โลกวิชาการหมุนย้อนทาง


นักวิจัย นักวิชาการ ในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย ยังมีแว่น หรือวิธีคิด เกี่ยวกับความรู้ และการเรียนรู้ที่ผิด ยังหลงทำตนเป็น "ผู้รู้" ไม่ทำตนเป็น "ผู้เรียนรู้" นักวิชาการแบบนี้เป็นคนตกยุค มหาวิทยาลัยใดมีคนแบบนี้มากก็จะยากที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพได้อย่างแท้จริง

โลกวิชาการหมุนย้อนทาง

         ที่จริงโลกวิชาการปัจจุบันต้องไม่หมุนเหมือนโลกหมุน     โลกวิชาการต้องหมุนแบบ "หลายทิศทาง หลายมิติ แต่ไม่สับสน"      ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกนี้ ระหว่างร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร NECTEC เมื่อวันที่ ๑๖ กย. ๔๙

        มีโครงการที่ผมพิศวงมากเข้าสู่ที่ประชุม     คือโครงการสนับสนุนทุนสนับสนุน "โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงด้าน เวเฟ่อร์ หัวอ่านเขียน สำหรับอุตสาหกรรม ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์"      ซึ่งเป็นโครงการที่ เนคเทค ให้ทุนสนับสนุนบุคคล ๒ กลุ่ม
          (๑) บุคลากรของบริษัทต่างชาติ (ผมขอไม่ระบุชื่อ) ในประเทศไทย  ที่เป็นวิศวกร  ช่างเทคนิค และหัวหน้างาน คนไทย     ไปฝึกอบรมด้านการออกแบบและการทดสอบแผ่น เวเฟอร์ ที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ
           (๒) นักวิจัย ในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ จำนวนหนึ่ง     ไปเรียนรู้กระบวนการผลิตและทดสอบแผ่น เวเฟอร์ ที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ


        การให้ทุนนี้เป็นเรื่องแปลก อย่างน้อย ๒ ประการ
          (๑) เป็นการที่หน่วยงานภาครัฐ ให้ทุนฝึกอบรมแก่พนักงานของบริษัทต่างชาติ     ซึ่งดูเผินๆ ไม่น่าให้     แต่คณะกรรมการรีบสนับสนุนแนวคิดที่ฝ่ายบริหาร เนคเทค เสนอทันที     เพราะเป้าหมายที่ใหญ่มากคือสร้างความสามารถด้านวิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับ เวเฟอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สูงมาก     มีบริษัทที่มีเทคโนโลยีนี้เพียง ๒ - ๓ บริษัทในโลก     และแต่ละบริษัทเขาหวงแหนมาก     การได้เรียนรู้ถ่ายทอดมาสู่คนไทย     ทั้งที่เป็นคนของบริษัทเอง  และที่เป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัย และของราชการ  จึงเป็นโอกาสที่หาได้ยาก
          (๒) เป็นการไหลของความรู้ วิชาการ หรือเทคโนโลยี แบบ "ย้อนศร" หรือสวนทาง     คือตามปกติ ความรู้หรือเทคโนโลยี ไหลจากภาควิชาการ ไปสู่ภาคธุรกิจ     แต่โลกสมัยปัจจุบัน แนวคิดเชิงเส้นตรง และมองการไหลของความรู้ทางเดียว ใช้ไม่ได้แล้ว     ภาควิชาการต้องเปลี่ยนแว่นใหม่  หรือเปลี่ยนวิธีคิดใหม่     มองภาคอื่นๆ (ภาคธุรกิจ  อุตสาหกรรม  เกษตรกรรม  ประชาชน) ว่าต่างก็มีความรู้ทั้งสิ้น     ภาควิชาการต้องพร้อมที่จะไปเรียนรู้ "ความรู้เชิงยุทธศาสตร์" (strategic knowledge) จากภาคีแบบไหนก็ได้

        นักวิจัย  นักวิชาการ ในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย  ยังมีแว่น หรือวิธีคิด เกี่ยวกับความรู้ และการเรียนรู้ที่ผิด     ยังหลงทำตนเป็น "ผู้รู้" ไม่ทำตนเป็น "ผู้เรียนรู้"     นักวิชาการแบบนี้เป็นคนตกยุค     มหาวิทยาลัยใดมีคนแบบนี้มากก็จะยากที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพได้อย่างแท้จริง    
           

วิจารณ์ พานิช
๑๖ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 50396เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
    คำ "อุดมศึกษา" หลอกให้หลายคนในนั้น "หลงตัวเอง" ไม่ลืมตาดูโลกเท่าทีควร ทั้งๆที่ ความจริง หลายเรื่องในอดีต ได้กลายเป็นเรื่อง ไม่จริง ไปแล้วในปัจจุบัน 
    ภาคธุรกิจเขา เอาจริง กับ วิชาการ ไม่มีเวลา เอาวิชาการมาเล่น จึงก้าวไปไกลมากในหลายด้าน และล้วนเป็นความรู้ที่ ใช้ได้ และพิสูจน์ ทดสอบแล้วทั้งสิ้น 
    คิดๆแล้วทำให้นึกถึงเรื่อง "ถั่วงออก" ครับ
    ขณะที่ครูคนหนึ่งคร่ำเคร่ง วาดรูป สอนวิธีเพาะถั่วงอกอยู่บนกระดานดำ ... ชาวบ้านผ่านมาเห็น หยุดดูและบอกว่า
  ".. ครูเอ๋ย แล้วเมื่อไหร่จะได้กินล่ะ .. เพาะถั่วบนกระดานมันไม่ขึ้นหรอก .. ที่บ้านฉันเขาเพาะกันบนดิน .. ทำขายกินอยู่ทุกวัน ลองพาเด็กไปดูสิ "

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

ครูอ้อยอ่านแล้ว   ได้รับความรู้  และเรียนรู้การคิดจากอาจารย์ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท