ชีวิตที่พอเพียง : 113. แม่เนื่อง ตาทบ และทำตาล


       สมัยผมเด็กๆ มีคนจาก "เมืองใน" ผัวเมียมาขอทำตาลในสวนของพ่อผม     ผัวชื่อ "ตาทบ" เป็นชายอายุสักสามสิบ ผิวคล้ำ ผอมเกร็ง เป็นคนไม่ค่อยพูด     เมียชื่อ "แม่เนื่อง" รูปร่างท้วมหน่อย ผิวขาวกว่า อายุคงจะใกล้เคียงกัน และเป็นคนคุยเก่ง โอภาปราศรัย     เท่าที่ผมจำความได้สองผัวเมียมีลูกชายแล้วสองคน ชื่อไอ้ออด  กับไอ้นี     ไอ้ออดอายุรุ่นเดียวกับพ่อเล็ก น้องชายคนถัดจากผม    ส่วนไอ้นีก็อ่อนกว่าสักปีสองปี     แม่เนื่องตาทบเรียกพวกผมว่า ตาอ๊อด  ตาเล็ก  ตาดำ  ฯลฯ 

       คำนำหน้าในการเรียกชื่อคนบ้านนอกนี่เป็นการแสดงศักดินา หรือฐานะของคน     พวกผมเป็น ตาอ๊อด  ตาเล็ก   หรือ พ่ออ๊อด พ่อเล็ก     แต่ไม่มีใครเรียกคุณอ๊อด คุณเล็ก เลย เพราะศักดินาฐานะไม่ถึง       ต้องเป็นลูกของปู่เนื่องซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐีและผู้ดีของจังหวัดชุมพร  คนจึงจะเรียก คุณกอบ  คุณนะ    แต่บางทีก็เรียกพ่อกอบ  พ่อนะ    แต่ถ้าเป็นลูกอาบูรณ์ที่กรุงเทพ คนเรียกอย่างเดียวคือ คุณอ๋อย  คุณอุ๋ย     แม่เนื่องตาทบคงจะกำหนดฐานะของลูกของตัวเองไว้ชัดเจน     จึงเรียกลูกว่า ไอ้ออด  ไอ้นี อย่างชัดเจน     จะเห็นว่าที่บ้านผมให้เกียรติผู้มาอาศัยทำมาหากินดีทีเดียวนะครับ  เพราะเราเรียกแม่เนื่อง  ตาทบ  ไม่เรียกด้วยคำที่กดฐานะลงไปต่ำสุด

        แม่เนื่อง ตาทบ มาจากอัมพวา มา "ทำตาล" ซึ่งหมายถึงทำน้ำตาลมะพร้าว     ในลักษณะที่เขาลงแรงทำจากสวนที่บ้านผม     และอาศัยอยู่ในสวนด้วยเลย  ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ บ้านผมนั่นแหละ    ติดกับบ้านแม่เนื่องตาทบมี "เตาตาล" ทำเองอยู่ลูกสองลูก สำหรับเคี่ยวน้ำตาล

        เตาเคี่ยวน้ำตาลเป็นเตาติดดิน ทำด้วยดินเหนียวผสมดินจอมปลวก     ตาทบกับแม่เนื่องช่วยกันทำเอง     คงจะเป็นภูมิปัญญาที่เรียนต่อๆ กันมาหลายชั่วคน     สำหรับวางกะทะเหล็กสำหรับเคี่ยวน้ำตาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งเมตร     และสุมไฟใต้กะทะ  มีช่องลมให้โหมไฟติดฟืน  และมีช่องเติมฟืน     ผมชอบไปช่วยเขาเติมฟืน สนุกดี และชอบดูเวลาน้ำตาลเดือดปุดๆ และค่อยๆ งวดเหนียวขึ้นเรื่อยๆ 

        การเคี่ยวน้ำตาลมีภูมิปัญญาหรือความรู้ปฏิบัติมากนะครับ     ผมจำได้ไม่ละเอียดเสียแล้ว    เขามีไม้ใผ่สานเป็นรูปทรงกระบอกวางลงไปในกระทะให้น้ำตาลที่เดือดไม่หกออกไปนอกกระทะ     และตอนเริ่มเดือดเขาต้องคอยช้อนเอาฟองและขยะชิ้นเล็กๆ ออก

        พอเคี่ยวน้ำตาลจนได้ที่เขาจะยกกะทะลงจากเตา ไปวางบนสาแหรกรองกะทะ     แล้วใช้ "เหล็กกระแทก" ซึ่งเป็นเหล็กขดเป็นเกลียว มีด้ามไม้  กระแทกน้ำตาลที่เกือบแห้ง  กระแทกไปเรื่อยๆ น้ำตาลจะมีสีขาวขึ้นขาวขึ้น    เมื่อน้ำตาลเย็นลงก็จะค่อยๆ แข็งตัวและสีเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ ก็ตักใส่ปี๊บสำหรับเอาไปขาย     หรือหยอดเป็นน้ำตาลปึกก็ได้    พวกผมได้ส่วนแบ่งมากินเล่นเสมอ

        ตอนเคี่ยวตาลและตอนกระแทกน้ำตาล (ภาษาบ้านผมเรียกว่า "กระแยก") ผู้ใหญ่จะคอยไล่เด็กไม่ไห้เข้าไปใกล้ๆ     เพราะพวกเราซุ่มซ่าม เขากลัวเราจะตกลงไปในกะทะกลายเป็นเด็กเชื่อมน้ำตาล

         การกระแทกน้ำตาลตอนจะจบขั้นตอนการเคี่ยวน่าจะเป็นการเติมอากาศหรืออ็อกซิเจน   ซึ่งคงจะช่วยอ็อกซิไดซ์สารที่มีสีคล้ำให้ไม่มีสีหรือสีจางลง      ตอนหลังเขามีผงซัดช่วยให้น้ำตาลยิ่งขาวขึ้น

        การเคี่ยวตาลต้องใช้เชื้อเพลิงไม้ฟืนจำนวนมาก     ที่บ้านผมจึงมีไม้ฟืนกองเป็นภูเขา     เป็นฟืนไม้เสม็ดและไม้โกงกางที่ซื้อมา     มีคนไป "ตัดไม้" มาขาย จากป่าโกงกางที่อยู่ไปทางบางผราและอีเล็ด     เป็นบริเวณห่างไกลต้องไปทางเรือ     พอกองฟืนไว้นานๆ โดนฝนเข้าก็จะมี "เห็ดเหม็ด"  "เห็ดแครง" ขึ้น    พวกผมมีหน้าที่เก็บเห็ดให้แม่เอามาผัดหรือต้มกิน

        ฟืนที่ว่านี้ท่อนละยาวประมาณ ๘๐ ซม.    เป็นท่อนไม้จากลำต้นประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕ ซม. ผ่าสี่     พวกผมมีหน้าที่เอามาผ่าให้เล็กลงและตากให้แห้งสำหรับทำฟืนหุงข้าว     แต่ตอนหลังที่บ้านผมใช้ถ่านหุงข้าวเป็นพื้น เพราะสะดวกกว่า     ถ่านหุงข้าวนี้มีทั้งที่เราซื้อมา และที่เราเผาเอง     ถ่านที่เราเผาเองมีทั้งถ่านไม้และถ่านกะลา     วันหลังจะเล่าเรื่องเผาถ่าน

        ที่จริงเรื่องทำตาลนี้ผมเล่าตอนท้าย    คือตอนเคี่ยวตาลเป็นหลัก     ในบันทึกต่อไปจะเล่าเรื่องตอนต้นคือการขึ้นตาล  การเตรียมกระบอกตาล   การกินน้ำตาลสด  ฯลฯ

วิจารณ์ พานิช
๑๔ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 50605เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2006 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
       ขอบพระคุณครับ ... อ่านแล้วนึกถึงความหลัง เรื่องคล้ายๆกัน แต่บ้านผมที่ไชยาเขาทำตาลโตนด ที่ขึ้นอยู่ตามทุ่งนาครับ ... การเคี่ยวน้ำตาล การ ขึ้นตาล  ปาดตาล  และการทำน้ำตาลเมา เป็นสิ่งที่ได้เห็นและคุ้นชิน แต่ชักเลือนลางไปบ้างในรายละเอียด

   ที่ว่า .. " เขากลัวเราจะตกลงไปในกะทะกลายเป็นเด็กเชื่อมน้ำตาล " อ่านแล้วยังหวาดเสียวไม่หายครับ  เป็นประสบการณ์ตรงที่ได้เห็นร่างไร้วิญญาณของเด็กหญิงตัวเล็กๆ ชื่อ เรณู ที่เดินพลาดตกลงไปในกระทะน้ำตาล ที่กำลังเดือด และเสียชีวิต พ่อของเธอเป็นญาติห่างๆมีศักดิ์เป็นพี่ของผม เรณูเป็นลูกคนเดียว .. พ่อและแม่ของเธอซึมเศร้ามาหลายปี และยังอยู่จนปัจจุบันโดยไม่มีลูกอีกเลย

เคยตามคุณย่าซึ่งมีสวนอยู่อัมพวาไปสวน และได้เห็นการทำตาลแบบที่อาจารย์เล่า นึกภาพได้ชัดขึ้นมาก เพราะตอนนั้นอายุประมาณ 6 ขวบเท่านั้น จำได้ว่านอกจากการขึ้นตาล เคี่ยวตาลแล้ว สิ่งที่ยังจำได้และทำให้ประทับใจกับภูมิปัญญาชาวบ้านก็คือ การทำเชือกกล้วยค่ะ

ขอแสดงความเห็นนิดหน่อยครับ อาจารย์

ผมไม่ได้มีเจตนาในการตอบโต้และโอ้อวดแต่อย่างไรครับ  ขอเขียนความเห็นเพื่อทำความเข้าใจเท่านั้นครับ

บังเอิญ ได้อ่านในบทความของอาจารย์มีผู้คนที่ผมรัจักเป็นอย่างดีอยู่หลายท่าน และบัดนี้เขาผู้นั้นส่วนมากก็จากเราไปแล้วครับ มีแต่ป้าสำเนียง บุญชู และคุณธนะ สุวรรณเมนะ ที่ยังอยู่ที่ชุมพรและที่กรุงเทพฯ ในขณะนี้ครับ

คำนำหน้าในการเรียกชื่อคนบ้านนอกนี่เป็นการแสดงศักดินา หรือฐานะของคน พวกผมเป็น ตาอ๊อด ตาเล็ก หรือ พ่ออ๊อด พ่อเล็ก แต่ไม่มีใครเรียกคุณอ๊อด คุณเล็ก เลย เพราะศักดินาฐานะไม่ถึง ต้องเป็นลูกของปู่เนื่องซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐีและผู้ดีของจังหวัดชุมพร  คนจึงจะเรียก คุณกอบ  คุณนะ แต่บางทีก็เรียกพ่อกอบ พ่อนะ 

ผมเป็นหลานของตาเนื่อง (นายเนื่อง นางกัน สุวรรณเมนะ)

ตาเนื่องในอดีตถือว่าเป็นเศรษฐีของจังหวัดชุมพรจริงเพราะทำธุรกิจด้านความบันเทิงก่อนคนอื่นๆ เป็นเจ้าของโรงหนังในจังหวัดชุมพรชื่อ“อำนวยสุข” โรงหนังในปากน้ำชุมพร และโรงหนังในจังหวัดระนอง แต่คำว่าเป็น “ผู้ดี” คงมีคนเรียกไปเองในทำนองคำยกยอ หรือพูดในเชิงลบมากกว่า

เคยได้ยินคุณยายกันเรียกลุงประกอบ สุวรรณเมนะ ว่า “พ่อกอบ”

เรียกลุงพินัย สุวรรณเมนะ ว่า “พ่อนัย”

เรียกป้าสำเนียง บุญชู ว่า “แม่สำเนียง”

และเรียกลุงดำริ พานิช ว่า “พ่อริ” และลุงอำนวย พานิช ว่า “พ่อนวย” ทุกคำ

ในบทความของอาจารย์ คำว่า “คุณนะหมายถึง คุณธนะ สุวรรณเมนะ หรือเปล่าครับ

แต่คุณยายกันเรียก “พ่อนาค” ครับ

ผู้คนชุมพรที่รู้จักในสมัยนั้นอาจเรียก คำนำหน้าว่า “คุณกอบ คุณนะ 

คุณยายกันเป็นลูกสาวเศรษฐีท่ายางพูดจาเรียบร้อยและใจดี มีคนรูจักมากที่ ท่ายาง ในสมัยก่อน

แต่นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อในอดีตหลายสิบปีที่แล้ว ที่คนชุมพรรุ่นที่แล้วเรียกคำนำหน้าลูกหลานกัน

พอมาถึงรุ่นผม คุณยายก็ไม่ได้เรียกผมที่มีคำนำหน้าว่า “คุณ” อีกแล้ว เพราะศักดินา อาจจะไม่ถึงแล้ว

ผมมาทำงานที่เชียงใหม่ทำตัวสบายๆ ตามฐานะ แต่เคยมีเพื่อนร่วมงานที่มีอายุมากกว่า(ผู้ชาย) เรียกผมว่า

“คุณ” ทุกคำ ทำให้ผมนึกถึง คำพูดที่คุณยายเรียกชื่อลูกๆของท่าน และผมคิดว่าเพื่อนร่วมงานที่มีอายุมากกว่า

 

เขาให้เกียรติเราในการสือสารกับเรามากกว่าครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท