต่างๆ ออกสู่ภายนอก ผ่านระบบ GotoKnow.org    และมีผู้ปฏิบัติงานที่ใช้ KM เนียนอยู่ในเนื้องานหลายคนเขียนบันทึกใน บล็อก ออกสื่อและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนภายนอก     ที่เด่นที่สุดคือ บล็อก http://gotoKnow.org/yutt-kpp ของคุณวีรยุทธ สมป่าสัก

8. ประเด็นที่น่าชื่นชม
              กรมส่งเสริมการเกษตร กำลังจะเป็นแกนขับเคลื่อน KM ของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งกระทรวง      และเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ได้ไปเป็นวิทยากร KM ให้แก่หน่วยงานอื่นๆ เป็นจำนวนมาก     ช่วยขับเคลื่อนขบวนการ KM ออกไปอย่างกว้างขวาง

วิจารณ์ พานิช
๑๗ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 50607เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2006 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท