ลปรร. เรื่องการจัดการความรู้ ของกองทันตฯ (3) ... KM กับงานกลุ่มเด็กปฐมวัย ... ความสำเร็จในการทำงาน กลุ่มเด็กปฐมวัย


พื้นที่หลากหลาย แต่จุดหมายเดียวกัน ... เพราะว่าแต่ละแห่งที่เขาทำงาน ก็มีบริบทที่ต่างกันมาก แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันตรงที่ ทำให้เด็กมีสุขภาพช่องปากที่ดี

 

หมอศรี (ทพญ.ศรีสุดา ลีละศิธร) และคณะ เล่าต่อ ... การ ลปรร. กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เรื่องเด็กเล็กในพื้นที่ต่างๆ ค่ะ

เมื่อกลุ่มเด็กเล็กอยากจะรู้ว่า "อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่เหล่านี้ทำงานได้ดี และประสบความสำเร็จ" ... หัวปลาของเราดีๆ นี่เอง เราจึงได้จัดให้มีการถอดบทเรียน ประสบการณ์การทำงานส่งเสริมทันตสุขภาพในเด็ก เดือนเมษายน ที่บางกอกกอล์ฟสปา ก่อนจะถอดบทเรียน กลุ่มก็ได้เรียนรู้ กระบวนการทำงานของพื้นที่ที่นำมาร่วมกัน ลปรร. ก่อนละค่ะ

พื้นที่เข้ามาร่วมกัน มี 6 แห่ง ก็คือ สอ.โค้งไผ่ จังหวัดกำแพงเพชร PCU บางใหญ่ นนทบุรี รพ.ดอกคำใต้ พะเยา สสจ.สุพรรณบุรี ศูนย์เด็กอีก 2 แห่ง ซึ่งมาทั้งพี่เลี้ยง และ อบต. จากชุมชนบางจาก เทศบาลอัมพวา … เรียกได้ว่า พื้นที่หลากหลาย แต่จุดหมายเดียวกัน ... เพราะว่าแต่ละแห่งที่เขาทำงาน ก็มีบริบทที่ต่างกันมาก แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันตรงที่ ทำให้เด็กมีสุขภาพช่องปากที่ดี ละค่ะ

ก่อนจะถอดบทเรียน กลุ่มเขาก็มาคุยกัน และดูกันว่า แต่ละพื้นที่ที่เราเลือกมา เขาจะมีอะไรดีดีกันบ้าง

ที่ สอ.โค้งไผ่ จังหวัดกำแพงเพชร

... ที่นี่ การทำงานในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในเด็ก ปัญหาที่เขาพบคือ

  • เด็กไม่ค่อยมารับวัคซีนตามนัด เพราะว่า จากหน้างานที่ยึดระบบ WBC ถ้าเด็กไม่ได้มารับวัคซีน ก็ไม่ได้รับบริการด้านสุขภาพช่องปาก
  • อีกอันหนึ่งที่เขาพบก็คือ การให้สุขศึกษาตอนที่มารับวัคซีน ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ปกครอง
  • และวันที่รับวัคซีนจะมีเด็กมาค่อนข้างเยอะ
    ทำให้การทำงานตรงนั้น ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไร เขาก็เลยคิดว่า มันจะต้องเปลี่ยนการทำงาน

ที่ สอ. เขาก็เลย ร่วมดำเนินการกับ ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ ในโครงการ "เยี่ยมบ้านด้วยความห่วงใย ใส่ใจสุขภาพฟัน" ... โดย ลงไปให้ความรู้ ... การดูแลสุขภาพเด็ก โดยการเยี่ยมบ้าน ... โดยเขากำหนดกิจกรรมที่จะออกเยี่ยมบ้านทุกๆ 6 เดือน หลังคลอด คนที่ไปเยี่ยมอาจเป็นทันตาภิบาล หรือเจ้าหน้าที่ สอ. ในพื้นที่นั้นก็ได้ เขาสามารถจะทำงานเยี่ยมบ้าน โดยดูแลสุขภาพช่องปากไปพร้อมกับงานอื่นๆ ทุกคนในทีม สอ. สามารถทำงานแทนกันได้ และเวลาไปเยี่ยมบ้าน จะเน้นเรื่อง การสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน พ่อ แม่ ผู้ดูแลเด็ก สร้างทัศนคติที่ดีในการดูแลสุขภาพช่องปาก และให้ความรู้เรื่องของการดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น การแปรงฟันในเด็กเล็กๆ และเรื่องของการเลิกขวดนม การเลิกกินขนมทั้งหลายในเด็ก นี่ก็คือประเด็นในการเยี่ยมบ้าน

จากเรื่องที่เขาเล่าให้ฟัง เขาพบว่า สิ่งที่เขาได้จากการไปเยี่ยมบ้านก็คือ

  • เขาเข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น แต่เดิมการให้สุขศึกษา เป็นการให้ในสถานบริการ คนไข้มาก็แนะนำไป ฟังหรือไม่ฟังก็ไม่รู้ เขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่เมื่อเขาไปเยี่ยมบ้านข้างนอก เขาก็จะเข้าใจชาวบ้าน การที่เขาจะอธิบายอะไร ก็จะเข้ากับวิถีชาวบ้านมากขึ้น ก็เป็นประโยชน์ที่เขาได้รับ
  • และในการทำงานในลักษณะเยี่ยมบ้าน ก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว และชุมชน พ่อแม่ก็มีทัศนคติที่ดีขึ้น ในการดูแลฟันลูก
  • และเด็กก็ได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้น
  • ขณะเดียวกันก็มีพ่อแม่ที่สามารถดูแลลูกได้ดีขึ้น ก็จะไปช่วยสอนคนอื่นๆ ต่อ จากปากต่อปากก็ช่วยกันบอก

และสุดท้ายเขาพบว่า ประมาณ 1-2 ปี เขาก็พบว่า เด็กในกลุ่มที่เขารับผิดชอบนั้น มีฟันผุน้อยลง ... นี่เป็นพื้นที่แรกที่ได้เชิญมา

พื้นที่ที่ 2 ... ที่บางใหญ่ จ.นนทบุรี

... ทำงานในลักษณะของการเยี่ยมบ้านเหมือนกัน แต่เป็นการเยี่ยมบ้าน ในเขตปริมณฑล ซึ่งจะยากกว่า เพราะว่าบ้านเป็นลักษณะทาวน์เฮ้าส์ เป็นบ้านกึ่งเมือง กึ่งชนบท ตรงนี้เขาเริ่มทำแค่ 2 หมู่บ้าน โดยคนที่ทำงานหลักเป็นทันตาภิบาล แต่ทำงานร่วมกับทีมที่ สอ. การทำงานใช้วิธีการเยี่ยมบ้าน ลงไปให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก และเวลาที่เขาไปเยี่ยม และแนะนำ ก็จะพยายามชี้ให้พ่อแม่เห็นประโยชน์ที่เด็กมีสุขภาพดี การดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก ก็คือพยายามสร้างให้เห็นความสำคัญ ถ้าพ่อแม่สนใจแล้ว เขาก็มีการเปิดคลินิกนอกเวลาให้การบริการ ให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ด้วย เพราะว่าเป็นเขตเมือง เขาก็จะทำงานโรงงาน จึงตอบสนองโดยการเปิดคลินิกนอกเวลาให้บริการด้วย

และก็พยายามสร้างเรื่องของการมีส่วนร่วม กับคนที่เข้ามาร่วมโครงการ โดยพยายามดึงพ่อเข้ามาร่วม มีการติดรูปกลุ่มพ่อ แม่ ลูก ที่มาเข้าร่วมโครงการ เวลาที่พ่อแม่มาที่ สอ. ก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้วย นอกจากนั้นเขายังมีการติดตามลูกค้า กลุ่มนี้ ทั้งทางจดหมาย ทางโทรศัพท์ ก็พยายามติดตามต่อเนื่อง

แรกๆ เขาบอกว่าก็ลำบากเหมือนกัน ตอนหลังๆ สิ่งที่เขาได้ก็คือว่า พวกชุดเหลืองมาช่วยเขา ก็คือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะว่าการเยี่ยมบ้านในเขตเมือง เขาจะมีปัญหาว่า การเข้าไปเยี่ยมบ้านเขาไม่ค่อยต้อนรับ ไม่กล้าเปิดบ้านคุยด้วย สุดท้ายเขาบอกว่า เขาได้ทั้งแม่ค้า มอเตอร์ไซค์ทั้งหลาย ที่รู้จักว่าบ้านไหนมีเด็ก ก็แนะนำช่วยเหลือเขาได้เป็นอย่างดี

น้องๆ ที่นี่เล่าว่า ในการทำโครงการเยี่ยมบ้านที่บางใหญ่นี้

  1. เขาเองได้เรียนรู้ และเข้าใจชีวิตของชาวบ้านได้มากขึ้น
  2. รู้สึกว่า เกิดความรู้สึกที่ดีกับชุมชนที่เขาได้เข้าไปทำ
  3. ได้คนช่วยงาน คือ แม่ค้า มอเตอร์ไซค์ ช่วยงานเยอะแยะ เขาได้รู้จักชุมชน และ
  4. คนในชุมชนก็รักเขา

และสิ่งที่เขาได้เห็นก็คือ เขาเห็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กมากขึ้น และสุดท้ายสิ่งที่เขาได้กันก็คือ คนทำงานมีความสุข

เขาแอบบอกเพิ่มเติมด้วยนะคะว่า ... การที่เขาได้ผู้ช่วยเหลือ ก็คือ มอเตอร์ไซค์ หรือแม่ค้าก็เนื่องจากว่า เวลาเขาทำงาน เขาก็รู้สึกเหนื่อยมาก ไม่รู้จะทำยังไง เขาก็เลยนั่ง นั่ง อยู่ และได้คุยกับมอเตอร์ไซค์บ้าง (ทำนองแอบบ่นหรือเปล่าน๊า) เขาก็รู้ว่าเราจะมาทำอะไร + กับเขาก็จะรู้ว่าบ้านช่องตรงไหนเป็นยังไง เขาก็เลยช่วย

ในส่วนแม่ค้า ที่เขาเล่า ก็คือ แม่ค้าเหล่านี้ทำฟันกับเขาอยู่แล้ว เคยรู้จักกัน สัมพันธ์กัน และพอเขาไปในกลุ่มที่นี้ มีแม่ค้า เขาก็จะช่วย ... (แหม ยังงี้เขาเรียกว่ามีเส้นหรือเปล่าเนี่ยะ)

ที่ รพ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

... เป็นลักษณะการทำงานอีกแบบหนึ่ง คือ เขาจะทำงานส่งเสริมสุขภาพ ทั้งอำเภอ ... ในทั้ง สอ. หรือ PCU ที่มี และไม่มีทันตาภิบาล เขาดำเนินการหมด และก็สามารถดำเนินได้หมด เต็มพื้นที่ของเขาเลย

เขาบอกว่า ลักษณะการทำงานของเขาเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่าย เป็นเจ้าหน้าที่ สอ. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง อบต. เขาเน้นทำในเรื่องของการมีส่วมร่วม ... ตั้งแต่การประชุมเตรียมงานตั้งแต่ต้น ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม และพยายามสร้างแรงจูงใจ บางส่วนก็มีเรื่องของรางวัลเข้ามาช่วยด้วยเหมือนกัน และมีการเพิ่มศักยภาพของเครือข่าย ด้วยการอบรมเพิ่มเติม มีการติดตามให้กำลังใจ และสรุปงานเป็นระยะๆ แสดงผลงานที่เขาทำไป ให้ในเครือข่ายได้รู้ประโยชน์ถึงงานที่ทำ และการทำงานร่วมกัน … คนที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ สอ. ที่ไม่ใช่ทันตาภิบาล ก็สามารถทำงานเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กได้จริงๆ เขาจะทำทุกอย่าง เช่น การสอนแปรงฟัน และในกรณีที่ต้องรักษา ก็จะส่งไปรักษาที่ รพ. และให้คำแนะนำช่องปาก ตรวจฟัน ทาฟลูออไรด์ด้วย
 และส่วนที่เป็นการทำงานในศูนย์เด็ก ก็มีการให้คำแนะนำ จัดกิจกรรมการแปรงฟันในกลุ่มเด็ก มีกิจกรรมร่วมกับชุมชน คือ การประกวดหนูน้อยฟันดี พัฒนาการดี ทำให้พ่อแม่รู้สึกภูมิใจว่า ลูกมีสุขภาพฟันดี และได้รับรางวัล สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องของชุมชนที่ รพ.ดอกคำใต้

เขาบอกว่า สิ่งที่เขาได้จากการทำงานตรงนี้ คือ

  1. ได้ทีมงานทั้งอำเภอ
  2. มีแม่ที่เข้าร่วมโครงการค่อนข้างเยอะ 1,600 คน
  3. เด็กในพื้นที่ของเขาได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากเพิ่มมากขึ้น

โครงการ 5 ปีสู่ฝัน หนูน้อยฟันไม่ผุ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

... โครงการนี้เป็นโครงการที่เขต 2 ทำทั้งเขต ที่จังหวัดสุพรรณบุรีทำโครงการนี้ 5 ปี โดย กิจกรรมของเขาคือ ปชส. ให้ผู้ปกครองเด็กอายุ 0-5 ปี สมัครเข้าร่วมโครงการ และผู้ปกครองต้องดูแลสุขภาพเด็กของเขาไปจนถึงอายุ 5 ปี เมื่อครบ 5 ปี ถ้าเด็กคนนั้นไม่มีฟันผุ หรือมีฟันผุ และได้ดูแลไม่ผุเพิ่ม เด็กคนนั้นจะได้รับรางวัลเป็นเกียรติบัตร ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับพ่อแม่พอสมควร เพราะว่าพ่อแม่ก็มาได้รับรางวัลด้วย รางวัลอื่นๆ ก็แล้วแต่ว่า ปีไหนเขาจะจัดรางวัลอะไรเข้ามาได้

ในส่วนของโครงการ 5 ปีสู่ฝัน หนูน้อยฟันไม่ผุ นี้ เขาพบว่า การที่เขาดำเนินการได้ดี เนื่องจากว่า

  • เขามีการระดมสมองบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ และ
  • เขามีการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ปกครอง เช่น ในเรื่องของเกียรติบัตร เรื่องของเด็กที่มีสุขภาพช่องปากดี ก็จะมีสุขภาพดี ผู้ปกครองก็จะรู้สึกว่า อยากได้เป็นแรงจูงใจ
  • และอีกอันหนึ่ง เขาก็พยายามจัดให้มีระบบส่งเสริมป้องกัน เพื่อรองรับอย่างต่อเนื่อง เด็กจะได้รับการนัดทุก 6 เดือน และมาตรวจสุขภาพช่องปาก
  • และทุกๆ ปีเขาจะมีกิจกรรมรณรงค์มอบเกียรติบัตรให้กับพ่อแม่

สิ่งที่น้องๆ เขาเล่าว่า จากการทำโครงการนี้ เขาพบว่า

  1. เด็กที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ ก็จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
  2. ผู้ปกครองที่ได้รับเกียรติบัตร ก็จะมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ลูกตัวเองฟันไม่ผุ
  3. และการที่เขาจัดกิจกรรมรณรงค์ทุกๆ ปี เป็นการรณรงค์ใหญ่ ก็ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง รู้สึกยอมรับในเรื่องของสุขภาพช่องปากมากยิ่งขึ้น

โครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในศูนย์เด็ก … ที่ชุมชนบางจาก เทศบาลอัมพวา

ศูนย์เด็กที่มีนี่มีเป้าหมายว่า อยากให้เป็นศูนย์เด็กที่ปลอดนมขวด และขนมกรุบกรอบ และให้เด็กมีอนามัยช่องปากที่ดี ไม่มีฟันผุ

กิจกรรมดำเนินการของศูนย์เด็กที่นี่ เขาจะใช้วิธีให้เลิกขวด คือ เปลี่ยนจากขวดเป็นกล่อง หรือแก้ว และก็ไม่มีการขายขนมในศูนย์เด็ก และไม่ให้เด็กเอาขนมมาจากที่บ้านด้วย มีกิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวัน มีการให้เจ้าหน้าที่มาตรวจทุก 3 เดือน และถ้าพบว่าเด็กคนไหนมีปัญหาฟันผุ ก็จะแจ้งผู้ปกครองให้ไปรักษา

การทำงานในศูนย์เด็กที่นี่ เขาพบว่า หลังจากที่เขาทำแล้ว

  1. ศูนย์เด็กก็เป็นศูนย์ที่ปลอดนมขวดได้
  2. ปลอดขนมกรุบกรอบได้ และ
  3. จัดกิจกรรมแปรงฟันทุกวัน ทำให้เด็กมีปากสะอาดขึ้น
  4. จากผลการตรวจเด็กไม่มีฟันผุเพิ่มด้วย และ
  5. เด็กที่มีฟันผุก็ได้รับการรักษา

หมอแต๊ว (ทพญ.บุบผา ไตรโรจน์) เล่าเสริมว่า ... "การทำให้ปลอดนมขวดได้สำเร็จนั้น มี tactics เล็กน้อยที่กลุ่มสังเกตได้ก็คือ ... เขาจะมีความเป็นกันเองกับผู้ปกครอง ทุกครั้งที่เขามา ผู้ปกครองมาส่งเด็ก เขาจะยืนตรงนั้นและรับเด็ก ขณะที่เขารับเด็ก เขาก็จะดูเด็กเสร็จ และเขาก็จะคุยกับผู้ปกครองทันทีว่า เด็กคนนี้มีอะไร วันนี้ มีอะไรดีหรือไม่ดี จะเล่าสู่ให้ผู้ปกครองฟัง ผู้ปกครองจะไว้ใจ ผดด. ทั้ง 2 คนนี้มาก เพราะฉะนั้น เวลาที่จะจัดการอะไร เขาก็มีเป้าหมาย และก็จะคุย ผู้ปกครองก็มีความยอมรับเขาอยู่แล้ว ก็เลยเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา ที่จะทำสิ่งที่ง่ายๆ ในตัวของเด็กได้

ผดด. เขามีความรู้ที่ดี ได้รับทราบว่า ขวดนมทำให้เกิดฟันผุได้ เวลาเด็กมาใหม่ๆ ก็ยอมเด็กไปก่อน และ 2-3 วัน ก็ค่อยๆ ชี้ให้ผู้ปกครองได้รู้ และมีการติดประกาศความรู้ให้ผู้ปกครองได้รู้ด้วย

ส่วนใหญ่แล้วการเลิกนมขวดได้ จากประสบการณ์ที่ศูนย์อื่นๆ จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และเด็กเล็กก็มักมีพฤติกรรมการทำตามเพื่อน พอเพื่อนเลิกขวดนมได้ เขาก็จะทำตาม"

หมอนา "ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์" ได้เพิ่มเติมความรู้ว่า ... "องค์ความรู้อันหนึ่งที่เราได้เพิ่มเติมจากจังหวัดอื่นๆ ด้วยก็คือ ผู้ปกครองเด็ก เขาก็มีความรู้ และความต้องการที่จะให้เด็กเลิกขวดนม แต่ไม่มีความสามารถในการให้เด็กเลิกขวดนม เพราะฉะนั้นผู้ปกครองก็ถือว่า การที่พาเด็กมาศูนย์เด็ก ก็จะทำให้เด็กเลิกขวดนมได้ด้วย ก็คือเป็นความประสงค์ของผู้ปกครองด้วย และอันที่ 2 คือ ที่ผู้ปกครองยอมให้เด็กใช้ขวดนม มีวัตถุประสงค์เดียวก็คือ กลัวว่าเด็กจะกินนมน้อยเกินไป ถ้ามาที่ศูนย์เด็กแล้ว ครูสามารถทำให้เด็กได้กินนมโดยไม่ใช่ขวด ก็คือ บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องการกินขนม และนมก็จะมีความแตกต่างกัน"

นี่ละคะ อนาคตสุขภาพช่องปากของประเทศไทย ... เมื่อมีความร่วมมือร่วมใจ สร้างกิจกรรมเชิงรุกเข้าสู่ประชาชนแล้ว ไฉนต่อไปประชาชนจะไม่มีความรู้ละคะ ... comment กันได้นะคะ ยินดีต่อยอดความรู้ 

 

หมายเลขบันทึก: 50314เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท