ราชบัณฑิตกับรูปวรรณยุกต์


ท่านกำลังจะทำให้คำศัพท์กลายเป็นคำอ่านซึ่งอยู่ในวงเล็บในพจนานุกรมและมีสถานะเป็นสัทอักษร ไม่ใช่คำศัพท์อีกต่อไป หรือไม่

         การที่ราชบัณฑิตโยนก้อนหินถามทาง เรื่องการเขียนคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศจนเป็นข่าวใหญ่นั้น  นับว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่เนื้อหาสาระทางวิชาการได้กลายเป็นกระทู้ที่เรียกร้องความสนใจในวงกว้าง  ที่แน่ๆ คือ เรื่องนี้ทำให้คนไทยจำนวนค่อนประเทศ (ตามทฤษฎีส่วนตัวของผม) เพิ่งรู้ว่า ประเทศไทยมีราชบัณฑิตคอยดูแลเรื่องการใช้ภาษาไทยด้วย

        สองสามวันก่อน ได้อ่านกระทู้และความเห็นเรื่องนี้ในเว็บบอร์ดหนึ่ง  ลองอ่านๆ ดูราวๆ ยี่สิบความเห็น  พบว่าบางความเห็นออกลูกตลกไปเลย ว่าราชบัณฑิตทำเรื่องนี้เพื่อช่วยท่านนายกฯ เรื่องภาษาพูด  โดยเริ่มที่ภาษาไทยก่อน แล้วค่อยทำภาษาอังกฤษต่อทีหลัง (ตลกแบบนี้มีคนไม่ขำด้วยมากมายแน่นอน)

        ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ทุกคำ เมื่อคำต่างประเทศตกถึงมือคนไทยจะถูกจับบวชเป็นไทยกลายเป็นคำที่มีเสียงวรรณยุกต์ทันที    และนี่ทำให้คนไทยออกเสียงวรรณยุกต์ให้แก่คำทับศัพท์ทั้งหลายได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีรูปวรรณยุกต์ใดๆ เสนอหน้ามาให้เห็นก็ได้  ในขณะเดียวกัน การใช้รูปวรรณยุกต์ในภาษาไทยของตัวเองก็คือจุดอ่อนของคนไทยอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง (ไม่กล้าใช้ว่า จำนวนมาก เดี๋ยวถูกหาว่าไม่ชาตินิยม) ดังนั้น สู้ไม่ต้องใส่รูป แต่ออกเสียงได้น่าจะดีกว่ากันเยอะ อย่างน้อยๆ ก็จะได้ไม่เขียนผิด

       ข้อเสนอของราชบัณฑิตครั้งนี้ ดูอย่างเจตนาดีคือทำให้การบวชคำต่างประเทศเป็นคำไทยในเรื่องวรรณยุกต์สมบูรณ์ครบถ้วนทั้งเสียงและรูป  ขณะเดียวกันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ท่านกำลังจะทำให้ คำศัพท์ กลายเป็น คำอ่าน ซึ่งอยู่ในวงเล็บในพจนานุกรม และมีสถานะเป็น สัทอักษร (phonetic alphabet) ไม่ใช่คำศัพท์อีกต่อไปหรือไม่

       คนไทยจำนวนหนึ่งออกเสียงภาษาอังกฤษตามเสียงอ่านคำทับศัพท์  ซึ่งทำให้การสื่อสารกับชาวต่างประเทศไม่ค่อยประสบความสำเร็จมานานแล้ว  ถ้าตอกย้ำด้วยรูปวรรณยุกต์อีก อาจทำให้เข้าใจผิดไปกันใหญ่ว่านี่คือสำเนียงภาษาต่างประเทศที่ถูกต้องที่สุด  ถ้าเป็นอย่างนี้จริง ผมว่าไม่ต้องรออีกสามปี เกือบทุกชาติในอาเซียนจะพากันรุมดูถูกภาษาอังกฤษของคนไทยมากขึ้นอีกแน่ๆ  (หลังจากโดนฝรั่งเล่นงานเรื่องการใช้เฟสบุคมาแล้วเมื่อหลายเดือนก่อนว่าพวกเราใช้ได้อย่างงี่เง่ามาก)

      หรือว่าถึงคราวแล้วที่กรรมจะตามทันชาติที่ชอบดูถูกชาติอื่นมานานเสียบ้าง  แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้น คือ ท่านนายกสิครับ(ถึงแม้จะยังไม่ทราบชัดก็ตามว่าเป็นนายกสมาคม หรือ เทศบาล หรือระดับไหน ก็น่าเป็นห่วงได้)

    

หมายเลขบันทึก: 504727เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2012 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมชอบภาษาไทย มีเสียงวรรณยุกต์  เป็นเสมือนเสียงดนตรี...

ชื่นชมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท