Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เราจะศึกษาอะไรในโครงการเด็กไร้รัฐ ? : แนวคิดในการกำหนดขอบเขตของการวิจัยและพัฒนา


โดยธรรมชาติ งานของเราเป็นงานพัฒนาตามความจำเป็นของสถานการณ์ของ “ลูกความ” เพราะโดยแท้จริง เราคงสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย แต่เราเป็นสำนักงานกฎหมายของสถาบันการศึกษา เราจึงให้ความสำคัญกับการ “วิจัย” เราเหมือนโรงพยาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์ เราเป็นสำนักงานทนายความของคณะนิติศาสตร์

      เพื่อประสิทธิภาพในการประเมินผลงาน ก็จะต้องมีการกำหนด ขอบเขต (scope) ของงาน หลักการนี้ไม่มีผลเฉพาะงานวิจัยเท่านั้น   ดังนั้น เมื่อ มสช. ทาบทามให้โครงการเด็กไร้รัฐถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นโครงการย่อยโครงการหนึ่งในชุดโครงการส่งเสริม สนับสนุน และคุ้มครองสุขภาพและสิทธิมนุษยชน ด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว[1] เราจึงกำหนดขอบเขตของงานที่เราจะรับทุนสนับสนุนการทำงานจาก ดยค. ซึ่งเราก็ยังทำงานของเรา "แบบปอเต็กตึ้ง" เหมือนเดิม ตามธรรมชาติของเราซึ่งทำงานช่วยเหลือประชาชนตามกฎหมาย ความเดือนร้อนของคนไร้รัฐไม่อาจถูกส่งโดยสัญญารับทุนได้ เรื่องใดอยู่ในขอบเขตของสัญญา เราก็มีทุนของ มสช.สนับสนุน เรื่องใดไม่มี เราก็ใช้เงินบริจาคที่เรามีไม่มากนัก แต่เพียงพอ

         เรายกร่างข้อเสนอการจัดทำโครงวิจัยเสนอ มสช.[2] ผ่านเวทีสาธารณะที่มีคนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗[3] และขอบเขตการทำงานเพื่อคนไร้รัฐภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐก็ได้รับความเห็นชอบดังต่อไปนี้

         ใครคือบุคคลอันเป็นเป้าหมายของการวิจัยและพัฒนา ?

    ผู้สร้างสรรค์โครงการนี้ตั้งใจจะทำให้โครงการนี้เป็นอีกโครงการ นวัตกรรมเพื่อแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security)[4] เราซึ่งเคยทำงานภายใต้กองทุน ศาสตราจารย์ คนึง ฦาไชยเคยได้พบว่า[5] ความไร้รัฐและความไร้สัญชาติเป็นเหตุที่สำคัญประเภทของ ทุกขภาวะ และ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดแก่เด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย เนื่องจากแทบจะไม่มีงานศึกษาเกี่ยวกับคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย สังคมไทยจึงยังไม่มีความชัดเจนนักว่า บุคคลดังกล่าวคือใครกัน ? จึงจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงนิยามของคำว่า คนไร้รัฐ และ คนไร้สัญชาติ อันเป็น บุคคลอันเป็นเป้าหมายของการศึกษา เสียก่อน 

          เด็ก เยาวชน และครอบครัว ไร้รัฐ ในประเทศไทย : คือใคร ? 

          เด็ก เยาวชน และครอบครัวไร้รัฐ (Stateless Child, youth and family) ในประเทศไทย หมายถึง เด็กและเยาวชนที่อยู่ในประเทศไทยและไม่สามารถส่งไปให้ประเทศใดได้ เพราะไม่มีรัฐใดบนโลกยอมรับให้สัญชาติแก่บุคคลดังกล่าว และก็ไม่มีรัฐใดบนโลกให้สิทธิอาศัยแก่บุคคลดังกล่าว กล่าวคือ ไม่มีรัฐใดยอมลงรายการสถานะบุคคลของบุคคลดังกล่าวใน ทะเบียนราษฎร ให้เป็น ราษฎรหรือ พลเมืองหรือเป็นเด็กที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐหรือประเทศใดเลย โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้  กล่าวคือ ไม่มีรัฐใดยอมรับเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติ (State of Nationality or National State) และไม่มีรัฐใดยอมรับให้สิทธิอาศัย (State of Residence or Residential State) ไม่ปรากฏชื่อในทะเบียนบ้าน (Civil Registration) ของรัฐใดเลยบนโลก ไม่มีเอกสารรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Identification Paper) ที่ออกโดยรัฐใดเลยบนโลก ผลทางกฎหมาย ก็คือ เด็กและเยาวชนเหล่านี้ก็จะต้องตกเป็น คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในทุกประเทศของโลก

         เด็ก เยาวชน  และครอบครัว ไร้สัญชาติ ในประเทศไทยคือใคร ? 

      เด็ก เยาวชน และครอบครัวไร้สัญชาติในประเทศไทย (Nationalityless Child, youth and family) ย่อมหมายถึง บุคคลที่ไม่มีสัญชาติของประเทศใดเลยในโลก แต่ได้รับการยอมรับให้มีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในประเทศไทยในปัจจุบัน อาจจะจำแนก คนไร้สัญชาติในประเทศไทย ออกเป็น ๓ ประเภท กล่าวคือ (๑) คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิเข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยในลักษณะถาวร (๒) คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิเข้าเมืองและมีสิทธิอาศัยในลักษณะชั่วคราว และ (๓) คนไร้สัญชาติที่มีสิทธิอาศัยในลักษณะชั่วคราว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมาย

      ขอบเขตของการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐคืออะไร ?  

         ไม่คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมาเขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องทุกเรื่องที่เราทำเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ โดยธรรมชาติ งานของเราเป็นงานพัฒนาตามความจำเป็นของสถานการณ์ของ ลูกความ เพราะโดยแท้จริง เราคือสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย แต่เราเป็นสำนักงานกฎหมายของสถาบันการศึกษา เราจึงให้ความสำคัญกับการ วิจัย เราเหมือนโรงพยาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์ เราเป็นสำนักงานทนายความของคณะนิติศาสตร์องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาของผู้ร้องในศูนย์นิติศาสตร์ของคณะนิติศาสตร์ต่างๆ นั้นเป็นกรณีศึกษาที่นำมาศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่รู้จบ ไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ  ในแต่ละปี มีวิทยานิพนธ์หลายฉบับ มีงานวิจัยหลายฉบับที่นำเอาคำร้องในศูนย์นิติศาสตร์ของคณะนิติศาสตร์ต่างๆ มาทำเป็นกรณีศึกษาในงานนั้น ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐที่เสนอตั้ง มสช.ก็เช่นกัน เรามีแนวคิดเชิงปฏิบัติในการกำหนดขอบเขตของการวิจัยเพื่อการพัฒนาดังนี้

       ในประการแรก เราพยายามเลือกศึกษาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติให้ครอบคลุมจากทุกสาเหตุแห่งปัญหา โดยพิจารณาจากสถานการณ์ด้านสาเหตุแห่งความไร้รัฐและความไร้สัญชาติในประเทศไทยที่เราตรวจสอบพบในเบื้องต้น[6] จึงเลือกศึกษาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นตัวแทนของปัญหาดังกล่าวซึ่งน่าจะจำแนกออกได้เป็น ๔ กลุ่มด้วยกัน กล่าวคือ (๑) กรณีไร้รัฐหรือไร้สัญชาติเพราะไร้รากเหง้า (๒) กรณีไร้รัฐหรือไร้สัญชาติเพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงหรือในทะเล (๓) กรณีไร้รัฐหรือไร้สัญชาติเพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคตะวันตกระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า  และ (๔) กรณีไร้รัฐหรือไร้สัญชาติเพราะเป็นคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย

        ในประการที่สอง ด้วยกำลังกาย ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายที่จำกัดในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็กและเยาวชน และครอบครัวในสังคมไทยภายใต้โครงการนี้  จึงจำเป็นต้องเลือกศึกษาเฉพาะปัญหาหลักๆ ที่เกิดขึ้น แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัวไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ กล่าวคือ (๑) ปัญหาอันเกี่ยวกับสถานะบุคคลของของคนไร้รัฐหรือคนไร้สัญชาติ (๒) ปัญหาผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชน และ (๓) ปัญหาผลกระทบด้านลบต่อทัศนคติ

         ในประการที่สาม  เราเลือกที่จะศึกษาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติทั้งในเชิง ปัจเจกชนศึกษา และเชิงชุมชนศศึกษา 

         ปัจเจกชนศึกษา  ก็คือ เป็น การศึกษาข้อเท็จจริงของคนแต่ละคน ซึ่งอาจศึกษาโดยการเข้าไปพูดคุยกับคนในสถานการณ์นั้นๆ ตลอดจนสังเกตความเป็นไปของคนนั้นที่สภาพแวดล้อมของเขาแต่ละคน การศึกษาในลักษณะนี้ย่อมนำไปสู่การรับรู้เชิงลึกในสาเหตุแห่งปัญหา ตลอดจนการรับรู้ถึงแนวคิดและวิธีการดำเนินชีวิตของคนในสถานการณ์นั้น  ปัจเจกชนศึกษาเป็นเป้าหมายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้แก่เจ้าของปัญหาแบบรายกรณี (Case by case) แต่อาจไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงระบบและโครงสร้างของปัญหา

           ในขณะที่  ชุมชนศึกษา ก็คือ  การสำรวจข้อเท็จจริงของคนหลายคนในชุมชนหนึ่งๆ  การศึกษาจึงไม่ได้มุ่งที่คนแต่ละคนโดยเฉพาะเจาะจง แต่มุ่งที่ตรึกตรองถึงความเป็นอยู่และความเป็นไปของชุมชนทั้งชุมชน การลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงของคนจำนวนมากๆ ในชุมชนนั้น มีข้อเสียที่เราจะไม่อาจตอบได้ถึงสาเหตุของความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติของคนแต่ละคน ซึ่งคนในชุมชนอาจมีปัญหาต่างกัน ชุมชนศึกษาจึงไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาของบุคคลที่มีประสิทธิมากนั้น แต่ชุมชนศึกษาจะนำไปสู่การรับรู้ถึง ขนาดของปัญหาอันจำเป็นต่อการแก้ไข หลักคิด และ ทัศนคติ ที่คนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา 

          ด้วยแนวคิดในการกำหนดขอบเขตของการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐทั้งหมดนี้ เราคิดว่า เราน่าจะสามารถมีผลการศึกษาและการพัฒนาที่ผลิตองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในทุกสถานการณ์ และในทุกปัญหา 



[1] ซึ่งเรามักเรียก โครงการแม่ ของเราแบบย่อๆ ว่า ดยค-มสช แล้วเรียกงานเพื่อเด็กไร้รัฐที่เราทำภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐที่เกิดขึ้นนี้ว่า โครงการเด็กไร้รัฐ มสช. หรือ โครงการเด็กไร้รัฐ ดยค. มสช. ซึ่งชื่อหลังนี้ จะยาวเรียกง่าย จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่คนทำงาน  เพื่อรู้จักโครงการ ดยค. โปรดดูจาก http://www.thaichildrenright.net/th/about/
[2] เป้าหมาย-วิธีการวิจัยและพัฒนา ในโครงการวิจัยผลกระทบของความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก  เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย : การตรวจสอบปัญหาและแนวคิดในการแก้ไขปัญหา, เอกสารประกอบการเสวนาภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กองทุน ศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ด้วยทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์   ตึกคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๔๗ เวลา ๑๓.๐๐ ๑๖.๓๐ น., ๖๗ หน้าhttp://www.archanwell.org/office/download.php?id=403&file=377.pdf&fol=1(word)
http://www.archanwell.org/gallery/show_room.php?h=64&id_dir=44 (powerpoint)
[3] http://www.archanwell.org/gallery/show_room.php?h=64&id_dir=44
[4] แนวคิดนี้น่าจะเข้าใจได้โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ แต่หากจะต้องอธิบายความหมายของเรื่องนี้ ขอถือตามแนวคิดที่ชัดเจนของท่านอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, อะไรนะ … “ความมั่นคงของมนุษย์, กันยายน ๒๕๔๕, http://www.thaitopic.com/mag )
[5] โครงการเวทีความคิดเรื่องเด็กและวิกฤตการณ์แห่งชีวิต  เรื่องที่ ๑ “บาปบริสุทธิ์” วิกฤตการณ์ที่เด็กไม่ได้ก่อแต่ได้รับผลกระทบ : แนวคิดและมาตรการในการจัดการ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกองทุน ศ.คนึง ฦาไชยฯ ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ชั้น ๕ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๖ โดยมี นางสาวสรินยา กิจประยูร และนายชุติ งามอุรุเลิศ เป็นผู้จัดการเวที
[6] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, การตรวจสอบและการประเมินสถานการณ์ด้านคนไร้รัฐในประเทศไทย, งานเพื่อคณะอนุกรรมการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ.๒๕๔๖ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, ๒๐ หน้า
http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=17&d_id=17 
http://www.archanwell.org/office/download.php?id=54&file=44.pdf&fol=1 (ฉบับ pdf)
และ พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ความเป็นคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย : คืออะไร ? และควรจัดการอย่างไร ?, บทความเพื่อหนังสือที่ระลึกวันรพี ๒๕๔๗ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=278&d_id=277
หมายเลขบันทึก: 50584เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2006 00:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท