KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 162. บุญเก่ากับบุญสร้าง


        นี่คือเรื่องของทุนทางสังคม (Social Capital) และทุนปัญญา (Intellectual Capital) ที่มีการพูดถึงกันมากในปัจจุบัน     แต่พูดกันด้วยความหมายลึกๆ ที่ต่างกัน   
  
         คนส่วนใหญ่มองทุนทั้งสองชนิดในลักษณะ "บุญเก่า" คือตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ หรือสะสมมาแต่ก่อน     ซึ่งไม่ผิด    แต่ถ้ามองเฉพาะ "บุญเก่า" ก็ผิด     เพราะว่ายังมี "บุญสร้าง" คือทุนทั้งสองแบบ ที่ช่วยกันสร้างขึ้นใหม่จากการทำงานในชีวิตประจำวันนั่นเอง     

         ผมมีความเห็นว่าสำคัญทั้ง "บุญเก่า" และ "บุญสร้าง"      แต่ "บุญสร้าง" สำคัญกว่า     โดยเฉพาะแนวความคิด หรือความเชื่อเกี่ยวกับ "บุญสร้าง" สำคัญมาก     โดยสำคัญใน ๒ ประเด็น คือ
           (๑) แนวความคิดว่า "บุญสร้าง" ทั้ง ๒ แบบ เป็นสิ่งที่มีจริง     และมีคุณค่าสูงส่งต่อความวัฒนาถาวรขององค์กร
           (๒) แนวความคิดว่าการทำงานตามปกติประจำวันนั้นเองเป็นตัวสร้างสม "บุญสร้าง" ทั้ง ๒ แบบ      โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีการดำเนินการอย่างถูกต้อง      แต่ถ้าทำผิด ก็จะกลายเป็น "บาปสร้าง" เป็นการสั่งสมปัญหาแทนที่จะสั่งสมทุน   

        การสร้างและสั่งสมทุนทั้ง ๒ ชนิด ทำได้โดยการจัดการความรู้ในงานประจำ    และงานทุกประเภท    การสร้างและสั่งสมดังกล่าวจะอยู่ในตัวปัจเจกบุคคล  ในตัวองค์กร  และในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างหน่วยงานย่อยขององค์กร     และในความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับภายนอก  

        ทุนทั้งสองประเภทไม่ใช่เป็นเพียงความรู้เชิงเทคนิค     แต่ยังมีมิติด้านคุณค่า   ความเชื่อ  ความสัมพันธ์     มีมิติของพลังลึกลับ ที่เกิดจากความมีจิตมุ่งมั่นร่วมกันในองค์กร     เกิดจากความเคารพเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น    เกิดจากการได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการร่วมกันสร้างและสั่งสม "บุญปัญญา" และ "บุญสังคม"

วิจารณ์ พานิช
๓๑ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 50606เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2006 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท