จัดสรรงบปี 56 แล้ว, พูดให้แตกแยก(สัญญาพนักงานราชการ), ครูควรขอไว้, สอบ ผอ., เทียบโอนฯ, บาง ตช.ไม่มีเครื่องมือ, ข้อมูลประเมินภายนอก, ป.บัณฑิต, เลขที่หนังสือ, ตรวจสอบพัสดุ, ขอใบวิชาชีพผู้บริหาร, ไม่รับใบวุฒิใน 6 ภาค, วิชาเลือกต่อสายวิทย์


การขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู, ออกเลขที่หนังสือตามปี พ.ศ. ( เริ่มเลขที่ 1 ใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. )

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 14 เรื่อง ดังนี้

 

         1. วันที่ 5 ต.ค.55 คุณปิยธิดา หัวหน้า กศน.ตำบล อ.เสนา ส่งข้อความผ่านหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  อยากได้เครื่องมือ ตัวบ่งชี้ที่ 3.2 ( ประเมินคุณภาพภายในฯ ) เรื่องระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ

             ผมตอบว่า   เรื่องระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ ไม่ต้องมีเครื่องมือ   ให้ทำเป็น "แบบสำรวจรายการ" ขึ้นมาแผ่นเดียว โดยให้เจ้าหน้าที่คนเดียวสำรวจว่า ตามเกณฑ์การพิจารณาข้อ 1-5 นั้น เกณฑ์ข้อไหนทำ (มี)  เกณฑ์ข้อไหนไม่ได้ทำ (ไม่มี)   เวลากรรมการมาประเมินฯก็ให้ดูหลักฐานของจริงที่มี (ทำ) ตามเกณฑ์แต่ละข้อ

 

         2. วันที่ 8 ต.ค.55 คุณนราภรณ์ ครูอาสาฯ อ.บางซ้าย  โทร.มาถามผมว่า  การเตรียมรับการประเมินภายนอกรอบสาม  รวบรวมข้อมูลเป็นปีงบประมาณ หรือปีการศึกษา อย่างไร

             เรื่องนี้  กศน.จ.สิงห์บุรี ซึ่งรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามแล้ว บอกผมว่า ถึงแม้ กศน.จะประเมินเป็นปีงบประมาณไม่ใช่ปีการศึกษา แต่คณะกรรมการฯที่ไปประเมินภายนอกที่สิงห์บุรีประเมินโดย ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักเรียนและครูเฉพาะ กศ.ขั้นพื้นฐาน ดูข้อมูลตามปีการศึกษาเหมือนเดิม  ถ้าเป็นเรื่องอื่นจึงจะดูข้อมูลตามปีงบประมาณ   ประเมินฯที่สิงห์บุรีในเดือน ก.ย.55 ดูข้อมูลเกี่ยวกับครูและนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน 3 ปีการศึกษาย้อนหลังคือ ปีการศึกษา 2554 ( 1/54+2/54 ),  2553 (1/53+2/53)  และ 2552 ( 1/52+2/52 )
              ที่จะประเมินภายนอกประมาณ ม.ค.- ก.พ.56 นี้  เรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เเกี่ยวกับครูและนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน เตรียมข้อมูล 3 ปีงบประมาณย้อนหลัง คือ 55 ( 2/54+1/55 ),  54 ( 2/53+1/54)  และ 53 ( 2/52+1/53 )

             อนึ่ง  กศน.จ.สิงห์บุรี บอกข้อมูลที่น่าสนใจในการรวบรวมข้อมูล อีก 2 เรื่อง คือ
             - การรวมจำนวนนักศึกษาในแต่ละปี ให้นำจำนวนนักศึกษาของ 2 ภาคเรียน มาบวกกันเลย  ( ถึงแม้ว่า 2 ภาคเรียนนั้นจะมีนักศึกษาส่วนหนึ่งซ้ำคนเดิม ก็ให้นับรวมซ้ำไป )
             - ตัวบ่งชี้ที่ 1 ถึง 4 และ 6  ( ของ สมศ. )  ให้คิดเฉพาะนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน  ไม่รวมนักศึกษา กศ.ต่อเนื่อง

 

         3. วันที่ 10 ต.ค.55 ผมเผยแพร่เรื่องเรียน ป.บัณฑิต ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ  ดังนี้

             เรื่องเรียน ป.บัณฑิต ยังมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น
             1)  ตอนนี้ ม. ที่คุรุสภาเห็นชอบให้เรียนตามโครงการนี้ ลดจาก 37 แห่ง เหลือ 35 แห่งแล้ว โดยตัด ม.การจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น กับ ม.วงษ์ชวลิตกุล ออกไป
             2)  หลักสูตรที่คุรุสภาเห็นชอบตามโครงการนี้ เป็นหลักสูตร 3 ภาคเรียน ภาคเรียนแรกเรียนอย่างเดียว ( เป็นภาคเรียนปกติหรือภาคเรียนฤดูร้อนก็ได้ )  ภาคเรียนที่ 2-3 ฝึกสอน ( ต้องฝึกสอนในภาคเรียนปกติเท่านั้น ไม่ให้ฝึกสอนในภาคเรียนฤดูร้อน )
             3)  ผู้ที่จะเรียน นอกจากจะต้องมีรายชื่อตามที่ กศน.สำรวจตรวจสอบส่งไปคุรุสภาแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ ( ปฏิบัติการสอน ) โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ด้วย   ถ้า ม.ไหนให้เรียนโดยไม่ตรวจสอบหนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ถึงจะเรียนจบได้รับประกาศนียบัตร คุรุสภาก็ไม่ให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
             ( แต่ละสถาบันอาจเริ่มเปิดสอนไม่พร้อมกัน ตามความพร้อมของแต่ละแห่ง โดยอาจเริ่มเปิดสอนในภาค 1/55 หรือ 2/55 หรือ 3/55 ก็ได้   บุคคลที่มีรายชื่อ ต้องติดตามข่าวประชาสัมพันธ์+ติดต่อสอบถามในแต่ละแห่ง และสมัครเรียนด้วยตนเอง )

             ผู้ที่จะเรียน ป.บัณฑิต ควรรีบขออนุญาตประกอบวิชาชีพ ( ปฏิบัติการสอน ) โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ( ขอที่คุรุสภา ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน นับจากวันที่ส่งเอกสารถึงคุรุสภา )
             ในเรื่องนี้  คุณกัญจนรัตน์ ครู กศน.ตำบล อ.สมเด็จ  ได้นำลิ้งค์เอกสารการขออนุญาต มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ดังนี้
             - แบบขออนุญาต ( คส.09.10 ) http://www.ksp.or.th/ksp2009/upload/news5/files/2717-6865.pdf
             - หนังสือนำส่ง http://www.ksp.or.th/ksp2009/upload/news5/files/2717-9031.pdf

             นอกจากนี้ คุณสิทธิ ครู กศน.ตำบล อ.พระนครศรีอยุธยา  ได้นำลิ้งค์เว็บสำหรับตรวจสอบสถานะใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มาเผยแพร่  คือ  http://www.ksp.or.th/service/license_search.php

 

         4. วันเดียวกัน ( 10 ต.ค. )  คุณวิรัตน์ ชุ่มมงคล ถามผ่านหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  บันทึกข้อความ ใช้ปี พ.ศ. หรือ ปีงบประมาณ

            ผมตอบว่า   ใช้ปี พ.ศ. ( หนังสือราชการต่าง ๆ ทั้งหนังสือรับ หนังสือส่ง การประชุม คำสั่ง   ใช้ปี พ.ศ.  คือเริ่มเลขที่ 1 ใหม่ ในวันที่ 1 ม.ค. ไม่ใช่ 1 ต.ค. )

 

         5. วันที่ 11 ต.ค.55  คุณ “ดอกบัว เมืองน้ำดำ” กศน.อ.ร่องคำ  ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบว่า   การแต่งตั้งคณะ กก.ตรวจสอบพัสดุประจำปี ในกรณีที่หน่วยงานนั้นมีข้าราชการท่านเดียวคือ ผอ.อำเภอซึ่งเป็น หน.จนท.พัสดุ และไม่มีลูกจ้างประจำเลย เราจะแต่งตั้งพนักงานราชการเป็น ประธาน กก.ตรวจสอบพัสดุประจำปีได้ไหม

             ผมเข้าไปตอบว่า   ได้
             ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 155 กำหนดให้แต่งตั้ง "เจ้าหน้าที่" ในส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น   ( พนักงานราชการก็เป็นเจ้าหน้าที่ )
             "ข้อ 155  ก่อนสิ้นเดือนกันยายนทุกปี ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานซึ่งมีพัสดุไว้จ่ายตามข้อ 153 แล้วแต่กรณี   แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น ซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่พัสดุคนหนึ่งหรือหลายคนตามความจำเป็น เพื่อตรวจสอบ... ..."

 

         6. วันเดียวกัน ( 11 ต.ค. )  คุณเนตรนภิสา ครูอาสาฯ กศน.อ.พุทไธสง  ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  พนักงานราชการเรียนจบ ป.โท บริหารแล้ว ขอใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร นั้น มี 2 อย่าง แตกต่างกัน คือ
             ก. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ( เช่น ผอ., รอง ผอ. กศน.อำเภอ/เขต )
             ข. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ( เช่น ผอ., รอง ผอ. สนง.กศน.จังหวัด/กทม. )
             แต่ละอย่าง ใครมีคุณสมบัติครบถ้วนก็ขอได้

             คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา คือ
             1)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
             2)  มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางบริหารการศึกษา เช่น ปริญญาตรีสาขาวิชาบริหารการศึกษา ป.บัณฑิตทางบริหารการศึกษา ปริญญาโท/เอก สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
             3)  มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและมีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้าหมวด หรือหัวหน้าฝ่าย หรือหัวหน้างาน หรือตำแหน่งบริหารอื่น ๆ ในสถานศึกษามาแล้ว รวมไม่น้อยกว่า 2 ปี
             4)  ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษาที่คณะกรรมการคุรุสภารับรอง (คุณสมบัติข้อนี้ได้รับการยกเว้นให้เข้าอบรมภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา)

             คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา คือ
             1)  มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษา หรือเทียบเท่าหรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง
             2)  ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการศึกษาที่คณะกรรมการคุรุสภารับรอง (เรื่องการอบรมนี้ยังผ่อนผันให้อบรมหลังจากได้รับการแต่งตั้งแล้ว)
             3)  การมีมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ต้อง
                  - มีประสบการณ์ปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี หรือ
                  - มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
                  - มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษา ที่ไม่ต่ำกว่าระดับกองหรือเทียบเท่ากอง มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
                  - มีประสบการณ์ในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามที่กำหนดในกฏกระทรวง มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
                  - มีประสบการณ์ปฏิบัติการสอน และมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้บริหารนอกสถานศึกษาหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามที่กำหนดใน กฏกระทรวง รวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

 

         7. คืนวันเดียวกัน ( 11 ต.ค. ) คุณ “Sirin Sue” กศน.อ.ป่าโมก ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ถ้านักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วแต่ไม่มารับใบวุฒิการศึกษา ภายใน 6 ภาคเรียนหลังจากที่จบการศึกษา จะถือว่าใบวุฒิการศึกษานั้นเป็นโมฆะ หรือไม่จบในระดับการศึกษานั้น หรือปล่าว

             ผมร่วมตอบว่า   ถ้าเป็นหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับ กศ.ขั้นพื้นฐาน พ.ศ.51 ให้อ้างอิงจาก "คู่มือการดำเนินงานฯ" เล่มปกสีเหลือง ในชุด 9 เล่ม ที่แจกให้ครูทุกคนตอนอบรมหลักสูตรใหม่ ในหน้า 68 ข้อ 2.4 คือ
             1)  ในกรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนใด จะต้องลงทะเบียนรักษาสถานภาพการเป็นนักศึกษา หากไม่ลงทะเบียนรักษาสภาพเกิน 6 ภาคเรียนติดต่อกัน จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้เรียนใหม่
             2)  รายวิชาที่ผู้เรียนผ่านเกณฑ์การประเมิน สามารถเก็บผลการเรียนสะสมได้ 5 ปี นับจากวันอนุมัติผลการเรียน  ( ถ้าเรียนไม่จบภายใน 5 ปี ต้องเรียนใหม่เฉพาะรายวิชาที่เกิน 5 ปี )
             ทั้ง 2 ข้อนี้ หมายถึงกรณีที่ยังเรียนไม่จบ  แต่ถ้ากรณีอนุมัติให้จบหลักสูตรแล้ว จะมารับใบวุฒิการศึกษาเมื่อไรก็ได้

 

         8. วันที่ 12 ต.ค.55 คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ ถามผ่านหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ต้องการแนวทางเทียบโอนกลุ่มทหารปลดประจำการ หาข้อมูลได้ที่ไหน

             ผมตอบว่า   ในเล่มสีเขียว ( แนวทางการเทียบโอนผลการเรียนจากความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ )  ดูภาพปกในข้อ 2 ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487113
            อยู่ในตอนที่ 8 "การเทียบโอนผลการเรียนจากความรู้และประสบการณ์กลุ่มทหารกองประจำการ ทหารประจำการ และอาสาสมัครทหารพราน"
             คุณสมบัติคือ ต้องเป็นหรือเคยเป็นทหารประจำการมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี
             ( ถ้าหาเล่มสีเขียวนี้ไม่เจอ  ดาวน์โหลดไฟล์ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/teboon.ra  )

 

         9. วันเดียวกัน ( 12 ต.ค. ) คุณ “Ddkunwai Naja”  โพสท์ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า
             “จังหวัดเรียกไปต่อสัญญา โทรแจ้งให้เตรียมอากรแสตมป์ 805 บาท (ไม่ต้องซื้อมา ให้นำเงินมาจ่ายที่จังหวัด เดี๋ยวจังหวัดจัดการให้) คนค้ำประกัน ใบรับรองแพทย์   ด้วยความที่เราก็พอจะรู้มามั่ง คุยกับจังหวัดอื่นเขาก็บอกไม่ต้องติดอากรแสตมป์ แต่เจ้าหน้าที่เขาก็ยืนยันว่าต้องติดอากรแสตมป์ เราก็ไม่กล้าเถียง เพราะคิดว่าเขาจะต้องศึกษามาดีกว่าเราอยู่แล้ว    แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ต้องติด ไม่ต้องมีคนค้ำ ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์
             มีน้องคนหนึ่งเข้าไปถามที่จังหวัดว่า ได้ข่าวว่าจะคืนค่าอากรแสตมป์ให้ใช่มั๊ย  ได้รับคำตอบกลับมาเป็นที่น่าพอใจมากเลย ว่า "ไม่คืน ขีดฆ่าเป็นขี้หมดแล้ว"   เอ้าตายหล่ะวา ก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอก ถ้าเขาจะขอโทษ แล้วบอกกับพวกเราดีๆ ว่าเออมันมีการผิดพลาดนิดหน่อย เราก็จะเข้าใจดี   แล้วคิดดูนะครับทั้งจังหวัดลองคำนวณแล้ว ทั้งครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล เงินเป็นแสนนะครับ   สงสารน้องคนที่เข้าไปถาม บอกว่าพอเขาพูดแบบนั้น ก็เลยยิ้มหวานให้ทีหนึ่ง แล้วก็รีบออกมาเพราะอายพวกเขาอยู่กันเยอะ    ค่าอากรแสตมป์ ไหนจะค่าเติมน้ำมันรถให้คนมาเซ็นต์ค้ำให้อีก หมดไปหลายบาทครับ...ไม่มีอะไรครับแค่อยากระบายให้ทุกคนได้รู้มั่ง”

             เรื่องนี้ ผมเป็นห่วงบุคลากรระดับจังหวัดที่ไม่เข้าใจความรู้สึกคนอื่น อาจมองคนอำเภอเป็นคนระดับต่ำกว่า ระบบราชการมีปัญหา คำพูดที่เสียดแทงความรู้สึก ก่อให้เกิดความแตกแยก   เจ้าหน้าที่ไม่รู้สึกถึงความยุ่งยาก ตั้งแต่การเสียเวลาไปขอใบรับรองแพทย์ ติดต่อขอร้องผู้ค้ำประกันให้ปลีกเวลาเดินทางไปเซ็นชื่อที่จังหวัด เงิน 800 บาทสำหรับบางคนเลี้ยงชีวิตได้หลายวัน
             ผมจึงได้เผยแพร่ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้   ( คงไม่มีอะไรหรอก ที่จริงแค่ขอโทษคำเดียวก็คงจบแล้ว )

             1)  "ในกรณีที่ส่วนราชการทำสัญญาจ้างพนักงานราชการ โดยเรียกให้ปิดอากรแสตมป์ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์) ส่วนราชการจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อเยียวยาและบรรเทาความเสียหาย ให้แก่พนักงานราชการผู้นั้น"
                  คำตอบจากสำนักงาน กพ.  ที่  http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/index.php?option=com_kunena&func=view&catid=

11&id=976&Itemid=228   คือ
                  "กรณีดังกล่าวไม่ต้องติดอากรแสตมป์ หากดำเนินการไปแล้ว ส่วนราชการจะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวคืนให้"

             2)  ถ้าไม่เข้าตามนี้ ไม่ต้องติดอากรครับ    http://www.rd.go.th/publish/6162.0.html
                  ( พนักงานห้องสมุดจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ  เข้าข้อ 4. จ้างทำของ )

             3)  การค้ำประกัน
                  3.1)  เรื่องการทำสัญญาพนักงานราชการนี้ ไม่ได้กำหนดโดย กศน. แต่กำหนดโดยคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ ตามประกาศที่ https://dl.dropbox.com/u/109014048/Contract.pdf
                  3.2)  เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มี "วินัย" ควบคุม ( ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ) ไม่ต้องมีการค้ำประกัน
                  3.3)  ถ้าจะทำสัญญาค้ำประกัน ต้องระบุเรื่องการค้ำประกันนั้นไว้ในตัวสัญญาด้วย การค้ำประกันจึงจะมีผล  ( ทุกอย่างที่แนบท้ายสัญญาต้องระบุไว้ในตัวสัญญา )  เช่น  สัญญาจ้างครูศูนย์การเรียนชุมชนจะระบุไว้ในตัวสัญญาว่า
                         "ข้อ 10 เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญานี้ ลูกจ้างได้จัดให้มีผู้ค้ำประกันการชดใช้ค่าเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างตามที่ระบุไว้ในข้อ 4. และ ข้อ 9. ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่แนบท้ายสัญญานี้"
                  แต่สัญญาพนักงานราชการที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการกำหนด ไม่มีข้อนี้  ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ ต้องใช้แบบสัญญาตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการกำหนด

 

        10. คืนวันเดียวกัน ( 12 ต.ค. )  “ครูผู้ช่วย” ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org  ว่า  การเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เกรดที่ได้ เป็น ผ่าน หรือ ตัวเลข 1,2,3,4
             ผมตอบว่า   “ผลการเรียน” จากการเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็น “ผ่าน”

 

        11. ครู กศน. ควร "ขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ไว้
             เรื่องนี้ คุรุสภากำหนดว่า ผู้ที่จะสอนขั้นพื้นฐาน ( ประถม ม.ต้น ม.ปลาย ) ในสถานศึกษา ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  ถ้าสอนการศึกษาตามอัธยาศัย หรือการศึกษาต่อเนื่อง ( อาชีพ ทักษะชีวิต การพัฒนาสังคมและชุมชน การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ) จึงจะไม่ต้องมีใบอนุญาต
             ถ้าใครไม่มี ต้อง "ขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู"

             แต่ กศน. ไม่กำหนดเรื่องนี้ หลายแห่งจึงไม่ขอ
             เมื่อถึงเวลาที่ครูต้องการใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือต้องการเรียน ป.บัณฑิต จึงจะมีปัญหา

             คืนวันที่ 12 ต.ค.  คุณ Anchistha Ka ปรึกษาผ่านหน้าเฟซบุ๊คผมว่า
             "ดิฉันเป็นครู กศน. มา 3 ปีแล้วค่ะ ตอนนี้สอบได้ครบ 9 มาตรฐานแล้ว และได้ไปทำเรื่องขอใบประกอบวิชาชีพ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ขาดเอกสารการขออนุญาตทำการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งต้องทำเรื่องขออนุญาตและรอให้ครบ 1 ปีก่อน จึงจะไปทำเรื่องขอใบประกอบวิชาชีพได้   รบกวนอาจารย์หารือกับคุรุสภาให้หน่อยนะคะ ว่ามีวิธีการใดบ้างที่ใช้แทนเอกสารดังกล่าว เพื่อจะได้ไม่ต้องรอไปอีกตั้ง 1 ปี   (ปล.มีเพื่อนครูอีกหลายคนที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ และยังไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตสอน  แต่เดิมพวกเราเข้าใจว่าต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการให้ เพราะมีการสำรวจกันก่อนหน้านี้แล้วทุกปี)"


             ผมตอบว่า   คงต้องมีการ "อนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ครับ ( ขออนุญาตปฏิบัติการสอน ขอโดยเจ้าตัว  ต่างกันกับ ขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งต้องมีหนังสือนำส่งจาก ผอ.สถานศึกษา )
             เคยเห็นว่า ขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ย้อนหลังได้  เมื่อคุรุสภาอนุญาตก็ประเมินการสอนส่งเลย เพราะเราสอนกันมานานแล้ว ไม่ต้องคอย 1 ปี  ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ายังขอย้อนหลังได้หรือไม่
             ( ที่ กศน.อ.ผักไห่ มีครู กศน.ตำบล ชื่อ สมัย สมภาร เคยทำเรื่องนี้ โดยเมื่อเขาเรียนจบ ป.บัณฑิต ( เรียนหลักสูตร 2 ภาคเรียน แบบ 9 วิชา ไม่มีฝึกสอน มีผลเหมือนการสอบผ่าน 9 มารตรฐานนั่นแหละ ) จบแล้ว เขาไปขอใบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่คุรุสภาให้ขออนุญาตปฏิบัติการสอน หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์เขาก็นำเรื่องขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ย้อนหลัง แนบเอกสารต่าง ๆ เช่นคำสั่งแต่งตั้งเป็นครูย้อนหลัง แบบประเมินการสอน ไปยื่น  ก็ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเลย ไม่ต้องคอย 1 ปี
                ใครสนใจ ลองคุยขั้นตอนวิธีทำกับสมัยดูนะ 089-9837323
                ถ้าคุยแล้ว ทำตามแล้ว ได้ผลยังไง ช่วยรวบรวมเรียงเรียงขั้นตอนวิธีการมาเผยแพร่ด้วยนะครับ )

             ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลายคนแล้วครับ


             เมื่อขออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว  ก็ควรรีบสอบหรือเรียน ป.บัณฑิตให้ได้ภายใน 2 ปี   ถ้าไม่ได้ จะขออนุญาตฯครั้งที่ 2 ต้องมีเอกสารหลักฐานการพัฒนาตนเองตามที่คุรุสภากำหนด   ( การอยู่ในระหว่างเรียน ป.บัณฑิต หรือสอบผ่านบางมาตรฐานแล้ว ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาตนเอง )

 

         12. วันเสาร์ที่ 13 ต.ค.55  ท่าน ผอ.ภาคิณ  กศน.อ.นาเยีย  โพสท์ในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  กศน.อ.นาเยีย ได้พัฒนารายวิชาเลือก ม.ปลาย สำหรับเรียนต่อสายสาธารณะสุข พยาบาล แพทย์ หรือ สายวิทย์อื่น ๆ   กศน.อำเภอใดสนใจ ขอใช้ได้   ดังนี้
             - พว 33060  ชีวน่ารู้  (3 หน่วยกิต)
             - พว 33061  มหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิต  (2 หน่วยกิต)
             - พว 33062 วิ วัฒนาการของสิ่งมีชีวิต  (4 หน่วยกิต)
             - พว 33063  ท่องโลกเคมี  (3 หน่วยกิต)
             - พว 33064  เคมีในชีวิตประจำวัน  (3 หน่วยกิต)
             - พว 33065  พลังงานสู่การเรียนรู้  (4 หน่วยกิต)

             ใครสนใจ  เข้าไปดูข้อมูลแต่ละรายวิชา ไดที่  http://203.172.142.230/nfe_reserve/backend/index.php 
             - คลิกที่ Login  (ถ้าจะดูข้อมูลเฉย ๆ ไม่ต้องใส่ user id และ password ก็ได้ )
             - เข้าไปแล้ว ชี้ที่ "ระบบค้นหาข้อมูล"  คลิกที่ "ระบบค้นหาข้อมูลหลักสูตรวิชาเลือก"
             - จากนั้น คลิกให้มีเครื่องหมายถูกหน้า "สาระการเรียนรู้" เลือก "วิทยาศาสตร์",   คลิกให้มีเครื่องหมายถูกหน้า "ประเภทรายวิชา" เลือก "รายวิชาเลือกที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้น",   คลิกให้มีเครื่องหมายถูกหน้า "ระดับการศึกษา" เลือก "ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย"   เสร็จแล้วคลิกที่ปุ่ม "ค้นหา"
             - ถ้าจะดูข้อมูลย่อของรายวิชาใด คลิกที่ปุ่ม View   ถ้าจะดูคำอธิบายรายวิชาและรายละเอียดคำอธิบายรายวิชา คลิกที่ปุ่มเปิดไฟล์

 

         13. วันที่ 14 ต.ค.55  คุณ “ต้าร์” ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  จะสอบ ผอ.กศน.อำเภอ เมื่อไร และตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ ที่ว่างมีกี่ตำแหน่ง มีที่ไหนบ้าง

             ผมตอบว่า
             1)  ท่าน ผอ.กจ.กศน.เคยบอกผมว่า  กว่าจะสอบ ผอ.กศน.อำเภอ ( และ ครูผู้ช่วย ) ก็คงประมาณเดือน ธ.ค.55
             2)  ตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ( รวม กศน.อำเภอ ภาค ศูนย์วิทย์ฯ ศูนย์ฝึกฯ ) ว่างประมาณ 40 ตำแหน่ง
             3)  ถ้าอยากรู้ว่าว่างที่ไหนบ้าง ให้ดูในคำสั่งล่าสุด ที่ http://www.nfe.go.th/home/attachments/23238_สิ่งที่ส่งมาด้วย 2_5.pdf   ถ้าในคำสั่งมี ผอ.กศน.อำเภอย้ายออกจากที่ไหน และไม่มีคนย้ายเข้าที่นั่น ที่นั่นก็ว่าง

 

       14. วันที่ 15 ต.ค.55 กลุ่มแผนงาน กศน. บอกผมว่า "แนวทางการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2556" เสร็จแล้ว ระบุว่าจัดสรรค่าจ้างบรรณารักษ์อัตราจ้างเดือนละ 9,140 บาท เท่าปีก่อน  กำลังจะเตรียมใส่ซองส่งทางไปรษณีย์  ( ผมบอกว่า ช่วยนำลงเว็บสำนักงาน กศน.ให้ด้วยซี )

 

หมายเลขบันทึก: 505575เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2012 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เหนื่อยเลยนะครับอาจาร์เอกชัย โดยเฉพาะ ข้อ 9 นี้ ถล่มกันในเพจ ครูนอกระบบเละเลย หวังว่าคงจะแก้ปัญหาและเข้าใจกันนะครับ

มาสอยไปเผยแพร่ต่อแล้ว อิอิ... http://sara.nfe.go.th ขอบคุณพี่เอกมากๆ ...

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Blank Blank Blank

นภัคภัณฑ์ ปานหลุมข้าว

ดิฉันมีความเห็นว่า สมัยก่อน  ครูที่มีใบประกอบวิชาชีพที่สอนมานานแล้วได้ใบประกอบโดยไม่ต้องเรียน  ไม่ต้องสอบ9 มาตรฐาน แต่ได้ใบประกอบวิชาชีพแล้ว มันไม่ยุติธรรมเลยพอสอบติดครูผู้ช่วยก็ได้เรียนต่อเพราะจะต้องมีวุฒิทางการสอนแต่เขาก็ยังมีภาษีที่เหนือกว่า เพราะมีใบประกอบวิชาชีพ....นศ. ปบัณฑิต มสธ. ก็มีแนวโน้มว่าขอเทียบ9มาตรฐานไม่ได้  ทำไมครูสมัยก่อน(บางคนที่ไม่ได้เรียนทางการสอนแต่มีใบประกอบวิชาชีพ) ช่างวาสนาคีอย่างนี้  บางคนขึ้นบัญชีจะถึงลำดับเรียก เรียกบรรจุไปหมาดๆก็มี

นภัคภัณฑ์ ปานหลุมข้าว

ครูบางคนจบ ปวส.และปัจจุบันมีวุฒิ ปวส. อย่างเดียว ยังมีใบประกอบวิชาชีพเลย มีตัวตนจริงและเป็นครูขึ้นทะเบียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ทราบแล้วก็เออหนอเราจบ ศศบ. เอกภาษาไทย กำลังเรียน ป.บัณฑิต ในรุ่น 2555 น้อยใจเหลือเกิน คุรุสภาเห็นใจคนที่ตั้งใจด้วยเถิดค่ะ

ดิฉันอยากเรียนถามผู้รู้ค่ะว่ากรณีที่ดิฉันเป็นลูกจ้างของ อบต. ตำแหน่ง ผช.นักวิชาการศึกษา แต่ดิฉันมีความประสงค์อยากจะขอขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเดิมที่ดิฉันมีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนแล้ว และได้หมดอายุไปแล้ว เมื่อเดือน กันยายน 2555  (ต่ออายุมา 2 ครั้งแล้ว )ดิฉันจะทำอย่างไรค่ะ และจะต้องมีเอกสารอะไรบ้างค่ะประกอบในการขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ถามคุรุสภานะครับ ( ปกติใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ต่ออายุได้แค่ 2 ครั้ง )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท