เพาะเห็ดฟางกองเตี้ยแบบรดน้ำพรวนดิน


เนื่องด้วยสามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากดินรอบๆกองได้เพิ่มอีก

 

การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เสริมให้คนไทยมาช้านานหลายสิบปีนับตั้งแต่ผู้บุกเบิกคือท่านอาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ที่ริเริ่มเพาะเห็ดฟางจากเปลือกบัวเป็นคนแรกของประเทศไทยต่อมาท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติก็สืบสานเสริมเพิ่มวิชาการและเทคโนโลยีต่างๆสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้แก่วงการเพาะเห็ด โดยเฉพาะการเพาะเห็ดฟางด้วยเปลือกมัน, การเพาะเห็ดฟางด้วยเปลือกยูคาลิปตัส การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย, การเพาะเห็ดฟางด้วยรำพรวนข้าว, การเพาะเห็ดฟางกับหินแร่ภูเขาไฟ, การเพาะเห็ดฟางแบบพรวนดินและเทคนิคต่างๆอีกเยอะแยะมากมาย
 
โดยเฉพาะการพรวนดินตีแปลงคล้ายปลูกผักก่อนที่จะทำกองเพาะเห็ดนั้นนับว่าได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยในยุคสิบกว่าปีที่ผ่านมา เพราะทำให้เก็บผลผลิตได้มากกว่าการเพาะเห็ดฟางแบบปรกติที่เพาะเห็ดอยู่บนพื้นดินเรียบแข็งธรรมดา เนื่องด้วยสามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากดินรอบๆกองได้เพิ่มอีก บางครั้งจากการทดลองในอดีตได้ผลผลิตเกือบมากกว่าผลผลิตที่ได้จากกองฟางเสียอีกนับว่าเป็นวิธีการที่แปลกแตกต่างและได้ผลลัพธ์ที่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลอยู่มาก
 
วิธีการก็ให้เตรียมแปลงเพาะด้วยการขุดพรวนดินให้แตกตัวตัวออกเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยหว่านพูมิชซัลเฟอร์ 3-5 กำมือ รดน้ำให้เปียกชุ่มโชกก่อนวางไม้แบบที่มีขนาดความยาว 120 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ตัวแบบลึก 50 เซนติเมตรโดยด้านบนกว้าง 25 เซนติเมตรด้านล่าง 30 เซนติเมตร นำวัสดุฟางที่แช่น้ำจนนิ่มประมาณหนึ่งหรือสองชั่วโมงแล้วย่ำกดทับให้มับแน่นหนาประมาณ 10 เซนติเมตรแล้วโรยอาหารเสริมเห็ด (อาหารเสริมเห็ดดีพร้อม, รำละเอียด, ภูไมท์, พูมิช)ที่ชุ่มน้ำให้ทั่วขอบทั้งสี่ด้านกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใส่เชื้อเห็ดฟางขนาด 2 ขีด นำมาฉีกขยำให้ละเอียดแล้วออกเป็น 4 ส่วน นำส่วนที่ 1 โรยให้ทั่วบนอาหารเสริมชั้นที่หนึ่งแล้วนำฟางมาคลุมทับเหยียบย่ำให้แน่นเหมือนที่ทำในตอนแรกแล้วทำการรดน้ำแล้วก็ใส่อาหารเสริมและเชื้อเห็ดเหมือนขั้นตอนแรกทำแบบนี้จนครบทั้งสี่ชั้นในชั้นสุดท้ายให้ใส่อาหารเสริมและเชื้อเห็ดกระจายให้ทั่วทั้งผิวหน้า แล้วใช้ฟางแช่น้ำคลุมบางๆก่อนที่จะยกแบบออก
 
ทำกองต่อๆไปด้วยวิธีเดียวกันระยะห่างระหว่างกองอยู่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตรทำเท่าที่ต้องการโดยเรียงให้ด้านหัวและท้ายเป็นแนวเดียวกันเพื่อความสะดวกในการคลุมกอง พื้นดินที่ว่างระหว่างกองให้โรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ดคลุมด้วยฟางแล้วนำไม้ไผ่ผ่าซีกหรือไม้ลวกผ่าครึ่งนำมาโค้งพาดคล่อมกองคล้ายประทุนเรือแล้วนำถุงพลาสติกความยาวตามขนาดกองแล้วคลุมด้วยฟางแห้งพอให้แดดส่องเข้าได้แบบรำไรทิ้งไว้ 3 วันโดยไม่ต้องเปิดถุงคลุมออกเลย รอจนถึงวันที่ 4 เปิดพลาสติกคลุมเพื่อระบายอากาศจะพบเส้นใยคล้ายใยแมงมุม ให้ทำการรดน้ำตัดใยแล้วคลุมไว้ดังเดิมหลังจากนี้ต้องเปิดผ้าคลุมระบายอกาศทุกวัน ถ้าอากาศร้อนความชื้นน้อยให้รดน้ำบริเวณรอบกองห้ามรดน้ำบนกองเพาะเห็ดโดยเด็ดขาด หลังจากตัดใย 4-5 วันก็จะเกิดดอกเห็ดออกมาให้เก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเฉพาะพื้นดินรอบๆกอง
 
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
 
 
 
 
หมายเลขบันทึก: 501451เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2012 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 01:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท