แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2550


ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ได้บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน อันเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยลบต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ได้บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชน อันเป็นผลกระทบมาจากปัจจัยลบต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกดังกล่าวยังคงได้รับแรงหนุนจากการส่งออกและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว รวมทั้งจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่ก่อนหน้า (ที่เศรษฐกิจไทยถูกกระทบโดยเหตุธรณีพิบัติภัยและปัญหาภัยแล้ง) ซึ่งช่วยประคับประคองอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ไว้ได้ แต่สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 นั้น คาดว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับภาวะความผันผวนของราคาน้ำมัน อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาทางการคลังของรัฐบาลดังกล่าว อาจจะยังคงมีผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยไปจนถึงปี 2550 ซึ่งเป็นเหตุให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าลง โดยมีประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ :-

- ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ที่ผ่านมานั้น แรงหนุนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออก มากกว่าการใช้จ่ายในประเทศ ในขณะที่การลงทุนชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม จากการที่การขยายตัวของการส่งออกดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ทำให้แนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3/2549 อาจจะต้องเผชิญกับการเปรียบเทียบกับฐานที่สูง ซึ่งอาจจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ชะลอตัวลงจากในช่วงครึ่งปีแรกได้ นอกจากนี้ ปัจจัยลบต่าง ๆ ที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย น่าจะยังคงส่งผลกดดันต่อภาวะการใช้โดยรวม ซึ่งทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เมื่อเทียบกับประมาณร้อยละ 5.0-5.5 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยอัตราการขยายตัวตลอดทั้งปี 2549 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.0-4.5 ในขณะเดียวกัน แม้ว่าการนำเข้าน่าจะมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่การส่งออกอาจจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง แต่ก็คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจจะยังคงสามารถเกินดุลได้เล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จากฐานะการเกินดุลบริการฯ

- สำหรับแนวโน้มในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทย นอกเหนือไปจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกอย่างเช่นสหรัฐฯ ทั้งนี้ นอกจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนแล้ว ก็ยังจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณและฐานะการคลังของภาครัฐด้วย ซึ่งทำให้การลงทุนรวมของประเทศอาจจะยังคงไม่สามารถขยายตัวดีขึ้นจากปี 2549 ได้ โดยคาดว่าอาจจะขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2-3.5 ลดลงจากร้อยละ 4.2 ในปี 2549 ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่เฟดเสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็คงจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

- ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าในปี 2549 แต่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังคงถูกกระทบจากปัญหาการเมืองในประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจหลักของโลกในปี 2550 ดังกล่าว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะมีอัตราการขยายตัวในปี 2550 ประมาณร้อยละ 3.5-4.5 ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.0-5.0 และต่ำกว่าประมาณการอัตราการขยายตัวในปี 2549 ที่ร้อยละ 4.0-4.5

เพิ่มเติมจากสถานการ์ณเด่นในวันพุธที่ 20 ที่ผ่านมา หลังการก่อรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิบไตย สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่งออกมาพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเตือนว่า ปัญหาดังกล่าวเสี่ยงต่อการทำให้ขั้นตอนในการกำหนดนโยบายเป็นอัมพาต และอาจทำให้บรรยากาศการลงทุนของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่นอาจเกิดการปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือของไทยลง

ผลกระทบที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจภายหลังการยึดอำนาจการปกครองในไทยเป็นประเด็นที่ต้องใช้เวลาติดตาม แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อจนส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารไทย และจะส่งให้คุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงฐานเงินทุน และความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร

ทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจของไทยจะเป็นอย่างไรภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว แต่หากพรรคฝ่ายค้านสำคัญซึ่งวางนโยบายเศรษฐกิจในรูปแบบประชานิยมชนะการเลือกตั้งอาจส่งกระทบต่อความน่าลงทุนของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่คลี่คลายโดยเร็วและโดยสันติ จนส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของธนาคาร อันดับความน่าเชื่อถือของทั้ง 3 ธนาคารอาจถูกปรับลดอันดับ

บทสรุป แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันไม่กี่ส่วน เรื่องหลักๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท เป็นต้น

แหล่งที่มา :

- กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กรกฎาคม 2549

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจไทย
หมายเลขบันทึก: 50420เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท