Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศพม่ากับอาเซียน


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

 

4. สหภาพพม่า (Union of Myanmar)
        

      มีเมืองหลวงคือ เนปิดอว ติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันออก โดยทั้งประเทศมีพื้นที่ประมาณ 678,500 ตารางกิโลเมตร ประชากร 48 ล้านคน กว่า 90% นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท หรือหินยาน และใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ

 

ข้อมูลทั่วไปของประเทศพม่า

ประเทศพม่า หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” (The Republic of the Union of Myanmar)[1] ชาวพม่าเรียกชื่อประเทศตนเองว่า มยะหม่า หรือ เมียนมา ส่วนในประเทศไทยจะสะกดว่า เมียนมาร์ ประเทศพม่าตั้งอยู่ตามแนวอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน ทำให้มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 3,219 กิโลเมตร มีพื้นที่ 657,740 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบังกลาเทศและอินเดีย และทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทิเบตและจีน ทางตะวันออกติดลาว และทางตอนใต้ติดกับไทย มีประชากรจำนวน 55.4 ล้านคน (สำรวจในปี พ.ศ.2550) ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวพม่า ไทยใหญ่ มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ไทย และชิน พม่าจึงมักเกิดปัญหาชนกลุ่มน้อย ชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (ร้อยละ 92) ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ มีภาษาถึง 18 ภาษาหลักที่ใช้อยู่ในพม่า เช่น ภาษาพม่า ภาษามอญ ภาษาปะหล่อง ภาษาไทลื้อ ภาษาอารากัน ภาษาม้ง ภาษามอเกน ฯลฯ มีภาษาทางการ คือ ภาษาพม่า

ด้านการเมืองการปกครอง ประเทศพม่าแบ่งเป็นเขตการปกครองเป็น 14 แห่ง แบ่งเป็น 7 เขต ได้แก่ ตะนาวศรี พะโค มัณฑะเลย์ มาเกว ย่างกุ้ง สะกาย อิระวดี และรัฐ 7 รัฐ ได้แก่ กะฉิ่น กะยา กะเหรี่ยง ฉาน ชิน มอญ และยะไข่ โดยมีเมืองหลวงชื่อ เนปีดอว์ (เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า)[2] ซึ่งอยู่ในเขตมัณฑะเลย์ ปัจจุบันพม่ามีระบบการปกครองแบบรัฐสภาโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ปัจจุบัน คือ พลเอกเต็งเส่ง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพพม่าคนปัจจุบัน

ในด้านเศรษฐกิจ สหภาพพม่ามีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น สังกะสี ดีบุก และอัญมณีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเขตเกษตรกรรม โดยการเพาะปลูกข้าวเจ้า ปอกระเจา อ้อย และพื้นเมืองร้อนอื่นๆ ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสะโตง และแม่น้ำทวาย-มะริด ทั้งยังมีน้ำมันปิโตรเลียมทางภาคกลางตอนบน เหมืองดีบุกทางตะวันออกเฉียงใต้ และการทำป่าไม้สักทางภาคเหนือ ส่งออกขายและล่องมาตามแม่น้ำอิรวดีเข้าสู่ย่างกุ้ง ในบริเวณตอนล่างของประเทศ เช่น เมืองย่างกุ้งและมะริด จะเป็นเขตอุตสาหกรรม มีเมืองทวายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมต่อเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของพม่า[3] สกุลเงินของพม่า คือ จั๊ต

 

การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

ประเทศพม่า ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 พร้อมๆ กับประเทศลาว ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลของประเทศในซีกโลกตะวันตก ซึ่งในขณะนั้นประเทศพม่ายังคงมีปัญหาทางการเมืองและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่สูง โดยในปี พ.ศ.2533 รัฐบาลประเทศพม่าได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคฝ่ายค้านนำโดยนางอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งท่วมท้นถึง 80% แต่รัฐบาลทหารพม่า ภายใต้การนำของ นายพลซอ หม่อง ในนามของ "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" หรือ "สลอร์ค" (The State Law and Order Pestoration Council ; SLORC) ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนต่อต้านและเกิดเหตุการณ์จลาจลเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลทหารจึงปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ประชาชนเสียชีวิตหลายพันคน และยังคงกักตัวนางอองซานซูจีไว้ในบ้านพัก และปกครองประชาชนชาวพม่าอย่างกดขี่ ไร้สิทธิเสรีภาพ เหตุการณ์นี้เป็นที่สนใจของทั่วโลก และรัฐบาลทหารพม่าได้ถูกประณามจากสหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่พม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน จึงทำให้หลายประเทศมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก อาทิ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป คัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพม่า โดยแสดงความเห็นว่า “อาเซียนยังไม่ควรรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกจนกว่าสภาพทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าจะดีขึ้น”[4]

                  แต่อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังคงยืนยันที่จะรับพม่าในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยมีประเทศที่เป็นหัวหอกสำคัญในการสนับสนุนให้พม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน คือ มาเลเซีย ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธียร์ และอินโดนีเซีย ในสมัยอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต เหตุผลสำคัญในการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนนำมาอ้างเพื่อสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของพม่า คือ

 

1)    ปัจจัยทางภูมิศาสตร์และความต้องการสร้างเอกภาพของประเทศอาเซียน เนื่องจากประเทศพม่าตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน จึงสมควรรับเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะมีผลทำให้สมาคมอาเซียนมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีอำนาจต่อรองและอิทธิพลในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเป็นปึกแผ่น เป็นอิสระ มีอธิปไตยของตนเอง และไม่อยู่ภายใต้การชี้นำของกลุ่มประเทศมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก

 

2)    ปัจจัยทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน การรับพม่าเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนได้สนับสนุนเหตุผลทางยุทธศาสตร์ของอาเซียนที่มีความวิตกกังวลต่อการแผ่อิทธิพลในด้านต่างๆ ของจีน ที่นับวันได้เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี พ.ศ. 2531 พม่าและจีนได้มีความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างแนบแน่น  สืบเนื่องจากพม่าถูกตัดความช่วยเหลือจากนานาประเทศ เป็นผลให้พม่าต้องรับความช่วยเหลือจากจีนและพึ่งพาจีนอย่างเต็มที่ตั้งแต่นั้นมา ความใกล้ชิดระหว่างพม่ากับจีนได้ทำให้เกิดความกังวลใจกับอาเซียน เนื่องจากประเทศสมาชิกหลายประเทศทั้งมาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ มีประเด็นปัญหากับจีนในกรณีการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ ดังนั้น การรับพม่าเข้ามาในสมาคมอาเซียนจึงถือได้ว่าเป็นการช่วยลดภาวะการพึ่งพาที่พม่ามีต่อจีน และลดอิทธิพลของจีนในพม่าลงได้

 

3)    เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพม่า การรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียง มีภาพลักษณ์ และเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาคมระหว่างประเทศ กรอบของอาเซียนจะมีผลทำให้พม่าต้องปรับตัวและนโยบายของพม่าให้สอดคล้องกับนโยบาย หลักปฏิบัติ และประเพณีค่านิยมของสมาคมอาเซียนเอง[5]

                     ในทางกลับกัน หากมองในมุมมองของพม่าต่อการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนนั้น จะพบว่ามีหลายปัจจัยที่ผลักดันให้พม่าเข้าร่วมสมาชิกอาเซียน กล่าวคือ พม่าต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศในภูมิภาค และได้รับการยอมรับจากประชาชนภายในประเทศของรัฐบาลทหารพม่า (SLORC) เพื่อลดความนิยมของอองซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นอกจากนี้ พม่ายังมีความกังวลใจเกี่ยวกับภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศพม่าเป็นจำนวนมาก และประเทศจีนที่เริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในพม่า จนพม่าไม่สามารถควบคุมจีนได้อีกต่อไป เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน อีกทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชนกลุ่มน้อยที่รัฐบาลทหารพม่ายังเข้าไปไม่ได้ ประเด็นสำคัญก็คือ พื้นที่ที่จีนเข้าไปครอบครองนั้นเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ซึ่งอิทธิพลจีนตรงนี้จะทำให้พม่าต้องหันมาจับมือกับอาเซียนและมองว่าอาเซียนเป็นทางออกในการเจรจากับจีน ยิ่งกว่านั้น ในความสัมพันธ์กับองค์กรอาเซียนภายใต้นโยบาย “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” เป็นเหตุผลที่จูงใจให้พม่าเปิดตัวเข้าสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น

 

บทบาทของพม่าในอาเซียน

พม่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนเป็นประตูเชื่อมโยงจีนและอินเดีย ทั้งยังเป็นประตูหรือทางออกไปสู่ตะวันออกกลางและยุโรป ดังนั้น สภาพทางภูมิศาสตร์ของพม่าจึงมีความสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นยุคที่โลกไร้พรมแดน เนื่องจากพม่าสามารถเป็นทางผ่านของวัตถุดิบและสินค้าระหว่างภูมิภาคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะด้านพลังงานอันเป็นปัจจัยสำคัญของยุคอุตสาหกรรม เป็นตลาดสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของประเทศในภูมิภาค อีกทั้งพม่ามีแรงงานขั้นต่ำราคาถูก สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้พม่ามีบทบาทสำคัญ เป็นที่ต้องการของกลุ่มประเทศอาเซียนในการชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิก

               ในระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505–2531 ประเทศพม่ามีนโยบายต่างประเทศที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “นโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง” (Isolationism) และปกครองประเทศภายใต้เผด็จการทหาร กระทั่งเกิดความวุ่นวายภายในพม่าในปี 2531 ทำให้พม่าหันมาปรับใช้นโยบายเปิดประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการออกกฎหมายการลงทุนต่างชาติ และติดต่อคบค้ากับประเทศในภูมิภาคมากขึ้น เช่น ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก นอกจากนี้ พม่ายังเปิดสัมพันธ์ต่อประเทศสังคมนิยมทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ในขณะที่ด้านการเมืองภายในยังคงปิดกั้นไม่ให้ต่างชาติเข้าแทรกแซง ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศกดดันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งมีการเข่นฆ่า สังหาร คุกคาม ข่มขืนประชาชนและชนกลุ่มน้อยโดยทหารพม่ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกดขี่และผูกขาดทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นมูลฐานด้านต่างๆ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พม่าได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน รัฐบาลพม่าได้มีท่าทีอ่อนลง โดยยอมให้มีการหารือกับชนกลุ่มน้อยและพรรคฝ่ายค้าน เพื่อหวังที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดีขึ้น และนำไปสู่การประนีประนอมทางการเมืองภายในประเทศ จึงมีการยุบ SLORC และได้จัดตั้งสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council : SPDC) ขึ้นแทน แต่ในปี พ.ศ.2550 รัฐบาลพม่าก็ได้ได้ปราบปรามการชุมนุมของพระภิกษุสงฆ์และประชาชนในกรุงย่างกุ้ง ที่ออกมาชุมนุมนับแสนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าลดราคาน้ำมัน ปล่อยนักโทษการเมือง ให้ฝ่ายทหารผู้ปกครองประเทศตั้งคณะสมานฉันท์เพื่อความปรองดองแห่งชาติ โดยในเหตุการณ์ปราบปรามในครั้งนั้น มีประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน[6] สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นความกังวลใจของอาเซียน เพราะพม่าได้ทำให้ปัญหาที่พม่ามีกับประชาคมโลกกลายเป็นปัญหาของอาเซียนมากกว่าปัญหาของพม่าโดยตรง

                     ด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ในปี พ.ศ.2549 ประเทศพม่าได้ถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปให้ถอนตัวจากการเป็นประธานอาเซียน เนื่องจากมีการต่อต้านและวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในพม่า จนท้ายที่สุดประเทศพม่าต้องยอมถอนตัวจากประธานอาเซียนในครั้งนั้น และไม่ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ประจำปี 2549 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในพม่าเริ่มคลี่คลายมากขึ้น หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าในปี พ.ศ.2553 ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของพม่า โดยถือเป็นจุดสิ้นสุดรัฐบาลเผด็จการทหารและได้รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ อีกทั้งพม่ายังมีการปล่อยนักโทษการเมือง และแสดงท่าทีในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในพม่า เป็นผลทำให้สถานะของพม่าในสายตาของประชาคมโลกดีขึ้น จนทำให้นายนูซาดัว คณะรัฐมนตรีชาติสมาชิกอาเซียน ประกาศว่าอาเซียนจะรับรองพม่าในการเป็นประธานสมาคมอาเซียน ประจำปี 2557 ถือเป็นแรงสนับสนุนให้กับรัฐบาลใหม่ของพม่า หลังพยายามปฏิรูปประเทศในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้ง นายอานิฟะห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ยังได้กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในการประชุมอาเซียนที่เกาะบาหลีว่า “บรรดาประเทศสมาชิกต่างเห็นตรงกันว่าจะให้พม่าเป็นประธานอาเซียนปี 2557 หลังจากที่พม่าดำเนินแนวทางอย่างสร้างสรรค์ในการปฏิรูปประชาธิปไตย และควรสนับสนุนด้วยการให้พม่าได้เป็นประธานอาเซียน” [7]

 
 อ่านข้อมูลประเทศพม่า ได้ที่นี่

 

[1] เดิมประเทศพม่าชื่อทางการว่า “สหภาพพม่า” (Union of Myanmar) ภายหลังรัฐบาลพม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” โดยประกาศอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2554

[2] ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2548 ประเทศพม่าได้ประกาศย้ายเมืองหลวง จากย่างกุ้งไปยังเมืองเนปิดอว์ มีความหมายว่ามหาราชธานี ซึ่งการย้ายครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 11 ของประวัติศาสตร์พม่า หลังจากใช้ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงมาเกือบ 60 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2491 หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ)

[3] วิทย์ บัณฑิตกุล. รู้จักประชาคมอาเซียน. (กรุงเทพฯ :  สถาพรบุ๊คส์, 2554). หน้า 106.

[4] อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์. อาเซียนใหม่. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541). หน้า 175.

[5] Burma Peace Group. บทบาทและความสัมพันธ์ของอาเซียนต่อพม่า. ฉบับที่ 2 สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2555 จาก http://www.thaingo.org/board_2/view.php?id=892

 

[6] เมธา มาสขาว. อาเซียนและพม่า, พม่าและเรา. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2555 จากhttp://www.thaingo.org/writer/view.php?id=112

[7] สำนักข่าวไทย. รัฐมนตรีอาเซียนจะรับรองพม่าเป็นประธานอาเซียนปี 2557. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2555 จาก http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/294003.html. 9550000041996

 

คำสำคัญ (Tags): #พม่า#อาเซียน#e-trust
หมายเลขบันทึก: 501048เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีอย่างอื่นอีกไหมคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท