ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 30. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (10) เชื่อและไม่เชื่อ


เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบสานเสวนา (dialogical thinking) คือให้แสวงหาความคิดหรือวิธีคิดที่แตกต่างจากของตนเอง และหากไม่มีข้อเสนอความคิดที่แตกต่าง ก็ให้สามารถสร้างข้อโต้แย้งขึ้นเองได้ กิจกรรมนี้จะช่วยให้ นศ. ทำความเข้าใจเอกสารหรือข้อเขียนต่างๆ ทั้งด้านที่เห็นด้วยและด้านที่เห็นต่างหรือตรงกันข้าม

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 30. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (10) เชื่อและไม่เชื่อ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 10 : Believing and Doubting

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 10  เชื่อและไม่เชื่อ     

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอ่าน การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบสานเสวนา (dialogical thinking)   คือให้แสวงหาความคิดหรือวิธีคิดที่แตกต่างจากของตนเอง   และหากไม่มีข้อเสนอความคิดที่แตกต่าง ก็ให้สามารถสร้างข้อโต้แย้งขึ้นเองได้    กิจกรรมนี้จะช่วยให้ นศ. ทำความเข้าใจเอกสารหรือข้อเขียนต่างๆ ทั้งด้านที่เห็นด้วยและด้านที่เห็นต่างหรือตรงกันข้าม 

ในมุม “เชื่อ” นศ. ฝึกอ่านให้เข้าใจลึกเข้าไปถึงมิติด้านคุณค่าหรือความเชื่อของผู้เขียน   เมื่ออ่านแล้ว นศ. บันทึกรายการเหตุผลสนับสนุนข้อคิดเห็นของผู้เขียน เอาไว้อภิปรายกลุ่มย่อยกับเพื่อนๆ 

ในมุม “ไม่เชื่อ” นศ. อ่านเอกสารซ้ำเพื่อหาจุดอ่อนของข้อเขียนนั้น และบันทึกรายการเช่นเดียวกัน ว่ามีเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งข้อเขียนนั้นอย่างไรบ้าง   เอาไว้อภิปรายกลุ่มย่อย   

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติยังไม่ได้    แล้วหาบทความ เรื่องจากหนังสือพิมพ์   หรือส่วนหนึ่งของข้อเขียนที่มุ่งชักจูงให้เชื่อแนวทางหนึ่ง
  2. นำบทความนั้นลงในแหล่งที่ นศ. เข้าถึงได้ online  หรือไปหาได้ที่ห้องสมุด
  3. โดยไม่เอ่ยถึงด้าน “ไม่เชื่อ”   กำหนดให้ นศ. อ่านเอกสารนั้นให้ทะลุเข้าไปในใจของผู้เขียน   อ่านให้เข้าใจความรู้สึก ความเชื่อ และคุณค่า    และบันทึกประเด็นที่ นศ. เห็นด้วยกับผู้เขียน    ให้ได้มากประเด็นที่สุดเท่าที่จะทำได้
  4. ให้ นศ. จับคู่ หรือจัดกลุ่ม ๔ - ๕ คนเพื่ออภิปรายความเข้าใจของแต่ละคน และพิจารณาว่าผู้เขียนมาจากไหน
  5. ให้ นศ. อภิปรายในชั้น   และครูจดประเด็นบนกระดาน   
  6. เมื่อ นศ. เข้าใจประเด็นในเอกสารดีแล้ว    ขอให้ นศ. อ่านเอกสารอีกรอบหนึ่ง    คราวนี้อ่านด้วยมุมมองของความไม่เห็นพ้อง    หาประเด็นที่อาจจะไม่จริง  ยังไม่น่าเชื่อถือ  หรือยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน    และจดประเด็นไว้
  7. ให้ นศ. จับคู่หรือจับกลุ่มยอย่างเดิม   คราวนี้ให้อภิปรายแลกเปลี่ยนประเด็นที่น่าจะผิด ไม่น่าเชื่อ หรือไม่จริง 
  8. ให้ นศ. รายงานต่อชั้นเรียนว่ามีประเด็น “ไม่เชื่อ” อะไรบ้าง    จดลงบนกระดาน    ครูสรุปต่อชั้นเรียนว่าทำไมคนเราจึงต้องไม่เป็นผู้บริโภคข้อเขียนแบบเชื่อง่าย   ต้องอ่านและคิดอย่างใช้วิจารณญาณ    และให้ นศ. ช่วยกันคิดขั้นตอนของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ    ดังตัวอย่าง

·      พยายามตรวจสอบว่าใครเป็นคนเขียน   เป้าหมายในการเขียนคืออะไร   ได้รับการสนับสนุนจากที่ไหน

·      ช่วยกันคิดว่า ใครคือผู้อ่านที่เป็นเป้าหมาย   เพื่อทำความเข้าใจว่า ผู้เขียนต้องการขายความคิดอะไรแก่ใคร   เพื่อเป้าหมายอะไร

·      หาข้อความที่ไม่สอดคล้องกับเรื่อง แต่สอดเข้ามาเพื่อชวนเชื่อโดยเฉพาะ 

 

ตัวอย่าง

วิชาชีววิทยาทั่วไป

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ต้องการฝึกให้ นศ. มีทักษะในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณเพื่อทำความเข้าใจประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยา    จึงหาบทความที่เขียนอย่างชักจูง เรื่องเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน (embryonic stem cells) เกี่ยวกับการสร้าง การใช้ และการทำลายเซลล์ต้นกำเนิดชนิดนี้   ชี้ให้เห็นว่าเป็นขั้นตอนไปสู่การทำโคลนนิ่งเพื่อสร้างคนขึ้นมา   ซึ่งจะนำไปสู่การลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์  

ครูกำหนดให้ นศ. แต่ละคนอ่านบทความนี้ในเวลาเรียน   ทำความเข้าใจตามที่ผู้เขียนเสนอ   และจดรายการประเด็นที่จูงใจให้เชื่อถือ   แล้วให้ นศ. จับคู่แลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจประเด็น   แล้วอภิปรายในชั้น โดยครูช่วยเขียนรายการบนกระดาน

แล้วครูจึงนำเสนอคุณประโยชน์ของการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด    ซึ่งจะมีมุมมองที่ต่างจากในบทความ    แล้วจึงให้ นศ. อ่านบทความอีกครั้งหนึ่ง   คราวนี้พยายามหาจุดอ่อนที่โต้แย้งได้ หรือน่าจะผิด ในบทความและทำรายการไว้   นำมาอภิปรายในชั้น   และหลังจากนั้น ครูชวน นศ. ทำรายการวิธีอ่านอย่างมีวิจารณญาณ   สำหรับเก็บไว้ใช้  

 

การปรับใช้กับการเรียน online

วิธีการนี้ใช้ในการเรียน online ได้โดยง่าย    โดยจัดกลุ่ม นศ. หรือจับคู่ นศ. ให้อ่านบทความ จดประเด็นที่น่าเชื่อ   นำไปอภิปรายกันใน web site messaging, e-mail, หรือโทรศัพท์   แล้วแต่ละคนส่งผลงานเป็น e-mail attachment   แล้วครูรวบรวมรายการประเด็นที่น่าเชื่อถือนำเสนอบน เว็บบอร์ด ให้ นศ. อ่าน   หลังจากนั้นครูให้ นศ. อ่านบทความอีกครั้งหนึ่ง ด้วยท่าที “ไม่เชื่อ”   จดรายการที่น่าสงสัยในความถูกต้อง    หรือมีข้อโต้แย้ง   เอามาอภิปรายกันอีกครั้งหนึ่ง   และส่งการบ้านของแต่ละคนให้ครูเป็นครั้งที่ ๒   และครูก็รวบรวมประเด็น “ไม่เชื่อ” โพสต์ให้ นศ. อ่านอีก   หลังจากนั้น ครูชวน นศ. อภิปรายคุณค่าของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ    และจบด้วยการชวน นศ. ช่วยกันระบุขั้นตอนของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ  

  

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

แทนที่จะให้ นศ. อ่านเอกสารหรือบทความ    อาจใช้วิธีที่ครูบรรยายสั้นๆ เรื่องด้านบวก และด้านลบของเรื่องนั้น

o  ครูบรรยาย

o  แล้วให้ นศ. ทำรายการ ๒ รายการ  คือ “รายการ เชื่อ”  กับ “รายการ ไม่เชื่อ”    พร้อมทั้งเขียนเรียงความสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น ส่งครู

o  ให้ นศ. บันทึกขั้นตอนความเชื่อและไม่เชื่อของตน   ว่าดำเนินไปอย่างไร   มีการเปลี่ยนความเชื่อตอนไหน เพราะอะไร   แล้วเขียนเรียงความเรื่องวิธีเปลี่ยนใจคน

 

คำแนะนำ

อาจให้ นศ. อ่านบทความ ๒ บทความที่ให้ข้อมูลและความเห็นขัดแย้งกัน    โดยให้บทความแรกก่อน   ให้ นศ. อ่านและทำรายการประเด็นที่น่าเชื่อถือ   แล้วให้อ่านบทความที่ ๒ และทำรายการประเด็นที่น่าเชื่อถือ

อาจใช้วิธีการนี้ฝึกให้ นศ. ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อความใน อินเทอร์เน็ต    เพื่อให้ นศ. รู้จักใช้ข้อมูลจาก อินเทอร์เน็ต อย่างมีวิจารณญาณ 

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Bean JC (1996). Engaging ideas : The professor’s guide to integrating writing, critical thinking, and active learning in the classroom. San Francisco : Jossey-Bass, pp” 142-143, 156-157.

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ต.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 505888เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2012 04:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2012 04:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท