ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 24. เทคนิคดึงความสนใจ นศ. (4) ข้อความที่คัดลอกมา


นี่คือเทคนิคฝึก นศ. ให้มีทักษะในการอภิปรายแลกเปลี่ยนกับเพื่อน เป็นเทคนิคช่วยให้ นศ. ในชั้นได้มีโอกาสอภิปรายเท่าเทียมกัน ไม่ใช่คนไหนมีนิสัยเงียบก็ไม่อภิปราย คนไหนช่างพูดก็อภิปรายบ่อย

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 24. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (4) ข้อความที่คัดลอกมา   

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๒๓ นี้ ได้จาก Chapter 12  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 4 :  Quotes

 

SET 4  ข้อความที่คัดลอกมา    

จุดเน้น  :  ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  ปานกลาง

 

นี่คือเทคนิคฝึก นศ. ให้มีทักษะในการอภิปรายแลกเปลี่ยนกับเพื่อน   เป็นเทคนิคช่วยให้ นศ. ในชั้นได้มีโอกาสอภิปรายเท่าเทียมกัน   ไม่ใช่คนไหนมีนิสัยเงียบก็ไม่อภิปราย   คนไหนช่างพูดก็อภิปรายบ่อย   ทำโดยให้ นศ. แต่ละคน จับฉลากกระดาษที่พิมพ์คัดลอกประโยคหรือคำสำคัญจากเอกสารหรือหนังสือที่กำหนดให้อ่าน   และให้เวลา ๒ - ๓ นาที นึกเตรียมคำอธิบายของตน   แล้วเอามาอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในชั้น 

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. เลือกประโยค หรือข้อความ ๕ - ๖ ข้อความจากตำรา หรือเอกสาร หรือบทเรียน
  2. พิมพ์ข้อความลงบนกระดาษชิ้นเล็กๆ   ข้อความละแผ่น   ให้ได้จำนวนเท่าจำนวน นศ. ในชั้น    พับใส่ภาชนะ
  3. นศ. แต่ละคนจับฉลาก ๑ ใบ
  4. นศ. ใช้เวลา ๒ - ๓ นาทีคิด ว่าจะพูดว่าอย่างไร เพื่ออธิบายหรือตอบข้อความที่คัดลอกมา
  5. ให้ นศ. เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายกันเอง    เพื่อเรียนรู้ว่าคนเรามีความเห็นต่อแต่ละเรื่องแตกต่างกันได้มากแค่ไหน

              

                การปรับใช้กับการเรียน online

ใช้ได้ง่ายปานกลาง   ทำได้โดยเลือกคัดลอกข้อความ ๔ - ๕ ข้อความ จัดทำ discussion forum   โดยแยก forum ละ ๑ ข้อความ   ให้ นศ. เข้าเป็นสมาชิก ๑ ฟอรั่ม   โดยอาจให้เลือกเอง หรือครูแบ่งกลุ่มให้   อาจมอบหมายให้ นศ. ๑ คนในแต่ละฟอรั่ม ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฟอรั่ม   ให้เวลาอภิปราย ๑ สัปดาห์ แล้วผู้จัดการเขียนรายงานสั้นๆ ส่งครู   เพื่อให้ครูรู้ว่า ฟอรั่มสร้างการเรียนรู้มากน้อยเพียงไร 

 

 การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

  • ให้ นศ. กำหนดข้อความคัดลอกเอง จากหนังสือ หรือเอกสารที่กำหนดให้อ่าน    โดยอาจเลือกข้อความที่สำคัญ  หรือข้อความที่คลุมเครือเข้าใจยาก   หรือข้อความที่ นศ. ไม่เห็นด้วย   โดยให้ระบุไว้ด้วย ว่าเอามาจากหน้าไหน บรรทัดใด  
  • อาจไม่ต้องจับฉลากก็ได้   โดยให้เลือกข้อความ นำมาอภิปรายกันได้เลย
  • อาจแบ่ง นศ. เป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๕ - ๖ คน    มอบภาชนะใส่ฉลากข้อความเท่าจำนวนคน    ให้จับฉลาก   แล้วอธิบาย   คล้ายๆ ๑ คน ต่อสู้หรือแข่งขันกับเพื่อนในกลุ่มที่เหลือ   หมุนเวียนกันไป

 

คำแนะนำ

ควรให้เวลา นศ. คิดนานพอสมควร ก่อนจะเริ่มการอภิปราย

 

หมายเหตุของผม

ในกรณี นศ. ไทย ครูควรย้ำว่า การอภิปรายครั้งนี้ ไม่เน้นถูก-ผิด   ต้องการให้ นศ. ได้เรียนรู้ว่า ในเรื่องหนึ่งๆ มีได้หลายมุมมอง    และต้องการให้อภิปรายกันโดยมีข้อมูลหรือแหล่งอ้างอิงมาสนับสนุนด้วย   ไม่ใช่มาจากความคิดของตนลอยๆ เท่านั้น   นศ. ไทยมีแนวโน้มไม่กล้าออกความเห็น เพราะกลัวผิด กลัวเสียหน้า

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Brookfield SD, Preskill S. (2005) Discussion as a way of teaching : Tools and techniques for democratic classrooms. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 72-73

วิจารณ์ พานิช

๙ ต.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 505190เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2012 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2012 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท