Priyapachara
นางสาว ปรียาพัชร ตุลาเนตร

การศึกษากับการปรับตัวสู่การเปิดประชาคมอาเซียน (เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2555)


เรียนรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน การเตรียมความพร้อมในการเตรียมตัวด้านการศึกษาของไทย เปรียบเทียบกับระบบการศึกษาของสิงคโปร์

6   

   8

       เมื่อพูดถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  หลายคนอาจจะมีความวิตกกังวล  หลายด้านไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวในการใช้ชีวิต  การทำงาน  การศึกษา เป็นต้น  เพราะทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้โหมประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นเตือนประชาชนทุกเพศทุกวัยเสมือนเป็นเรื่องใหม่  และไกลตัว  แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยกับประเทศต่างๆในอาเซียนได้มีการเปิดการเชื่อมโยง  ติดต่อกันในทุกๆด้านมานานแล้ว  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  การศึกษา  การขนส่ง  ที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจน แทบจะไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลงเลย เพียงแต่มีการร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ และวางขอบข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน  เพื่อยกระดับความเป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีความเข้มแข็ง  สามารถแข่งขัน และต่อรองผลประโยชน์กับกลุ่มต่างๆระดับโลกได้

ประเทศอาเซียน

       ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับประเทศในประชาคมอาเซียน (ASEAN  Community) กันก่อน เพื่อเป็นข้อความรู้พื้นฐานที่จะใช้ร่วมกับการพัฒนาตนเอง  ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย (2510)  อินโดนีเซีย (2510)  ฟิลิปปินส์ (2510)  บรูไน (2527)  สิงคโปร์ (2510)    มาเลเซีย (2510)  เวียดนาม (2538)  ลาว (2540)  พม่า (2540)  และกัมพูชา (2542) มีประชากรรวมกันประมาณ 600 ล้านคน  ได้มีการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนที่เรียกว่า  ข้อตกลงบาหลี2 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือการให้อาเซียนรวมตัวกันเป็นชุมชน หรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ. 2015) เนื่องจากการแข่งขันรุนแรง  เช่น อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจีน  และอินเดียสูงมากในช่วงที่ผ่านมา

       ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือหลักๆใน 3 ด้าน คือ : ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community - ASC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  มีระบบแก้ไขความขัดแย้ง ระหว่างกันได้ด้วยดี : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community- AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน  ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ทำ Roadmap ทางด้านการท่องเที่ยว  และการขนส่งทางอากาศ (การบิน) : ประชาคมสังคม และวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community- ASCC) เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร  มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี  และมีความมั่นคงทางสังคม

        เมื่อจะต้องเปลี่ยนแปลงทุกด้านเช่นนี้แล้ว  คนไทยควรจะมีการปรับตัว  และพัฒนาตนเองอย่างไรให้มีความพร้อมที่จะดำเนินชีวิตท่ามกลางประชากรนานาประเทศ  ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน ครูอาจารย์  นักศึกษา หรือคนวัยทำงาน ก็จำจะต้องหันมาคิดเรื่องการพัฒนาด้านการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมแทบทั้งสิ้น  ดังที่เราสามารถติดตามได้จากข่าวสารทางทีวี ที่เห็นโรงเรียนต่างๆมีการพัฒนา อบรมครูด้านภาษาต่างประเทศ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้มีความสามารถใช้และสอน นักเรียนทางด้านภาษา และเทคโนโลยีได้อย่างมั่นใจ ตลอดจนคนวัยทำงานที่แสวงหาสถาบันสอนภาษา เพื่อนำมาพัฒนาตนเองในการทำงานไม่ว่าสายงานใดก็ตาม  โดยภาษาที่ได้รับความนิยมคือ ภาษาอังกฤษ  ซึ่งต้องใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันเอง  และประเทศคู่ค้าสำคัญๆนอกกลุ่ม  นอกจากนั้นก็มีภาษาจีน  ญี่ปุ่น  เกาหลี  ส่วนภาษาของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เข้ามาเป็นที่นิยมศึกษาเพิ่มเติมเป็นภาษาที่ 2 หรือภาษาที่3 ในบ้านเราก็อย่างเช่น  ภาษาอินโดนีเซีย  และภาษาฟิลิปปินส์

       ไม่ว่าโลกเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  เปลี่ยนไปรวดเร็วเพียงใด  ก็หนีไม่พ้นต้องกล่าวถึงเรื่องการศึกษา  เช่น มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน การทำงาน ยังต้องมีการจัดอบรม ให้ความรู้ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้  คนวัยทำงานอยากเปลี่ยนงาน ยกระดับหน้าที่การงาน  ก็ต้องหันมาคิดวางแผนเรื่องการศึกษาต่อ  เมื่อต้องเปิดประชาคมอาเซียนทุกภาคส่วนก็มุ่งเป้าสู่การศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง  เพื่อให้มีพื้นฐานความรู้ในการเตรียมการ และดำเนินชีวิตต่อไป  ในเมื่อพูดถึงการศึกษาแล้ว เราก็ควรต้องมารู้ความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในด้านการศึกษาของไทย  ว่าหน่วยงานต่างๆด้านการศึกษา  เขาเตรียมความพร้อม  และมีโครงการอะไรบ้าง เช่น

       - สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

 

  มีโครงการ  Education Hub School มีการพัฒนาหลักสูตร และสื่อเกี่ยวกับอาเซียน

       - สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย และการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษาอาเซียน

       - สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา  จัดโครงการสัมมนาการวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย เป็นต้น  (ณัฐตินัน  วรรณารักษ์, ศูนย์ข่าวการศึกษา)

       จากข้อมูลข้างต้นทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวสารด้านการศึกษา  และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ทราบกันแล้วถึงนโยบายการเตรียมความพร้อมของวงการศึกษาไทย  เราก็ควรมาศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาของสิงคโปร์ซึ่งถือเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย  ซึ่งประชากรในสิงคโปร์เป็นผู้ที่มีคุณภาพทุกด้าน  สามารถไปประกอบอาชีพและสามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตในประเทศต่างๆได้เป็นอย่างดี  เขามีระบบการศึกษาอย่างไร  เรื่องระบบการศึกษาของสิงคโปร์ (สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ  สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ) แบ่งออกเป็นระดับประถม 6 ปี  ระดับมัธยมศึกษา 4 ปี  แต่ผู้ที่จะเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จะต้องศึกษาขั้นเตรียมมหาวิทยาลัยอีก 2 ปี การศึกษาภาคบังคับของสิงคโปร์จะต้องเรียนรู้ 2 ภาษา ควบคู่กันไป  ได้แก่  ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก  และเลือกเรียนภาษาแม่  อีก 1 ภาษาคือ จีน (แมนดาริน) มาเลย์ หรือ ทมิฬ (อินเดีย)

       รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก  โดยถือว่าประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ  และมีค่าที่สุดของประเทศในการนี้  รัฐบาลได้ให้การอุดหนุนด้านการศึกษาจนเสมือนกับเป็นการศึกษาแบบให้เปล่า  โรงเรียนในระดับประถม และมัธยมล้วนเป็นโรงเรียนของรัฐบาล หรือกึ่งรัฐบาล  สถานศึกษาของเอกชนในสิงคโปร์  มีเฉพาะในระดับอนุบาล และโรงเรียนนานาชาติเท่านั้น  มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์มี 3 แห่ง คือ  National University  of  Singapore (NUS) ทำการเรียนการสอนครอบคลุมเกือบทุกสาขา Nanyang  Technology  University จะเน้นการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ  วิทยาศาสตร์ประยุกต์  และธุรกิจ  Singapore  Management  University  (SMU) เน้นเฉพาะด้านธุรกิจการจัดการ  นอกจากนั้นแล้วสิงคโปร์ยังมีวิทยาลัยครูเพียงแห่งเดียว คือ National  Institute  of  Education

       ผู้ปกครองนักเรียนของสิงคโปร์จะส่งบุตรหลานเข้ารับการเตรียมความพร้อมในโรงเรียนเมื่อเด็กมีอายุ ได้ 2 ขวบครึ่ง  เมื่อเด็กอายุได้ 6 ขวบ ก็จะเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ระดับ ป.5-6 จะเรียกว่า Orientation Stage ชั้นประถมต้นจะเรียน  3 วิชาหลัก  คือ  ภาษาอังกฤษ  ภาษาแม่  และคณิตศาสตร์  นอกจากนั้น  จะมีวิชาดนตรี  ศิลปหัตภกรรม  หน้าที่พลเมือง  สุขศึกษา  สังคม  และพลศึกษา  ส่วนระดับประถมปลาย นักเรียนจะถูกแยกออกเป็น 3 กลุ่มทางภาษา  คือ  EM1, EM2, EM3 การแยกนักเรียนเข้ากลุ่มทางภาษานั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษาของแต่ละคน  เมื่อจบ ป.6 แล้วจะมีการสอบที่เรียกว่า  Primary  School Leaving Examination (PSLE) เพื่อที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาต่อไป  ผลการเข้าสอบมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งตอการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา  ส่วนระดับที่สูงขึ้นไป  นักศึกษาและสถาบันในสิงคโปร์เน้นที่เรียนแล้วมีความรู้สามารถทำงานได้

        ในโอกาสที่ประเทศไทยเราจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  ควรจะได้เห็นระบบการศึกษาไทยได้รับการพัฒนา  เน้นให้นักเรียน นักศึกษา เรียนแล้วสามารถทำงานได้  ผลผลิตมีคุณภาพสู้นานาประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันได้  อย่างน้อยควรมีคุณภาพทัดเทียมกับสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน  การปรับวิธีการเรียนและการเปลี่ยนวิธีการสอนถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  จึงฝากให้ทุกภาคส่วนมุ่งช่วยกันในการปรับและพัฒนาทุกๆด้านเพื่อให้ได้ประชากรที่มีคุณภาพ  และสามารถปรับตัวในการดำเนินชีวิตได้ดี

6

              สัญลักษณ์อาเซียน
สัญลักษณ์อาเซียน คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้น มัดรวมกันไว้ หมายถึง ประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

           สีน้ำเงิน   หมายถึง   สันติภาพและความมั่นคง
           สีแดง      หมายถึง   ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
           สีขาว      หมายถึง    ความบริสุทธิ์       และ
           สีเหลือง   หมายถึง   ความเจริญรุ่งเรือง


คำขวัญของอาเซี่ยน

           "One Vision, One Identity, One Community"
           "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม "

                                                                    

                                                                   ปรียาพัชร  ตุลาเนตร

                                                                               ผู้เขียน

หมายเลขบันทึก: 501976เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2012 02:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2013 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะท่านBlankนางสาว ภวิตรา เนาว์ชารี ตุลาเนตร

ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น

สวัสดีค่า ค่ะ มีคนเขียนแนวนี้เยอะ พยามจะเขียนเปรียบทุกอย่าง แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน มันยาวแล้ว เลยพอแค่นั้นค่ะ อิอิ

ว้าว เด๋วเข้าไปเยี่ยมชมค่า ผ่านมือถือเข้ายากเม้นท์ก็ยาก ขอบคุณค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท