เด็กชายขนุนจอมวุ่นในระบบมอนเตสเซอรี่(ตอน 3)


ดุจดั่งถ้วยยูเรก้าเมื่อมีวัตถุเข้าไปแทนที่น้ำเท่าใด น้ำก็จะล้นออกมาจากถ้วยในปริมาณเท่านั้น
              นักเรียนที่โรงเรียนวัดบางแขม ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน  ผู้ปกครองต้องออกไปทำมาหากิน ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูกเท่าที่ควร  เด็กจำนวนไม่น้อยมาจากครอบครัวที่แตกแยก  ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา  บางคนไม่ได้เห็นแม้แต่หน้าพ่อแม่ของตนเองด้วยซ้ำ  นี่คือสภาพปกติของเด็กชนบทในปัจจุบัน(ในเมืองก็มีไม่น้อย) ที่มีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจ และถูกสั่งสมมาตั้งแต่เกิด ซึ่งส่งผลให้โรงเรียนมีความยากลำบากในการดูแลนักเรียนตามมาด้วย
           
เด็กชายขนุน  ชั้นอนุบาล 2  เป็นเด็กคนหนึ่งที่มาจากผลผลิตของครอบครัวที่แตกแยก  พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เขาเกิดมา  และทอดทิ้งเขาไป  ปล่อยให้เขาอยู่ในความดูแลของลุงกับป้า  ที่มีอาชีพรับจ้างต้องหาเช้ากินค่ำ  เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานกลับมาก็จะมีอารมณ์หงุดหงิด  มีเรื่องต้องทุบดี  และอบรมเลี้ยงดูโดยใช้ความรุนแรงต่อขนุนเป็นประจำ  แม้ส่วนลึกจะมีความรักความสมเพชต่อหลานในไส้ของตนเองก็ตาม
          เด็กชายขนุนเติบโตขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมเช่นนี้  มีแผลเป็นตามเนื้อตามตัวหลายแห่ง ฟันผุทั้งปาก เขาแกร่ง  เขากร้าน  เขากล้า ชาชินต่อสิ่งที่มากระทบต่อเขา   ความรุนแรงที่เขาได้รับมา
ยาวนาน ยัง ฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจขนุนตลอดมา  เมื่อเขามีโอกาสที่จะระบายความรุนแรงกับคนอื่น หรือสิ่งของที่เขากระทำได้ เขาจะทำทันที  โดยไม่เข้าใจว่าผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร  ดุจดั่งถ้วยยูเรก้าเมื่อมีวัตถุเข้าไปแทนที่น้ำเท่าใด  น้ำก็จะล้นออกมาจากถ้วยในปริมาณเท่านั้น
         
เด็กชายขนุนโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในระบบมอนเตสเซอรี่ที่โรงเรียนวัดบางแขม  แต่ก็เป็นความโชคร้ายของเพื่อนนักเรียนในห้องเช่นกัน  ที่ต้องรองรับความรุนแรงที่เด็กชายขนุนระบายออกมากับเขาไม่เว้นแต่ละวัน  เสียงร้องไห้ของนักเรียนหญิง  เสียงทะเลาะกัน กระทบกระทั่งกันระหว่างนักเรียนชายกับขนุน  แม้จะไม่รุนแรงหรือส่งเสียงดัง แต่จะมีให้เห็นเป็นประจำ
         เมื่อมีใครทำอะไรที่ไหน  เขาจะเข้าไปแทรก แสดงความเด่นของตนเองให้ปรากฎ บางครั้งเมื่อครูนิ่งเฉยไม่สนใจในพฤติกรรมของเขา  ขนุนก็จะเรียกร้องความสนใจโดยแอบไปซ่อนในพุ่มไม้  ให้ครูตามหากันจ้าละหวั่น  วีรกรรมของขนุนที่ครูเล่าให้ฟังยังมีอีกเยอะ
          “แล้วระบบมอนเตสเซอรี่จะช่วยปรับพฤติกรรมขนุนได้อย่างไร?”  เป็นคำถามที่ผมอยากรู้
         ก็ได้รับคำตอบจากคุณครูอำพันว่า  “ก็หนักใจกันทุกคน  แต่ก็มีความเชื่อว่า  ทุกปัญหาย่อมมีสาเหตุ  เราต่างรู้สาเหตุกันดีแล้วว่า  ชีวิตเด็กที่ขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่  และต้องรองรับความรุนแรงมายาวนาน เขาย่อมโหยหาความรักความอบอุ่น  และเรียกร้องความสนใจเมื่อมีโอกาส  ที่จริงเด็กทุกคนบริสุทธิ์ทั้งนั้น  แต่ที่เขาเป็นเช่นนี้เพราะสิ่งแวดล้อมกระทำต่อเขาต่างหาก  วิธีแก้ไขก็คือต้องพยายามให้ความรักความอบอุ่นแก่เขาให้มากที่สุด  และพยายามปรับพฤติกรรมของเขาให้พึงประสงค์ไปพร้อมกัน  เพื่อกล่อมเกลาให้เขาเป็นคนดีให้ได้  แต่ก็คงจะทำได้ไม่มากนักในช่วงเวลาอันสั้น  เพราะจิตใจที่แตกร้าวของขนุนนับเนื่องมา 5-6 ปีแล้ว”
          ครูอำพันเล่าต่อว่า  “ก็ใช้ระบบมอนเตสเซอรี่เหมือนกับคนอื่น  แต่ต้องคอยสังเกตเขาทุกฝีก้าว และใช้การปรามกันมากหน่อย  แค่สบตาอย่างเดียวคงไม่ได้ผล  จะพยายามทำให้เขานิ่ง  และปฎิบัติกิจกรรมตามอุปกรณ์มอนเตสเซอรี่  พยายามให้เขาประสบผลสำเร็จ  และเกิดแรงจูงใจที่อยากจะทำกิจกรรมต่อๆไป  แต่ต้องคอยสอนเรื่องมารยาท  การไม่ก้าวล่วงในสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เขาก็ทำได้  รู้จักแบ่งอาหาร แบ่งของให้เพื่อนให้ครู และดีขึ้นโดยลำดับ แต่ก็ยังไม่คงทน ต้องพยายามต่อไปอีก”
         บทเรียนที่ผมได้รับจากการไปศึกษาดูงานระบบมอนเตสเซอรี่ที่โรงเรียนวัดบางแขมครั้งนี้  ทำให้เห็นอุบายอย่างหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการทั้งเรื่องคุณธรรมจริยธรรม  การคิดวิเคราะห์  และการฝึกสมาธิแทรกลงไปในบทเรียนอย่างแยบยลและไม่แยกส่วน...    
       
หมายเลขบันทึก: 50598เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2006 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท