ตัวอย่างงานของสมาชิกเครือข่าย KM เบาหวาน


KM ตามแนวทางของ สคส. น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ-สุขภาวะของผู้ป่วยเบาหวาน

ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๔ กันยายน ๒๕๔๙ รพ.เทพธารินทร์โดยการสนับสนุนของ สปสช. ได้จัดโครงการอบรมผู้จัดกิจกรรมค่ายเบาหวาน รุ่นที่ ๒ มีผู้เข้าอบรมรวม ๕๓ คน ในจำนวนนี้เป็นทีมจากสมาชิกเครือข่าย KM เบาหวาน ๒๔ คนคือ
- รพ.พุทธชินราช ๓ คน และเครือข่ายคือศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านกร่าง ๑ คน ศูนย์สุขภาพชุมชนเสมอแข ๑ คน
- เครือข่ายเบาหวานจังหวัดปัตตานี ๖ คน (จาก รพ.กะพ้อ รพ.สายบุรี และ รพ.มายอ แห่งละ ๒ คน)
- เครือข่ายเบาหวานจังหวัดฉะเชิงเทรา ๗ คน (จาก รพ.บ้านโพธิ์ ๔ คน รพ.บางน้ำเปรี้ยว ๓ คน)
- เครือข่ายเบาหวาน จังหวัดนครพนม ๔ คน (จาก รพร.ธาตุพนม ๒ คน รพ.นาหว้า ๒ คน)
- รพ.ครบุรี ๒ คน

ดิฉันนัดหมายให้สมาชิกเหล่านี้ได้พบปะพูดคุยกันในเย็นวันที่ ๑๓ กันยายน มีสมาชิกเข้าร่วมวงพูดคุย ๑๗ คน ผู้ที่เข้าร่วมไม่ได้คือทีมจาก รพ.นาหว้า รพ.บางน้ำเปรี้ยว และ รพ.ครบุรี ดิฉันบอกวัตถุประสงค์ว่าต้องการให้สมาชิกได้รู้จักกัน มีโอกาสจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันได้ ทุกคนแนะนำตนเอง หลังจากนั้นดิฉันขอให้แต่ละทีมเล่าว่าหลังจากที่เข้าประชุมตลาดนัดความรู้แล้ว ทีมเบาหวานของแต่ละที่ได้กลับไปทำอะไรต่อบ้าง ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่ดิฉันจดบันทึกไว้ อาจไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่ก็พอมองเห็นภาพความของความเปลี่ยนแปลงนะคะ

คุยไปด้วยเพิ่มพลังงานไปด้วย

 

 ทีมพุทธชินราช  
ทีมพุทธชินราชเข้าร่วมตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ ๑ เมื่อ ๓๐ เมษายน-๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘ คุณรัชดา พิพัฒนศาสตร์ (คุณอ้อ) เล่าว่าได้มาทำ Peer Assist เรื่องการดูแลเท้ากับทีม รพ.เทพธารินทร์ ส่งคนมาฝึกต่อ และขยายงานเปิดคลินิกเท้า เปิดบล็อกของทีมเบาหวาน และบล็อกชุมชนศูนย์สุขภาพเมือง ซึ่งให้ PCU ๑๑ แห่งเล่าเรื่องการทำงานของตนในบล็อกนี้ ได้นำวิธี KM ไปใช้กับผู้ป่วยและขยายไปสู่ชุมชนด้วย

คุณศิริรัตน์ มีแสงจากศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านกร่าง เล่าเสริมว่าหลังจากได้รับการถ่ายทอดเรื่อง KM แล้ว ได้นำไปใช้กับชมรมสตรีต้านภัยมะเร็งใน ๔ ตำบล ให้ ๒ ชมรมมาคุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องเทคนิคการชักชวนให้มาตรวจมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคมได้จัดมหกรรมสตรีต้านภัยมะเร็ง มีประชาชนเข้าร่วม ๓๐๐ กว่าคน แพทย์มาให้ความรู้แบบเล่าจากประสบการณ์ เอา case ตัวอย่างมาเล่าประสบการณ์ตนเองโดยมีแพทย์คอยเสริม มีการแสดงและให้รางวัลด้วย หลังจากชาวบ้านกลับแล้ว ภาคบ่ายก็เอาสมาชิกชมรมตำบลละ ๕ คน และผู้สังเกตการณ์จากตำบลอื่นตำบลละ ๒ คน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเทคนิคการชักชวนอีก บรรยากาศสนุกสนานมาก

ระหว่างเดือน ตค. พย. และ ธค. ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านกร่างได้รับงบประมาณมาทำค่ายสำหรับกลุ่มเสี่ยง และระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ กันยายนนี้ ฝ่ายสุขศึกษาร่วมกับ PCU ก็จะจัดค่ายเบาหวานแบบค้างแรม ๒ วันครึ่ง

คุณรัชดาขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการตรวจตาของผู้ป่วยเบาหวาน ว่าขณะนี้ทีมพุทธชินราชใช้วิธีเช่า Fundus Camera แล้วฝึกพยาบาลให้ถ่ายภาพจอตา ใช้เวลาฝึกไม่นานก็สามารถทำได้ คุณเปรมสุรีณ์ แสนสม (อ้อใหญ่) ช่วยเสริมว่าทำไม่ยาก เรียนเพียง ๑ ชม. ก็ทำได้ ทำท่าทางประกอบไปด้วย ผู้ฟังสนใจประเด็นนี้กันมาก วันที่ ๑๔ กันยายน ดิฉันยังเห็นมีคนเข้ามาซักถามรายละเอียด คุณอ้อ (ใหญ่) ก็ทำท่าทำทางเหมือนกำลังถ่ายภาพจอตาผู้ป่วยเลย

ทีม รพร.ธาตุพนม  
มีคุณมัจฉา รูปคมและคุณอุมาพร คำพรหม เล่าว่าเมื่อกลับจากตลาดนัดความรู้ ครั้งที่ ๑ ก็มีการสร้างทีมที่ชัดเจนขึ้นและขยายเครือข่ายไปยังชุมชน มีการเชิญผู้ป่วยเข้ามารับความรู้และจัดตั้งเป็นชมรมใน สอ. ๑๖ แห่ง ทีมได้มาทำ Peer Assist เรื่องการดูแลเท้ากับทีม รพ.เทพธารินทร์ เมื่อกลับไปคุณหมอประกาศิต จิรัปปภาก็ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน เปิดคลินิกเท้า นำเทคนิค vacuum dressing ไปใช้รักษาแผล สร้างเครื่อง podoscope ใช้เอง มีการดูแลเท้าเชิงรุกในชุมชน เปิดบล็อกของตนเอง และเป็นแกนในการจัด KM Workshop เพื่อสร้างเครือข่ายเบาหวานระดับจังหวัด วางแผนจะจัดกิจกรรมค่ายเบาหวานในเดือนพฤศจิกายนนี้

เครือข่ายเบาหวาน จังหวัดปัตตานี
ทีมเบาหวานจังหวัดปัตตานีจัดประชุมตลาดนัดความรู้ไปเมื่อวันที่ ๒๗-๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ น้องๆ บอกว่าหลัง workshop เพียง ๑๐ วัน ทีม สสจ.คุณวิไลวรรณ ชัยรัตนมโนกร (คุณปั้ง) ก็ตามงานแล้วว่า “ผู้พร้อมให้” ได้มีการให้ต่อหรือเปล่า “ผู้ใฝ่รู้” ขอเรียนรู้อะไรเพิ่มอีกไหม ถูกตามงานตลอด ก่อนไปร่วมตลาดนัด แต่ละ รพ.ต่างคนต่างทำ

ตอนนี้ออกแบบสมุดคู่มือผู้ป่วยของจังหวัดเสร็จแล้ว กำลังจัดทำอยู่ มีการประชุมแลกเปลี่ยนกันทุกเดือน รพ.ไหนมีความพร้อมเรื่องอะไรก็ให้รับผิดชอบเรื่องนั้น ไปคุยกันที่นั่น แต่ละ รพ.เอาเรื่องเด่นๆ จากตลาดนัดไปใช้ เช่น รพ.มายอ ได้ set ระบบเพื่อจัดคลินิก กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน เรื่องตายังคัดกรองไม่มีประสิทธิภาพ ช่วงแรกจึงตกลงกันว่าจะซื้อยาขยายม่านตามาใช้ด้วยกัน

รพ.สายบุรี เล่าว่าแต่เดิมตั้งชมรมไว้แล้ว ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง กลับจากตลาดนัดได้พาชมรมของตนไปดูชมรมของหาดใหญ่เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พาผู้ป่วยไป ๔๐ คน ผู้ป่วยตื่นตัวมาก ได้แลกเปลี่ยนกับชมรมหาดใหญ่ ได้เห็นว่าผู้ป่วยที่อื่นเขาดูแลตนเอง ผู้ป่วยไปบอกแพทย์ด้วยว่าที่อื่นเขาเจาะน้ำตาลหลังอาหาร และได้ไปดูการดูแลเท้าของชมรมหาดใหญ่ ได้เห็นว่าทำหลายอย่าง เมื่อวันที่ ๒๘-๒๙ สิงหาคมก็มีการอบรม อสม.

รพ.กะพ้อ เล่าว่าเดิมดูแลผู้ป่วยเบาหวานเฉพาะทีม OPD หลังกลับจากตลาดนัดก็ไปตั้งทีมที่มีคนจากหน่วยอื่นและให้ครบทุกสาขา แล้วได้ไปแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดค่ายกับทีมสุไหงโก-ลก มีการปรับปรุงเรื่อง home health care ประเมินสภาพจิตใจผู้ป่วยด้วย

รพ.บ้านโพธิ์
คุณวิภา เจริญสินรุ่งเรือง เล่าว่าได้มีโอกาสมาเรียนรู้จาก รพ.เทพธารินทร์ ๒ ครั้ง เรื่องอาหารและการดูแลเท้า และได้เข้าประชุมตลาดนัดความรู้ของจังหวัดที่จัดไปเมื่อวันที่ ๑๙-๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ได้ไปฟอร์มทีมที่มีหลายส่วนงานเข้ามาช่วยกัน ทั้ง RN ที่อยู่ ward ทีม OPD สุขภาพจิต เภสัชกร แพทย์ กำลังทำแนวทางว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง ยังไม่ลงถึงการปฏิบัติ ย้ายสถานที่ของคลินิกใหม่ มีห้องสำหรับการให้ความรู้ มีแพทย์ที่จะให้เวลาได้มากขึ้น ดูภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยมากขึ้น พาผู้ป่วยไปตรวจตาที่ รพ.จังหวัด ตรวจได้เยอะแล้ว ประมาณ ๒๐๐ กว่าคน

เรื่องเท้าเห็นว่าทาง รพ.บางน้ำเปรี้ยวเขาทำดี ก็พาทีมไปดู เดือนหน้าจะลงมือทำ มีห้องแล้ว การทำงานต่าง ๆ ค่อนข้างจะเป็นระบบมากขึ้น ส่วนที่จะทำเป็นเครือข่ายลงไปถึง PCU นั้นกำลังจะคุยกัน สำหรับเรื่องการให้ความรู้มีการจัดกลุ่มผู้ป่วยมาเข้าอบรม ๓ รุ่น ๘๐ กว่าคนแล้ว

เราไม่อยากให้เพื่อนทีม รพ.บ้านโพธิ์กลับบ้านค่ำ จึงคุยกันเพียง ๑ ชม.กว่าๆ สมาชิกมีความกระตือรือร้นและสนใจที่จะแลกเปลี่ยนกัน จังหวัดอื่นอยากรู้ว่าที่ปัตตานีทำอย่างไรทีม สสจ.ถึงได้มาทำงานเป็นแกนให้ ซักถามเรื่อง GLUCOSE BAD ที่แลกเปลี่ยนในตลาดนัดความรู้ของปัตตานี มีการโทรศัพท์บอกคุณปั้งให้ส่งมาด่วนเพื่อให้เพื่อนได้นำไปใช้ด้วย (คุณปั้ง fax มาให้ตอนเช้าวันที่ ๑๔ เลย) อยากเห็นแบบประเมินเท้าของทีมพุทธชินราชและ รพร.ธาตุพนม เป็นต้น

ดิฉันได้ฟังเรื่องราวของสมาชิกแล้วรู้สึกชื่นใจ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า KM ตามแนวทางของ สคส. น่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ-สุขภาวะของผู้ป่วยเบาหวาน แม้จะยังไม่ได้วัดออกมาให้เห็นกันชัดๆ แต่เราได้รู้ความคิดและเห็นวิธีการทำงานของบุคลากรผู้ให้บริการซึ่งเปลี่ยนแปลงไป เห็นการพัฒนาการบริการให้ดียิ่งๆ ขึ้น

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 50098เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2006 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แพทย์ทางเลือก แนะนำเวปไซด์ที่รวบรวมกรณีศึกษาจากการบำบัดโรคด้วยแพทย์ทางเลือก http://www.winnerwineworld.co.th/webpages/checkformember.php (username : 062963001 password : 4444) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 08-5959-8808
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท