โรงเรียนชาวนาระดับมัธยมตอนที่๑๐_๒


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยมตอนที่๑๐_๒

ต่อมาได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้าน  เยี่ยมนา  และชมสวน  แห่งที่  3  เป็นบ้านของคุณละมัย  ซึ่งอยู่ใกล้ๆบ้านคุณบุญมา  ก่อนจะเข้าไปถึงสวนถึงนา  ก็แวะพักเหนื่อยยังใต้ถุนบ้านกันก่อน  อากาศที่ร้อนแรงด้วยแสงของพระอาทิตย์ทำให้คุณกิจร้อนและเหนื่อยอยู่บ้าง  แต่พอได้กินน้ำกินท่าและนั่งพักรับลมสักครู่หนึ่ง  ก็ทำให้ทุกคนหายเหนื่อยกันเลย  จะไม่ให้หายเหนื่อยกันได้อย่างไร  เจ้าของบ้านอย่างคุณละมัยได้เด็ดมะม่วงมาให้ชิมเป็นตะกร้าๆเลย  คราวนี้เรียกว่ากองทัพเดินด้วยท้องเสียจริงๆ  ใครบ้างที่ไม่สนใจเล่า…
 มะม่วงที่คุณละมัยปลูก  ชาวสุพรรณเรียกกันว่า  พันธุ์แก้วลืมรัง  หลังจากที่ได้ชิมมะม่วงแล้ว  ก็ต้องไปดูให้ถึงต้นกันหน่อย  ปรากฏพบว่ามะม่วงแก้วลืมรังพวงใหญ่  มีลูกดกโตเต็มสวนเต็มต้นเลย 

   
ภาพที่  70  คุณละมัย  ศรีบุญเพ็ง  ภาพที่  71  ปุ๋ยหมักชีวภาพอยู่ใน
ถุงปุ๋ยสูตรใบเก่า
  

   
ภาพที่  72  ชมสวนมะม่วงของคุณละมัย  ภาพที่  73  มะม่วงพันธุ์แก้วลืมรัง  
    

 เดินผ่านสวนมะม่วง  จึงไปพบบ่อเลี้ยงปลา  และนาข้าว  ไปดูข้าวในแปลงนา  7  ไร่  มีการใส่ปุ๋ย  2  รอบ  เช่นเดียวกันคุณบุญมา  กล่าวคือ  คุณละมัยกำลังอยู่ในช่วงของการลดละการใช้สารเคมีในนาข้าวและในสวนมะม่วง  โดยหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพผสมกับปุ๋ยสูตร  16-0-0  และต้นข้าวที่หว่านไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน  2547  วันที่ไปเยี่ยมข้าวมีอายุได้ประมาณ  100  วัน  ได้ใช้ยาสมุนไพรที่หมักเองฉีดพ่นในนาข้าว  ฉีดไปแล้ว  3 ครั้ง  ฉีดพ่นครั้งแรกตอนที่ข้าวอายุได้  20  วัน  ครั้งต่อมาเมื่อต้นข้าวอายุได้  40  วัน  และครั้งสุดท้ายเมื่ออายุได้  2  เดือน
 บ้านหลังที่  3  ที่ไปเยี่ยมชมเป็นบ้านของคุณนุกุล  นักเรียนชาวนาโรงเรียนวัดดาว  คุณนุกุล  สระโจมทอง  เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาวด้วย  บ้านตั้งอยู่ในบ้านสังโฆ  ตำบลวัดดาว  อำเภอ  บางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี  ในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการลดละการใช้สารเคมีในนาข้าวอยู่
 ชมนาข้าวของคุณนุกุลจำนวน  5  ไร่  ติดอยู่ริมถนนลาดยางมะตอย  นาข้าวเขียวชอุ่มเป็นข้าวพันธุ์หอมปทุม  วันที่ไปเยี่ยมชมต้นข้าวกำลังอยู่ได้  76  วัน  ซึ่งได้ใส่ปุ๋ยไปแล้ว  2  ครั้งๆละ  50  กิโลกรัม  โดยที่ครั้งแรกใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ  ส่วนในครั้งต่อมาใส่ปุ๋ยสูตร  16-0-0  คุณนุกุลตั้งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะลดการใช้สารเคมีเป็นอย่างมาก 
 นอกจากนี้  คุณนุกุลยังสนใจการนำเชื้อจุลินทรีย์ไตรโครเดอร์มา  โดยทำการขยายเชื้อเอง  ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่โรงเรียนชาวนาได้พานักเรียนชาวนาไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน  เมื่อปลายปีที่ผ่านมา  (ปี  พ.ศ.2547)

   
ภาพที่  74  คุณนุกุล  สระโจมทอง   ภาพที่  75  เรียนรู้กันที่แปลงนาข้าว  

   
 ภาพที่  76  ชมการขยายเชื้อจุลินทรีย์ไตรโครเดอร์มา  ภาพที่  77  เชื้อจุลินทรีย์ไตรโครเดอร์มาที่เพาะเลี้ยงในถุงพลาสติกบรรจุข้าวสุก  
  

  
 บ้านหลังที่  4  ได้ไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมนาของคุณสุข  เชื้อหนองปรง  นักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ซึ่งคุณกิจหลายต่อหลายคนกำลังให้กำลังใจคุณสุขที่จะลดการใช้สารเคมีในนาข้าว  และเป็นที่น่ายินดีที่คุณสุขเองก็กำลังทดลองใช้ฮอร์โมนสมุนไพรกับต้นข้าว
 นาของคุณสุขที่ได้ไปเยี่ยมเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์  (ปี  พ.ศ.2548)  มีพื้นที่  7  ไร่  หว่านข้าวพันธุ์คลองหลวง  ขาวปทุม  และขาวสุพรรณ  หว่านไปเมื่อกลางเดือนมกราคม  วันที่ไปเยี่ยมนั้นต้นข้าวมีอายุได้กว่า  30  วันแล้ว  แต่ต้นข้าวต้นเล็กมากๆจนน่าตกใจ  เพื่อนๆนักเรียนชาวนาจึงได้พากันสอบถาม  พบว่า  คุณสุขได้ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าไปในช่วงหว่านข้าว  และส่งผลกระทบต่อต้นข้าว  ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตช้ามากๆ  พอเพื่อนๆนักเรียนชาวนาทราบปัญหา  โดยทันที  คุณกิจก็ทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อน  หลายคนแนะนำให้คุณสุขใช้ฮอร์โมนชีวภาพฉีดพ่นต้นข้าวแทน  แทนที่จะไปพึ่งปุ๋ยยูเรียจากตลาดร้านค้า  ไม่ต้องไปซื้อให้เสียเวลา  ให้ใช้ฮอร์โมนที่ทำขึ้นกันเองนี่แหละ…  ดีที่สุดและเป็นทางออกของนักเรียนชาวนาวิถีเกษตรชีวภาพ  เพื่อสุขภาวะที่ดีของนักเรียนชาวนา  เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย

   
ภาพที่  78  คุณสุข  เชื้อหนองปรง  ภาพที่  79  ถกวิธีการแก้ไขปัญหา
จากกรณีนาข้าวของคุณสุข
  

    จากการที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้าน  เยี่ยมนา  ชมสวนของนักเรียนชาวนา  ทำให้คุณกิจและคุณอำนวยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างมากมายหลายหลากและอย่างกว้างขวาง  ความจริงที่ปรากฏอยู่นั้น  อยู่ที่บ้าน  อยู่แปลงนา  ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตของนักเรียนชาวนา  เราๆท่านๆได้รับทราบสถานการณ์และปัญหาของแต่ละคน  เพราะได้ไปเรียนรู้จากบ้านจากนา  ได้เห็นตัวอย่างของความมุ่งมั่น  เพราะได้ไปพูดคุยเรียนรู้กันที่คันนาริมทุ่ง  เรียนรู้จากของจริง  ชีวิตจริง  เป็นการเรียนรู้ร่วมกันและเป็นการร่วมด้วยช่วยกัน…สุขภาวะที่ดีทางสังคม

           กิจกรรม “เพื่อนเยี่ยมเพื่อน” ให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบบูรณาการ    คือเรียนรู้ทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะการทำนา     ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวาง

วิจารณ์ พานิช
๑๘ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5014เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2005 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท