ยิ่งไปกว่าการทำอาหาร


“...ทำครัว ๕ วันต่อสัปดาห์ ช่วยยืดอายุได้อีก ๑๐ ปี”  นี่เป็นข้อสรุปที่โดนใจ แถมมีหลักวิชาการมายืนยันจริงๆค่ะ

 

เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งในคอลัมน์ข่าวสุขภาพ จาก จดหมายข่าวLemon Farm (ฉบับที่ ๔ ปีที่ ๑๔ เดือน มิ.ย.-ก.ค. ๕๕) น่าสนใจมากและอยากนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อขยายผลต่อไปใน COPs ของทั้ง Happy Ba ที่คุณศิลาและผู้เขียนเป็นหัวหอกอยู่ และ อีกอันคือ GFGAP หรือกิ๊บก๊าบของคุณหมอปัทมา ที่ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างชุมชนเกษตรปลอดสารพิษเพื่ออาหารสุขภาพ

คอลัมน์นี้เขากล่าวถึงผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Public Health Nutrition ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ การวิจัยนี้ใช้การติดตามพฤติกรรมการทำครัว การทำงานบ้าน การจับจ่ายซื้อของ การควบคุมอาหาร การศึกษา การเดินทาง และการสูบบุหรี่ของผู้หญิงและผู้ชายอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๘๘๘ คนที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน

จากกลุ่มตัวอย่างนี้ พบว่า

ร้อยละ ๔๓ ไม่เคยทำครัวเลย

ร้อยละ ๑๗ ทำครัวสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง

ร้อยละ ๙ ทำครัวสัปดาห์ละ ๓-๕ ครั้ง และอีก

ร้อยละ ๓๑ ทำครัวสัปดาห์ละ ๕ ครั้งหรือมากกว่านั้น

งานวิจัยนี้เขาติดตามผลระยะยาวค่ะ ผ่านไป ๑๐ ปี พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการ ๑,๑๙๓ คนยังมีชีวิตอยู่ แหม ก็คงมีอายุ ๗๕ ปี ปีขึ้นไปกระมังคะ ก็เขาเลือกทำการศึกษากับกลุ่มผู้สูงวัย ที่น่าสนใจก็คือ ผู้สูงวัยที่ยังมีชีวิตให้ติดตามผลนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำครัวบ่อยๆ

ปัจจัยอื่นที่งานวิจัยนี้พบว่าเกี่ยวข้องกับการที่คนกลุ่มดังกล่าวมีอายุยืนก็คือ การออกไปจับจ่ายของชำ การใช้บริการขนส่งมวลชน การไม่สูบบุหรี่ และการเป็นสตรีเพศ

กล่าวโดยสรุปก็คือผู้หญิงที่ทำครัวบ่อยๆมีโอกาสอายุยืนกว่าผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือมีครอบครัวแล้วก็ตาม

 

ไม่ว่างานวิจัยนี้จะน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด ก็ถือว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในเรื่องใกล้ตัว และจุดประกายให้คิดถึงกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ของมนุษย์ นั่นคือ การกินอาหาร น่าคิดอย่างลึกซึ้งว่าเมื่อต้องกินอาหารกันทุกวันเราเคยตระหนักไหมว่า อาหารที่เรากินมาจากไหน ปรุงมาอย่างไร ใส่อะไรลงไปบ้าง วัตถุดิบที่ใช้มาจากแหล่งใด มีคุณภาพ มีความสะอาดปลอดภัย มีประโยชน์หรือโทษต่อร่างกายอย่างไร

 

บางคนอาจบอกว่าชีวิตประจำวันออกจากบ้านก็แต่เช้า กลับเข้าบ้านก็มืดค่ำ อาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตนั้นจำต้องอยู่ในกำมือของแผงขายอาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน อาหารสะดวกซื้อ แม้จะทราบดีถึงคุณภาพหรือโทษภัยที่ได้จากอาหารเหล่านี้แต่ก็ยังคงต้องเป็นอย่างนี้อยู่ดี ...นั่นคือ ไม่มีเวลาทำอาหาร อีกเหตุผลที่มักอ้างในการไม่ทำครัว ไม่ทำอาหารกินเองก็คือ ...ทำไม่เป็น

ทั้งสอง “ไม่” คงนำเราไปสู่อีก “ไม่” คือ ไม่เหลือเวลามากนัก ที่กายนี้จะดำรงอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิต

 

นอกจากมิติเรื่องของประโยชน์และความปลอดภัยของอาหารที่เราจะนำเข้าปาก ลงกระเพาะ การทำครัวยังมีมิติทางสังคมด้วย นั่นคือ การไปจับจ่ายอาหารทำให้เรามีกิจกรรมที่พาตัวเองออกจากบ้าน ได้พบปะผู้คน ได้พูดคุยกับคนขายของ ได้มองเห็นความเคลื่อนไหวรอบตัว เห็นพืชผักตามฤดูกาล เกิดการสังเกตสิ่งใหม่ ชีวิตไม่ซ้ำซาก หรือถึงขั้นเกิดแรงบันดาลใจในการปลูกผักกินเอง รวมถึงเรียนรู้การกินผักพื้นบ้านหลากชนิดที่ขึ้นเองซึ่งทั้งเป็นสมุนไพรและปลอดภัยแน่ๆ

คนที่อยู่ในเมืองอาจจะต้องซื้อพืชผักอินทรีย์ที่มีราคาแพง(และอาจไม่อินทรีย์จริง หรือ ไม่ได้เป็นผักปลอดภัยจริง) ก็ทำให้ต้องใคร่ครวญ ทั้งรายจ่ายและผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเลือกอะไรแต่ก็ยังทำให้ได้คิด ได้เลือก และหันกลับมาคิดถึงระบบและวิธีการกินอาหารของตนเอง ว่าเราได้เมตตาตนเองในการกินอาหารดีมีคุณประโยชน์หล่อเลี้ยงร่างกายนี้เพียงใด แม้บางครั้งบางช่วงเวลาเราอาจต้องกินบะหมี่สำเร็จรูปหรืออาหารกินด่วนบ่อยไปหน่อย หรืออร่อยลิงโลดกับของโปรดแบบยั้งใจไม่ไหว เราก็รู้ตัวและพยายามหาโอกาสเติมอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายชดเชยให้ทีหลังก็ยังพอไหว

สำหรับผู้เขียนนั้นแม้มีพี่น้อย-แม่ครัวคนเก่งฝีมือดีประจำบ้าน แต่ผู้เขียนก็จะมีส่วนในการช่วยคิดรายการอาหาร การซื้อหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัย หรือการวางแผนปลูกพืชผักที่ชอบกินเพื่อให้เก็บกินเองได้อย่างสบายใจ บ่อยครั้งที่ลงมือปรุงเอง รู้สึกว่าการเข้าครัวเป็นสิ่งที่เราได้แสดงพลังของการมีชีวิตอยู่อย่างรู้คุณร่างกาย รู้คุณธรรมชาติ เห็นความสำคัญของการกินอย่างมีสติ(หรือเวลาไม่ค่อยมีสติในการกินก็รู้ตัวเช่นกัน)

ศาสตราจารย์ มาร์ค วาห์ลควิส ผู้นำทีมวิจัยข้างต้นได้กล่าวว่า การทำครัวเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพมาก และสมควรได้รับการบรรจุไว้ในระบบการศึกษา นโยบายสาธารณสุข การวางแผนเมือง และ เศรษฐกิจในครัวเรือน

การเข้าครัวทำอาหาร จึงมีมิติที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่การทำอาหาร ทว่าเป็นการสร้างพื้นที่ความสุข ที่เกินพื้นที่กายภาพของห้องครัว ส่งเสริมให้เกิดกุศลจิต เมตตาเยียวยากายและใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารกินเองเพียงลำพังหรือทำอาหารให้สมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยียน การทำอาหารเสมือนเป็นการส่งผ่านความใส่ใจ ความรัก ความปรารถนาดีให้ตนเองและทุกคนผ่านอาหารนั่นเอง

ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณสมาชิก COP GFGAP ทุกท่านที่ต้อนรับผู้เขียนร่วมทริป บ้านแม่ตาด ให้ได้สัมผัสธรรมชาติเขียวชอุ่มฤดูฝน พบกัลยาณมิตรน้ำใจงาม ลิ้มรสอาหารอร่อย ปลอดภัย เต็มไปด้วยคุณประโยชน์สดใหม่ของผักท้องถิ่น ตามฤดูกาล เรียกได้ว่าซึ้งถึงแก่นเรื่องราวของอาหารปลอดภัยและยังเชื่อมโยงกับเรื่องพื้นที่ความสุขอย่างเป็นเรื่องเดียวกันทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 503035เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2012 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2012 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)

อาหาร...กับชาวโกทูโนว์....ยิ่งไปกว่ากว่าการทำอาหารครับอาจารย์...ขอบคุณครับ

สวัสดีหลังอาหารค่ำค่ะอาจารย์

  • อ้อขอยกสองมือเห็นด้วยยิ่งค่ะ
  • วันนี้กลับบ้านอุดร  ได้กินแกงเห็ดละโงกฝีมือพี่สาว
  • จนสรุปได้เป็นบทเรียนของบ้านเรานะคะ  เวลามีอะไรอร่อย ๆ  ก็จะคิดถึงกัน  โทรศัพท์เรียกพี่ ๆน้อง ๆ  ขนสมาชิกครอบครัวมากินด้วยกัน
  • ส่งผ่านความรักผ่านอาหารการกิน

ค่ะดีใจ มีความสุขมากที่พี่นุชไปบ้านแม่ตาดด้วยกัน ได้ทราบจากที่พบกันบ้างแล้ว และอ่านอีกครั้ง ขอบคุณมากๆค่ะ  ดาช่วยสนับสนุนมากๆด้วย ว่าการทำอาหารเองนั่น มีผลดีหลายอย่างต่อสุขภาพผู้ลงมือทำ และดีต่อผู้ที่ได้ทานอาหารนั้นด้วยค่ะ ดาจะขยันทำอาหารให้มากขึ้นอีกนะคะ วันนี้ทำต้มจีดมะระเห็ด 3 อย่าง พรุ่งนี้จะทำน้ำมันเยื้อฟักข้าว เจ้าของฟักข้าวเขาจะนำมาให้พรุ่งนี้ค่ะ

 

"การเข้าครัวทำอาหาร จึงมีมิติที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่การทำอาหาร

ทว่าเป็นการสร้างพื้นที่ความสุข ที่เกินพื้นที่กายภาพของห้องครัว

ส่งเสริมให้เกิดกุศลจิต เมตตาเยียวยากายและใจ

ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารกินเองเพียงลำพังหรือทำอาหารให้สมาชิกในครอบครัวเพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมเยียน

การทำอาหารเสมือนเป็นการส่งผ่านความใส่ใจ ความรัก ความปรารถนาดีให้ตนเองและทุกคนผ่านอาหารนั่นเอง"


อ่านแล้ว รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจจังเลยค่ะ

  • "การออกไปจับจ่ายของชำ การใช้บริการขนส่งมวลชน การไม่สูบบุหรี่ และการเป็นสตรีเพศ"
    ...เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากคะ ติดตามตั้ง 10 ปี ผู้ทำวิจัยมีวิริยะสูงมากต้องชื่นชม
    น่าคิดต่อว่าการออกไปจ่ายของ โดยใช้บริการขนส่งมวลชน มีนัยยะอะไรหนอ 
     
  • "แม้บางครั้งบางช่วงเวลาเราอาจต้องกินบะหมี่สำเร็จรูปหรืออาหารกินด่วนบ่อยไปหน่อย หรืออร่อยลิงโลดกับของโปรดแบบยั้งใจไม่ไหว เราก็รู้ตัวและพยายามหาโอกาสเติมอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายชดเชยให้ทีหลังก็ยังพอไหว"
    ..อันนี้ โดนเต็มๆ ขอบคุณมากคะ :)
     
  •  ต้องขอบคุณพี่นุชมากเช่นกันคะ ที่สร้างสีสันให้กับ กิจกรรมครั้งแรกนี้ ครั้งต่อไปที่เชียงดาว ขอเชิญทีม Happy Ba พี่นุช พี่ศิลา อาจารย์ was ด้วยนะคะ

พี่นุชขา ถ้ามีโอกาสพบกันคราวหน้า ขอแสดงฝีมือบ้างค่ะ ;-)

 

น้องทำกินเองทุกวัน อื้ม เกือบทุกมื้อเลยล่ะ เพราะทำใส่กล่องไปกินที่ทำงานด้วย จากทำไม่ค่อยเก่ง ดูชำนาญขึ้นบ้างแล้ว

สนุกด้วย อร่อยด้วย(แบบเรา)

 

เมื่อกี้นี้ ก็เพิ่งดูเพื่อนทำอาหารกรีกมาค่ะ

แบบง่าย ๆ ที่เขากินในชีวิตประจำวัน

ดูไปดูมา อาหารหลายชาติมีส่วนที่เหมือนกันทั้งรสชาติและมูลเหตุที่ทำกิน

เช่นเค้ามี cush cush(อาหารโมร็อกโก) และซุปบางอย่างที่คล้ายกันกับโจ๊กร้อน ๆ บ้านเรา เหมาะกับเมืองเค้าที่เป็นเมืองหนาว..

ขนมปังสารพัดของเค้า หนูคิดว่าเป็นเพราะหนาว ทำครัวเป็นการใหญ่แบบบ้านเราลำบาก กินขนมปังง่ายกว่า..

แค่คาดเดาเอาเองนะคะ

 

หวังใจว่า พี่นุชมีความสุขกาย สบายใจดียิ่ง

แล้วพบกันนะคะ เริ่มนับวันแล้วค่ะ.. 

ขอบคุณผู้มาเยี่ยมเยียน มามอบดอกไม้ ได้ร่วมวงกัน ณ ที่แห่งนี้ทุกท่านค่ะ

  • Happy Ba ค่ะ อาจารย์Wasawat Deemarn เสียดายครั้งนี้อาจารย์ไม่ได้ไปร่วมวง ครั้งหน้าที่เชียงดาว ตกลงนะคะ^___^
  • ค่ะคุณหมอทิมดาบ ชาวโกทูโนว์เจอกันทีไรแม้แค่ได้ร่วมวงในร้านอาหารก็เป็นความสุข สนุกสนาน ที่ได้พบปะพูดคุยระหว่างกัลยาณมิตรจริงๆค่ะ
  • ขอบคุณที่สนับสนุนค่ะคุณครูอ้อย แซ่เฮ เมื่อไหร่เราจะได้พบกันอีกน้อ
  • คุณหมออ้อทพญ.ธิรัมภา ยกสองมือเลยนะคะ อยู่ต่างจังหวัดหน้าฝนนี่มีเห็ดแปลกๆ นำมาทำอาหารรสอร่อยได้หลายอย่างได้ไปลิ้มรสหลายเมนูที่บ้านแม่ตาดชอบมากเลยค่ะ กินข้าวร่วมวงกับครอบครัวแสนเป็นความอบอุ่น เป็นเวลาพิเศษ ยิ่งได้ของอร่อย ของแปลกมาชวนกันชิมยิ่งออกรสนะคะ
  • เห็นทีพี่จะต้องขอจองครีมเยื่อฟักข้าวสักหน่อยเมื่อเจอกันทริปหน้าได้ไหมคะคุณดากานดาน้ำมันมะพร้าว คุยกับคุณดาได้ความรู้มากมายหากอยู่ใกล้จะขอฝากตัวเป็นศิษย์ไปเรียนรู้ลงมือทำเลย
  • คุณTawandinมีเมนูผักพื้นบ้านหลายอย่าง การได้เก็บผักสดๆมาปรุงอาหารแสนอิ่มใจ แค่ตอนเก็บก็ให้นึกนอบน้อมมหัศจรรย์ใจกับการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ พอปรุงเสร็จได้กินอย่างมีรสชาติก็ยิ่งสุข เป็นสุขที่เกิดได้ง่ายเหลือเชื่อนะคะ ชอบใจภาพดอกไม้ Happy Ba ค่ะ ทำได้สวย ขอบคุณที่นำมาฝาก พี่ทำไม่เป็นค่ะ
  • คุณหมอป.ช่างมีคำถามชวนคิดดีค่ะ เรื่องการออกไปจับจ่ายของแล้วใช้บริการขนส่งมวลชนน่าจะเป็นการทำให้ผู้สูงอายุ(ในงานวิจัยนี้)ได้เดินไปป้ายรถ ได้ขึ้นลงรถและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนช่วยให้สมองทำงานมังคะ ...อิ อิ ขอสารภาพว่าตอนเขียนเรื่องกินบะหมี่ซอง ก็นึกถึงคุณหมอป.นั่นแหละค่ะ ได้ไปแวะอ่านที่บันทึกคุณหมอ และคิดว่าชีวิตคนทำงานก็มักเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ...เจอกันทริปเชียงดาวค่ะ คุณศิลาก็บอกแล้วว่าจะไป อาจารย์วัสฯ ไม่ไปเห็นจะไม่ได้นะคะ
  • ได้เลยค่ะน้องหมอเล็กภูสุภา บอกว่าทำอาหารเองทุกวัน คงเก่งแล้ว พี่ปลอดภัยแน่ ^____^ อาหารกรีกพี่รู้จักแค่สองสามอย่าง คูซ คูซ กินแทนข้าวของเรา กินกับไก่หรือเนื้อสัตว์อื่น ทำดีๆอร่อยมากค่ะ และพี่ยังชอบสลัดกรีก ชีสย่าง และขนมหวานที่กินได้ครั้งละชิ้นเดียวเพราะหวานมาก ประเทศแถบนี้กินขนมหวานที่หวานมากๆ น้องหมอเล็กรักษาสุขภาพนะคะ ดีใจจังที่ไม่นานก็จะได้พบกันอีก

 

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ของหนูค่ะ ขอบคุณความสุขจากการแบ่งปัน และภาพอาหารน่าทานมากเลยค่ะ

สวัสดี..ค่ะ..คุณนุช..อ่าน..บทความนี้..เลยขอแถมนิด..เมื่อวานเห็นเรื่องอาหาร..กับสุข..ภาพ.".ฝรั่งเล่า"..ให้คนกลับไปกิน..อาหาร..แบบยุคหิน...เพราะอาหารแบบ..สมัยใหม่..มี..อายุ..เพียงพันปี..ยิ่งกว่านั้น..ฟาดฟู้ด..อายุเพียงครึ่งร้อย..เขาว่า..มนุษย์ระบบร่างกาย..ตามไม่ทัน..."กินเนื้อสัตว์ผัก..สด"..กินเจหรืออาหาร..ประเภทแป้งให้น้อยลงหรือ..ไม่..กินเลย...แล้วจะมีความสุขและสุขภาพดีขึ้น..ในเร็ววัน...แหะๆ..ไม่รู้ว่า..จาเชื่อใคร...ยาย..ว่า..นั่งล้อมวง..กะคุณนุช..น่าจะดีกว่า..อิอิ...น่ากินจัง...(เสียดายที่ไม่มีโอกาศให้คุณนุช..มาทำกับข้าวให้กิน..รอเก้อ..เลย..ปีนี้..อุตส่าห์รอ..ร้อ..รอ รอ...)..คิดถึงค่ะ..ยายธี

แม่หนู..ทำครัว 7 วัน/สัปดาห์ เลยอายุยืนแน่นอน...79 แล้ววว กะว่า จา 120 ค่ะ ส่วนหนูไม่ค่อยช่วยคิดแต่กิน80% ของมื่อที่แม่ทำอายุจะยืนไหมหนอ

สวัสดีค่ะ พี่นุช อ่านแล้วเห็นภาพด้วย.....ยิ่งกว่าอร่อยค่ะ ^______^

ต่อไปจะพยายามทำกับข้าวเองทุกวัน

จะได้อายุยืน

ขอบคุณพี่นุชค่ะ

เดือน พย.เจอกันอีกที่เชียงดาวนะคะ

สวัสดีค่ะพี่นุช

พักหลังมานี้ปริมก็เริ่มทำกับข้าวบ่อยขึ้นค่ะ เน้นแบบง่ายๆ สะดวก สะอาด ปลอดภัย ไม่ใช้เวลามาก พอเริ่มทำบ่อยขึ้น มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือเวลากลับไปทานร้านประจำแล้วรู้สึกไม่คุ้น รู้สึกว่าอาหารเขารสเค็มมาก ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็ทานประจำและไม่ค่อยรู้สึกอะไร แต่พักหลังมานี้เริ่มรู้สึกว่าอาหารที่เราทำเองรสไม่จัดเหมือนที่ไปทานข้างนอกค่ะ เคยถามร้านหนึ่งว่าเปลี่ยนพ่อครัวหรือเปล่าเพราะรู้สึกเค็มขึ้น เขาบอกไม่ได้เปลี่ยน รสชาติก็ยังเหมือนเดิมค่ะ

เป็นความต่างที่เพิ่งจะสังเกตได้จากการทำกับข้าวเองมากขึ้นค่ะ

ขอบคุณบทความดีดีค่ะพี่นุช

  • พี่นุช
  • เห็นบันทึกนี้แล้ว
  • ต้องส่งเสริมให้พี่น้องๆปลูกผักกินเองมากๆ
  • ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

อ่ะ ... ไม่ Happy Ba แล้วครับ 555

* ปลูกเอง..ปรุงเอง..อิ่มอร่อยไร้พิษภัย..Happy Ba ค่ะ

* ช่อดอกอัญชันขาวนี้..พี่ใหญ่ปลูกเองจากฝักของน้องกานดาให้มา..ใช้แนมกับน้ำพริกและชงเป็นชา ลดโรคเบาหวานด้วยค่ะ

 

เห็นอาจารย์แล้วเป็นจริงที่สุด "ทำอาหารทานเอง" ทำให้อายุยืนและอ่อนวัย ร่างกายแข็งแรง เห็นอาหารในภาพแล้วอยากทำด้วยค่ะเมนูที่ไม่ซ้ำใครๆ แถมมีคุณค่า / อาหารสมุนไพร ช่วยคิดเมนูใหม่ๆเพื่อจะทำขายใน "กาดมั่ว คั่วฮอม" ครั้งต่อไปนะคะ

การใส่ใจเรื่องอาหารการกินที่มีคุณภาพ ถือเป็นการใส่ใจสุขภาพได้อีกวิธีหนึ่งค่ะ

ก็ น่าจะเป็นตามนั้น เวลาระเบิดครัวที่ไร เหนื่อย แต่สุขใจ ทั้งที่บางทีทำออกมาก็หากินได้อร่อยไม่ ฮ่า ๆ (ระเบิดครัว คือทำครังเลอะเทอะ นะคะ)

สวัสดีค่ะ

เวลาทำอาหารทานเองที่บ้าน สมาชิกในบ้านมักบอกว่า ดีใจ ถ้าวันไหนแม่ไม่ทำอาหาร ทั้งๆที่รู้ว่าแม่เลือก และ เลี่ยง อะไร

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

 

ขอบคุณน้องดอกหญ้าน้ำ ค่ะที่มาเยี่ยมเยียนจากดอยสูงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง^___^  เราต่างแบ่งปันเรื่องราวน่ารู้ให้เบิกบานใจ เพียงเท่านี้ก็เป็นสุขได้แล้วนะคะ หวังว่าคงได้มีโอกาสพบน้องในบรรยากาศการทำงานค่ะ

สุดยอดค่ะคุณมดวิริยะหนอ ได้กินอาหารปรุงเองที่บ้านแถมเป็นฝีมือคุณแม่อีก อายุยืนกันทั้งบ้านเลยค่ะ

สวัสดีเจ้าค่ะคุณยายธี ไม่ว่าใครจะว่ากินอยู่แบบไหนดี นุชว่าเอาแบบที่เราทำได้อย่างชีวิตไม่วุ่นวาย ดีต่อสุขภาพกาย-ใจแบบเรานั้นดีที่สุดค่ะ สบายใจก็อายุยืน ชีวิตมีคุณภาพได้เหมือนกันนะคะ

สวัสดีค่ะน้องแป๊ดคุณแจ๋ว จะให้ดีต้องมาชิมด้วยตัวเองนะคะ รออยู่นานแล้วค่ะ

ขอบคุณคุณมนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)ค่ะที่ช่วยกันสานความคิดให้เป็นรูปร่าง เราสุขภาพดี มีความสุขก็จะช่วยคนอื่นได้อีกมากและนาน

เตรียมตัวไว้แล้วค่ะสำหรับเชียงดาว ดีใจจัง^_____^

เหมือนกันเลยค่ะคุณปริม...ปริม pirimarj... เมื่อก่อนที่พี่จะมาใช้ชีวิตอยู่ที่อยุธยา เวลาไปกินอาหารไทยตามร้านอร่อย ร้านดัง ก็ว่าอร่อยดี พอมาอยู่อยุธยาได้ปรุงอาหารเองบ่อยขึ้น มีพี่น้อยปรุงให้แบบhome cooking ไม่ใส่ผงชูรส ไม่รสจัดจ้านสะใจ ทำให้การลิ้มรสมันผ่อนคลาย กินแล้วสบายๆ เดี๋ยวนี้ไปกินอาหารไทยร้านดังเวลาไปกับเพื่อนๆรู้สึกเหมือนคุณปริมคือเขาทำรสเค็มไป หวานไป ซะเป็นส่วนใหญ่ หากกินผักสดก็ไม่สนิทใจไม่มั่นใจว่าเขาล้างสะอาดหรือเปล่า กลายเป็นว่าการกินของตนเองตอนนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องอร่อยหนักหนา สำคัญที่อาหารที่อยู่ตรงหน้าเรามันถูกทำขึ้นด้วยความประณีต ใส่ใจเพียงใดค่ะ

ใช่เลยค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง อาจารย์เหมาะมากที่จะช่วยส่งเสริมการปลูกผักกินเอง เพราะมีการแจกเมล็ดพันธุ์ด้วย ... เก็บๆไว้เผื่อแจกพี่บ้างนะคะ

อ้าว ...อาจารย์น้องWasawat Deemarn ทำไมไม่ Happy Ba แล้วล่ะคะ ได้ไง จะปล่อยพี่ๆไปโดยไม่มีอาจารย์ยอมไม่ได้นะคะ ^____^

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ ที่สนับสนุนHappy Ba ของน้องๆ

ดอกอัญชันขาวหายากนะคะ หลายปีมาแล้วนุชเคยมีทุกสี แต่พอน้ำท่วมก็ไปหมด หาได้แต่พันธุ์สีน้ำเงินม่วงเข้ม พันธุ์สีม่วงอ่อนและขาวหาไม่ได้เลยค่ะ เมื่อก่อนหาจากพงหญ้าป่าละเมาะในอยุธยาค่ะ คงถูกน้ำท่วมตายไปหมด หรือน้ำพัดพันธุ์ไปขึ้นที่อื่น

หากอัญชันขาวมีฝักพี่ใหญ่กรุณาเก็บไว้ให้บ้างนะคะ นุชจะไปขอรับมาปลูกต่อค่ะ

อาหารในภาพทำไม่ยากค่ะคุณkrutoom ส่วนใหญ่เป็นอาหารไทยพื้นๆ ภาพแรกคือผัดฉ่าปลาเนื้ออ่อน ถัดมาคือทอดมันปลากราย

มีเมนูที่ดูแปลกคือ ปลากรายปรุงรสห่อใบชะพลู ดัดแปลงมาจากอาหารเวียดนามคือ เนื้อห่อใบชะพลูย่าง เปลี่ยนเป็นปลากรายอร่อยมากเลยค่ะ สุกง่ายและดีกับสุขภาพ หน้าฝนใบชะพลูงามดีน่าทำมากเลยค่ะ

ได้ทำอาหารเอง พอทำได้รสชาติที่พอจะชวนคนอื่นร่วมวงได้ ก็ยังได้แบ่งปันต่อนะคะ หากอยากทำเมนูไหน พี่ยินดีบอกวิธีการค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณครูแป๋ม การดูแลอาหารที่เรากินเข้าไปนั้นสำคัญมากอย่างที่ฝรั่งบอกว่า You are what you eat. เป็นสิ่งที่เจ้าตัวต้องทำเอง ใครทำแทนก็ไม่ได้นะคะ

นึกภาพคุณหนูณิชน์ "ระเบิดครัว" แล้วก็ขำค่ะ ใหม่ๆที่ลงมือทำครัวพี่ก็คงเป็นคล้ายๆกัน แต่ทำๆไปชำนาญก็ดีขึ้นในเรื่องการจัดการเครื่องปรุง และ รสชาติรวมถึงหน้าตาอาหาร

แต่ฝีมือเราเอง ทำแล้วยังไงเราก็ภูมิใจเวลากินนะคะ (และยังไงก็ต้องกินเพราะเสียดายของ ยกเว้นรสชาติมันแย่เกินทน)

อ่านแล้วไม่แน่ใจค่ะคุณณัฐรดา ว่า ตกลงที่คุณแม่ไม่ทำอาหารวันไหน ทำให้สมาชิกครอบครัวดีใจหรือคะ

หากเป็นเช่นนั้นต้องให้กำลังใจกันว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นทำให้อร่อยได้ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแต่ต้องเลือกประเภทและปรุงให้ถูกปาก ถูกใจ ไม่ต้องบอกว่านี่ดีต่อสุขภาพ หรือนี่เป็นเมนูสุขภาพ คนข้างกายดิฉันก็มักต่อต้านเมนูอาหารสุขภาพเพราะปกติเขาไม่ชอบทานผัก ตอนหลังๆเลยไม่พูดว่านี่ นั่นดีอย่างไรเลือกเมนูที่เขาคุ้นเคย เช่นแกงเลียง แกงป่า ก็ทำขึ้นโต๊ะไปเลย เลือกทางสายกลางค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/503259

 

ดามาส่งคำตอบค่ะ

พืชที่มีรสขม ดายังไม่ได้ลองทำ ยอ ดาใช้ลูกอย่างเดียว แต่ไม่น่าจะขมเพราะสกัดออกมาเป็นน้ำมันพร้อมหัวกะทิแล้ว ไว้ดาจะลองทำ หัวกะทิกับบอระเพ็ดหรือเพชรสังฆาตดูผลเป็นอย่างไรแล้วดาบอกให้ทราบ หากทำเพชรสังฆาต คนเป็นริดสีดวงได้ใช้ก็เยี่ยมแน่ค่ะ  น้ำมันไม่ต้องใส่ตู้เย็นก็ได้ค่ะ ทำไว้ครั้งละไม่ต้องมากหมดแล้วทำใหม่ แต่สมุนไพรบางชนิดหายากนานพบ ก็ต้องซื้อมากไว้ก่อนเราก็ทำมากไว้เลยก็ได้ใช้ตลอด

     พี่นุชให้แม่ครัวทำนะคะ น้ำมันมะพร้าวกระเทียมสุดยอดในการไว้ผัด ดีตรงที่เราจะผัดไม่ต้องทุบกระเทียมอีก แล้ว 2 อย่างนี้รวมกันเยี่ยมต่อสุขภาพ มีผู้ผลิตเป็นแคปซูลขายหาซื้อได้ที่ สภากาชาติไทยถามหาคุณหมอดำรง  เราทำเองก็ได้ไม่ต้องซื้อจะได้ใช้ทำอาหารได้ตลอด หรือโรยใส่ข้าวหอมๆ 1 ช้อน

    ต้นยอ ดาก็นำต้นเล็กจากบ้านแม่ที่สุพรรณมา 1 ต้นแต่ที่จำกัดปลูกตรงไม่ค่อยได้แดดจึงโตช้า แต่รอดไม่ตาย ภาพใบยอภาพสุดท้ายของบันทึกนี้เป็นต้นที่ปลูกบ้านในเมืองที่ดาอยู่ค่ะ ส่วนลูกยอภาพแรก อยู่ที่สวนแม่ริมปู่ปลูกไว้ มดแดงเยอะมาก เวลาไปเก็บต้องคุยกับมดแดงก่อนว่า ขอไปทำอาหารหน่อยอย่ากัดกันนะ แต่บางตัวมันไม่ยอมมันก็กัดพร้อมทั้งฉี่รดด้วย   ยอปลูกง่ายพี่นุชหาต้นมาปลูกใหม่นะคะ เราปลูกต้นไม้หากต้นไหนตายเราจะเสียดายและคิดถึง วิธีให้หายเสียดาย ต้องหาต้นใหม่มาทดแทนค่ะ พบลูกสุกๆบ้านไหนขอมาเพาะก็ได้ค่ะ เวลาพี่นุชให้แม่บ้านทำใส่ใบยอไปด้วยได้เลยจะได้สรรพคุณของใบยอด้วยน้ำมันสีเขียวสวยค่ะ

 

 

 

ก่อนจะมีลูก ผมกับภรรยามักจะเข้าครัวช่วยกันทำกับข้าวกินเกือบทุกวันที่อยู่ด้วยกัน ตอนนี้ลูกเริ่มเรียนรู้คุณแม่ก็จะพาเข้าครัวไปช่วยกันทำกับเข้า สอนให้ลูกไว้เป็นเสน่ห์ปลายจวักครับ กับข้าวหน้าทานมากครับ

* เห็นรูปอาหารในบันทึกของพี่นุชเรื่องนี้แล้ว น้ำลายไหลเลยครับ

** ทริปหน้าที่เชียงดาว อย่าพลาดนะครับ พี่นุช ที่นั่นบรรยากาศสวยกว่าบ้านแม่ตาดเยอะเลยครับ

ขอบคุณคุณดากานดาน้ำมันมะพร้าวค่ะ ที่มาให้คำตอบที่ไปถามไว้ มาส่งให้ถึงที่ทีเดียว

ให้โอกาสเหมาะจะลองทำน้ำมันมะพร้าวกับลูกยอ ท่าจะมีสารที่มีประโยชน์มากเลยนะคะ

บ้านพี่ก็มดแดงเยอะ อยู่บนต้นแดงเป็นรังเลยค่ะ แถมยังอยู่ตามต้นไม้อื่นๆอีกด้วย นี่ไม่รวมมดอื่นๆอีกหลายชนิด บ้านเราไม่ใช้ยาฆ่าแมลงก็อย่างนี้แหละค่ะ ต้องคอยไล่ คอยหลีกเอาเองดีกว่า

ขอบคุณค่ะอาจารย์ภูคาที่มาเยี่ยมเยียน ครอบครัวอาจารย์ปฏิบัติเหมือนรุ่นปู่ย่านะคะ ดีจังเลย คือเด็กๆได้เข้าครัว ช่วยนิดๆหน่อยๆ ได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้ฝึกทำ เป็นการปลูกฝังหลายด้านไม่ใช่แค่การทำอาหารเป็น และที่ได้แน่นอนตอนนี้เลยก็คือ การได้ใกล้ชิดกันเป็นความอบอุ่นในครอบครัว

 

ตั้งใจไว้แล้วค่ะคุณเพลินอักขณิช ลงปฏิทินว่าไปเชียงใหม่ช่วงนั้นแน่นอน

แม่ตาดก็สวยแบบพื้นราบ เชียงดาวก็สวยแบบที่ภูเขา แถบเชียงดาวพี่ก็เคยไปเห็นมาบ้างแล้ว อีกอย่างสถานที่ยังเป็นรองว่าเราได้ไปใช้เวลาอยู่กับใครด้วยนะคะ ไม่ว่าที่ไหนชาว G2K ได้พบกันก็มีความงดงามเกิดขึ้นเสมอ

เมื่อใดมาภาคกลางมาชิมอาหารพื้นบ้านภาคกลางที่บ้านพี่ได้ทุกเมื่อค่ะ หน้าตาดีและอร่อยด้วย อิ อิ คุยซะเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท