Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตามหาตัวเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติในสังคมไทย : ก้าวแรกของประชาคมวิจัยและพัฒนา


และเมื่อเรารู้ว่า พวกเขามีปัญหาอะไร เราก็จะมีโอกาสที่จะเรียนรู้สาเหตุของปัญหาของเขา และทดลองสร้าง “เครื่องมือ (Tool)” เพื่อแก้ไขปัญหาความไร้รัฐของเขา และแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่พ่วงติดมากับความไร้รัฐของพวกเขา งานวิจัยเพื่อการพัฒนาก็จะสัมฤทธิ์ผลได้

       เมื่อแนวคิดพื้นฐาน ก็คือ การเอาเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้งในการทำงาน  แล้ววิธีการเราต้องทำอย่างไร ?

       มีคนถามเราว่า เราทราบได้อย่างไรว่า เด็กและครอบครัวไร้รัฐอาศัยอยู่ตรงไหนในสังคมไทย ?

       คำตอบที่ตอบได้โดยไม่ต้องทำวิจัยแล้วในวันนี้ ก็คือ มีเด็กและครอบครัวไร้รัฐในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย แม้จะตรวจนับไม่ได้อย่างชัดเจน เราทำงานวิจัยมามากแล้วในเรื่องนี้  ซึ่งจะยกมาเล่าถึงก็มีมากมาย แต่การค้นคว้างานของเราในเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้โดยสาธารณชนทั่วไป เราพยายามให้งานทุกชิ้นของเราเข้าถึงโดยคนทั้งโลก[1] 

           ทำไมจึงนับไม่ได้ ?

           คำตอบก็คือ เจ้าของปัญหาเชื่อว่า ตนเป็นผู้ผิดกฎหมาย อาจถูกตำรวจจับ แล้วส่งออกนอกประเทศไทย ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามหลบซ่อนอยู่เงียบๆ ในสังคมไทย ที่น่าเจ็บปวดมาก ก็คือ ในบางกรณีศึกษาที่เราได้เคยศึกษานั้น เขาเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ด้วยเหตุที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิดต่ออำเภอ จึงไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย และไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก โดยผลของเรื่อง จึงตกเป็นคนไร้รัฐ (Stateless Person) เมื่อคนไร้รัฐเชื่อว่า ตนเป็นคนผิดกฎหมาย พวกเขาจึงไม่อาจปรากฏตัวขึ้นมาให้มีการนับจำนวนได้อย่างครบถ้วน เมื่อมีการสำรวจความมีอยู่ของพวกเขาโดยภาคราชการซึ่งได้ทำมาแล้วหลายครั้ง หรือเมื่อมีการวิจัยเกี่ยวกับพวกเขาโดยภาควิชาการซึ่งทำกันมาอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่มีใครเคยพบพวกเขาอย่างครบถ้วน

            เราจะทำอย่างไรจึงจะพบตัวพวกเขาอย่างครบถ้วน ?

          นอกจากนั้น เมื่อเราหันมาพิจารณาด้านเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเอง พวกเขาเหล่านี้ก็เชื่อว่า คนไร้รัฐเป็นคนผิดกฎหมาย และเชื่อว่า การเข้านับจำนวนและการทำบัญชีคนไร้รัฐจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนไร้รัฐในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และเชื่อว่า การเข้ามาของคนเหล่านี้เป็น ภัยต่อความมั่นคงของรัฐไทย ดังนั้น การนับจำนวนคนไร้รัฐจึงไม่อาจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และการแก้ไขปัญหาก็ไม่อาจเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและที่สาเหตุ นอกจากนั้น การทุจริตอันเนื่องมาจากการค้าเอกสารพิสูจน์ตนให้แก่คนไร้รัฐที่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากในการแก้ไข

             เมื่อเราไม่เคยสัมผัสคนไร้รัฐ เราก็จะไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับตัวพวกเขา รวมตลอดไปถึงปัญหาที่พวกเขาเผชิญ หรือแม้ขนาดและลักษณะของภัยที่พวกเขาอาจจะก่อให้เกิดแก่สังคมไทย และที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เราไม่อาจมองเห็นขนาดและลักษณะของคุณประโยชน์ที่เขาได้ทำให้เกิดต่อแผ่นดินไทย 

              มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ คนไร้รัฐในสังคมไทย

              สำหรับการทำวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ดยค.นี้   เราจึงให้ความสำคัญในการเข้าถึงเจ้าของปัญหา กล่าวคือ เด็กและเยาวชนไร้รัฐเป็นลำดับแรก เมื่อเราเจอเจ้าของปัญหาดังกล่าวได้ เราก็จะต้องพยายามให้พวกเขาบอกเราว่า พวกเขามีปัญหาอะไรบ้างอันเนื่องมาจากความไร้รัฐของพวกเขา ? และเมื่อเรารู้ว่า พวกเขามีปัญหาอะไร เราก็จะมีโอกาสที่จะเรียนรู้สาเหตุของปัญหาของเขา และทดลองสร้าง เครื่องมือ (Tool)” เพื่อแก้ไขปัญหาความไร้รัฐของเขา และแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่พ่วงติดมากับความไร้รัฐของพวกเขา งานวิจัยเพื่อการพัฒนาก็จะสัมฤทธิ์ผลได้

            แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเข้าถึงเจ้าของปัญหาซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของสังคมไทย ?

            คำตอบก็คือ เราจะต้องแสวงหาเครือข่ายในสังคมที่ประสงค์จะร่วมงานกับเราเพื่อการนี้ การทำงานวิจัยในก้าวแรกจึงได้แก่ การสร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำงานวิจัยกับคนที่เกี่ยวข้องในสังคม และชักชวนให้คนที่เกี่ยวข้องจริงกับปัญหานี้เข้ามาร่วมในกระบวนการทำการวิจัยและการพัฒนา กล่าวคือ ผลักดันให้คนที่เกี่ยวข้องจริงนี้มาอยู่ร่วมกันในประชาคมวิจัย

                 ในท้ายที่สุด งานวิจัยนี้ต้องบันทึกข้อความเป็นจริงอีกหนว่า  เป็นเรื่องง่ายที่จะชวนคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเจ้าของปัญหาเข้ามาอยู่ในประชาคมการวิจัยและพัฒนา แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะชวนให้ คนในสังคมซึ่งไม่ได้ไร้รัฐไร้สัญชาติ ให้เข้ามาร่วมทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาให้แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐในประเทศไทย ที่น่าตกใจมากขึ้นก็คือ ก็ยังยากมากเช่นกันในคนมีสัญชาติซึ่งในอดีตเป็นคนไร้รัฐหรือคนไร้สัญชาติ เกิดอะไรขึ้นในทัศนคติของอดีตคนไร้สัญชาติที่มีบิดามารดาปู่ย่าตายายเป็นคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ?

-------------------------------------------------------------------

[1] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร , รวมงานเขียนเกี่ยวกับสถานะบุคคลและสิทธิในสถานะบุคคล, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สำรวจเมื่อวันอังคารที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=2&s_id=54&d_id=55

หมายเลขบันทึก: 50344เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เด็ก ที่อรุณอมรินทร์ และสนามหลวง ยังพอมีนะครับ ที่ยังประสบปัญหาแบบนี้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท