ลปรร. เรื่องการจัดการความรู้ ของกองทันตฯ (7) ... KM กับงานกลุ่มผู้สูงอายุ ... รอบแรก หาความรู้ร่วมกับศูนย์อนามัย และเครือข่าย


ทางศูนย์ไปกระตุ้นให้จังหวัด และ รพ. ดูแลในชมรมผู้สูงอายุ แต่เป็นแค่คนกระตุ้น ไม่ใช่คนที่ไป set กิจกรรมให้ กิจกรรมนั้นเราอยากให้ออกมาจากชมรมผู้สูงอายุเป็นคนพูดเอง และบุคลากรเป็นคนสนับสนุน

 

หมออ้อย ... เล่ากิจกรรมการเริ่มงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุต่อนะคะ 

เมื่อครั้งที่เราไปที่ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา ... ศูนย์นี้ เป็นศูนย์ที่จะทำ Excellent ด้านผู้สูงอายุนะคะ

ในทีมมี อาจารย์หมอมนู จากสำนักส่งเสริมสุขภาพไปด้วย ร่วมกับกองทันตฯ และมีทีมศูนย์อนามัยที่ 5 คุณรุ่งนภา ซึ่งเป็นนักวิชาการที่รับผิดชอบเรื่องผู้สูงอายุ ทีมทันตฯ ทพ.บัญชา และทีมนักวิชาการจาก นครราชสีมา มาร่วมกันจัดกิจกรรม พูดคุยกับเครือข่าย

เราไปก่อน 1 วัน เพื่อไปคุยกันในทีมงานก่อนว่า ตกลงเราจะคุยกันในเรื่องอะไร ที่เราจะสามารถดึงเอาข้อมูลจากผู้สูงอายุ และผู้ปฏิบัติงานออกมาได้ ว่า "ผู้สูงอายุมีเรื่องฟัน ช่องปากอย่างไร และมีกิจกรรมอะไรที่เคยทำในเรื่องสุขภาพช่องปากอะไรบ้างหรือเปล่า หรือเรื่องอื่นๆ ที่เขาทำกันเอง ดูแลกันเอง เพื่อให้ความยั่งยืนแล้วในชมรมได้บ้าง"

พอวันรุ่งขึ้นก็เชิญผู้สูงอายุมาด้วย และในทีมงานพื้นที่ของเขต 5 ได้กลุ่มผู้สูงอายุ และคณะทำงาน 2 จังหวัด คือ จังหวัดชัยภูมิ และบุรีรัมย์ มาทั้งหมด 16 ท่าน มีการแบ่งกลุ่ม และนั่งคุยกัน ซึ่งหัวข้อที่เราได้ให้กลุ่มคุยกันวันนั้น จะเป็นเรื่อง "ทัศนคติของผู้สูงอายุ กับสุขภาพช่องปาก และเรื่องของฟันดีควรมีลักษณะอย่างไรในมุมมองของผู้สูงอายุ และกิจกรรมที่ชมรมผู้สูงอายุทำอยู่ และกิจกรรมที่ชมรมผู้สูงอายุคิดว่าจะทำ เรื่องสุขภาพช่องปากให้กับสมาชิกในชมรม และนอกชมรม"

ผลปรากฏว่า จากการคุยกันในวันนั้น เนื่องจากเป็นการทำครั้งแรกๆ ของเรา และบุคลากรก็จะมีหลายหลาก ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ นวก. เจ้าหน้าที่ PCU และผู้สูงอายุด้วย ตอนแรกๆ เราก็กังวลว่า แล้ว นวก. ของเราจะไปทำให้ผู้สูงอายุไม่กล้าพูดอะไรหรือเปล่า แต่ปรากฏว่า ผู้สูงอายุถ้าไม่บอกให้หยุด ท่านก็ไม่หยุดนะคะ

ผลสุดท้าย จากโคราช เราพบว่า ผู้สูงอายุเท่าที่คุย

  • เรื่องทัศนคติต่อเรื่องฟัน เขารู้สึกเสียดาย ว่า ถึงวัยนี้เขาสูญเสียฟันไปแล้ว
  • เขาก็อยากว่า ถ้าทำได้ ช่วยให้เพื่อนๆ หรือว่าลูกหลานที่ยังไม่สูญเสียฟัน และยังไม่เกิดความเจ็บปวดในช่องปาก ถ้าช่วยได้ เขาก็อยากช่วย
  • ในมุมมองของผู้สูงอายุ เขามองว่า มีความสามารถในการเคี้ยวอาหารได้ เป็นอันดับ 1 และเรื่องของพูดชัด และความมั่นใจเวลาออกนอกบ้าน เรื่องความสวยงามก็ยังมีอยู่นะคะ 60 ปี ก็ยังถือว่าเป็นปกติมาก
  • ในเรื่องกิจกรรมเขาก็เสนอมามากมาย เรื่องของขอเจ้าหน้าที่ไปช่วยสอนได้ไหม ในวันที่เขานัดประชุมกัน มีการประกวด

แต่ก็เป็นการคุยกันในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนที่มาจากชมรม เพียงแต่ 16 คน เพราะฉะนั้น เหมือนกับว่า เป็นการคุยกันรอบแรก ที่เราอยากจะหาข้อมูลเกี่ยวกับชมรมผู้สูงอายุ

อีกแห่งหนึ่ง เราไปที่เชียงใหม่ เราทำกับศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ ก็ทำในลักษณะเดียวกัน ที่เชียงใหม่ ยิ่งชมรมเข้มแข็ง เราก็ได้องค์ความรู้จากตัวผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพช่องปากของท่านเองได้หลายอย่าง มีทั้งใช้เกลือ ใช้ไม้กุดทา หรือไม้คนทา คล้ายๆ ไม้ข่อย ทำมาเป็นขนาดสักครึ่งปากกา ทำปลายด้านหนึ่งแตกเป็นพู่ อีกด้านหนึ่งเป็นปลายแหลมๆ ก็จะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เราคุยกัน มีผู้สูงอายุบางท่าน เขาบอกว่า เขาดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง โดยใช้ไหมขัดฟัน ในชมรม นี่ก็เป็นการดูแลตนเองของเขา มีคำถามที่เราได้ถามไปว่า ไปแนะนำเพื่อน และคนในชุมชนได้ไหม เขาก็บอกว่า เดี๋ยวเขาจะกลับไปคุยในชมรม

ตรงนี้พอเราคุยกับชมรมเสร็จแล้ว เราก็คุยกับทางศูนย์ฯ เพื่อที่จะให้ช่วยดูแลต่อว่า ทางศูนย์ไปกระตุ้นให้จังหวัด และ รพ. ดูแลในชมรมผู้สูงอายุ แต่เป็นแค่คนกระตุ้น ไม่ใช่คนที่ไป set กิจกรรมให้ กิจกรรมนั้นเราอยากให้ออกมาจากชมรมผู้สูงอายุเป็นคนพูดเอง และบุคลากรเป็นคนสนับสนุน

ก็เหมือนเป็นการ commit กันไว้ว่า พอตัวแทนผู้สูงอายุมาคุยกันแล้ว หลังจากวันนั้นก็จะกลับไปจัดกิจกรรมนะ 

 

หมายเลขบันทึก: 50452เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2006 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท