“ยุคโลหะ” ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง


“ยุคโลหะ” ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง

         ยุคก่อนประวัติศาสตร์[1] หมายถึงช่วงเวลาก่อนที่มนุษย์รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร แบ่งย่อยออกเป็นยุคตามลักษณะและเงื่อนไขต่างๆ เช่น แบ่งย่อยตามลักษณะของเศรษฐกิจและสังคม และแบ่งย่อยโดยพิจารณาจากเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้  ซึ่งแบ่งออกเป็นยุคหิน(ยุคหินเก่า, ยุคหินกลาง และยุคหินใหม่) ยุคโลหะ(ยุคสำริด และยุคเหล็ก) “ยุคโลหะ” เป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อมนุษย์[2]ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมจากชุมชนดั้งเดิมให้พัฒนาไปสู่ชุมชนที่มีระดับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นสังคมระดับรัฐต่อไป

          การผลิตโลหะเป็นความสามารถที่มนุษย์ต้องเรียนรู้และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น การผลิตโลหะมีกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง เมื่อประมาณ ๙,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในประเทศไทยพบหลักฐานการใช้โลหะเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในประเทศไทยมีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในสมัยโลหะหลายแหล่ง เช่น แหล่งผลิตเครื่องมือโลหะ “แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง” จังหวัดอุดรธานี สามารถแบ่งการอยู่อาศัยได้เป็น ๒ สมัย คือ สมัยที่ ๑(๓,๕๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว) ใช้เครื่องมือสำริดเป็นหลัก และในสมัยที่ ๒ (๒,๗๐๐ – ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว) ใช้เครื่องมือเหล็กเป็นหลัก แหล่งเหมืองแร่ทองแดง ในแถบจังหวัดลพบุรีที่เขาทับควายและเขาพุคา เป็นต้น แหล่งถลุงทองแดง ที่แหล่งโบราณคดีโนนป่าหวาย จังหวัดลพบุรี[3]

           ในภาคใต้ของประเทศไทยพบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินต่อเนื่องมาจนถึงยุคโลหะ สำหรับในจังหวัดชุมพรพบร่องรอยของมนุษย์ยุคหินใหม่(๖,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว) ในแถบภูเขาหินปูนทางทิศตะวันตกของจังหวัด ในยุคโลหะพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรที่ชุมชนโบราณเขาสามแก้ว[4](พุทธศตวรรษที่ ๕ - ๑๑) ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์หรือยุคโลหะ(ตอนปลาย) พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับโลหะ เช่น เครื่องมือโลหะ หุ่นจำลองสำริดรูปคนและสัตว์ และกลองมโหระทึก เป็นต้น ชุมชนโบราณเขาสามแก้วมีลักษณะเป็นเมืองท่าค้าขาย พบหลักฐานการติดต่อกับจีน เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งกลุ่มพ่อค้าต่างชาติเหล่านี้อาจเป็นผู้นำวิธีการผลิตโลหะมาเผยแพร่ให้กับคนพื้นเมือง กลุ่มคนพื้นเมืองจึงเกิดการเรียนรู้และปรับเอากรรมวิธีในการผลิตโลหะมาใช้ให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ และยังก่อให้เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมด้านอื่นรวมด้วย “โลหะ” จึงเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญของมนุษย์อย่างแท้จริง

 


               

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  • กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐.
  • ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “เขาสามแก้ว: ชุมชนโบราณ” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๙.
  • สุรพล นาถะพินธุ. “โบราณวิทยาเรื่องโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” ใน เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง พัฒนาการทางโบราณคดี. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ ๒๔-๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๔.

[1] กรมศิลปากร, ศัพทานุกรมโบราณคดี, กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๐, หน้า ๒๒-๒๓.

[2] สุรพล นาถะพินธุ, “โบราณวิทยาเรื่องโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” ใน เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง พัฒนาการทางโบราณคดี, ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี         มหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ ๒๔-๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๔, หน้า ๔๕-๔๖.

[3] ดูรายละเอียดใน เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๙ -๕๐.

[1] ดูรายละเอียดใน ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, “เขาสามแก้ว: ชุมชนโบราณ” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑, กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๙, หน้า ๓๘๘-๓๙๖.

 

 

หมายเลขบันทึก: 503011เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2012 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท