หลักธรรมสำคัญของมหายาน


มหายานนั้นเจริญแพร่หลายอยู่ทางภาคเหนือของชมพูทวีป อันเป็นแหล่งที่ตั้งของศาสนาพราหมณ์ และปรัชญาธรรมต่างๆในศาสนานั้นๆ นักปราชญ์ผู้นับถือพุทธศาสนา ก็ชอบใช้หลักปรัชญาเป็นเครื่องปฏิบัติและชี้แจง พุทธศาสนาทางนิกายมหายานจึงปรากฏคัมภีร์ ที่ชี้แจงไปในทางปรัชญามากกว่าหินยาน

หลักธรรมของมหายาน

หลักปัจจยาการ กรรม อัตตา และอนัตตา

พระสาโรจน์ ธมฺมสโร

พุทธศาสนามหายาน, หินยาน, และพุทธศาสนาดั้งเดิม มีคำอธิบายไตรลักษณ์ว่า คือลักษณะ ๓ ประการของสรรพสิ่ง ได้แก่ สรรพสิ่งประกอบด้วย ความไม่เที่ยง [อนิจจลักษณะ]  สรรพสิ่งประกอบด้วยความทนได้ยาก [ทุกขลักษณะ], และสรรพสิ่งประกอบด้วยความไม่ใช่ตัวตน [อนัตตลักษณะ]

ไตรลักษณ์ ขึ้นอยู่กับความจริงของพระอริยเจ้า ๔ ประการ [จตุราริยสัจ] หรือมีความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการเป็นรากฐาน ความจริง ๔ ประการนั้น คือ ทุกข์ สมุทัย และมรรค โดยอธิบายว่าสรรพสิ่งเป็นทุกข์, ตัณหาความทะยานอยากเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์, การจะดับความทุกข์เสียได้ ต้องตัดความทะยานอยากอันเป็นต้นเหตุ, หนทางที่จะตัดความทะยานอยาก หรือตัดความทุกข์ได้ต้องอาศัยหนทาง ๘ สาย คือ อัฏฐังคิกมรรค ได้แก่ สัมมาทิฐิ [เห็นชอบ] สัมมาสังกัปปะ [ดำริชอบ] สัมมาวาจา [พูดชอบ]สัมมากัมมันตะ [การงานชอบ] สัมมาอาชีวะ [เลี้ยงชีวิตชอบ] สัมมาวายามะ [พยายามชอบ] สัมมาสติ [ความระลึกชอบ] สัมมาสมาธิ [ตั้งใจไว้ชอบ]

อธิบายต่อไปอีกนัยหนึ่ง ความทุกข์ยากทั้งหลายมีผลมาจากการที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดถ้าหมดความเกิดเสียได้เมื่อใด ความทุกข์ยากเป็นอันหมดได้เมื่อนั้น ก็และการเวียนว่ายตายเกิดนี้ มีกรรมเป็นเครื่องบันดาลให้เป็นไปตามกฎแห่งเหตุและผลซึ่งอาจดีเลวได้ คือ ถ้าเหตุดี กรรมก็บันดาลผลดีให้เกิดขึ้น ตามนัยนี้ เรียกว่ากรรมเป็นผู้จำแนกสัตว์ กรรมนั้นมีอำนาจครอบคลุมได้ทั้งจักรวาล ไม่ว่าตัวเขาตัวเรา ตามหลักกล่าวว่า เครื่องก่อให้เกิดกรรม คือความโง่เขลา ได้แก่อวิชชา อวิชชานี้ เป็นตัวเหตุให้มีการเวียนว่ายตายเกิด คือ ความทุกข์ยากอยู่ร่ำไป อวิชชาอันเป็นตัวเหตุเปรียบเหมือนห่วงโซ่ห่วงแรกเชื่อมติดต่อกับห่วงอื่นอีก ๑๑ห่วงต่างห่วงต่างเป็นแม่เหล็กดูดซึ่งกันและกัน ห่วงห่วงแรกดึงห่วงที่ ๒ และดึงกันต่อไปจนครบ ๑๒ ห่วง เริ่มด้วยห่วงอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ สัมผัส เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และชรามรณะเหล่านี้คือปัจจยาการ ๑๒ หรือหลักปฏิจจสมุปบาท พวกมหายานเรียกว่านิทานหรือห่วงแห่งเหตุ

ปฏิจจสมุปบาท มาจากภาษาบาลีว่า ปฏิจจ (ปฏิจฺจ) แปลว่า อิงอาศัยกันและกัน และคำว่า สมุปบาท (สมุปฺปาท) แปลว่า เกิดขึ้นพร้อม แปลรวมทั้งสองศัพท์ว่า การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น หมายถึง การที่สรรพสิ่งเป็นปัจจัยเอื้อแก่กันในการเกิดขึ้น หรือ การอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง

ตามคัมภีร์อภิธรรมโฆษา ของพระวสุพันธุ์ มีคำอธิบายว่า “ตัวอวิชชาที่เป็นมาในชีวิตอันเป็นอดีตของเรา เป็นผลให้เกิดเครื่องหมายแห่งความเป็นไปแห่งชีวิตในปัจจุบัน การที่เราปล่อยความทะเยอทะยาน [ตัณหาของเราให้เป็นไปตามความตั้งใจของเรา เพราะผลแห่งอวิชชาที่เป็นมาแล้วแต่อดีตกาล อนึ่ง เนื่องมาแต่กรรม [การประกอบ] ที่เป็นมามนุษย์จึงถูกกำหนดให้ได้รับความรู้สึก [วิญญาณ] ให้พบชื่อและแบบ [นามรูป] ให้ได้มีอายตนะ ๖ [สฬายตนะ] และให้มีการกำหนดหมายรู้ [เวทนา] ขึ้นในตัวของตัวเอง เราไม่สามารถถึงที่สุดอย่างแท้จริงได้ กรรมจะเป็นผู้ชักนำเราไปสู่ความเกิดและความตาย   [วัฏฏสงสาร] ” ตามคำอธิบายนี้นับเป็นทางเดียวกับหลักปัจจยาการของฝ่ายหินยาน

เนื่องด้วยอวิชชาตัวแรก หลักมหายานอธิบายเพิ่มเติมเป็นเชิงปรัชญาว่าเป็นเหตุให้มนุษย์ถือคติอัตตาและอนัตตา จริงอยู่ ฝ่ายหินยานปฏิเสธอัตตาความเป็นตัวตน ความเป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา ยอมรับอนัตตาคือความมิใช่ตัวตนของเราของเขา เพียงเพื่อละเสียได้ซึ่งสักกายทิฐิ คือความสำคัญในเรื่องตัวตนอย่างผิดๆแต่ทว่าทางฝ่ายมหายานนั้น แสดงหลักอนัตตาอันนี้แรงกว่าหลักเดิม ถึงกับเป็นการปฏิเสธภาวะของอนัตตารุนแรงจนกลายเป็นลัทธิสุญญวาท ขยายความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสิ่งทั้งหลาย ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ทุกอย่างไม่มีภาวะ เป็นอภาวะไปหมดสิ้น

หลักปฏิเสธอัตตายอมรับอนัตตา และยังปฏิเสธภาวะของอนัตตาเช่นนี้ เป็นหลักยากที่จะอธิบายให้เห็นได้เป็นอย่างอื่น นอกจากจะกระชับให้ใกล้เข้ามา กล่าวคือการปฏิเสธภาวะอนัตตาได้แก่หลักนิยมว่าสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีความเป็นอัตตาโดยสิ้นเชิงในตัวของมันเองอะไรก็ตาม ที่เป็นสรรพสิ่งและสรรพสัตว์นั้น เข้ารวมอยู่ในธรรมกาย อันเป็นกายหนึ่งในสามของพระพุทธเจ้า คือพระกายแห่งความเป็นพุทธภาวะหรือธรรมของพระพุทธเจ้า จึงจับความได้ว่า สรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายที่กล่าวว่าไม่มีความเป็นอัตตาไปรวมอยู่เป็นอันเดียวกันกับพุทธภาวะ คือความเป็นพระพุทธเจ้าทั้งหมด มีอธิบายต่อไปว่าตราบใดยังไม่มีการตรัสรู้ มนุษย์ก็ไม่มีทางมองเห็นอัตตาหรืออนัตตาได้ชัดเจนตราบนั้น การลดอัสมิมานะหรือลดความเห็นแก่ตนเองลง เป็นการมองเห็นความเป็นอัตตาหรืออนัตตาได้อย่างหนึ่ง

หลักสุญญตา เกี่ยวกับอนัตตา

การที่มหายานแปลงหลังอนัตตา ไปอย่างแรงจนเป็นลัทธิสุญญวาทหรือสุญญตา ความจริงพิจารณาโดยถ่องแท้ จะเห็นว่าสุญญตากับอนัตตา  ดูจะเป็นหลักอันเดียวกัน  เพราะเมื่อกล่าวว่าสูญ ก็คือไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรเหลือ และเมื่อกล่าวว่าไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน ก็ยอมหมายความว่าสูญ

สุญญตาตามอธิบายของมหายาน เป็นหลักในนิกายโยคาจารของพระภิกษุพี่น้องชาวกรุงปุรุษปุระ[อินเดียข้างเหนือ] ๒ รูป คือ พระอสังคะและวสุพันธุ์ ประกอบกับหลักในนิกายมัธยามิกของพระนาคารชุนชาวอินเดียภาคใต้ [ราวพุทธศักราช ๗๐๐ ปี] หลักสุญญตาในนิกายโยคาจาร มิใช่เป็นการสูญสิ้นอย่างสนิท[ยังมีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งเหลืออยู่ คือวิญญาณเพราะบางขณะลัทธิของนิกายนี้เรียกว่า วิญญาณวาท] มีรูปลักษณะเป็น ๓ ประการ คือ ปริกัลปิตะ [Illusive] คือเห็นอย่างลวงตา บางขณะเห็นสิ่งอย่างหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง ปรตันตระ [Relative] เห็นโดยอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาเปรียบเทียบ และปริสปันนะ [Perfect] เห็นด้วยความรอบรู้อย่างแท้จริง อนึ่งสุญญตานั้นเอง ตามหลักนิกายมัธยามิกของพระนาคารชุนอธิบายว่า มีความจริงประกอบอยู่ ๒ อย่าง คือสมมติสัจจะ รู้ความจริงโดยสมมติ [Conditional Truth] และปรมัตถสัจจะ รู้ความจริงโดยความเป็นของจริง [Absolute Truth] และกล่าวว่าหลักสัจจะทั้งสองนี้เป็นความมุ่งหมายตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะพาสรรพสัตว์ไปสู่ความรอบรู้ขั้นสูงสุด

          ควรพิจารณาหลักโยคาจารของพระอสังคะ และวสุพันธุ์ ก่อน

พระพุทธศาสนา สอนให้เห็นความหลอกลวงของสิ่งทั้งหลายอยู่โดยตลอด สอนว่า ชีวิตแห่งความทุกข์ยากเกี่ยวเนื่องด้วยความหลอกลวง [Illusive] อันเป็นลักษณะแรกของสุญญตา ความลวงตาซึ่งทำให้มนุษย์หลงว่า ที่แท้สิ่งหนึ่งนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นความเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนเห็นว่าเป็นอัตตา มีตัวอย่างแสดง เช่น มองเห็นเชือกว่าเป็นงู เป็นลักษณะลวงที่ทำให้มองเห็นไป แต่ถ้าไม่มีความคิดว่าอัตตาอยู่ในสิ่งที่เห็น อากาหลอกลวงก็ไม่มี

ลักษณะต่อมา เป็นความรู้เห็นโดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่ใกล้เคียง [Relative] เป็นความรู้ส่วนแคบมีวงจำกัด ตามปกติมนุษย์ไม่สามารถมีความคิดที่แท้จริงได้ในชีวิตประจำวันของตนเพราะการฝึกฝนไม่พอ แต่ความรู้เห็นเปรียบเทียบกับสิ่งใกล้เคียง แม้จะมีวงแคบจำกัดอยู่ ก็นับว่าพอเพียงสำหรับความเป็นอยู่ในวันหนึ่ง

ลักษณะต่อมา เป็นความรู้เห็นอย่างเที่ยงแท้ เห็นด้วยสติปัญญาอันสมบูรณ์ [Perfect] เป็นทางให้เกิดภาวะตรัสรู้ และถึงซึ่งความหลุดพ้นได้

ในลักษณะสองกับลักษณะสาม มีอธิบายว่า ถ้าไม่มีปัญญาพิจารณาโดยถ่องแท้ก็ใกล้เคียงกันมาก ที่เปรียบด้วยลักษณะแห่งเชือก   กับลักษณะแห่งงู   บุคคลผู้มีปัญญาจำกัดเป็นวงแคบ เดินไปภายใต้แสงเดือนหงาย สายตามองเห็นวัตถุสิ่งหนึ่ง ลักษณะยาว ถูกแสงจันทร์จับเป็นเงาทอดลำยาวคดเคี้ยวออกไปบุคคลนั้นมีความเข้าใจว่าวัตถุนั้นเป็นงูเกิดความตระหนกตกใจขึ้นมาในขณะนั้น เมื่อสักครู่หนึ่งผ่านไปเขาเริ่มได้สติพิจารณาวัตถุภายใต้แสงจันทร์นั้นอีกครั้งหนึ่ง  ยิ่งพิจารณาด้วยดี มองดูในสถานที่ใกล้ด้วยยิ่งเห็นชัดว่าวัตถุสิ่งนั้นหาใช่งูดังที่เข้าใจแต่แรกไม่ที่แท้เป็นเส้นเชือกที่ทำด้วยฟางแห้ง  มนุษย์เราผู้มีความรู้เห็นเป็นวงแคบจำกัด ถูกหลอกลวงและพอใจอยู่ตรงนี้เป็นปกติ  เพราะฉะนั้นจึงยากที่จะได้รับความสมบูรณ์ทางสติปัญญาได้ ยากที่จะได้พบทางแห่งการตรัสรู้ได้ ตราบใดที่ยังมองเห็นเชือกเป็นงูอยู่ ตราบนั้นจะไม่มีการหลุดพ้นอันเที่ยงแท้แน่นอนได้

นาคารชุนใช้คำว่า สุญญตา (ภาษาสันสกฤตคือ ศูนยตา) เรียกการที่สรรพสิ่งไม่มีลักษณะที่เป็นแก่นสารในตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่จริงๆ หรือเป็นอยู่อย่างอิสระจาก สิ่งอื่นๆ (สวภาวะ) ความมีอยู่ของสิ่งหนึ่งๆต้องขึ้นอยู่กับความมีอยู่ของสิ่งหนึ่งๆ การมีอยู่ของสรรพสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกันที่เรียกว่า สัมพัทธภาวะ ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อความมีอยู่ สิ่งนั้นเรียกว่า ว่าง หรือสุญญตา เป็นสิ่งสมมติและเป็นทางสายกลาง ดังนั้น สิ่งใดก็ตามอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นสุญญตา สิ่งใดเป็นสุญญตา แสดงว่าสิ่งนั้นอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น นอกจากคำว่า สุญญตา จะหมายถึงการที่สภาวธรรมทุกอย่างไม่มีความเป็นจริงในตัวเองหรือมีแก่นแท้ในตัวเอง

          สุญญตาจึงไม่ใช่แนวความคิดทฤษฎีแบบใดแบบหนึ่ง เป็นเพียงคำที่นิกายมาธยมิกะใช้เรียกความไม่มีแก่นแท้ของสรรพสิ่งเท่านั้น สุญญตาไม่ใช่ตัวภาวะหรือสิ่งที่มีอยู่อีกภาวะหนึ่ง เป็นทางสายกลางระหว่างแนวความคิดที่ยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่ามีและแนวความคิดที่ยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าไม่มีคือสูญ สุญญตาจึงไม่เอนเอียงไปทางยืนยันหรือปฏิเสธใดๆ เพราะการกล่าวว่า มีอยู่ แสดงถึงความเที่ยงแท้ (สัสสตทิฏฐิ) ส่วน การกล่าวว่าไม่มีอยู่ ก็แสงถึงความขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นทั้งการมีอยู่และการไม่มีอยู่ทั้งสองอย่าง ดังนั้น หลักสุญญตา จึงใช้เพื่อหลักเลี่ยงการโน้มเอียงไปในสองแนวความคิดหลัก คือ พวกที่ยืนยันความมีอยู่แบบเที่ยงแท้แน่นอนที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ และพวกที่ปฏิเสธความมีอยู่ของสรรพสิ่งที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ มีบางกลุ่มเข้าใจว่าสุญญตาเป็นอุจเฉททิฏฐิเช่นเดียวกัน แต่เมื่อว่าโดยความจริงแล้ว สุญญตาไม่ได้มีความหมายในเชิงปฏิเสธแบบขาดสูญเพราะไม่ได้บอกว่าไม่มีอะไร เพียงแต่แสดงว่า สรรพสิ่งๆไม่มีแก่นแท้ เพราะต้องอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น

ในนิกายมัธยามิกของพระนาคารชุน มีลักษณะเป็นสัจจะ ๒ ประการ คือ สมมติสัจจะ [Conditional Truth]  และปรมัตถสัจจะ [Absolute Truth]

พระนาคารชุน ยืนยันคำอธิบายประกอบว่า บุคคลผู้ไม่รู้ความแตกต่างระหว่าง ความจริงกับความไม่จริง  จะไม่สามารถรู้ความดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาได้  ในนิกายมาธยมิก   เรียกความจริงขั้นสูงสุด  หรือ ปรมัตถสัจจะว่าเป็นสุญญตา ด้วยว่าไม่มีความรู้เกี่ยวเนื่อง เพราะฉะนั้น สุญญตาในที่นี้ไม่ใช่ความว่างไม่มีสิ่งใดอื่น ไม่ใช่ความว่างไม่มีสิ่งใดอื่น ไม่ใช่ว่างเปล่าจากสิ่งอื่น เป็นการว่าง สูญจากความสงสัยใดๆ

          ความเข้าใจสุญญตาทางปรมัตถสัจจะ จึงเป็นอธิบายว่า ได้แก่การตรัสรู้นั้นเอง

หลักตถตา

ตถตา ตามความหมายของรูปศัพท์ หมายว่า ความเป็นเช่นนั้น ความเป็นอย่างนั้น ตามความหมายของคำ คือ ความเป็นจริงตามธรรมชาติเช่นนั้นๆ อธิบายว่า ธรรมชาติที่มีเกิดขึ้นอย่างไร ย่อมมีความเสื่อมสลายไปอย่างนั้น

ลัทธิมหายาน อธิบายหลักตถตาว่า ปัญญาความรอบรู้ขั้นยอดที่เป็นไปเพื่อเห็นแจ้งซึ่งสัจจะ อันเป็นปรมัตถ์ ได้แก่ความรู้จริงตามความเป็นของจริง[Absolute Truth] เห็นสภาพทุกอย่างตามความเป็นจริงของมันเข้าใจสภาพของมันตามฐานะที่มันเป็นไปเอง ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของสภาพนั้นๆอย่างไร การที่เราเห็นสภาพสมมติคือดอกไม้ช่อหนึ่งปักเป็นช่ออยู่ข้างหน้าเรา เราเข้าใจสมมตินั่นคือดอกไม้ ไม่ใช่ดินสอ หรือ ดวงไฟ เมื่อจิตรับทราบว่านั่นคือดอกไม้ อารมณ์ต่างๆก็เกิดต่อไป อาทิ มีความรู้สึกต่างๆ เมื่อมองเห็นสีสวยงามของดอกไม้นั้น เกิดความปรารถนาอยากได้ดอกไม้นั้น และใคร่นำดอกไม้นั้นไปบูชาสิ่งเคารพหรือให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และอื่นๆทำนองเดียวกัน ความรู้สึกที่เกิดในดอกไม้เช่นนี้ คือผลแห่งความรับรู้ชนิดหนึ่งอันเป็นสมมติ เรียกว่า สมมติสัจจะ [Conditional Truth] เป็นความรู้ไม่บริสุทธิ์ แปดเปื้อนด้วยอารมณ์ที่เกี่ยวเกาะอยู่ชั่วขณะหนึ่งๆ ตราบใดที่รู้จักสมมติอันนี้ เห็นความจริงว่าดอกไม้เป็นวัตถุอันหนึ่ง เกิดขึ้นจากกิ่งไม้ที่ได้รับบำรุงจากพืช แตกเป็นดอกออกสี มีกลิ่น เมื่อดอกไม้นั้นเบ่งบานเต็มที่แล้วก็ถึงซึ่งเวลาเหี่ยวแห้งล่วงหล่นลงถมทับพื้นธรณี เห็นตามสภาพที่มันเป็นอยู่ตามแบบของมันเช่นนี้ เห็นอยู่ด้วยลักษณะปัญญาของผู้รู้ทั้งหลาย ดอกไม้ ดินสอ หรือดวงไฟ ก็มีสภาพตามรูปของมันเช่นเดียวกัน ด้วยการรอบรู้เช่นนี้นับเป็นปรมัตถสัจจะ เป็นสภาพของตถตาตามธรรมดาตามคำอธิบายของมหายาน

มีอธิบายต่อไปว่า การมองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามสภาพได้แก่การมองเห็นสิ่งทั้งหลายโดยความไม่แตกต่างกัน จะมองดูดวงไฟ ดอกไม้หรือดินสอ ก็มีสภาพเท่ากัน คือ เป็นอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะเหมือนกัน ความรู้เช่นนี้ เปรียบเหมือนกระจกเงา ซึ่งปราศจากไฝฝ้าราคี ด้วยการขัดสีของผู้เป็นเจ้าของ จะมองดูภาพใดที่ติดในกระจกเงานั้น ย่อมเห็นได้ชัด ไม่มีหลอกหลอน ตามสภาพแห่งความเป็นจริงอันเป็นยถาภูตธรรม

ในประวัติพุทธศาสนา ทั้งส่วนหินยานและมหายาน มีคำศักดิ์สิทธิ์คำหนึ่งว่า “ตถาคต” พุทธศาสนิกทั้งสองฝ่าย เข้าใจตรงกันว่าเป็นพระนามของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ทรงใช้เรียกแทนพระองค์เอง เมื่ออธิบายหลักตถตา มหายานนิยมยกเอาคำ “ตถาคต” ขึ้นมาประกอบด้วยคำว่า “ตถาคต”มีอธิบายในคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร เหมือนกับคำอธิบายฝ่ายหินยาน

ตถาคต อันเป็นพระนามของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[เป็นศัพท์สนธิจากศัพท์ ตถา+อาคต หรือ ตถา+คต ผู้ซึ่งมาหรือไปอย่างนั้น] หมายความว่าพระองค์เสด็จมาแล้ว หรือเสด็จไปแล้ว ตามสภาพของพระองค์ [เช่นนั้น] ไม่มีส่วนเกี่ยวกับผู้ใดสิ่งใด อันเป็นเครื่องผูกพันพระองค์ไว้ พระองค์ยังดำรงสภาพตามความเป็นจริง และทรงมองเห็นสภาพของความเป็นจริงอยู่ตลอดไป สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐ ผู้ยังอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณให้เป็นไป พระองค์ทรงเห็นแจ้งโดยปรมัตถสัจจะ และยังปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ให้เห็นตามไปด้วย ผู้มีสภาพของตถตาหรือเหตุแห่งความเป็นตถาคต ย่อมไม่ตกอยู่ภายใต้ของหายนะ ไม่มีอุปสรรคใดๆและไม่ขึ้นอยู่กับความแตกต่างอันใดๆตราบเท่าที่สรรพสัตว์ทั้งหลายมองดูตนเองตามสภาพความเป็นจริงเช่นนั้น สรรพสัตว์เหล่านั้นย่อมมีสภาพเป็นตถาคต ไม่มีเกิด ไม่มีตาย คือไม่มีสมมติว่าเกิดว่าตาย คงภาวะของตนต่อความเป็นจริงของตนเพียงอันเดียว ความเกิดเป็นตัวตนของสรรพสัตว์ เรากำหนดได้ว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นไปตามการสืบพันธุ์ เกิดมาแล้ว ต้องตายไปตามสภาพที่เรียกว่า ตถาคตภาพ หรือยถาภูตภาพ แต่ว่าตถาคตภาพก็ดี ยถาคตภาพก็ดี ยังคงเป็นตัวของตัวอยู่เอง ไม่มีเปลี่ยนแปลงไปในกาลทั้งสาม คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต

โดยการรอบรู้เช่นนี้ บุคคลพึ่งเห็นว่า ความเป็นเช่นนั้นของพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่สัจจะของพระองค์เองและความแท้จริงของพระองค์เอง ที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เป็นไป ตามที่ทรงเป็นมาแล้วอย่างไร ตถตาของพระตถาคตจึงเป็นตถตาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระตถาคตทรงรู้แจ้งถึงพระตถตานั้น ว่ามีความเป็นจริงรวมเป็นอันเดียว ความจริงอันนี้คือสัจจะ อันประเสริฐ มีความละเอียดและหนาแน่น เหมือนหนึ่งทรายในแม่น้ำพระคงคา ตถตามีรูปเป็นเช่นไร ไม่สามารถจะนึกคิดได้ แสดงออกให้ใครเห็นเป็นรูปไม่ได้ และพรรณนาให้เป็นภาพอย่างใดก็ไม่ได้

หลักสุญญตา เกี่ยวกับปรัชญา

หลักสุญญตาในที่นี้ คือหลักแห่งความว่างเปล่าตามสภาพ ไมใช่หลักความสูญตามลัทธิสุญญวาท ในนิกายโยคาจารของอสังคะ และพระวสุพันธุ์ ตามที่พรรณนามาแต่ต้น

สุญญตาในหลักนี้ พุทธสาสนิกชนมหายาน กำหนดเอาความว่างเปล่า ซึ่งเนื่องจากพระหฤทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดโดยทั่วไป คือสุญญตาภายในดวงของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ดวงใจมีภาวะอันปราศจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองใดๆ ไม่มีอารมณ์มารบกวนให้เป็นไฝฝ้าราคี อารมณ์ที่เรียกว่ากุศล อารมณ์ร้ายที่เรียกว่าอกุศลไม่มีในดวงใจของผู้รู้ทั้งหลายนั้น ท่านเป็นผู้ว่างเปล่าจากความขุ่นมัวเหมือนน้ำใสซึ่งปราศจากสี

โดยอธิบายถึงหลักสุญญตาในหลักนี้อีกวาทะหนึ่งว่า สรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเรา พร้อมกับตัวของเราเอง เป็นสิ่งว่างเปล่า, เป็นสภาพของความว่างเปล่า เป็นมาจากความว่างเปล่า, มีอยู่กับความว่างเปล่า, และมีอยู่ในความว่างเปล่านั้นด้วย เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา และตัวของเราเอง มีความสัมพันธ์เป็นเบื้องแรกอยู่กับความว่างเปล่าทุกระยะเวลาที่ผ่านไป หามีสิ่งใดเลี่ยงหลีกกฎเกณฑ์อันนี้ได้ไม่ เมื่อบุคคลมาพิจารณาได้ว่า ความว่างเปล่า เป็นความไม่มี เป็นสภาพยึดเอาปรมัตถสัจจะไม่ได้ เมื่อนั้นบุคคลเริ่มพัฒนาเห็นความไม่เป็นแก่นสาร, ความที่จะยึดถือด้วยอาการที่เปล่าประโยชน์, และมาละเสียซึ่งการคำนึงอันผิดพลาดทั้งปวง

นักเรียนธรรมตะวันออก ผู้คุ้นต่อปรัชญาธรรมของชมพูทวีป จะมีทางพิจารณาเข้าใจพรรณนาที่มีมาโดยข้างต้นได้โดยง่าย แต่ความคุ้นต่อปรัชญาธรรมเช่นนี้ ห่างไกลจากความนึกคิดของชาวตะวันตก ผู้จำเริญอยู่ในภาพวัตถุ ตามหลักความคิด ของนักปรัชญาธรรมตะวันตกคัดค้านหลักสุญญตาในลัทธิมหายาน ท่านเปรียบไว้ว่าความคิดนั้นๆเหมือนขวดสุราที่มีเชื้อรสและกลิ่นอยู่แล้ว เอาของเก่าที่เคยบรรจุออกไปเสีย นำสุราชนิดใหม่ใส่เข้า ทำนองขวดสุราเก่าได้น้ำสุราใหม่ มีรสและกลิ่นเป็นอันเดียวกันได้ ย่อมไม่เสียรสหมดกลิ่นฉะนั้น

เพื่อที่จะนำสุราใหม่มาใส่ในขวดเก่า อาจารย์ฝ่ายมหายานยืนยันคำอธิบายหลักสุญญตาอันเกี่ยวกับปรัชญาธรรมของตนด้วยวิธีช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า สุญญตาเป็นวัตถุของปรัชญา [ในศัพท์ของปรัชญาว่าความรักรู้] จะเห็นชัดขึ้นได้โดยปฏิภาณของบุคคล. มหายานิก ไม่นิยมประโยชน์แห่งการโต้แย้ง ด้วยว่าเมื่อความรักรู้ คือ ปรัชญาเกิดขึ้น ก็จะแจ้งได้เองในสภาวธรรมนั้นๆ ภาวะแห่งสุญญตาย่อมปรากฏขึ้นแก่ตนในขณะนั้น และจะเห็นแจ้งว่าสุญญตานั้นคือภาวะเช่นไร, การเกิดขึ้น ซึ่งปรัชญาธรรมครั้งหนึ่งแก่บุคคลใดบุคคลนั้นย่อมเป็นเจ้าของอยู่ได้ด้วยอำนาจแห่งดวงตาของตน

ในปรัชญาปารมิตาสูตร ซึ่งอธิบายถึงปรัชญาธรรมข้อนี้โดยตรง อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าปรัชญาธรรมนั้น เป็นมารดา หรือเป็นที่เกิด [ครรภ์] แห่งท่านผู้รู้ทั้งหลาย และเมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมพิสูจน์ลงตัวได้ว่า ปรัชญาธรรมนั้นคือความรอบรู้ซึ่งสิ่งทั้งปวง, อธิบายหลักนี้หมายความกลับโดยง่ายว่า ความรักรู้ [ปรัชญา] คือมูลฐานของความรู้ และกลับอีกทีหนึ่งหมายความว่า ความรู้เป็นทางให้เกิดซึ่งปรัชญา แม้ว่าปรัชญาตามตัวของมันเอง จะไม่ใช่วัตถุแห่งความรู้ก็ตาย

ในที่นี้ ให้พิจารณาปรัชญาโดยรูปเป็น ๒ คือตัวปรัชญาโดยแท้อย่างหนึ่ง และปรัชญาที่เกี่ยวเนื่องด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่ง โดยทำนองเดียวกับอธิบายนี้ มหายานได้อ้างถึงตถตาหรือยถาภูตภาพ [ความเป็นไปตามสภาพเช่นนั้น] อันเท่ากับสุญญตา [ความว่างเปล่าในสภาพนั้นๆ] พรรณนาข้างต้น ว่ามีนัยเป็น ๒ เหมือนกัน คือตถตาหรือสุญญตาที่ไม่มีความเป็นรูป [ตัวปรัชญาที่เนื่องด้วยความรู้-สมมติสัจจะ] อีกอย่างหนึ่ง

อธิบายนี้ ตำนานมหายานกล่าวว่า มีธรรมาจารย์รูปหนึ่ง ชื่ออัศวโฆษ เป็นชาวเมืองสาเกต ในแคว้นอโยธยา ช่ำชองในลัทธิอาจาริยวาทได้เป็นราชครูของพระเจ้ากานิษกะ [ราวพุทธศักราช ๔๐๐] กษัตริย์แห่งแคว้นกุษานะ มีบุรุษปุระเป็นราชธานี กษัตริย์พระองค์นี้เป็นคนมีบุญญาธิการแผ่เดชานุภาพทั่วดินแดนชมพูทวีปด้านตะวันตกเฉียงเหนือโดยตลอด แคว้นคันธาระ กัษมีระ แคว้นสินธุ และส่วนกลางชมพูทวีปบางตอนก็ตกอยู่ใต้อานุภาพของกษัตริย์พระองค์นี้ พระเจ้ากานิษกะเป็นอัครศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา ฝ่ายอาจาริยวาท ยิ่งใหญ่เท่ากับอโศกมหาราช ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท

อัศวโฆษผู้เป็นราชครู ของกษัตริย์กานิษกะ แต่งคัมภีร์ลือชื่อไว้เล่มหนึ่งชื่อศรัทโธปาทสูตร แปลว่าความตื่นขึ้นแห่งศรัทธา [Awakening of Faith] คัมภีร์เล่มนี้ แสดงหลักศรัทธาอันเป็นมหาธรรมของมหายานและแสดงหัวข้อธรรมสำคัญของมหายานไว้ทั้งหมด, หลักสุญญตาหรือตถตา ก็ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ศรัทโธปาทสูตร

อัศวโฆษกล่าวว่า

“ดวงจิตซึ่งมีสภาพเป็นตถตา เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งของโลก ดวงจิตซึ่งมีสภาพเป็นตถตา เป็นหลักของความเป็นระเบียบแบบแผน ควบคุมสรรพสิ่งทั้งหลายไว้โดยความเป็นระเบียบ, ดวงจิตตามสภาพนั้นมิได้ตกอยู่เป็นทาสของความเกิดหรือความตาย, วัตถุธาตุทั้งหลายทั้งปวง ย่อมเปลี่ยนแปลงไป หาสภาพเป็นตถตาไม่ได้ เพราะระบอบแห่งความคิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ตามปกติ ตราบใดที่ดวงจิตหลุดจากความเป็นทาส ไม่มีระบอบแห่งความผิดติดข้องอยู่โลกอันสมมติย่อมปราศจากไป สรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งปรากฏมีรูปอย่างต่างๆแก่ดวงจิตของเรา เป็นสิ่งเกินกว่าความเข้าใจที่เราจะเข้าถึงได้ เป็นสภาพที่บุคคลเกินจากกำหนดได้ แต่สรรพสิ่งเหล่านี้ [เมื่อดวงจิตซึ่งมีสภาพเป็นตถตา] ย่อมเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกัน หลุดพ้นเสียได้จากความเปลี่ยนแปลง และไม่ตกอยู่เป็นทาสของความเสื่อมสลายใดๆ สรรพสิ่งทั้งหลายนั้น [รวมกัน] เป็นหนึ่ง เป็นดวงจิตดวงเดียวเป็น “ตถตา”

อัศวโฆษ พรรณนาธรรมชาติของตถตาต่อไปว่า

“ตราบเท่าที่ตถตามีอยู่ในที่ใด ความเป็นหนึ่งอย่างเดียวย่อมมีอยู่ในสรรพสิ่ง และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีอุปกิเลสเครื่องยุบลงหรือฟูขึ้นในพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเช่นใด ในสรรพสัตว์ทั้งปวงย่อมไม่มีอุปกิเลสเช่นนั้น [ตราบเท่าที่ตถตามีอยู่] ไม่มีสิ่งที่ล่วงมาในอดีต จะไม่มีสิ่งที่ผ่านไปในอนาคต ทุกอย่างมั่นคง แน่นอนอยู่กับที่ ไม่มีเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดในปัจจุบัน”

“ภายในสภาพมี่เรียกตถตานั้น เปี่ยมอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีช่องว่าง [เพื่อให้ความเศร้าหมองใดๆ] ผ่านเข้ามาได้ ด้วยประการดังนี้ จึงกล่าวว่า ตถตานั้นมีแสงแห่งปรัชญาอยู่ในตัวของมันตามสภาพ เป็นความสว่างส่องให้เห็นความสากลจักรวาล จนกระทั่งถึงที่สุด ในเบื้องหน้าอันไกลโพ้น เป็นความรอบรู้ซึ่งสัจจะเป็นดวงจิตข้องอยู่กับความบริสุทธิ์อันเป็นมูลเดิม เป็นอมฤต, เป็นบรมสุข, เป็นตัวของมันเอง, พ้นจากภาวะหมองคล้ำ เป็นสภาพสด, ชื่นบาน, ไม่มีเปลี่ยนแปลง, ไม่มีเครื่องผูกมัดรัดรึง สภาพของตถตา อันมีปรัชญาร่วมอยู่นี้ เป็นพุทธโพธิปัญญา [สัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า] ก้าวล่วงเสียได้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งปวง แม้แต่จะอนุมานด้วยเมล็ดทรายแห่งแม่พระคงคา และพุทธโพธิปัญญานี้ ไม่มีอำนาจใดจะมาแยกออกเสียได้ [จากตัวตถตาตามสภาพ] ตถตาจึงเป็นสภาพไม่ขาด ไม่มีช่องว่างโดยเหตุนั้นจึงกล่าวว่า ตถตาอันมีปรีชาญาณเป็นเครื่องประกอบนั้น เป็น “ตถาคตคัพภะ” [ครรภ์ หรือ เครื่องรองรับความเป็นตถาคต] และเป็น “ธรรมกายของตถาคต” [ได้แก่พระธรรม]”

ตถาคตนั้น เป็นสภาพหมดชั้น วรรณะ ไม่มีความแตกต่าง สูงต่ำและไม่มีความเป็นสอง, ตถตาเป็นเอกัตถภาพ ไม่ใช่ทวิภาพ, มีปัญหาถามว่า เมื่อตถตาไม่มีความเป็นสอง ก็ความแตกต่างของสรรพสัตว์นั้น เนื่องมาจากอะไรเล่า?

ในข้อนี้ มหายานมีหลักอธิบายเช่นเดียวกับหินยาน คือวิสัชนาว่า ความแตกต่างกันของสรรพสัตว์ เนื่องมาจากดวงจิตอันประกอบด้วยกรรมของสัตว์นั้นเอง เมื่อกรรมที่ปรุงแต่งอยู่ในที่ใด รูปของความเกิดความตายย่อมปรากฏแก่สรรพสัตว์ในที่นั่น หรือว่าสิ่งทั้งหลายย่อมสำแดงเป็นรูปแห่งความเกิดและความดับขึ้นมาในที่นั้น

มีปัญหาว่าการสำแดงรูปแห่งความเกิดดับนั้นอย่างไร? ในคัมภีร์ศรัทโธปาทสูตรของอัศวโฆษ อธิบายโดยยึดดวงจิตขึ้นมาเป็นประธานรูปแห่งการเกิดดับของสรรพสิ่งเป็นของขึ้นอยู่แก่ดวงจิต สภาพแห่งจิตมักเคลื่อนไหวไปตามทางที่ผิดอยู่เป็นนิจ สภาพแห่งจิตเช่นนี้ตกอยู่ในอวิชชา เมื่อดวงจิตตั้งมั่นอยู่ ไม่หวั่นไหว ย่อมเป็นที่ตั้งขึ้นซึ่งปรัชญา, เป็นอมฤต, เป็นบรมสุข ไม่มีเปลี่ยนแปลง, ไม่มีเครื่องผูกมัดรัดรึง, ไม่มีมลทิน, เป็นสภาพสดและชื่นบาน, เมื่อดวงจิตหวั่นไหว สัจจะย่อมหลุดอยู่, เปลี่ยนสภาพเดิม, ไม่ถาวร, และมีแต่ความทนได้ยาก, ความเจ็บ, ความพินาศ, ดวงจิตที่ไม่หวั่นไหวไม่มีช่องว่าง จึงเป็นทางแห่งพุทธโพธิปัญญา มีปัญญาเป็นเครื่องประกอบ เป็น “ตถาคตคัพภะ” [เครื่องรองรับความเป็นตถาคต] และเป็น“ธรรมกายของตถาคต”

ตามคำอธิบายของอัศวโฆษ ถือกันว่าเป็นหลักสำคัญยิ่งของมหายาน เมื่อคัมภีร์ศรัทโธปาทสูตรแพร่หลายอยู่ในอินเดียภาคเหนือแล้ว ได้มีศิษย์นำเข้าไปสั่งสอนในเมืองจีน มหายานในประเทศญี่ปุ่นก็นิยมหลักตามคัมภีร์ร่วมกันทั้งหมด

มหายาน ไม่ปฏิเสธเรื่องเกี่ยวกับโลก ทั้งในส่วนที่เป็นฝ่ายดี และส่วนที่เป็นฝ่ายร้าย เพราะถือว่าโลกเป็นตถตา มันเป็นของมันอยู่เช่นนั้นและตถตานั้น ตามความคิดของฝ่ายมหายาน ว่ามีความเกี่ยวกันอยู่กับดวงจิต, ปรัชญา, โพธิ, ความว่างเปล่า, ที่รองรับแห่งความเป็นตถาคต, ธรรมกายของตถาคต, ความเป็นเอกภาพและอื่นๆ อนึ่ง มีคำอธิบายไว้ในสุดท้ายว่า โพธินั้นจะเริ่มเกิดมีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสภาพของสิ่งใดๆจะมองเห็นได้ตามมรรคาของตถตา และมรรคานั้นสามารถจะนำไปสู่นิเทศแห่งสุญญตา คือพระนิพพาน

หลักนิพพาน

นิเทศแห่งนิพพาน ตามคำอธิบายของพุทธศาสนาฝ่ายหินยานเพ่งเล็งเอา “     ความดับ” คือดับจากกิเลส อาทิ ดับอกุศลได้แก่โลภ โกรธ หลง, มี ๒ ประเภท คือ สอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพานประเภทแรกพระอรหันต์ผู้มีจิตดับจากกิเลส แต่อินทรีย์ ๕ ของท่านยังคุมกันอยู่ ได้แก่สอุปาทิเสสนิพพานประเภทหลัง พระอรหันต์ผู้มีจิตดับจากกิเลส แต่อินทรีย์มิได้คุมกันอยู่ เป็นอนุปาทิเลส คือไม่เหลืออุปาทิใดๆอยู่เลย นิพพานทั้งสองอย่างนี้ ต่างกันโดยรูปแห่งอินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้มีจิตดับจากกิเลสนั้น

นิพพานโดยนิเทศแห่งมหายาน [เรียกด้วยคำสันสกฤตว่านิรวาณ] เพ่งเล็งเอาการดับ ซึ่งเป็นผลขั้นยอดของการบรรลุโพธิญาณเหมือนกัน แต่หลักแห่งการอธิบาย และการปฏิบัติไม่เหมือนกับหินยาน แม้ประเภท ก็มิได้มีเป็น ๒ คือ สอุปาทิเลสและอนุปาทิเลส เช่นประเภทของนิพพานในหินยาน

คำอธิบายนิพพาน [นิรวาณ] ในอาคม [นิกาย] ต่างๆซึ่งเกจิอาจารย์ฝ่ายมหายานให้อรรถาอธิบายว่า หมายถึงความดับสนิท ไม่มีอกุศลมูล ๓ ชนิดคือ โลภจริต โทสจริต และโมหจริต ตลอดถึงความปรารถนาชั่วและกิเลสตัณหาใดไม่เหลืออยู่ ตรงกับคำอธิบายของฝ่ายหินยานของเรา ในคัมภีร์มหาวิภาษแยกศัพท์นิพพาน [นิรวาณ] ไว้ดังนี้ ว่า ธาตุ มีอรรถว่า หลุดไปเลื่อนไป คลายกลิ่น มี นิร หรือ นิ เป็นบทหน้า มี ยุ ปัจจัยทีแปลงเป็น อณ เมื่อเป็นรูปนิรวาณ [หรือนิพพานในภาษาบาลี] หมายถึงจริตทั้งหลายหมดสิ้นไม่มีเหลือ ไม่มีความหวั่นไหวของกิเลสตัณหาอีกต่อไป รูปร่างทั้งหลายไม่ปรากฏให้เห็นอีก และกลิ่นรสใดๆที่เคยเป็นไปก็ปราศจากเสียแล้วซึ่งรสและกลิ่นเหล่านั้น อีกนัยหนึ่งว่า เป็น วาณ ศัพท์ มีความหมายว่า ป่า นิร เป็นบทหน้า นิรวาณ [หรือนิพพาน] จึงมีอธิบายว่าออกไปจากป่าของขันธ์ ๕ อีกนัยหนึ่งหมายถึงกิริยาทอผ้า ทำนองชักเส้นด้ายแต่ละเส้นมาให้ติดกัน แล้วมีรูปเป็นผืนผ้า นิรวาณ [นิพพาน] จึงมีอธิบายว่า ไม่มีการชักเส้นด้าย [ทอ] ให้สายแห่งด้ายคื

หมายเลขบันทึก: 501554เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท