แนวคิดการปกครองส่วนท้องถิ่นในกูฏทันตสูตร


แนวคิดคนอินเดียโบราณที่ต้องการให้ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองคงอยู่ตลอดไปด้วยการบูชายัญที่ต้องมีการฆ่าสัตว์เพื่อปรารถนาและอ้อนวอน แต่พระพุทธเจ้าปฏิรูปแนวคิดดังกล่าวมาเป็นการให้ทุนด้านการเกษตร, จัดตั้งกองทุนด้านพาณิชย์กรรม และการเพิ่มขั้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะทำให้ โจรผู้ร้ายไม่มี ถูกหลักการด้านศีลธรรมที่ไม่มีการเข่นฆ่า เป็นการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่ยั่งยืน และเพิ่มผลผลิต และภาษีเงินได้อีกเข้าคลังหลวง นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

แนวคิดการปกครองส่วนท้องถิ่นในกูฏทันตสูตร

แนวคิดการปกครองในกูกทันตสูตร สามารถเปรียบเทียบกับระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยในขณะนี้ คือรัฐบาลกลางได้มอบอำนาจการตัดสินใจของประชาชนที่สามารถเลือกตัวแทนของตนเองได้ให้เข้ามาบริหารชุมชน ท้องถิ่น และมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาบริหารจัดการอย่างมีระบบ และแบบแผน โดยมีชุมชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลทรัพยากรที่มีอยู่แบบจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการเรื่องของเศรษฐกิจชุมชนให้พอเพียง การดำเนินชีวิตของชุมชนแบบเรียบง่าย ไม่เห่อเหิมไปกับวัตถุนิยมสมัยใหม่มากนัก ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าการดำเนินชีวิตควรให้เป็นไปแบบพอเพียง ยึดหลักคำสอนทางศาสนาเป็นเครื่องดำเนินชีวิต อยู่ด้วยความรู้รักสามัคคี     พระครูโสภณปริยัติสุธี[1] ได้กล่าวถึงแนวคิดทางการปกครองในกูฏทันตสูตรออกเป็นด้านต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

                                ๑) การกระจายอำนาจ กูฏทันตสูตร เป็นพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกพระสูตรหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความคิด วิธีการจัดการกับปัญหา และที่สำคัญคือรูปแบบการปกครองรูปแบบพิเศษในสมัยพุทธกาล แม้จะไม่ได้เจาะลึกเป็นกฎหมายให้เป็นอย่างกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เทศบาล หรือแม้แต่ องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ก็พอจะมองเห็นถึงลักษณะพิเศษบางประการที่ผู้ปกครองมอบให้ ในสมัยนั้นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นหรือแบบพิเศษ เรียกว่า พรหมไทย คือหมายความว่าพระราชาทรงมอบรางวัลพิเศษให้ หรือของอันพรหมประทานของให้ที่ประเสริฐสุดหมายถึงที่ดินหรือบ้านที่พระราชทานบำเหน็จให้ ซึ่งในที่นี้ก็คือทรงมอบ หมู่บ้านชื่อว่าขาณุมัตตะ เป็นการแยกปกครองอิสระต่างหากจากแคว้นมคธ โดยพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานปูนบำเหน็จให้ถ้าหากมองในแง่ของการกระจายอำนาจ (Decentralize) ซึ่งรัฐบาลกลางได้มอบอำนาจให้ไปจัดการท้องถิ่นไปดำเนินการปกครองและจัดทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเงื่อนไขความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถปกครองตนเองได้ด้วย

๒) ระบอบการปกครองส่วนท้องถิ่น เราจะเห็นว่าชุมชนขาณุมัตตะ เป็นชุมชนที่เจริญและได้รับการพัฒนาพอสมควรโดยมีพราหมณ์กูฏทันตะ เป็นผู้ดูแลและปกครอง แต่ที่สำคัญมีอำมาตย์ที่ปรึกษา ซึ่งอาจจะจำลองมาจากการปกครองส่วนกลาง แต่อำมาตย์ในที่นี้มีหน้าที่ปรึกษาติดต่อประสานงาน ไม่ได้เป็นตำแหน่งบริหาร เหมือนตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ในปัจจุบันแต่เป็นตำแหน่งคล้ายเป็นเลขานุการพราหมณ์กูฏทันตะ อย่างไรก็ตามนอกจากการกล่าวถึงระบบการปกครองแล้ว จะเห็นได้ว่าพระสูตรได้กล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจที่ต่อการปกครองของรัฐด้วย ดังนี้

๓) เศรษฐกิจเป็นพื้นฐานทางการเมือง ในจักกวัตติสูตรและกูฏทันตสูตร ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการปกครองของพระราชา ซึ่ง ปรีชา ช้างขวัญยืน[2] ได้กล่าวไว้ว่า กูฏทันตสูตร เป็นอีกพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐมั่นคง พระสูตรนี้กล่าวถึง สาเหตุของอาชญากรรมและได้ทรงชี้ว่า การที่จะให้อาชญากรรมหมดไปนั้นต้องทำให้เศรษฐกิจของประชาชนดี ชาวนาจะต้องได้สิ่งที่จำเป็นแก่การทำนา พ่อค้าจะต้องมีทุน ลูกจ้างต้องได้เงินมากพอเลี้ยงชีพ คนเดือนร้อนจะต้องได้รับการยกเว้นภาษี หากทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะมีรายได้เพียงพอแล้วรัฐก็จะสงบสุข การจะปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้วิธีการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ที่ปรากฏในพระสูตรจะเห็นได้จากพราหมณ์ปุโรหิตแนะนำให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากถูกฆ่าก็จะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง โดยที่แท้ควรถอนรากโดยผู้ร้าย คือ แจกพืชแก่กสิกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้า ให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการ พระราชทรัพย์ก็เพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริง

  ๑. เป้าหมายของขาณุมัตตะ[3]

        ๑) เป้าหมายขององค์กรท้องถิ่น เมื่อกูฏทันตพราหมณ์ เมื่อได้รับพระราชทานบ้านขาณุมัต มาปกครองแล้วบ้านเมืองก็เจริญก้าวหน้า ข้าวปลาก็อุดมสมบูรณ์ พราหมณ์จึงคิดที่จะยึดนโยบายสร้างความอุดมสมบูรณ์และสันติสุขอย่างถาวรและยั่งยืนอย่างนี้ตลอดไป โดยคิดว่าการบูชายัญคือทางออกที่ดีที่สุด รูปแบบการปกครองเช่นนี้เป็นแนวความคิดคล้ายกับ Geertz ในเรื่อง “รัฐพิธีกรรม” ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐ (นคร) กับสังคม (หมู่บ้าน) จึงมีความเกี่ยวข้องกันเฉพาะกิจกรรมหลัก ๒ อย่าง คือ ในการประกอบพิธีกรรม กับการทำสงคราม กิจกรรมสองอย่างนี้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชน โดยที่สถานภาพทางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมือง วัดกันจากความสามารถในการควบคุมกำลังคนและทรัพยากรเพื่อที่จะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงสถานภาพในทางสังคม ชนชั้นสูงตระกูลใดสามารถประกอบพิธีกรรมได้อย่างมโหฬาร  ก็แสดงว่าตระกูลนั้นอยู่ในระดับชั้นของสังคมที่สูง และเป็นการแสดงว่ามีความใกล้เคียงกับเทพมาก แม้รูปแบบการบริหารจัดการในรูปแบบดังกล่าวนี้จะใช้กรณีของนครบาหลี ในศตวรรษที่ ๑๖ มานำเสนอ แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า บาหลี ในอินโดนีเชียก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโบราณเช่นกัน

    ๒) นโยบายการบูชายัญ จุดมุ่งหมายของการบูชายัญก็เพื่อต้องการให้สถานภาพของตนเองอยู่ได้ต่อไปและเพื่อประโยชน์แก่ตัวเองในที่นี้กูฏทันตะพราหมณ์เมื่อจะทำจึงมาทูลถาม พระพุทธเจ้าทรงยกพระราชประวัติของพระเจ้ามหาวิชิตราชมาเปรียบเทียบ ดังข้อความในพระสูตรว่า

“พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมาท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน”  จะเห็นได้ว่า การบูชายัญเป็นนโยบายของรัฐที่ปกครองประชาชน โดยอาศัยพราหมณ์ปุโรหิต ได้ให้คำแนะนำพระเจ้ามหาวิชิตราช ให้ปฏิบัติตนเป็นพระราชาที่ดี และเมื่อพระราชาทรงเป็นแบบอย่างในการทำความดีแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ปฏิบัติตนเป็นคนดีตามพระองค์ด้วย ดังจะเห็นได้จากการส่งเครื่องราชบรรณาการ แต่พระราชาไม่ทรงรับ ประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงร่วมกันเป็นบริจาคเป็นทาน

๒. การมีส่วนร่วมของชุมชน  (Political  Participation)

         การมีส่วนร่วมของชุมชนในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองได้กำหนดออกมาและมีผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ประกอบไปด้วยการคัดค้านนโยบาย การเสนอแนวทางพัฒนา และการทำประชาวิจารณ์ ดังนี้[4]

               ๑) การคัดค้านนโยบาย (Appeal) แม้พระเจ้ามหาวิชิตราช จะทรงเป็นมหากษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ ก็ต้องได้รับการรับรองจากเสนาอำมาตย์ก่อน จะเห็นว่าพราหมณ์ปุโรหิต เป็นเสมือนองคมนตรี เจ้าพิธีกรรม เสนาธิการในคนๆ เดียวแต่มีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นโดยมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองทุกมิติอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (Basic Rights or Fundamental Rights) และสิทธิของพลเมือง (Cityzens Rights) ทั้งนี้พระองค์ทรงให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) และกิจกรรมของประชาชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดัน หรือโน้มน้าวให้รัฐบาลผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีอำนาจ หรืออิทธิพลต่อทุกกระบวนการทางการเมือง การปกครอง มีความเห็นหรือตัดสินใจซึ่งในที่นี้พราหมณ์ปุโรหิตได้เป็นตัวแทนแสดงทัศนะที่ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ได้คัดค้านการบูชายัญแบบเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติมา  เหตุที่คัดค้านเพราะการทำการบูชายัญต้องใช้เครื่องประกอบมากมาย อีกทั้งค่าใช้จ่ายก็มหาศาลในการเตรียมการนอกจากนั้นแล้วยังไม่ประกอบด้วยบุญ คือยังมีการนำชีวิตของสัตว์หลากหลายชนิดเข้ามาทำพิธีกรรมอีกเป็นจำนวนมาก

๒) การเสนอแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ( R and D ) พราหมณ์ปุโรหิต ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการเสนอแนวทางในการพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า และเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยปฏิวัติความคิดที่จะทำลายล้างอาชญากร มาเป็นการส่งเสริมอาชีพหรือที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economics) ให้กับผู้คนในภายใต้การปกครองซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้มีการสำรวจข้อมูลในเชิงของการวิจัย (Reseach) และนำมาพัฒนา (Development) บ้านเมืองให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  พราหมณ์ปุโรหิต จึงเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีก ๓  ประการ คือให้แจกพันธุ์พืชอาหารให้กับพลเมือง ให้แจกทุนในการค้าขาย และให้เงินเดือนแก่ข้าราชการซึ่งจะเห็นได้ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ย่อมผูกพันกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ

            ด้านการเมือง เมื่อผู้นำต้องการให้เกิดความผาสุก หรือการกินดีอยู่ดีของปวงชน ต้องวางนโยบายคือกำหนดทิศทางโดยเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวนำ

            ด้านเศรษฐกิจ แม้จะไม่ใช่เป้าหมายอันสูงสุดแต่ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนมิใช่น้อยที่จะผลักดันคนให้ก้าวเดินได้ในที่นี้ ปุโรหิตได้วางเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองไว้ ๓ ประการคือ

                 (๑) ทุนด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนและคนส่วนใหญ่

    (๒) ทุนด้านพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกรับและส่งระบบสินค้าสู่เมืองน้อยใหญ่เพื่อให้ระบบคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และ

    (๓) ทุนด้านกำลังใจ ให้ข้าราชการรับเงินเดือน ซึ่งเป็นการบำรุงขวัญให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาจะได้ทุ่มเทในการทำงานต่อไป

                    พราหมณ์ปุโรหิต จึงได้แนะกลยุทธและวิธีการในการกำจัดเสี้ยนหนามแบบถอนรากถอนโคนเอาไว้เป็นหลักการอีก ดังนี้

                       (๑) ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์

                       (๒) ขอให้พระองค์พระราชทานด้านทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชย์กรรมในบ้านเมืองของพระองค์

                       (๓) ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

          ๓) ผลของการพัฒนา เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครอง และรัฐบาลที่จะได้รับผลกลับย้อนคืนมาในรูปแบบอื่น ๆ อีก ๗ ประการ คือ ประชาชนจะขยัน (อุตสาหกรรม) ไม่เป็นโจร ปล้นชิงทรัพย์ ลักขโมย เก็บภาษีอากรได้มากขึ้น สังคมจะสงบสุข ประชาชนจะมีความสามัคคี ครอบครัวจะไม่แตกแยก และอยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหา หรือวิธีการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นมีส่วนประกอบของการศึกษาวิจัยมาอย่างดีและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าจนทำให้นึกถึงการปกครองในยุคของพระศรีอาริย์

          ๔) การทำประชาวิจารณ์ (Vote) เมื่อท้าวเธอได้จัดการบ้านเมืองให้สงบสุขสมบูรณ์ตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว จึงคิดจะบูชามหายัญให้ได้ ดังนั้นพราหมณ์ปุโรหิตจึงแนะนำให้แสวงหาความร่วมมือกับบุคคลสำคัญต่าง ๆ เหมือนกับการทำประชาวิจารณ์ก่อนกับเหล่าข้าราชบริพาร

๓.วิเคราะห์มหายัญในกูฏทันตสูตร

         อดิศักดิ์ ทองบุญ[5] ได้วิเคราะห์มหายัญในกูฏทันตสูตร ออกเป็นประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

                   ๑) พระปรีชาสามารถในการสอน เมื่อกูฎทันตพราหมณ์ ทูลขอให้พระองค์บอกวิธีการประกอบมหายัญ ที่สามารถอำนวยผลสูงสุดให้แก่ผู้บูชา แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัด พระพุทธองค์จึงทรงวางแผนการสอนเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย คือหลักไตรสิกขาของพระองค์ โดยเริ่มต้น ทรงสร้างศรัทธาในมหายัญตามความเชื่อของพราหมณ์โดยทรง นำเรื่องการประกอบพิธีบูชามหายัญซึ่งมีคุณสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ (บริขาร) ๑๖ ประการ ของพระเจ้ามหาวิชิตราชมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน ทรงเน้นถึงการตระเตรียมการกันอย่างมโหฬาร เพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวและทรงทำได้สำเร็จ เพราะกูฏทันตพราหมณ์และคณะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง และให้ได้ผลจริง แต่เพราะทรงเน้นถึงการเตรียมการอย่างมโหฬาร ทำให้กูฏทันตพราหมณ์ทูลถามต่อไปถึงการบูชายัญที่มีการเตรียมการน้อย แต่มีผลมาก ซึ่งเข้าเป้าหมายของพระองค์

                   ๒) ทรงให้ทรรศนะปฏิวัติแนวคิดทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง   พระพุทธองค์ในฐานะพราหมณ์ปุโรหิต ได้ให้คำแนะนำแก่พระเจ้ามหาวิชิตราชเป็นเชิงปฏิวัติแนวความคิดทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในสมัยนั้นดังนี้

                        ๑.๑) ทรรศนะปฏิวัติแนวคิดทางสังคม ประกอบด้วย

                               (๑) เปลี่ยนแนวความคิดเรื่องการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์นานาชนิด เป็นการบูชายัญด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ แต่ให้ใช้เนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยแทน โดยไม่ต้องสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนและสัตว์ ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าและธรรมชาติ

                               (๒) เปลี่ยนความเชื่อจากเดิมที่เชื่อว่ามหายัญมียัญสมบัติ ๓ มีองค์ประกอบ ๑๖ มีผลมาก เป็นความเชื่อใหม่ว่า มหายัญนั้น มีการเตรียมการมาก แต่มีผลน้อยกว่านิตยทานที่ทำกันสืบๆ มา เริ่มตั้งแต่ชั้นต่ำสุด คือ การถวายทานโดยเจาะจงพระสงฆ์ผู้มีศีล ทั้งๆ ที่มีการเตรียมการน้อยกว่า เหตุผลที่มหายัญมีผลน้อยกว่านิตยทานชั้นต่ำ เพราะมหายัญทั่วไปมีการฆ่าสัตว์ ผู้มีศีลสมบูรณ์ เช่น พระอรหันต์จะไม่ไปรับทานในพิธีนั้นๆ ทำให้ขาดองค์แห่งทานที่สำคัญไป

                        ๑.๒) ทรรศนะปฏิวัติแนวคิดทางเศรษฐกิจ เมื่อพระเจ้าวิชิตราชทรงปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่า พระองค์มีโภคทรัพย์สมบัติที่เป็นของมนุษย์เป็นอย่างมาก ทรงรบชนะได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล จึงทรงปรารถนาจะบูชามหายัญที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่พระองค์ตลอดกาลนาน พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลแนะนำว่า บ้านเมืองขณะนั้นมีโจรผู้ร้ายมาก จึงไม่ควรฟื้นฟูพิธีพลีกรรมขึ้นมาในช่วงนั้น ควรปราบโจรผู้ร้ายให้หมดสิ้นก่อน และกราบทูลพิธีปราบโจรผู้ร้ายจากพิธีจองจำ มาเป็นการส่งเสริมด้านอาชีพ ดังได้กล่าวมาแล้ว

                        ๑.๓) ทรรศนะปฏิวัติแนวคิดทางการเมือง ประกอบด้วย

                               (๑) การปกครองแบบธรรมาธิปไตย โดยพระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม เช่น ทรงดำเนินตามคำแนะนำที่ชอบด้วยเหตุผลของพราหมณ์ปุโรหิตทุกประการ ไม่ทรงรับเครื่องบรรณาการที่บรรดาเจ้าประเทศราช พวกอำมาตย์ราชบริพาร พวกพราหมณ์ และพวกคฤหบดีนำมาถวาย

                               (๒) องค์ประกอบ ๑๖ ประการของมหายัญ จะเห็นว่าองค์ประกอบ ๑๖ การเป็นหลักการปกครองที่ทันสมัยที่สุด กล่าวคือ การตรวจสอบและแสดงคุณสมบัติ ๘ ประการของพระเจ้ามหาวิชิตราช การตรวจสอบคุณสมบัติ ๔ ประการของพราหมณ์ปุโรหิต ก็เทียบได้กับการแสดงวิสัยทัศน์ของข้าราชการชั้นสูง ผู้สนองงานของนักปกครอง ส่วนอนุมัติ ๔ ที่ได้จากบุคคล ๔ พวก ดังกล่าวแล้ว เทียบได้กับประชามติที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์นั่นเอง

                               (๓) หลักการพัฒนาคน จากการปราบโจรโดยให้การช่วยเหลือเกื้อกูลโดยการให้ความช่วยเหลือแทนการจองจำนั้น เป็นหลักการพัฒนาคน โดยมุ่งพัฒนาด้านอาชีพ ความเป็นอยู่ของคนให้ก้าวพ้นจากความยากจน ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหลักการหนึ่ง

          กล่าวโดยสรุป พระสูตรนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจ ที่ผูกโยงกับการเมืองการปกครองอย่างที่แยกแทบไม่ออก  แนวคิดคนอินเดียโบราณที่ต้องการให้ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองคงอยู่ตลอดไปด้วยการบูชายัญที่ต้องมีการฆ่าสัตว์เพื่อปรารถนาและอ้อนวอน  แต่พระพุทธเจ้าปฏิรูปแนวคิดดังกล่าวมาเป็นการให้ทุนด้านการเกษตร, จัดตั้งกองทุนด้านพาณิชย์กรรม และการเพิ่มขั้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะทำให้ โจรผู้ร้ายไม่มี ถูกหลักการด้านศีลธรรมที่ไม่มีการเข่นฆ่า เป็นการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่ยั่งยืน  และเพิ่มผลผลิต และภาษีเงินได้อีกเข้าคลังหลวง นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุดและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

 



[1]พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม).  ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, หน้า  ๖๐-๖๗.

[2]ปรีชา ช้างขวัญยืน. ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา. หน้า ๘๑.

[3] พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม).  ทฤษฎีรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก, หน้า  ๖๒.

[4] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๖๓-๖๗.

[5] อดิศักดิ์ ทองบุญ. วิเคราะห์มหายัญในกูฏทันตสูตร. ใน www.mongkoltemple.com.page07/artoc;es

หมายเลขบันทึก: 504265เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

ดีใจที่อาจารย์โพสต์แนวนี้ครับ ผมก็สนใจแนวปรัชญาทางพุทธในเรื่องการปกครองอยู่ด้วยเหมือนกันครับ วันนี้เลยมีประเด็นจะถามขอความรู้ หรือความเห็นครับ

ผมเคยพยายามอ่านในพระสูตรต่างๆ ก็ไม่ได้ข้อมูลมากนัก ในเรื่องการปกครองของกษัตริย์ลิจฉวี

คือผมเข้าใจว่า การปกครองของมัลลกษัตริย์ อย่างเช่น พวกลิจฉวีในเวสาลี เป็นการปกครองแบบ สามัคคีธรรม ผมดูว่าคล้ายๆ ประชาธิปไตยแบบกรีกมาก (แต่ผมอาจจะเข้าใจผิด) ไม่ทราบอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ หรือว่าเคยเขียนไว้บ้างหรือไม่ ผมอยากขอความรู้ครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท