โรคติดเชื้ออุบัติใหม่กับอุตุนิยมวิทยา


องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษาวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา หรือมองให้กว้างขึ้นไปอีกคือ earth observation มีประโยชน์อย่างยิ่งในการติดตามเฝ้าระวัง และควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

ฟ้าครับ

KE662 เป็นเที่ยวบินที่ทำลายสถิติออกดึกที่สุดเท่าที่เคยนั่งมา กว่าเครื่องจะออกก็หลังตีสองเข้าไปแล้ว ดีแต่ที่ว่า เป็นเที่ยวบินตรงของสายการบินเกาหลี รวดเดียวจากกรุงเทพฯ ถึงเมือง Busan เวลาเช้า ตรงดิ่งไปถึงที่ประชุมที่จัดขึ้นที่ Paradise Hotel ทันเวลาบรรยายพอดี

งานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดย APEC Climate Center (APCC) ในมุมของคนนอกวงการ งานนี้ทำให้มีโอกาสได้มารู้เห็นว่า ประชาคมวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยานี้เขามีการคบหา แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กันระหว่างประเทศ (เขตเศรษฐกิจ) อย่างค่อนข้างแน่นแฟ้น ก็พอจะเข้าใจได้เพราะคงเป็นธรรมชาติของสาขาวิชานี้ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างมาก ก็ลมและน้ำยังไม่รู้จักพรมแดน การติดตามศึกษาและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ (ซึ่งซับซ้อนเหลือหลาย) จึงต้องไล่ตามให้ทันด้วย

เช่นเดียวกับโรคติดต่ออย่างไข้หวัดนก มาลาเรีย ไข้เลือดออก ฯลฯ ที่แพร่ขยายไปพร้อมกับกิจกรรมของมนุษย์ แท้ที่จริงแล้วการแพร่ขยายของโรค ในหลายกรณีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสภาพภูมิอากาศ (อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝนและรูปแบบการตก) และนี่ก็เป็นเรื่องที่เอามาพูดกับที่ประชุมในวันนี้

เท่าที่ได้ศึกษาดูคร่าว ๆ ก็พบว่า องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษาวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา หรือมองให้กว้างขึ้นไปอีกคือ earth observation มีประโยชน์อย่างยิ่งในการติดตามเฝ้าระวัง และควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม

ข้อมูลที่เอามาใช้นี้ บ่อยครั้งจะไม่ใช่ข้อมูลการตรวจจับโรคโดยตรง แต่เป็นข้อมูลโดยอ้อม ยกตัวอย่างเช่น  แพทเทิร์นการอพยพของสัตว์ที่ป่วย หรือพาหะนำโรคเช่นยุงในกรณีของมาลาเรีย

เช่น ล่าสุดนี้ทางเว็บไซต์ของ Nature ได้นำเอาข้อมูลการระบาดของไข้หวัดนกตามที่ต่าง ๆ ในโลก ไปใส่ไว้ใน Google Earth สามารถเข้าไปดู และวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของไข้หวัดนกได้ทุกเมื่อ ถ้าสนใจลองเข้าไปที่ http://www.nature.com/nature/googleearth/avianflu1.kml

การแพร่กระจายของไข้หวัดนก ดูผ่าน Google Earth

ประเด็นสำคัญที่พยายามนำเสนอในการบรรยายวันนี้ (และได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างน่าแปลกใจ) คืออยากให้วงการวิชาการทางด้านอุตุนิยมวิทยา ช่วยคิดที่จะใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ในสาขานี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการสู้กับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ที่กำลังแพร่ขยายขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าเป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียม เซนเซอร์ คอมพิวเตอร์โมเดล หรือระบบข้อมูลที่มีอยู่ เอามาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น

สิ่งที่นำเสนอ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของไอเดียจาก โครงการมองอนาคตเทคโนโลยีเพื่อสู้กับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ที่ต้องการนำเอาความรู้ที่แยกกันอยู่ในแต่ละวงการวิชาการ  มาผสานรวมเข้าด้วยกันเพื่อสู้กับปัญหาสำคัญของมนุษยชาติ  บางทีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง RFID  ที่ประเทศไทยกำลังจะนำมาใช้ติดตามฝูงสัตว์ ถ้าได้มาเชื่อมโยงกับดาวเทียมและระบบเครือข่ายอุตุนิยมวิทยา อาจจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้ เทคโนโลยีที่ผสานรวมเช่นนี้เราเรียกว่า converging technologies

ไม่แน่ว่าเราจะได้เห็นกันว่า กลไกตลาดไม่ใช่ (และไม่ควรใช่) แรงผลักดันอย่างเดียวที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ที่มีประโยชน์ 

บางครั้งก็ต้อง manipulate  อนาคตเหมือนกัน ดีกว่าปล่อยไปตามกระแสปัจจุบัน หรือตามยถากรรม

หมายเลขบันทึก: 50131เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท