ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 7. วิธีดำเนินการ


ในชั้นเรียน จะมีช่วงเวลา “คำถามและคำตอบ” ที่สนุกสนานและมีคุณค่าต่อการเรียนรู้อย่างยิ่ง โดยนักเรียนอาจเรียนคนเดียว หรือเรียนเป็นกลุ่ม และเป็นการทำงานร่วมกับครู เป็นช่วงเวลาที่ครูได้เรียนรู้สูงมาก ได้มีโอกาสสังเกตความเข้าใจผิดของเด็ก และแก้ไขเสีย เป็นกติกาการเรียนที่ทำให้นักเรียนที่ในห้องเรียนปกติเลื่อนลอยจากการเรียน ไม่เคยพูด ไม่เคยถามครู ต้องมีส่วนตั้งคำถาม และช่วยกันหาคำตอบ

ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง  : 7. วิธีดำเนินการ

หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๗ ชื่อ How to Implement THE Flipped–Mastery Model เป็นการเล่าประสบการณ์การประยุกต์ หรือดำเนินการห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ของผู้เขียนทั้งสอง

ผู้เขียนแนะนำ Ning online PLC เรื่องนี้ที่ http://vodcasting.ning.com

 

สิ่งที่ควรทำในวันแรก

ควรมุ่งไปดำเนินการทั้งห้องเรียนกลับทาง (flipped classroom) และทั้งเรียนให้รู้จริง (mastery learning)   ที่รวมเรียกว่า flipped mastery เลย    อย่าทำผิดอย่างที่ผู้เขียนทำตอนเริ่มในปี ๒๕๕๑   คือเกรงว่าเด็กจะปรับตัวยากหากเดินทีเดียว ๒ ก้าว   จึงเริ่มกลับทางห้องเรียนก่อน   แล้วจึงให้เรียนแบบรู้จริงทีหลัง   พบว่าเปลี่ยน ๒ ครั้งทำให้เด็กสับสน   เปลี่ยนเสียทีเดียวดีกว่า และเด็กมีความสามารถในการปรับตัวสูงกว่าที่เราคิด

ในวันแรกครูอธิบายประโยชน์ของการเรียนแบบใหม่   และให้เด็กดูวิดีทัศน์อธิบายวิธีเรียนแบบนี้   ในวิดีทัศน์มีนักเรียนรุ่นก่อนอธิบายว่าวิธีเรียนแบบใหม่ดีต่อนักเรียนอย่างไร  

ผู้เขียนพบว่า ใช้เวลา ๓ ปี ก็จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้   ปีแรกขลุกขลักหน่อย  ปีที่ ๒ ดีขึ้น  ปีที่ ๓  ดำเนินไปอย่างราบรื่น  

 

แจ้งให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบเรื่องการเรียนแบบใหม่

ผู้เขียนใช้วิธีส่งจดหมายไปอธิบาย ว่านักเรียนจะได้ประโยชน์อย่างไร   ผู้ปกครองอาจเป็นห่วงเรื่องผลการสอบ   และในช่วงแรกๆ อาจมีการต่อต้านบ้าง   แล้วจะยอมรับ และชื่นชม ในที่สุด

 

สอนวิธีดูและจัดการวิดีทัศน์

การฝึกทักษะการดูวิดีทัศน์ก็ทำนองเดียวกันกับการฝึกทักษะการอ่านตำรา   ครูต้องแนะนำวิธีที่ถูกต้องแก่ศิษย์   การดูวิดีทัศน์บทเรียนแตกต่างจากดูทีวีบันเทิง   ในทำนองเดียวกันกับการอ่านหนังสือหนังสือสารคดี (non-fiction) แตกต่างจากการอ่านหนังสือนวนิยาย (fiction)  

ผู้เขียนแนะนำให้ดูวิดีทัศน์แบบตั้งใจดูจริงๆ โดยไม่มีสิ่งรบกวนสมาธิ เช่นไม่มีหูฟัง iPod เสียบหู   ไม่เปิด Facebook ไปพร้อมๆ กัน   ผู้เขียนถึงกับฝึกเด็กทั้งชั้นในช่วง ๒ - ๓ สัปดาห์แรกของปี ให้ดูวิดีทัศน์ด้วยกัน   ฝึกใช่ปุ่มหยุดวิดีทัศน์   และชี้ประเด็นสำคัญในเรื่อง   ลองให้นักเรียนคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมวิดีทัศน์ ที่จะหยุดหรือย้อนกลับไปดูตอนสำคัญ    แล้วร่วมกันอภิปรายทั้งชั้นว่าหากตนเองเป็นผู้ควบคุมวิดีทัศน์จะดีต่อตนเองอย่าง ไร   แต่ละคนดูได้เข้าใจเร็วช้าแตกต่างกันอย่างไร   และการเรียนจากวิดีทัศน์ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนเป็นผู้มีอำนาจเหนือการเรียน ของตนอย่างไร 

นอกจากนั้น ยังสอนวิธีจดบันทึก  ผู้เขียนแนะนำ Cornell note-taking system   ครูแจกแบบฟอร์ม (template) สำหรับให้นักเรียนฝึกจดบันทึก   จะเห็นว่า การจดบันทึกแบบ คอร์แนล ช่วยการฝึกตั้งคำถาม และการจับประเด็นสำคัญ

 

กำหนดให้นักเรียนตั้งคำถามที่น่าสนใจ

เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนได้ดูวิดีทัศน์มาก่อน  ครูจึงกำหนดให้เด็กต้องมาตั้งคำถามที่น่าสนใจในชั้นเรียน   โดยต้องเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับในวิดีทัศน์ และตัวเด็กเองไม่รู้คำตอบ    นักเรียนแต่ละคนต้องตั้งคำถามมาคนละ ๑ คำถามต่อวิดีทัศน์ ๑ ตอน

ในชั้นเรียน จะมีช่วงเวลา “คำถามและคำตอบ” ที่สนุกสนานและมีคุณค่าต่อการเรียนรู้อย่างยิ่ง   โดยนักเรียนอาจเรียนคนเดียว หรือเรียนเป็นกลุ่ม   และเป็นการทำงานร่วมกับครู   เป็นช่วงเวลาที่ครูได้เรียนรู้สูงมาก   ได้มีโอกาสสังเกตความเข้าใจผิดของเด็ก และแก้ไขเสีย   เป็นกติกาการเรียนที่ทำให้นักเรียนที่ในห้องเรียนปกติเลื่อนลอยจากการเรียน ไม่เคยพูด ไม่เคยถามครู   ต้องมีส่วนตั้งคำถาม และช่วยกันหาคำตอบ

บางคำถามครูก็ไม่รู้คำตอบ ครูจึงได้มีโอกาสแสดงให้เด็กเห็นว่า การไม่รู้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือต้องปิดบัง   การที่ครูได้ร่วมค้นคว้ากับเด็ก ทำให้เกิดความสนิทสนม   ช่วยให้เด็กกล้าถามต่อ   และที่สำคัญ ช่วยให้ครูได้เรียนรู้ด้วย 

ผมขอบันทึกความเห็นส่วนตัวว่า วิธีกำหนดให้ดูวิดีทัศน์แล้วตั้งคำถาม ๑ คำถาม   เอามาร่วมกันเรียนรู้วิธีตั้งคำถาม และเรียนรู้วิธีหาคำตอบร่วมกันที่โรงเรียนนี้   คือวิธีเรียนที่ประเสริฐที่สุด   ช่วยให้ได้หลายด้านของ 21st Century Skills   ที่สำคัญคือ Learning Skills, Inquiry Skills, Collaboration Skills, และอื่นๆ 

เป็นที่รู้กันว่า ในการเรียนรู้นั้น การฝึกตั้งคำถามสำคัญกว่าการฝึกหาคำตอบ   เคล็ดลับของการสอนโดยกำหนดให้คิดคำถามมา ๑ คำถามนี้   ช่วยให้นักเรียนตั้งใจดูวิดีทัศน์ ดูแล้วจับประเด็น และหาประเด็นที่สงสัย   ซึ่งก็คือทักษะการเรียนรู้นั่นเอง  

การเอาคำถามมาร่วมกันหาคำตอบในช่วงเวลาเรียน ทำให้การเรียนสนุกสนาน และทุกคนได้เรียนตามที่ตนสนใจ และกำกับการเรียนของตนเอง (mastery learning - เรียนให้รู้จริง)   ซึ่งผมเชื่อว่า นักเรียนส่วนใหญ่จะมีคำถามสำหรับไปค้นคว้าต่อที่บ้าน   หรือถกเถียงกับเพื่อนๆ นอกเวลาเรียนในชั้นเรียน

 

วางรูปแบบห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง

ห้องเรียนต้องเปลี่ยนจาก classroom เป็น studio   คือกลายเป็นห้องทำงาน   เป็นห้องที่จุดสนใจคือการเรียนของตนเอง   เรียนโดยการลงมือทำ   ไม่ใช่โดยการฟังครูสอนในห้องเรียนแบบเก่า

เครื่องใช้ต่างๆ ในห้อง ต้องเน้นการใช้งานเพื่อการเรียนของนักเรียน  และเพื่อการเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของนักเรียน   ไม่ใช่เพื่อการสอนของครูอย่างแต่ก่อน  

เครื่องใช้เกือบทั้งหมดในห้อง มีไว้ให้นักเรียนใช้   ไม่ใช่สงวนไว้ให้ครูเท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้ อย่างในห้องเรียนแบบเก่า

 

ให้เด็กได้จัดการเวลาและงานของตนเอง

ในบางช่วงเวลาของเทอม นักเรียนบางคนอาจมีกิจกรรมพิเศษที่ต้องทำ เช่นงานเทศกาล หรือการแข่งขันกีฬา   และช่วงนั้นก็ใกล้การสอบประจำภาคด้วย   ในห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง นักเรียนสามารถเรียนไว้ล่วงหน้า   เรียนวิชาบางวิชาให้จบเร็ว   สามารถสอบไล่ก่อนเวลา   และใช้เวลาของวิชาที่เรียนจบเร็วเรียนวิชาอื่น  

นักเรียนที่เรียนช้าก็สามารถใช้เวลาเรียนซ้ำช่วงที่ต้องการได้   สอบส่วนใดไม่ผ่านก็สอบใหม่ได้เสมอ

 

ส่งเสริมให้เด็กช่วยเหลือกันเอง

ห้องเรียนคือ learning hub (ไม่ใช่ teaching hub)   จุดสนใจคือนักเรียนด้วยกันเอง ไม่ใช่ครู   นักเรียนจะตระหนักในความจริงข้อนี้   และเรียนรู้ร่วมกัน และช่วยเหลือกัน   จะรวมตัวกันเองเป็นกลุ่มเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน  

บางครั้งครูจะจัดนักเรียนเป็นกลุ่มเรียนรู้เฉพาะเรื่อง    เช่นนักเรียนที่ยังไม่เข้าใจประเด็น ก   จะรวมตัวกันเป็น independent study group เรื่องประเด็น ก   ในขณะที่นักเรียนคนอื่นๆ หรือกลุ่มอื่นเรียนประเด็นอื่น

นี่คือการฝึก team skills, collaborative skills โดยไม่รู้ตัว   การเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง จึงเป็นการฝึก 21st Century Skills แบบไม่รู้ตัว

การที่เด็กเรียนแบบช่วยเหลือกันนี้ ช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างลึก ตามที่อธิบายโดย ปิระมิดการเรียนรู้  

 

สร้างระบบประเมินที่เหมาะสม

เราต้องการระบบประเมินที่ประเมินความเข้าใจของเด็กอย่างแม่นยำ    คำถามคือ ครูรู้ได้อย่างไรว่าศิษย์ได้เรียนรู้อย่างรู้จริงตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของ วิชา    และถ้านักเรียนคนใดยังเรียนรู้ไม่ได้ตามที่กำหนด จะทำอย่างไร 

เทคโนโลยี ไอซีที่ สมัยใหม่คือคำตอบ

 

การประเมินเพื่อปรับปรุง (Formative Assessment)

ครูที่มีประสบการณ์สูง จะสามารถบอกได้ทันทีว่าเด็กคนไหนยังไม่เข้าใจเรื่องอะไร   เมื่อครูเดินไปรอบๆ ห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง ครูจะลองสอบถามบางคำถามแก่นักเรียนบางคน   และรีบแก้ความเข้าใจผิดให้ 

ผู้เขียนหนังสือสังเกตว่าในช่วงที่นักเรียนกำลังเรียนรู้หลักการเรื่องใดเรื่อง หนึ่ง   นักเรียนแต่ละคนจะต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกัน ตามระดับของพัฒนาการของศักยภาพในการเรียนรู้ (cognitive development) ของตน   และตามความยากง่ายของเรื่อง

ครูจะมีวิธีช่วยเหลือศิษย์แตกต่างกัน   บางกรณีครูจะช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ   แต่ในบางกรณี ครูจะปล่อยให้เด็กใช้ความพยายามช่วยเหลือตนเอง   การเรียนที่ดี ไม่ใช่การเรียนแบบได้รับการป้อนสาระความรู้   นักเรียนที่ช่วยตัวเองได้ควรได้เรียนแบบช่วยตัวเอง เพราะจะเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยงกว่า    แต่เด็กที่เรียนอ่อน ก็ต้องได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม 

ผู้เขียนมอบให้นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบการประเมินเพื่อยืนยันการเรียนรู้ ของตนเอง   ว่าได้บรรลุการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์แล้ว   จะพิสูจน์โดยวิธีใดก็ได้   สำหรับเด็กที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ ครูก็จะเข้าไปประเมิน และหาประเด็นที่เด็กยังไม่เข้าใจ   แล้วจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อซ่อมเสริมความเข้าใจเป็นรายคน   ผู้เขียนอ้างถึงคำอธิบายคุณประโยชน์ของการทดสอบแบบ formative โดย Evan McIntosh ว่าเป็นเสมือน GPS ของการเรียนรู้   ที่คอยบอกว่าการเรียนรู้ดำเนินไปถูกทางหรือไม่

การทดสอบแบบ formative และ feedback แก่นักเรียนทันที   ช่วยให้เด็กเรียนได้อย่างถูกทาง   ไม่เดินผิดทาง

 

ถามคำถามที่ถูกต้อง ในการทดสอบแบบ formative

ที่จริง นี่คือการคุยกับเด็กของครู  เป็นการคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ และเปี่ยมความเมตตาของครูเพื่อศิษย์   เพื่อสร้างความสนิทสนม รู้จักนักรียนเป็นรายคน  ให้นักเรียนรู้สึกว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญของครู   ให้ครูรู้จักความคิดของเขา   และเพื่อให้ครูได้ช่วยให้ศิษย์แต่ละคนได้เรียนวิธีเรียนรู้  

คำถามที่ครูถามศิษย์แต่ละคนจึงแตกต่างกันเป็นรายคน เป็นไปตามสถานการณ์   แตกต่างกันไปตามระดับความเข้าใจ   เป็นคำถามที่ช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนคนนั้นๆ มีความก้าวหน้าในบทเรียนนั้นไปถึงไหนแล้ว   และนักเรียนต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไร

ผมเพิ่มเติมว่า คำถามที่ดี นอกจากมีคุณประโยชน์ต่อการประเมินความก้าวหน้าของการเรียนแล้ว   ยังช่วย “จุดประกาย” ความสนใจ หรือความใฝ่รู้ ของเด็กได้ด้วย   

 

การสอบแบบได้-ตก (Summative Evaluation)

นี่คือการสอบเพื่อดูว่าเด็กบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้หรือไม่   โดยที่ครูต้องกำหนดว่าเกณฑ์สอบ ผ่าน-ไม่ผ่าน คืออะไร   ผู้เขียนบอกว่าตนเองกำหนดเกณฑ์ “รู้จริง” ว่าต้องผ่านร้อยละ ๗๕ ของข้อสอบ   โดยที่ตอนออกข้อสอบ ครูกำหนดความยากง่ายของข้อสอบให้เด็กที่ได้เรียนรู้ “ความรู้ที่จำเป็น” (essential knowledge) ทั้งหมด จะสอบได้ร้อยละ ๗๕   ส่วนอีกร้อยละ ๒๕ ตอบได้ด้วยความรู้ส่วนที่เลยความจำเป็น (nice to know)  

เด็กที่สอบได้ไม่ถึงร้อยละ ๗๕ ต้องเรียนเสริม แล้วสอบใหม่ จนกว่าจะสอบได้

ในวิชาเคมีของผู้เขียน มีการสอบปฏิบัติการด้วย   โดยมอบปัญหาให้ไข   และคะแนนผ่านคือร้อยละ ๗๕ เช่นกัน   นักเรียนที่เขียนรายงานแบบขอไปที จะได้รับรายงานคืน ให้ไปเขียนมาใหม่ 

 

ความซื่อสัตย์ในการสอบ

ครูต้องหาวิธีป้องกันเด็กโกงสอบ โดยจัดการสอบที่เด็กโกงไม่ได้หรือได้ยาก    

ผู้เขียนเล่าวิธีที่ตนเพิ่งคิดขึ้นใหม่   เรียกว่า open-internet test (เลียนคำว่า  open-book test) คือให้ตอบได้โดยใช้การค้นใน internet ช่วยได้   การออกข้อสอบแนวนี้ครูต้องคิดหรือตระหนัก ๒ ประเด็น   (๑) คำถามแบบไหนที่ไม่ต้องมีการเรียนในชั้นเรียน เด็กก็ตอบได้โดยค้นจาก อินเทอร์เน็ต   (๒) เนื่องจากมีข้อมูลความรู้มากมายให้เด็กค้นได้จาก อินเทอร์เน็ต  ข้อสอบแบบใดที่จะช่วยประเมินความรู้จริงของเด็ก ในวิชานั้น หรือตามวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชานั้น  

ข้อสอบแบบเปิด อินเทอร์เน็ต ตอบ นี้ จะป้องกันการลอกคำตอบไปโดยปริยาย   เพราะเด็กจะได้ข้อสอบต่างกัน   และผมคิดว่าควรให้เด็กเขียนคำตอบด้วยลายมือ   เพื่อป้องกันการตอบโดยตัดปะจาก อินเทอร์เน็ต

ความซื่อสัตย์เป็นเป้าหมายของการเรียนรู้ ใน 21st Century Skills อย่างหนึ่ง

 

เครื่องช่วยการสอบเพื่อผล ได้-ตก

เครื่องช่วยนี้คือ computer-generated exam   ที่การออกข้อสอบและให้คะแนนทำโดยคอมพิวเตอร์   โดยครูเป็นผู้ออกข้อสอบใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ (ครูต้องลงแรงออกข้อสอบมากข้อขึ้น)    ทำให้นักเรียนแต่ละคนได้รับข้อสอบคนละชุด   และครูสามารถปรับความยากง่ายของการสอบแต่ละครั้งได้      

เครื่องช่วยนี้เรียกว่า course-management software ซึ่งมีหลายสำนัก ได้แก่ Moodle, Blackboard, WebCT   และผมเข้าใจว่า ClassStart ของสำนัก Gotoknow ก็น่าจะเป็นเครื่องมือประเภทนี้

 

ทำงานในวัฒนธรรมให้เกรด A-F

ครูต้องไตร่ตรอง ว่าในการเรียนแบบรู้จริงนั้น การให้ผลสอบ A-F มีความหมายอย่างไร   แตกต่างจาก A-F โดยทั่วๆ ไปอย่างไร    ผู้เขียนทั้งสองยึดถือการให้เกรดแบบ objective-based หรือ standards-based grading (SBG) คือเน้นอิงเกณฑ์ หรืออิงมาตรฐาน  แต่ในข้อกำหนดของหน่วยเหนือของการศึกษาของสหรัฐอเมริกา โรงเรียนต้องระบุทั้งคะแนนและเกรดลงในสมุดรายงานผลการศึกษาของเด็กแต่ละคน ให้ผู้ปกครองได้ดู  

ผู้เขียนใช้วิธีประนีประนอมกับข้อกำหนดของหน่วยเหนือโดยยึดการสอบ แบบ SBG   นักเรียนทุกคนต้องได้ผลการสอบแบบ SBG ร้อยละ ๗๕ ขึ้นไปจึงจะมีการให้เกรด   โดยคะแนนร้อยละ ๕๐ มาจาก SBG   อีกร้อยละ ๕๐ มาจากการทดสอบแบบ formative หรือคะแนนเก็บนั่นเอง

ผู้เขียนเล่าว่า ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ตนสอนอยู่ (ชื่อ Westminster, Colorado) ใช้การสอบแบบ SBG ร่วมกันทั้งเขตพื้นที่   ทำให้นักเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน อาจมีนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับเกรดต่างกัน (เช่นในชั้น ม. ๒  นักเรียนส่วนใหญ่เรียนอยู่ในระดับ ม. ๒  แต่อาจมีบางคนเรียนอยู่ในระดับ ม. ๑   และมีบางคนเรียนอยู่ในระดับ ม. ๓   ผมไม่ทราบว่าทำไมเขาไม่ย้ายห้องเด็กให้เรียนในชั้นที่ตรงกับระดับการเรียนของตน)   และในปีหนึ่งๆ นักเรียนบางคนอาจเรียนในต่างระดับ ก็ได้   ขึ้นกับผลการสอบแบบ summative   เรื่องนี้ผมเองยังไม่ค่อยเข้าใจ

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 502367เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2012 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2020 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เหมือนหรือแตกต่างกับทฤษฎีห้องเรียนกลับด้าน หรือครับท่าน

เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งได้รับข้อมูลมาสนใจอยากทดลองใช้แต่มีข้อข้องใจเลยลองเปิดอ่านดุได้ความกระจ่างมากค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท